beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

บันทึกทางการเงิน <๑> ความรู้ทางการเงิน (Money Literacy)


คนส่วนใหญ่-ซึ่งไม่มีความรู้ทางการเงิน กำลังถูกเอาเปรียบจาก คนส่วนน้อย-ที่มีความรู้ทางการเงิน

บันทึกซีรี่ส์นี้ มาจากการจดบันทึกการฟังบรรยายของ The Money Coach: จักรพงษ์ เมษพันธุ์ (พื้นฐานเป็นวิศวกร) ในซีรี่ย์ "Money Fitness the Series" ที่นี่ ซึ่งมี 11 ตอนดังนี้

ตอนที่ 1: เรื่องที่โรงเรียนไม่เคยสอน
ตอนที่ 2: วงจรเงิน Vs วงจรชีวิต
ตอนที่ 3: สุขภาพการเงินที่ดี
ตอนที่ 4: งบการเงินส่วนบุคคล
ตอนที่ 5: ชีวิตคุณมีกำไรหรือเปล่า?
ตอนที่ 6: ทำไมคนจน ยิ่งจนลง
ตอนที่ 7: งบการเงินธุรกิจส่วนตัวและอาชีพอิสระ
ตอนที่ 8: การบริหารค่าใช้จ่ายประจำวัน
ตอนที่ 9: การบริหารสภาพคล่อง
ตอนที่ 10: การวางแผนออมโดยอัตโนมัติ
ตอนที่ 11 การวางแผนปลดหนี้ (1)

ตอนที่ 1 Keyword คือ "ความรู้ทางการเงิน" จดบันทึกและให้ความเห็นเพิ่มเติมได้ดังนี้

  1. เรื่องของการเงิน (ซึ่งเป็นเรื่องสมมุติ ที่ไม่มีอยู่จริง แต่มันอยู่ในวงจรชีวิตของมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องสมมุติอีกนั่นแหละ) เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจ (แต่คิดว่าตัวเองเข้าใจ) ต้นเหตุของความไม่รู้ เพราะว่า ไม่มีการเรียนการสอนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย (แต่จริงๆ แล้ว บีแมน สอนน๊ะ แต่นิสิตส่วนใหญ่ไม่สนใจฟัง) เพราะเป็นวัฏจักรของความไม่รู้ (อวิชชา)
  2. ความเข้าใจผิดทางการเงิน (the myth about money) คือ (1) "เงิน" ทำให้เรารวย (2) หาเงินได้มากขึ้นแล้วจะรวยขึ้น (3) มีรายได้มากขึ้นแล้วชีวิตจะมีความสุขมากขึ้น..ความคิดที่ผิดทางการเงิน ทำให้มนุษย์มีลักษณะเหมือนกันอย่างหนึ่งคือ "วิ่งไล่หาเงิน" (ซึ่งไม่มีทางจะทัน) หรือ ทำงานหนักเพื่อเงิน ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่เลย...พ่อแม่ส่วนใหญ่จะสอนลูกว่า "เรียนให้ดีๆ น๊ะลูก ทำคะแนนให้ดีๆ สอบเข้าโรงเรียนดีๆ เมื่อจบแล้วจะได้ทำงานดีๆ มีรายได้เยอะๆ แล้วเมื่อนั้นลูกจะไม่ต้องห่วงเรื่องอนาคตทางการเงินของตัวเอง"
  3. มนุษย์มีความแปลกอยู่หลายอย่าง อย่างหนึ่งคือ "เมื่อรายได้มากขึ้นหรือมีเงินมากขึ้น จะมีความสามารถในการหารายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้นมาเท่าเทียมรายได้...อิอิ
  4. ความเข้าใจที่ถูก..ความเชื่อหรือ Mindset ที่ถูกคือ เงินหรือรายได้ที่มากๆ ไม่ได้ทำให้เรารวย แต่สิ่งที่ทำให้เรารวยอย่างมั่นคงและถาวร คือ "ความรู้ทางด้านการเงิน" (อีกนั่นแหละ เงินก็ไม่สามารถซื้อความสุขได้ ความสุขนั้นหาได้ภายในจิตใจของเราเอง คือ จิตใจที่ดีงามและรู้จักการให้..อิอิ)
  5. ความรู้ทางการเงิน (Money Literacy) มันมีวงจรดังภาพข้างบน คือ การหารายได้, เอามาใช้จ่าย, ลงทุน และเก็บออม ซึ่งถ้าเรียงลำดับ เป็นสมการจะได้ รายได้-เงินออม=การใช้จ่าย.... ส่วนเงินที่ลงทุนก็แบ่งมาจากเงินออมนั่นแหละ
  6. คนที่ไม่มีความรู้ทางด้านการเงินย่อมเสียเปรียบคนที่มีความรู้ทางการเงินอยู่ตลอดเวลา (นั่นหมายความว่า คนส่วนใหญ่-ซึ่งไม่มีความรู้ทางการเงิน กำลังถูกเอาเปรียบ จากคนส่วนน้อยที่มี ความรู้ทางการเงิน)
  7. คนที่มีความรู้ทางด้านการเงินนั้น จะทำให้ประสบความสำเร็จทางด้านการเงินและมีชีวิตที่มั่งคั่งได้ (แต่ไม่รับรองว่าจะมีความสุขน๊ะครับ-ความสุขพื้นฐานนั้นคือการมีปัจจัย 4 ที่พอเพียง)
  8. ความรู้ทางการเงิน ช่องที่ 1 ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะคนส่วนใหญ่เรียนหนังสือมาเพื่อสุดท้ายจะมาหารายได้ (เครืองจักรทำเงิน)
  9. ความรู้ทางการเงิน ช่องที่ 2 นี่มีปัญหามาก คนส่วนใหญ่จะคิดว่า เรื่องการใช้จ่ายต้องสอนด้วยเหรอ แต่ความจริงเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ มีเรื่องของ การบริหารการใช้จ่ายหรือควบคุมการใช้จ่าย (ความจริงคือควบคุมตัวเอง ในด้านกิเลสและตัณหา ให้พิจารณาอย่างมีสติ ถามตัวเองว่า สิ่งที่เราต้องการนั้น มันเป็น-"ความจำเป็น" หรือ "อยากได้") คือ การทำงบการเงิน บริหารรายจ่ายได้เหมาะสม ก็จะมีเงินเหลือเก็บ
  10. ความรู้ทางการเงิน ช่องที่ 3 นี่ก็มีปัญหา...คนส่วนใหญ่คิดว่า มีรายได้ แล้วก็ใช้จ่าย แล้วมีเงินเหลือค่อยเก็บ อย่างนี้ 97% ของคนจะไม่มีเงินเหลือเก็บ...ต้องเปลี่ยนสูตรใหม่ เป็น มีรายได้ แล้วเก็บออมก่อน (ควรเก็บตั้งแต่ 5-50% ของรายได้ ค่ากลางๆ ที่เหมาะสมคือ 20-30%) ที่เหลือค่อยใช้จ่ายในส่วนที่จำเป็น แล้วถ้าสุดท้ายยังมีเงินคงเหลือรายเดือนอีก ถือว่า "สุดยอด"
  11. การออมที่ไม่มีระบบและเป้าหมาย ก็จะไปไม่ถึงคำว่า "อิสระภาพทางการเงิน-Financial Freedom"
  12. ความรู้ทางการเงิน ช่องที่ 4 นี่ยิ่งมีปัญหามาก เงินที่เก็บออม (รวมทั้งเงินของคนอื่นด้วย) เรานำมาบริหารด้วยการลงทุน ถ้าบริหารไม่ดี เงินที่เก็บออมมาก็จะหมดไป และชีวิตจะประสบความล้มเหลวทางด้านการเงิน
  13. ดังนั้น ความรู้ทางการเงิน ทั้ง 4 ด้าน เราต้องเข้าใจวงจรอย่างถ่องแท้ แล้วนำมาบริหารให้เกิดความสมดุลทั้ง 4 ด้าน (อย่างชาญฉลาด-ที่เป็นแบบเฉพาะตัวของเราอย่างเหมาะสม-ด้วยจิตที่ไม่ละโมบโลภมากจนเกินไป)
  14. สัดส่วนความสมดุลของ ความรู้ทางการเงิน คือ หารายได้ 40 : เก็บออม 20 : การใช้จ่าย 20 : การลงทุน 20

จบตอนที่ 1 ครับ

หมายเลขบันทึก: 606009เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2016 07:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2016 10:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท