kae
นางสาว กนกพร อินทร์ทอง

KM กับโลกยุคปัจจุบัน


KM กับโลกยุคปัจจุบัน

ปัจจุบัน เหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลกมีความเปลี่ยนแปลง มีพัฒนาการ และมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับวงการธุรกิจ เป็นที่ยอมรับกันว่าบริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ มีการลงทุนอย่างมหาศาลไปกับการสร้างความพร้อมทางด้านเครือข่ายสื่อสารข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเครือข่าย LAN, การวางเครือข่าย Intranet, การเชื่อมต่อกับโลกอินเตอร์เน็ต ไปจนถึงการพัฒนาองค์กรให้อยู่ในรูปแบบของ Office Automation สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ สำหรับการวางรากฐานความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันก็จริง แต่สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีบุคลากรจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นบริษัทภายในประเทศ หรือบริษัทที่มีสำนักงานสาขาอยู่ทั่วโลก หรือที่นิยมเรียกกันว่า MNC (Multi-National Company) ซึ่งมีพนักงานหลากหลายเชื้อชาติ ต่างกันทั้งวัฒนธรรม, ทัศนคติ และทักษะในการทำงาน องค์กรเหล่านี้กำลังตกอยู่ภายใต้แรงบีบคั้นอันเกิดจากการแข่งขันทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการบริหารที่เพิ่มขึ้น, ความต้องการของตลาดที่ลดลง, การช่วงชิงความได้เปรียบจากคู่แข่งขัน รวมถึงความล้มเหลวในแง่ของประสิทธิภาพการบริหารจัดการองค์กร แรงบีบคั้นเหล่านี้มีผลทำให้ความก้าวหน้าและความได้เปรียบในเชิงแข่งขันขององค์กรตกอยู่ในสภาวะล่อแหลม เป็นเรื่องน่าแปลกที่องค์กรใหญ่ ๆ ทั่วโลกล้วนตกอยู่ในปัญหาลักษณะคล้าย ๆ กัน ปัญหาที่ผู้เขียนกำลังจะกล่าวถึงนี้มิใช่ประเด็นของการแข่งขัน หรือการบริหารจัดการองค์กร ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องเกิดขึ้นตามธรรมชาติของการดำเนินธุรกิจและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ปัญหาที่แท้จริงกลับเป็นเรื่องของการขาดประสิทธิภาพในการจัดการองค์ความรู้ภายในองค์กร หลาย ๆ องค์กรอาจถึงขั้นที่เรียกได้ว่าประสบกับความล้มเหลวกับเรื่องดังกล่าว ผู้เขียนขอยกตัวอย่างบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งดำเนินธุรกิจจำหน่ายและซ่อมบำรุงเครื่องคอมพิวเตอร์ บริษัทแห่งนี้มีทั้งพนักงานขายและช่างอยู่เป็นจำนวนมาก หากช่างแต่ละคนออกทำงานซ่อมบำรุงโดยไม่มีการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน ก็ย่อมทำให้ประสิทธิภาพในการให้บริการลูกค้าลดต่ำลงกว่าที่ควรจะเป็น หากช่างผู้หนึ่งค้นพบวิธีการในการแก้ไขปัญหา แต่ไม่มีการถ่ายทอดให้กับช่างผู้อื่น การแก้ปัญหาเดียวกันที่เกิดขึ้นกับลูกค้ารายอื่น ๆ ก็อาจต้องใช้เวลามากขึ้น ช่างบางรายอาจแก้ปัญหาผิดทางจนถึงกับก่อปัญหาใหม่ขึ้นมา และนอกจากนี้ยังอาจไม่เป็นที่ประทับใจของลูกค้าอีกด้วย หากผู้บริหารของบริษัทแห่งนี้มองเห็นแนวทางในการพัฒนาประสิทธิภาพ โดยนำวิธีของ KM มาประยุกต์ใช้งาน ก็อาจจัดให้มีการประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างช่างด้วยกัน หรือจัดทำวารสารภายในองค์กรเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างช่างซ่อมด้วยกันก็จะเป็นประโยชน์โดยรวมต่อบริษัทมากขึ้น ตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงกรณีศึกษาเล็ก ๆ ซึ่งอาจจะไม่ถึงกับต้องใช้แนวคิดของ KM เต็มรูปแบบมาประยุกต์ใช้งาน แต่หากผู้อ่านลองจินตนาการถึงองค์กรขนาดใหญ่ ๆ ที่มีพนักงานจำนวนมาก การบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ในลักษณะเดียวกับกรณีของบริษัทข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาในเชิงเทคนิค, การแลกเปลี่ยนข้อมูลตัวแทนจำหน่าย, การเผยแพร่ข้อมูลโครงสร้างองค์กรของลูกค้า, ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทคู่แข่ง, แคตตาล็อคสินค้า, กรณีศึกษาในการปิดการขายกับลูกค้าบางราย ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ย่อมมีประโยชน์ต่อตัวผู้บริหาร, พนักงานฝ่ายขาย, พนักงานเทคนิค ฯลฯ ซึ่งในภาพรวมจะเป็นการเสริมศักยภาพในการดำเนินธุรกิจขององค์กรดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

จากวารสาร MICRO COMPUTER เล่มที่ 215

ผู้เขียน คุณไพโรจน์ ไววานิชกิจ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่

http://micro.se-ed.com/content/mc215/MainFrame.asp?tar=Mc215_96.asp

หมายเลขบันทึก: 60561เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2006 10:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท