ระยะทาง ราชทูตไปกรุงปักกิ่ง



ต่อจาก ตอนที่แล้ว

หนังสือ หมิงสือลู่ - ชิงสือลู่ บันทึกเรื่องจริงแห่งราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ตอนว่าด้วยสยาม และ หนังสือ ระยะทาง ราชทูตไปกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ตั้งแต่ ณ เดือน ๘ ปีกุญตรีศก และ ปีชวดจัตวาศก ในแผ่นดินพระบาทสมเดจพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอินทรมนตรีแย้มได้เรียบเรียงไว้ ในรัชกาลที่ ๕ จัดพิมพ์โดย มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯช่วงแรกเป็นบันทึกของจีน (ที่แปลมา) ช่วงหลังเป็นบันทึกของไทย

ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร ช่วยไขข้อสงสัยคำว่า “ระยะทาง” ในชื่อบันทึก ว่ามาจากภาษาอังกฤษว่า itinerary ที่สมัย ร. ๕ นิยมใช้คำไทยว่า ระยะทาง

น่าเสียดายที่บันทึกต้นฉบับตอนเดินทางจริงๆ ของพระอินทรมนตรี (แย้ม) ถูกไฟไหม้หมด บันทึกที่จัดทำถวาย ร.๕ นี้ เขียนจากความจำ และสอบทานกับผู้เดินทางไปด้วยกันเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่ หลังการเดินทาง ๓๒ ปี แต่ก็มีรายละเอียดมาก และได้ความรู้ว่า จีนปฏิบัติต่อไทยในฐานะกึ่งเมืองขึ้น ไม่ได้ให้เกียรติในฐานะประเทศที่ฐานะเท่าเทียมกัน อย่างที่ปฏิบัติต่อทูตฝรั่งเศส ที่บันทึกเขียนว่า พิธีใหญ่โตกว่า หลายสิบเท่า

คณะทูตเดินทางไปในรัชกาลที่ ๔ ปี พ.ศ. ๒๓๙๕ กลับมาในปี ๒๓๙๗ ที่เตะตาคือ กลับจากฮ่องกง โดยเรือกำปั่นของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ์ สมัยที่ท่านยังเป็นเจ้าพระยา สมุหกลาโหม

อย่างไรก็ตาม ทูตคณะนี้เป็นคณะเดียวของสยาม ที่ได้เข้าเฝ้าจักรพรรดิ์ราชวงศ์ชิงแบบเป็นพิธีการ ในพระราชวัง โดยเข้าเฝ้าพร้อมกับทูตจากประเทศอื่นๆ รวม ๖ ประเทศ ทูตคณะอื่นๆ ของสยาม ได้เข้าเฝ้าตามริมถนนระหว่างเสด็จเท่านั้นเอง

ในหนังสือ มีภาพวาดของจีน วาดภาพพิธีที่คณะทูต ๖ ประเทศเข้าเฝ้าจักรพรรดิ์จีนด้วย มโหฬารมาก แต่ก็เป็นพิธีในพลับพลาเท่านั้น ไม่ใช่พิธีในพระบรมมหาราชวังอย่างพิธีรับทูตฝรั่งเศส โดยที่ทางจีนเขามี กฎเกณฑ์ชัดเจน ว่าจะรับทูตประเทศแบบไหน ด้วยพิธีระดับใด ทางฝ่ายจีนเขาอธิบายให้ทูตไทยทราบ อย่างชัดเจน แม้แต่สหรัฐอเมริกาเขาก็ไม่ต้อนรับทูตด้วยพิธีเต็มยศอย่างทูตฝรั่งเศส ด้วยเหตุผลว่า เป็นประเทศ ที่ไม่มีกษัตริย์

เข้าเฝ้าเดี๋ยวเดียว แต่ทางการจีนพาคณะทูตเที่ยวชมพระบรมมหาราชวัง และเที่ยวเมืองปักกิ่งเป็นเวลา เดือนเศษ บันทึกบอกว่าไม่ทั่ว บันทึกบรรยายภาพมโหฬารจริงๆ จนผมรู้สึกว่าท่านทูตน่าจะรู้สึกเกินเลย ความจริงไปหลายเท่า

คณะทูตต้องอยู่ที่ปักกิ่งนาน เพราะต้องรอให้ทางการจีนเตรียมรับทูตฝรั่งเศสก่อน จนเขาว่าง จึงจะเตรียมของพระราชทานแก่พระเจ้ากรุงสยามและคณะทูต เป็นเหตุให้คณะทูตสยามได้ไปเห็นความอลังการ์ ของพิธีรับทูตฝรั่งเศส

และเมื่อถึงเวลากลับ การเดินทางกลับต้องกลับทางต่างจากขาไป เพื่อหลีกโจร แต่ก็ได้รับความยาก ลำบากมาก และในที่สุดก็โดนปล้น เอาของไปหมด เหลือเสื้อผ้าชุดที่แต่ละคนสวมอยู่เท่านั้น รายละเอียดของการเดินทาง และสภาพการถูกโจรปล้น น่าอ่านยิ่งนัก ท่านผู้เขียนคือพระอินทรมนตรี (แย้ม) นั้น เป็นอุปทูตในคณะ ยังไม่มีบรรดาศักดิ์ เมื่อกลับมาจึงได้รับพระราชทานยศเป็นหลวงอินทรมนตรี และหลังจากเขียนรายงานนี้ ก็ได้รับพระราชทานยศเป็นพระยาสารภากรณ์

ข้อเตะตาอีกอย่างหนึ่งคือ ตอนที่คณะทูตไปถึงฮ่องกง เพื่อรอลงเรือกลับสยาม เซอร์จอห์น บาวริง ผู้ว่าการเมืองฮ่องกง ได้เชิญไปพบ และใส่ลูกยุให้สยามเลิกการทูตแบบเมืองขึ้นกับจีน เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ แม้จีนจะทวง สยามก็ไม่ส่งก้องไปจิ้มจีนอีก เพราะโลกเปลี่ยนไปแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบรัฐ ในอารักขา ถูกแทนที่ด้วยความสัมพันธ์แบบเท่าเทียมกัน

หนังสือเล่มนี้ คอประวัติศาสตร์ต้องไม่พลาด ผมเป็นคนมีบุญวาสนา ที่ได้รับเชิญไปร่วมงาน และได้รับแจก ขอขอบคุณ ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ในความเอื้ออารี



วิจารณ์พานิช

๒ เม.ย. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 605956เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2016 16:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2016 16:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท