โมเดลการฟื้นคืนสุขภาวะในการกลับไปทำงานของคนไทย Recovery Modeling for Supported Employment program in Thailand (my proposal)


จำนวนคนพิการทุกประเภทในประเทศไทยสำรวจโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(1 มีนาคม 2559) พบว่ามีจำนวน 1,501,179 คน โดยแบ่งเป็นผู้พิการทางร่างกายและการเคลื่อนไหวจำนวน 752,700 คน ผู้พิการทางด้านความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรมจำนวน 112,573 คน และความพิการทางออทิสติก จำนวน 7,983 คน บุคคลเหล่านี้ที่ต้องเผชิญกับความพิการ การถูกตัดสินจากคนในสังคม รวมถึงอุปสรรคในการกลับมาดำรงชีวิตในการทำงานอีกครั้ง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่นำกลับมาคิดว่าจะช่วยเขาได้อย่างไรให้ดำรงชีพอยู่ในสังคมไทยอย่างมีศักดิ์ศรี

โปรแกรมการฟื้นฟูการทำงาน(Supported Employment program) เป็นการสนับสนุนการกลับไปทำงานในรูปแบบต่างๆ เช่น Club house, Job placement เพื่อเป้าหมาย คือการกลับไปทำงาน(Return to work) โปรแกรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโมเดลที่ชื่อว่า โมเดลการฟื้นคืนสุขภาวะ หรือ Recovery model นั่นเอง เพื่อนบ้านเรา เช่น มาเลเซีย ขอยกตัวอย่าง Hospital Permai เป็นหนึ่งใน Best practice ด้าน Supported employment และผู้อำนวยการโรงพยาบาลกำหนดให้เป็นนโยบายใช้ทั้งโรงพยาบาล ผู้ทำงานซึ่งเป็นผู้รับบริการทางจิตเวช จะทำงานในส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแผนก cafeterias barkeries ร้านค้าในโรงพยาบาล หากจะมีผู้มาใช้บริการห้องประชุมของโรงพยาบาลเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ เช่นการจัดประชุม ต้องมีการสั่ง coffee break อาหารและบริการจากโปรแกรมนี้กับทางโรงพยาบาล รวมทั้งหากเดินรอบๆโรงพยาบาลบางที รปภ. คนเข็นลูกกวาดขาย หรือเจ้าหน้าที่ Admin ก็อาจจะเป็นผู้รับบริการที่นี่นั่นเอง รวมถึงการทำงานแถวโรงงานที่อยู่ใกล้ๆ เช่น โรงงานหม้อ โรงงานเพาะไม้น้ำสำหรับตกแต่งตู้ปลา หากผู้รับบริการเองอยากออกไปทำงานข้างนอกโรงพยาบาล และมีความพร้อม นักกิจกรรมบำบัดก็จะมีหน้าที่ประสานงานกับนายจ้าง(employer) และทำหน้าที่เป็น Job Coach ตั้งแต่พาไปสมัครงาน จนติดตามการทำงาน(มีอีกหลายขั้นตอนย่อย) ประกอบกับรัฐบาลสนับสนุนเชิงนโยบายให้ดูแลผู้รับบริการเหล่านี้อย่างเต็มที่ นักกิจกรรมบำบัดเคยเล่าให้ฟังว่าเขาจะได้รับเงินค่าจ้างถึงวันละ 750 บาท

ในประเทศไทยเช่น ร้านขนมปังชื่อดัง ได้เริ่มเปิดโอกาสให้ผู้รับบริการ เข้าไปอบรมและทำงานแล้ว รพ.ศรีธัญญาเองก็มีร้านเพื่อนที่ดำเนินการหลักด้วยนักสังคมสงเคราะห์ รพ.สมเด็จเจ้าพระยาในแผนกราชาวดี เพื่อเตรียมผู้ป่วยก่อนจำหน่ายกลับบ้าน ได้เปิดโอกาสให้ผู้รับบริการทำงานในร้านกาแฟ ชื่อ กาแฟหลังคาแดง โดยการสนับสนุนจาก Social enterprise ชื่อดังของประเทศ ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ) ก็เปิดโอกาสให้ผู้พิการทางร่างกายมาเข้าร่วมอบรมการฟื้นฟูการทำงานทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติ รวมถึงโรงเรียนอาชีวะมหาไถ่ พัทยา จ.ชลบุรี ก็เช่นกัน เพื่อเป้าหมายเดียวคือ สามารถกลับไปทำงานและมีงานทำ

กรณีศึกษาที่สร้างแรงบันดาลใจในการอยากศึกษาโมเดลนี้ให้สำเร็จ คือ บุคคลออทิสติกอายุ 15 ปี ขาดการส่งเสริมและพัฒนาความสามารถรอบด้านตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ระหว่างนั้นคุณแม่ประสบปัญหาเรื่องครอบครัว ต้องทำงานหนักมากขึ้น และต้องดูแลน้องชายอีกสองคน ผู้รับบริการเองไม่ค่อยได้รับการดูแล มีไปโรงเรียนบ้าง(แค่ได้ไป) จะทานอาหารซ้ำๆแค่ปลากระป๋องยี่ห้อหนึ่ง แม่ของเคสต้องไปทำงานและจะใช้วิธีปิดบ้านล็อคกลอนประตูไว้ รอให้แม่กลับมาช่วงเย็น หลังจากได้มาพบนักกิจกรรมบำบัด และแนะนำกิจกรรมรวมถึงให้ลองปฏิบัติกิจกรรมต่างๆมากขึ้น เขาสามารถทำอาหารที่ชอบหลายขั้นตอนได้เอง รับผิดชอบงานบ้านเพื่อแบ่งเบาภาระคุณแม่ ช่วยงานนำผ้าที่ร้านเสริมสวยมาซัก ฯลฯ แต่การสื่อสารและทักษะทางสังคมยังต้องพัฒนา โดยส่วนตัวคิดเห็นว่าการมาพบนักกิจกรรมบำบัดที่คลินิกระยะเวลาหนึ่ง ยังคิดว่าไม่พอสำหรับเขา เขาน่าจะทำอะไรและสร้างประโยชน์ได้มากกว่านี้ จึงอยากทำโมเดลนี้ให้เกิดขึ้นได้จริงๆในประเทศเรา หากมีโอกาสได้ไปศึกษาต่อ

โมเดลการฟื้นคืนสุขภาวะ (Recovery Model) ได้เริ่มมาเผยแพร่ในเมืองไทยประมาณ พ.ศ. 2544 แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก เพราะระบบการดูแลผู้รับบริการในประเทศไทยยังเป็นรูปแบบ Medical model/Rehabilitation Model ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ผู้รับบริการยังคงต้องเผชิญกับ stigma ซ้ำๆๆ โมเดลความหวังใหม่นี้ มองผู้รับบริการใหม่ให้มีสิทธิ์มีเสียงในการรักษา ทีมการรักษาต้องทำความเข้าใจและร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับเขา



ได้มีโอกาสฟังบรรยายและสัมมนา จาก Dr. Lilly จากประเทศสิงค์โปร ในการประชุมทีม Excellent ของโรงพยาบาลศรีธัญญา อ.เล่าว่าที่ประเทศสิงค์โปรใช้โมเดล Recovery มา 30 กว่าปีแล้ว เธอยกกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จที่ต้องต่อสู้จากโรคจิตเภท ฟื้นฟูสุขภาวะจนมีความหวัง และสุดท้ายเธอเลือกที่จะเป็นนักจิตวิทยา

Dr.Marcus จาก National University of Singapore ได้เคยยกตัวอย่างกรณีศึกษา ซึมเศร้า ที่ประสบความสำเร็จจากโมเดลนี้และสร้างแรงบันดาลใจให้เขาอยากเรียนจิตแพทย์จนสำเร็จในระยะเวลา 10 ปี

ทำให้ตอกย้ำและให้ความหวังว่าการสร้างโมเดลนี้จะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร

ในงานวิจัยนี้ผู้วิจัยจะลงไปคลุกและสังเกตสถานที่ที่เป็น Best/Good Practice ในการจัดโปรแกรมการฟื้นฟูการทำงาน เพื่อนำมาเชื่อมโยงกับ Recovery Model


STUDY 1

จะศึกษาเชื่อมโยง Recovery Model กับ Maslow’s Hierarchy of Needs ในแนวกว้าง ที่อธิบายแรงจูงใจของมนุษย์เป็นแต่ละระดับ หากผู้รับบริการมีแรงจูงใจในการกลับไปทำงาน ย่อมทำนายได้ว่าเขาน่าจะกลับไปทำงานได้ในอนาคต...... จะเชื่อมโยงแต่ละข้อความใน Recovery Model กับแรงจูงใจในแต่ละระดับของมาสโลว์

จากการไปทำงานกับทีมฟื้นฟูการทำงานที่มจธ และการทำโครงการกิจกรรมบำบัดเพื่อผู้พิการสร้างโอการในสังคม(SCB Challenge) กับนักศึกษากิจกรรมบำบัด รวมถึงในงานวิจัยของนักศึกษา(นศ.กบ.ศุภธิดา, นศ.กบ.ชนิภา) สามารถแบ่งผู้เข้าร่วมการอบรมที่ มจธ.ได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีแรงจูงใจ และไม่มีแรงจูงใจในการกลับไปทำงาน เพื่อเชื่อมโยงกับ Maslow’s Hierarchy of Needs ในแต่ละด้าน ถือว่าเป็นการศึกษานำร่องเพื่อใช้ต่อยอดโมเดลที่อยากศึกษานี้

STUDY 2

จะศึกษาเชื่อมโยง Recovery Model เชื่อมโยงกับ MOHO ในแนวสูง

จากการนำข้อมูลที่รวบรวมได้การไปทำงานที่ มจธ สามารถแยกกลุ่มย่อยของผู้พิการเป็น 2 กลุ่ม ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น พบคำถามว่า กลุ่มที่มีแรงจูงใจจะสามารถหางานได้อย่างไร งานอะไร และทำอย่างไรถึงได้งาน กลุ่มที่ขาดแรงจูงใจ จะช่วยให้เขาหา work interest, need และพัฒนา cognitive ability อย่างไร โมเดลที่น่าจะนำมาเชื่อมกับคำถามต่างๆเหล่านี้ได้ดีที่สุดคือ MOHO โดยStudy2 จะเชื่อมโยงข้อความต่างๆใน Recovery Model และ MOHO เข้าด้วยกัน

STUDY1 + STUDY2 =STUDY 3 + Map of Consciousness

= Recovery Modeling for Supported Employment program in Thailand


หลังจากได้ผลการวิจัยจากการ STUDY 1 และ STUDY 2 จะนำมาปรับรวมเป็นหนึ่งโมเดล รวมทั้งจะนำ Map of Consciousness มาช่วยอธิบาย คำสำคัญ “Spiritual” ให้เข้าใจและเป็นรูปธรรมมากขึ้น และทำให้เพิ่มมิติเชิงลึกของโมเดลอีกด้วย จากนั้นจะนำโมเดลไปเข้ากระบวนการ Focused group กับ ผู้พิการ(ทางร่างกายและการเคลื่อนไหว ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม ความพิการทางออทิสติก) ช่วงวัยรุ่น-วัยผู้ใหญ่ อายุระหว่าง 12-60 ปี และเป็นช่วงเปลี่ยนจากกิจกรรมการเรียนเข้าสู่การทำงาน นักกิจกรรมบำบัด นายจ้าง คนดูแล Job Coach(คนที่ช่วยฝึกการทำงาน) และทดลองนำไปใช้ต่อไป

ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการสร้างโมเดลนี้ คือ การผลักดันในสังคมไทย เพราะในประเทศไทยยังขาดโมเดลการฟื้นฟูการทำงานนี้ และทางโรงพยาบาลศรีธัญญากำลังเป็นโรงพยาบาลนำร่องในการใช้ Recovery Model โดยนโยบายของกรมสุขภาพจิต หวัง หากโมเดลนี้เกิดขึ้นจริงจะทำให้เกิด empowerment ร่วมกันและพัฒนาเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆที่มีการฟื้นฟูการทำงานให้มีรูปแบบมากขึ้น อีกทั้งโมเดลนี้จะช่วยลดการตรีตราในสังคม ว่าคนป่วย ก็ไร้ค่า ไร้สมรรถภาพ น่ากลัว ฯลฯ และจะกลับมาทำงานร่วมกับคนปกติที่ไม่ป่วยได้จริงใช่ไหม? ออกไปจากความเชื่อเดิมๆ ให้เขากลับมามีคุณค่าและศักดิ์ศรีในสังคมไทยได้อีกครั้ง


ขอขอบคุณ ผศ.ดร.ศุภลักษณ์ เข็มทอง อ.วินัย ฉัตรทอง ที่ช่วยทำให้การสรุป proposal ฉบับร่างนี้ เกิดขึ้นจากจิตใต้สำนึกและขอบคุณสำหรับการ empowered ตลอดมาค่ะ

ขอขอบคุณ อ.สุชาดา สาครเสถียร อ.พญ.สมรัก ชูวานิชวงค์ และทีมนักกิจกรรมบำบัด โรงพยาบาลศรีธัญญา สมาคมสายใยครอบครัว ทีมนักกิจกรรมบำบัดโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา คุณรี่และทีมงานดูแลผู้พิการที่มหาิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ)

ขอขอบคุณ นักศึกษาที่มีส่วนสนับสนุนทุกคน


ขอบคุณค่ะ ^ ^

หมายเลขบันทึก: 604472เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2016 12:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 เมษายน 2016 12:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณความรู้ดีดีค่ะอาจารย์ :)

สนใจในโมเดลเรื่องนี้เหมือนกันค่า สนใจทำในผู้ป่วยจิตเภท งานในไทยเห็นที่ศรีธัญญาทำอยู่ค่า ที่อื่นยังไม่ค่อยเห็นชัดส่วนตัวยังขาดความเข้าใจที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับโมเดลนี้ หากอาจารย์มีข้อเเนะนำเพิ่มเติม ยินดีมากค่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท