เรียนรู้แบบ “เจอนั่น-เจอนี่” ที่ ม.ชีวิต (1)


ผู้เขียนถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะไม่ส่งผ่านถ้อยคำอันน่าเกลียด หรือวาจาที่สร้างความเกลียดชัง ที่เรียกกันว่า Hate Speech อันมีรากฐานมาจากการเริ่มต้นฟัง-อ่าน-คิด แล้วตีความ ตัดสินถูก-ผิด กล่าวหา กล่าวโทษ ตำหนิติเตียน จนเลยเถิดไปถึงขั้นดุด่าว่ากล่าว

สอนที่ ม.ชีวิต (สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน) มาก็หลายปี ได้เรียนรู้ร่วมกับนักศึกษามาก็หลายรุ่น หลายวัย หลายอาชีพ ฯลฯ สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนยึดถือเป็นหลักในการเป็นครูคือ เราจะดำรงตนเป็นกัลยาณมิตรที่ดี (ที่สุด) ของนักศึกษา ที่วงเล็บตรงคำว่า (ที่สุด) เพราะรู้ว่ายังอีกนาน...อีกไกล...ไม่มีวันสิ้นสุด มีเรื่องดีๆ ทั้งเก่าและใหม่โผล่หน้าเข้ามาทักทายให้ได้ไตร่ตรองสะท้อนคิด ได้นำไปปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างตนเองกับนักศึกษา และนี่คือเรื่องหนึ่งที่เราภูมิใจ เรียนรู้แบบ “เจอนั่น-เจอนี่” ที่ ม.ชีวิต

ผู้เขียนเชื่อว่าเมื่อท่านได้อ่านชื่อเรื่องในครั้งแรกคงจะคิดเดาเอาว่า เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นออกไปเรียนรู้-ดูงาน ณ สถานที่ต่างๆ จึงได้ เจอนั่น-เจอนี่ ก็ไม่เห็นจะแปลกอะไรใครๆ เขาก็ทำกัน แต่ถ้าอธิบายใหม่ว่า เจอนั่น-เจอนี่ มาจากการเลียนเสียงทับศัพท์ภาษาอังกฤษคำว่า Journal-Journey ความน่าสนใจคงจะเพิ่มขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง

Journal แปลว่า วารสาร Journey แปลว่า การเดินทาง แล้วมันเกี่ยวอะไรกับการจัดกระบวนการเรียนรู้ ?

1. เริ่มต้นที่การเขียนและอ่านบันทึกการเรียนรู้รายวิชา

ทุกครั้งที่ผู้เขียนจัดกระบวนการเรียนรู้ ไม่ว่าจะในชั้นเรียนหรือออกไปปฏิบัติงานภาคสนาม งานชิ้นหนึ่งที่นักศึกษาต้องทำส่งอาจารย์ คือ ต้องมีการเขียนบันทึกการเรียนรู้ โดยกำหนดประเด็นใช้เป็นแนวทางในการเขียน 3 ข้อ ดังนี้

      • กิจกรรมการเรียนรู้ / การปฏิบัติ (ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ฯลฯ)
      • เนื้อหา / เรื่องราว / เหตุการณ์ / ข้อมูล ที่ได้จากการเรียนรู้
      • สรุปประโยชน์ที่ได้รับและภารกิจที่ต้องสานต่อ

บันทึกการเรียนรู้ทุกชิ้นที่นักศึกษาเขียนส่งมา ผู้เขียนในฐานะอาจารย์จะสนับสนุนให้เขียนด้วยลายมือของตนเองหรือใครถนัดที่จะพิมพ์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ก็ไม่ขัดข้อง ผู้เขียนถือเป็นภารกิจของ การดำรงตนเป็นกัลยาณมิตรที่ดี ดังนั้น ก่อนอ่านจึงวางจิตให้เปี่ยมไปด้วยความเมตตา ยิ้มน้อยๆ เพื่อส่งผ่านไมตรีจิตถ่ายทอดลงไปในงานของนักศึกษา จากนั้นจึงตั้งใจอ่านอย่างละเอียด ตรวจแก้ตั้งแต่คำผิด ตั้งคำถามให้ได้คิด แนะนำการปรับปรุง เพิ่มเติม ตัดทอน ขยายความ ฯลฯ และที่ขาดไม่ได้คือ ผู้เขียนจะทำหน้าที่เป็น เชียร์ลีดเดอร์ (Cheer Leader) ในความหมายของการเป็นผู้นำเชียร์ กระตุ้น สนับสนุน/ส่งเสริม ให้นักศึกษาพัฒนาตนเองในทุกๆ มิติของการเรียนรู้ ทั้งฐานคิด ฐานกาย และฐานใจ

ผู้เขียนถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะไม่ส่งผ่านถ้อยคำอันน่าเกลียด หรือวาจาที่สร้างความเกลียดชัง ที่เรียกกันว่า Hate Speech อันมีรากฐานมาจากการเริ่มต้นฟัง-อ่าน-คิด แล้วตีความ ตัดสินถูก-ผิด กล่าวหา กล่าวโทษ ตำหนิติเตียน จนเลยเถิดไปถึงขั้นดุด่าว่ากล่าว ถ้อยคำเหล่านี้เมื่อเริ่มต้นหยิบยกขึ้นมาใช้มันจะบั่นทอนกำลังใจของนักศึกษา และถ้ามองให้ลึกลงไปกว่านั้นรากเหง้าที่แท้จริงของถ้อยคำเหล่านี้มาจากอัตตา/ตัวตนที่ติดอยู่ในกรงขังความคิดตัวกู/ของกู แสดงออกเมื่อไรก็มักจะนำไปสู่ความขัดแย้ง น้อยใจ หงุดหงิด โกรธ เกลียดชัง ฯลฯ แล้วอย่างนี้จะไปเป็นครูสอนใครเขาได้

บันทึกการเรียนรู้ทุกชิ้นเมื่อตรวจอ่าน แนะนำ แสดงความคิดเห็น และเขียน cheer-up สร้างกำลังใจเรียบร้อยแล้ว ผู้เขียนจะส่งคืนให้นักศึกษานำไปรวบรวมพร้อมสอดแทรกเอกสารประกอบต่างๆ จัดทำเป็นรูปเล่มรายงานส่งในช่วงปลายภาคเรียน นักศึกษาที่ขาดเรียน ขาดการเข้าร่วมกิจกรรม ผู้เขียนอนุญาตให้ติดตามเรียนรู้จากการศึกษาบันทึกฯ ของเพื่อนๆ แล้วเขียนขึ้นมาใหม่บนฐานความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถของตนเอง พร้อมทั้งให้เครดิตด้วยการขอบคุณเพื่อนที่เป็นเจ้าของบันทึกฯ ส่งมาให้ผู้เขียนตรวจอ่านตามขั้นตอนปกติ เป็นการช่วยให้ผู้ที่ขาดเรียนได้ติดตามกระบวนการเรียนรู้ ได้ศึกษา สอบถาม ทำความเข้าใจจากเพื่อน จากครู และมีรายงานส่งเหมือนคนอื่น แต่คะแนนเก็บโดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนจำเป็นต้องขาดตกบกพร่องได้น้อยกว่าเพื่อนๆ ก็ว่ากันไปตามเหตุ-ปัจจัย

หมายเลขบันทึก: 605414เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2016 09:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2016 10:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านบันทึกนี้..ทำให้..คิดถึงหนัง..ชื่อ.".ฝนสีม่วง..(แปลเป็นไทย..คนแสดงเพิ่งตายไป..เมื่อไม่กี่วันมานี้เอง..เขาชื่อ..เจ้าชาย..(แปลเป็นไทย)..."

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท