สมาร์ทโฟน คนใช้โง่?


cr: http://ireview.in.th/pr-nokia-lumia-620/

ขออภัยนี่ไม่ใช่คำเหน็บแนมด้วยเจตนาหลัก แต่เป็นการสะท้อนสังคม เพื่อเตือนสติ และเพื่อมิให้สังคมยุคใหม่ตื่นตัว ตื่นเต้นไปกับการหลงสื่อและเข้าทางพ่อค้าที่แยบยล แต่ถ้าบทบันทึกนี้ไปขัดใจ ขัดเสรีภาพความรู้สึกของท่าน ก็ขอซะว่า ผู้เขียนคิดกังวลไปเอง เนื่องจากเราอยู่ในสังคมยุคที่สับสนและปนเปกับวัฒนธรรม วิถีชีวิต และเสรีภาพแบบตุ่นๆ (มืดๆทึมๆ) ที่แยกไม่ออกว่า เสรีภาพและอิสรภาพ ที่แท้จริงเป็นอย่างไร

ปรากฏการณ์ทุกนี้ เด็กเยาวชนอาจมองไม่รอบคอบ และลึกซึ้งกับวงจรสังคม เพราะเพิ่งเกิดมาพบโลกใหม่สำหรับเขา แต่สำหรับคนโตหรือผู้ใหญ่ ย่อมมองชีวิตและโลกตามที่มันเป็นและกำลังจะเป็นออกแล้ว จึงพอปรับตัวได้และไม่หวั่นไหวกับโลกมายา (สังคม) กระนั้น ก็มีไม่น้อย ที่ผู้ใหญ่เองที่ฐานไม่แน่นพอในการรับรู้โลก และการควบคุมแรงกระตุ้นของตน จึงอ่อนไหว ไหลไปตามกระแสนิยมใหม่ๆ ก็ได้ จนอาจเสียศูนย์ในฐานคำว่า "จุดยืน" (Standpoint) ของตน

ทุกวันนี้ เกือบทุกคนในสังคมเมือง มีเครื่องเคียงที่เรียกว่า มือถือสื่อสารสำหรับบุคคล เช่น เฟสบุ๊ค ไอจี ทวิตเตอร์ ที่สื่อความรู้สึกต่างๆออกมาแบบพร่ำเพรื่อและซ้ำๆ ซากๆ ในแต่ละวัน เพื่อบอกนัยความรู้สึกและความตื่นเต้นกับสถานที่ที่ไปชม และสิ่งที่สัมผัส กินเที่ยว นอกจากนั้น ยังเป็นสื่อส่วนตัวทางอารมณ์ที่สะท้อนความรู้สึก นึกคิดแบบขณะต่อขณะ ที่ผลิตอารมณ์ออกมาอย่างหยาบๆ และตรงไปตรงมา จนขาดความรอบคอบ

อนึ่ง การสื่อสารแบบนี้คือ เป็นการสื่อสารส่วนตัวด้านในออกมาสู่โลกภายนอก เพื่อบอกทัศนะ ความรู้สึก ความคิด และอารมณ์ต่างๆ จนกลายเป็นตัวตนที่สำแดงออกมาให้โลก สังคมได้รู้ ได้เข้าใจ ความเป็นตัวตนของปัจเจกบุคคลได้ดี นี่คือ แรงขับ แรงอยาก แรงต้องการ ที่เป็นปมด้อย ปมมืดที่ฟรอยด์บอกว่า เหมือนน้ำแข็งใต้น้ำ ส่วนที่โผล่คือ กระแสความรู้สึก กิจกรรมทางเฟส ที่สื่อออกมาประจำทุกๆวัน แท้จริงแล้ว ลึกๆ ทุกคนก็อยากมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกด้วยความอยากถูกรับรู้และยอมรับ เหมือนที่เบิร์กเลย์กล่าวว่า "การเป็นที่อยากถูกรับรู้" (Being is to be perceived)

ทำไมเราจึงต้องการสื่อสารกับคนอื่น เป็นเรื่องความรู้สึกและความอยาก ที่ต้องการสื่อสารนัยของแรงปรารถนาข้างในสะท้อนออกมาทางภาษา ท่าทาง ความรู้สึก และภาษา เพื่อบอกสิ่งรอบข้างให้รับรู้และจะได้ตอบสนองตนเองได้อย่างพอใจ มันเกิดมาตั้งแต่เกิด เมื่อเด็กทารก ไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาได้ จึงสำแดงออกมาทางท่าทางหรือภาษากายเช่น ดิ้น ร้อง ส่งเสียง ทำหน้า สีหน้าเรียกร้องเพื่อผลักดันหรือเรียกร้อง อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเติบโต ศักยภาพนี้ก็เจริญเติบโตไปด้วย วิธีการเรียกร้องก็ซับซ้อนมากขึ้นด้วย

โดยธรรมชาติสัตว์โลก (รวมทั้งมนุษย์) มีกลไกผลักดันตัวเองให้โลกตอบสนองอยู่เสมอ คืออยากได้แรงรัก แรงดึงดูดจากข้างนอกสู่ข้างในด้วย ในขณะเดียวกัน ก็มีแรงผลักดัน ผลักต้านจากด้านนอกอยู่ด้วยเช่นกันเช่น ไม่อยากอยู่ที่ร้อน ไม่อยากอยู่คนเดียว ไม่ชอบสิ่งโน้น สิ่งนี้ เป็นต้น และอีกอย่าง ยังมีแรงที่สร้างสรรค์จากผลของการมีกายภาพคือ มีสมอง มีความนึกคิด สร้างสรรค์อารมณ์ขึ้นมาอย่างพื้นๆ แบบสัตว์โลกคือ กิน ขี้ ปี้ นอน กลัว และความรู้สึกแบบสัตว์โลก แบบปกติวิสัยอยู่ด้วย สิ่งนี้หากไม่รู้กรอบและพลังของมัน เจ้าตัวก็จะกลายเป็นคนของมันและถูกครอบงำโดยไม่รู้ตัว

กระนั้นก็ตาม เราก็สามารถสร้างเขื่อนหรือแรงผลักต้านหรือจะใช้วิธีแบบประนีประนอม ยอมไปก่อน เพื่อถอนทีหลังก็ได้ กล่าวคือ ในตัวเรามีทั้งแรงบวกและแรงลบ แรงบวกนั้น เป็นความรู้ของตัวเอง (แต่อย่าให้มันลื่นไหลไปตามแรงธรรมชาติ) ส่วนแรงลบนั้น เป็นธรรมชาติดิบๆ ที่ยังไม่ได้ขัดเกลาหรือฝึกฝนให้สวยงามตามคติของเส้นทางสังคม วัฒนธรรมมนุษย์ เช่น ลักษณะ ๕ อย่าง ที่กล่าวนั้น นอกจากนี้ คุณลักษณ์ที่เหนือทั้งสองคือ สติ ปัญญา ของมนุษย์ที่เป็นเหมือนเครื่องชั่งหรือเป็นตัวย่อยพฤติกรรมทางจิต ให้สำนึกถึงโครงสร้างมวลรวมของโลก ชีวิต การกระทำและพฤติของจิตว่า อยู่ในระดับใด สูง ต่ำ ดำ ขาว ถูก ผิด ฯ

ถ้าไม่มีศาสนามาเป็นเครื่องมือเราก็จะใช้สามัญสำนึกเอาว่า เป็นอย่างไร ศาสนาไม่ใช่มีแค่นับถือหรือยึดติดในหลักคำสอนของตนจนลืมเป้าหมายที่แท้จริงที่ปลายทางคือ ไม่ติดโลก พ้นทุกข์ พ้นวัฏฏะ หรือเข้าสู่อาณาจักรวิโมกข์กับพระเจ้า แต่คนส่วนมากไปติดหลัก (Dogma) ยึดติดในหลักการของศาสนา (กู) จึงไม่ยอมข้ามเส้นแดนคำว่า ศาสนา เพราะศาสนเป็นเหมือนสะพาน ที่สร้างให้คนเดินไปสู่เป้าหมายปลายทาง (ชีวิต) เท่านั้น นอกนั้น เป็นเพียงค่านิยมแบบมายา

ในตัวมนุษย์มีศักยภาพที่รองรับปรากฏการณ์ของโลกอยู่เสมอ อยู่ที่ว่า เราจะมีการฝึกฝน เรียนรู้ วิจัยตัวเอง (ศักย์) ให้มองเห็นโลก และสิ่งที่ใช้สอยเป็นมายาหรือมีค่าชั่วคราว ถ้าตัวเองถูกโลกข้างใน (สัญชาตญาณ) ผลักดันให้เป็นไปตามแรงวิถีสัตว์ พฤติกรรมของเราก็จะมีกลิ่นไอของสิ่งเหล่านี้ติดอยู่เสมอ และถึงเวลามันก็จะแสดงออกมาแบบโง่ๆ หรือแบบไม่รู้ตัว เพราะไม่เคยวิจัยใจตัวเอง ที่เกิดขึ้นหรือเผชิญกับสิ่งต่างๆ

ความต้องการหรือความอยากที่เราแสดงออกที่ร้องเรียกว่า "สิทธิและเสรีภาพ" นั้น มันเป็นธรรมชาติดิบ ที่เราไม่เคยหยุดมัน เลยปล่อยไปตามมัน และที่น่าคิดคือ เราไม่รู้เลยว่า เราคือ ส่วนหนึ่งของมัน หรือมันคือ ส่วนหนึ่งของเรา เราแยกไม่ออก วิเคราะห์กระเทาะตนเองไม่ละเอียดพอที่จะแยกตัวเองและสิ่งที่อยากออกจากกันแล้วหาข้อแก้ต่าง หรือทางประนีประนอมกับมัน ดังนั้น มันจึงถูกเหมารวมว่า สิ่งที่อยากได้ คือ สิทธิ (ส่วนบุคคล) และเสรีภาพ คือ สิ่งที่ตอบสนองตนเองอย่างไม่มีอะไรทัดทาน ขัดขวางได้ เราจึงไม่รู้ว่า สิทธิ เป็นของเราหรือเป็นของสิ่งที่อื่น และเสรีภาพของเราหรือเสรีภาพของความไม่รู้ (กิเลส) กันแน่

ด้วยเหตุนี้ เราจึงสนองตัวอยากเต็มที่ ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอกคือ สังคม และการรับรู้ที่ซ้ำๆ ซากๆ จนสะสมบ่อยเข้า เราเองก็คล้อยลอยตาม และเห็นดีด้วยว่า สิ่งที่ต้องใช้นั้น เป็นส่วนสำคัญของชีวิต ที่ประกอบกับการเรียกร้องสิทธิส่วนบุคคลว่า (ตัวเอง ตัวกู) อยากได้เป็นของตนเอง เพราะมีทรัพย์ มีกำลังที่จะหาได้ พอที่จะเสพสุข สนองตนเองได้ ตอบสนองตัวเองได้ จึงไม่มีใครว่าได้ และนั่นคือ จุดยืนที่เรายืนยัน ที่จะทำให้เราเสียจุดยืนทางจิตวิญญาณด้วย

ทุกวันนี้ เราเสียศูนย์ให้กับอุปกรณ์ชีวิตไปมากเกินไป เช่น เสียพลัง เสียศูนย์กับรถรา บ้าน เงินทอง มือถือ ฯ เราเสียเวลาไปกับสิ่งเหล่านี้มากพอแล้ว จนขาดความสมดุลและความเป็น "ส่วนตัว" ในเชิงจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ เรากำลังมอบใจให้อุปกรณ์ชีวิตตามค่านิยมของสังคมไป และอุทิศเวลาให้กับเครื่องเคียงของชีวิตจนไม่มีเวลาดูแลจิตวิญญาณตนเอง มันจึงเป็นจิตที่ถูกกระแสสังคมโลกครอบงำจนมืดมน และหลงไปว่า ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ กูตายแน่ คิดดูก่อนเราเกิดเราเคยนำเอาสิ่งเหล่านี้มาด้วยหรือไม่ ทำไมจะขาดมันไม่ได้ นั่นมันสะท้อนว่า เรากำลังอ่อนแอต่อสิ่งมายาเหล่านี้หรือไม่

เราทุ่มเทกับสื่อเหล่านี้แบบเอาเป็นเอาตาย ทั้งวันทั้งคืน โดยไม่ได้อะไรที่เป็นสาระต่อชีวิต นอกจากตื่นเต้น เพลิดเพลิน กับเพื่อนๆ และสังคมสื่อที่ไร้ตัวตน ที่ไร้ความจริงใจและความใส่ใจ แถมยังเกิดภัยต่างๆ มากมาย เช่น บกพร่องในการขับรถเพราะมือถือ ไม่รู้ภัยรอบตัวเพราะมือถือ ก้มหน้าอย่างเดียว ครอบครัวหนึ่งมีมันทุกคน แล้วคุยกันทางโฟน ทั้งๆ ที่อยู่บ้านเดียวกัน ไม่อยากขยับตัว ไม่อยากเคลื่อนย้ายกาย และไม่อยากมองตา สื่ออารมณ์กันตรงๆ จึงเที่ยวหาทางใหม่สื่อสารกันแบบทางอ้อม นี่ยังไม่รวมถึงภับแอบแฝงจากมือถือมากมายเช่นกัน

สื่อเหล่านี้ มันมีดีมากมาย แต่คนใช้ไม่ได้ใช้มันอย่างที่มันมีหน้าที่เช่นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากแรงกระตุ้นของผู้ซื้อที่ต้องการแบบนั้น (ความอยากส่วนตัว) อีกประการเป็นการนำเสนอมาจากของพ่อค้าบริษัท ที่เสนอโปร แอป ต่างๆ เพื่อสนองต่อลูกค้า เมื่องสองแรงบวกกัน คนใช้จึงไม่รู้ตัว ไม่รู้เครื่องใช้ ไม่รู้หน้าที่ จึงใช้เกินหน้าที่ นั่นเป็นการอ้างสิทธิส่วนบุคคลว่า ของตนเองจะใช้อย่างไรก็ได้ แต่เมื่อความอยากของตนกระทบต่อสังคม ต่อชาติ และสิ่งแวดล้อม นั่นไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่า ส่วนตัวอีกแล้ว สิ่งที่เรียกร้องต่อกันคือ เราใช้มันด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมแค่ไหน

จึงเป็นสิ่งที่น่าคิดว่า ๑) เราใช้เครื่องสื่อสาร เพื่อตอบสนองตนเองหรือเพื่อคนที่อยู่ข้างในตนเอง ๒) เราถูกกระตุ้นให้ใช้ตามเจตจำนงของเครื่องหรือผู้ผลิตหรือไม่ ๓) เรามีสิทธิและเสรีภาพจริงๆ ต่ออุปกรณ์เหล่านี้อย่างแท้จริงหรือไม่ ๔) เราในฐานะมนุษย์ มีประสิทธิภาพต่อการ "ห้าม" หรือ "เลือก" ใช้มันอย่างที่จำเป็นต่อชีวิตหรือไม่ ๕) เรามองเห็นผลเสียและผลได้ของตนเอง หลังจากใช้มันหรือไม่ ถ้าไม่รู้ต้องขอย้ำว่า เรากำลังไม่ฉลาดไปกว่าเครื่องสื่อสารที่เขาเรียกมันว่า "Smart phone" เครื่องมือสารชาญฉลาด แต่คนใช้กับไม่ฉลาดตาม น่าคิดนะครับ

คำสำคัญ (Tags): #มือถือ สื่อภัย
หมายเลขบันทึก: 605010เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2016 11:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2016 11:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท