การเรียนรู้ของทีมปลาปาก


การเรียนรู้ศักยภาพตนเองของชุมชน

การเรียนรู้ของทีมปลาปาก

(ย้ายมาจาก www.dmplapak.blogspot.com)

สุพัฒน์ สมจิตรสกุล *

การเรียนรู้ของทีมปลาปากจังหวัดนครพนม เป็นการเรียนรู้ร่วมกับทีมอื่นที่อยู่นอกเครือข่าย เช่น การเรียนรู้ร่วมกับทีมไผ่ล้อมกับการจัดการปัญหาชุมชน กับทีมหลักศิลาในการศึกษาปัจจัยและบริบทของกลุ่มสร้างสุขภาพในชุมชน หรือทีมโคกสูงในการจัดระบบบริการผู้ป่วยเบาหวานในชุมชน ทั้งหมดนี้เป็นการเข้าไปเรียนรู้ในฐานะผู้ช่วยเหลือให้เกิดการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ระหว่างทีมของเจ้าหน้าที่และชุมชน ซึ่งต่อไปนี้จะเป็นการสรุปบทเรียนจาก 3 กรณี
เรียนรู้จากการหาความหมายร่วมกัน ในการเข้าไปศึกษาของทีมไผ่ล้อม** (ประกอบด้วยนักวิชาการจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม นักวิชาการสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และนักวิชาการสาธาธารณสุขในสถานีอนามัยบ้านอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม )ได้เข้าไปในชุมชนบ้านไผ่ล้อม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเครือข่ายชุมชนในการควบคุมโรคอุจจาระร่วง เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวมีการระบาดของโรคอุจจาระร่วง ซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำให้ทีมถือเป็นโอกาสในการเข้าไปจัดการปัญหา โดยมีผู้สนับสนุนเป็นกองสุขศึกษา กระทรวงสาธารณสุข แรกเริ่มทีมเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปประเมินชุมชนโดยการเชิญแกนนำของชุมชน( ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน อสม. และกรรมการหมู่บ้าน ) มาร่วมประชุมโดยบอกว่า ใช้หลักการประชาคมเพื่อค้นหาปัญหา พบว่าในการประชุม ทีมเจ้าหน้าที่พบว่า การประเมินพบว่า กลุ่มที่มาประชุมมีความรู้และตระหนักถึงความรุนแรงในโรคอุจจาระร่วงเป็นอย่างดี แต่เมื่อประเมินในชุมชนก็ยังพบพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย และมีการตระหนักในการปฏิบัติต่อการเจ็บป่วยน้อย ทีมเจ้าหน้าที่จึงได้นำปัญหาการจัดการดังกล่าวมาเป็นข้อสนทนากับผู้เขียน จึงมีข้อเสนอในการพูดคุยกันว่า ผลที่เกิดในชุมชนเช่นนั้นอาจเป็นเพราะเรา(ทีมเจ้าหน้าที่ ) กับชุมชน ในความหมายในคำจำกัดความของโรคอุจจาระร่วง และท่าทีของเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปจัดการปัญหายังคงใช้วิธีการที่มีคำตอบโดยไม่ตั้งคำถามกับชุมชน หมายถึง การที่เจ้าหน้าที่คิดคำตอบที่สำเร็จรูป ชุมชนจึงมองเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ต้องจัดการเอง ต่อมาทีมได้ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน โดยยืดหยุ่นวิธีการค้นหาเริ่มต้นจากการค้นหาความหมายของอาการอุจจาระร่วงโดยไม่ยึดกับทฤษฎีหรือกรอบของวิชาชีพ จากท่าทีของวิธีการค้นหาโดยใช้กระบวนกลุ่มในการพูดคุยกับชุมชน พบว่า ความหมายในอาการ “ขี้ไหล”(อุจจาระร่วง) ของชุมชน แตกต่างจากความหมายของเจ้าหน้าที่ เช่น การทานอาหารรสจัดแล้วท้องเสีย จะไม่ถือว่าเป็นท้องเสีย หรือ เด็กอายุแรกขวบที่มีอาการอุจจาระร่วงถือว่าเป็น “ ขี้ซุ ” ชุมชนมองว่าเป็นพัฒนาการของเด็กที่ต้องทำให้ตัวเบาเพื่อให้ง่ายต่อการพัฒนาจากการคลานสู่การยืนและเดิน ด้วยความหมายที่แตกต่างทำให้วิธีจัดการกับโรคอุจจาระร่วงของชุมชนจึงแตกต่าง จากการที่ได้เรียนรู้กับชุมชน ทีมจึงได้เรียนรู้กับชุมชนในการจัดการปัญหาของชุมชนด้วยวิธี “ ไม่จัดการ “ หมายถึง การปล่อยวางและเป็นเพียงผู้สร้างบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชน ทำให้การประชุมปรึกษาหารือกันระหว่างสมาชิกในชุมชนเปิดกว้างให้สมาชิกอื่นเข้ามาร่วมมากขึ้น เช่น กลุ่มที่ไม่ใช่ผู้นำที่ไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน กลุ่มผู้ที่เคยมองว่า เป็นผู้ไม่มีศักยภาพในการช่วยเหลือ( ผู้พิการ หรือ จิตไม่สมประกอบ) ก็ได้เข้าร่วมในกิจกรรมของชุมชน วิธีจัดการของชุมชนคือ การร่วมพูดคุย หาแนวทางปฏิบัติร่วมกัน แบ่งหน้าที่รับผิดชอบ ทำให้เกิดกิจกรรมต่างๆในชุมชน ที่มากกว่าการจัดการโรคอุจจาระร่วง ชุมชนมองภาพใหญ่มากกว่ารูปแบบของเจ้าหน้าที่ที่มองแค่กรอบของโรค แต่ภาพที่สรุปโดยชุมชนมองว่า โรคอุจจาระร่วงหรือขี้ไหล มันเป็นแค่ส่วนปลายของปัญหา แต่แท้ที่จริง ปัจจัยก็คือ สิ่งแวดล้อมในชุมชน ทำให้เกิดแผนในการจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น การทำแผนจัดการสิ่งแวดล้อมโดยเริ่มที่บ้านของสมาชิกในชุมชน ขยายไปยังรอบบ้าน บริเวณคุ้ม และในชุมชน แผนการหาแหล่งประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาเช่น อบต. จากเดิมชุมชนมอง อบต.เป็นเพียงนักการเมืองธรรมดาที่คอยคิดแผนตามกรรมการ ไม่เคยทำแผนขอ แต่ชุมชนได้ทำแผนของบประมาณ การจัดกิจกรรมในชุมชน การสร้างเตาเผาขยะ เป็นต้น นอกจากนี้ชุมชนนี้ได้มองไปถึงปัจจัยด้านบุคคล และได้จัดทำแผนของการพัฒนาเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยการจัดทำกลุ่มประชุมแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ จากการเข้าร่วมเรียนรู้ครั้งนี้ ผู้ใหญ่บ้านไผ่ล้อม บอกว่า “ ตั้งแต่เป็นผู้ใหญ่บ้านมา ไม่มีใครบอกว่า วิธีการจัดการกับปัญหาของชุมชน มีแต่สั่งให้ทำโน่นทำนี่ ผมสนุกมากกับการทำงานแบบนี้ “ การเรียนรู้ของทีมในบ้านไผ่ล้อมคือ การปล่อยวางจากความเป็นเจ้าหน้าที่ที่เต็มไปด้วยคำตอบ เป็นผู้จัดกระบวนการให้เกิดการเรียนรู้ กระตุ้นตั้งคำถามมากกว่าการบอกวิธีการ ช่วยให้ชุมชนค้นหาศักยภาพของตนและแหล่งประโยชน์ในการพัฒนาชุมชน

เรียนรู้จากบทเรียนที่ล้มเหลว การเรียนรู้ของทีมโคกสูง*** เดิมโรงพยาบาลปลาปากได้มีการจัดระบบคลินิกเบาหวาน ในโรงพยาบาลโดยมีผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการจัดบริการ ต่อมาในปี ๒๕๔๕ เมื่อมีโครงการ UC ทำให้เครือข่ายบริการมองว่าสอ.ที่อยู่ติดกับเขตอำเภอเมือง จึงได้จัดบริการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง เพื่อกันมิให้ผู้ป่วยไปรับบริการในเขตบริการที่อื่น โดยจัดรูปแบบ Extended OPD โดยมี แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล ออกให้บริการในสถานีอนามัยกุตาไก้ มหาชัย โพนสวาง นามะเขือ บริการสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง หมุนเวียนกันไป แต่ดำเนินการได้เพียง ๑ ปีต้องยกเลิกด้วยเหตุปัจจัยทั้งทางโรงพยาบาลและสถานีอนามัย เมื่อได้วิเคราะห์พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้มีการล้มเหลวคือ
- การเตรียมพร้อมในด้านผู้ให้บริการ
- การเตรียมระบบการดูแลผู้รับบริการไม่สอดคล้องกับความต้องการ เช่น การเจาะเลือดรอล่วงหน้า
- รูปแบบที่ดำเนินการเป็นระบบพึ่งพาโรงพยาบาลมากเกินไป
ต่อมาในปี ๒๕๔๖ ผู้ป่วยที่เคยร่วมโครงการพัฒนาระบบบริการคลินิก ได้พยายามขอให้ทางโรงพยาบาลจัดระบบริการในสถานีอนามัย ทางทีมได้ร่วมพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และนำบทเรียนการจัดบริการที่ผ่านมาเป็นข้อพิจารณาในการปรับเปลี่ยนระบบบริการ บริบทของผู้ป่วยบ้านโคกสูง เป็นคนเผ่าไทโส้ที่อพยพมาจากอำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร มีความเชื่อและนับถือผีบ้านผีเรือน เวลาเจ็บป่วย จะมีการ”มอ” คือการให้หมอผีวินิจฉัยว่าเกิดจาสาเหตุใด หากพบว่าเกิดจากการปฏิบัติผิดผี ก็จะมีการเยา คือการปฏิบัติรักษา เช่น การปฏิบัติแก้ที่ผิดผี การนำเครื่องไปบูชา หรือให้หมอผีแก้ หากมีกิจกรรมพิเศษ จะมีการเลี้ยงผีปู่ตา ที่ดอนปู่ตา(สถานที่ป่าสาธารณะในหมู่บ้าน) ส่วนประเพณีอื่นๆก็นับถือตามประเพณีอีสาน ถือฮีตสิบสองคองสิบสี่ ส่วนบ้านนกเหาะ ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าผู้ไท มีประเพณีเช่นชาวผู้ไท การถือฮีตสิบสองคองสิบสี่ แต่วิถีการบริโภคของทั้ง ๒ หมู่บ้านมีความคล้ายคลึงกัน การพึ่งแหล่งอาหารจากภายนอกชุมชน มีพ่อค้าแม่ค้าในชุมชนออกไปซื้ออาหารสำเร็จรูปจาก อ.นาแก จ.นครพนม และ ตำบลท่าแร่ จ.สกลนคร อาหารที่นำมาจำหน่าย เช่น น้ำเต้าหู้ แกงเผ็ด ผัดหมี่ ผัดพริก หรือ แม้แต่ อาหารพื้นบ้าน เช่น แจ่ว แกงอ่อม เป็นต้น ผู้ป่วยบอกว่า น้อยคนที่จะทำอาหารรับประทานเอง เพราะราคาถูกกว่า และส่วนใหญ่จะทำงานในสวนปลูกมะเขือส่งโรงงาน กลุ่มผู้ป่วยที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นหมู่บ้านโคกสูง และบ้านนกเหาะ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ห่างจากโรงพยาบาลประมาณ ๘-๑๐ กม. ถนนที่ติดต่อกับอำเภอเป็นถนนลูกรัง ผู้ป่วยที่ไปรับบริการต้องตื่นแต่เช้าตี ๓ ตี๔ เพราะต้องรวบรวมกันเหมารถในหมู่บ้านมารับบริการ แต่กระนั้นก็ยังได้คิวบริการที่ ๓๐ ถึง ๔๐ เริ่มแรกเราได้คิดผลักผู้ป่วยในเขตตำบลโคกสูง จำนวน ๑๕๐-๑๖๐ คน การดำเนินการเริ่มต้นด้วยการพูดคุยกัน ระหว่างผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ที่ให้บริการในคลินิก (แพทย์ พยาบาล ห้องปฏิบัติการ) และเจ้าหน้าที่สอ. ถึงความเป็นไปได้ คัดเลือกเจ้าหน้าที่เข้ามาเรียนรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน การจัดยา โดยใช้เวลา ๑ เดือน(เรียนตามสะดวกของเจ้าหน้าที่ สอ.) โดยสอนในคลินิก และห้องเรียน การดำเนินการ เริ่มแรกเรากะจะผลักผู้ป่วยตำบลโคกสูงทั้ง ๑๕๐ กว่าคนกลับไป ซึ่งพบว่า การจัดการในครั้งแรกยุ่งยาก เนื่องจากผู้ป่วยบางรายต้องการมารับบริการที่โรงพยาบาล เพราะเดินทางสะดวก และปัจจัยความเชื่อมั่น ต่อมาจึงได้ปรับโดยจัดเลือกเฉพาะพื้นที่หมู่บ้านที่ใกล้เคียงกับสอ. ตกลงบริการกับผู้ป่วย ที่อยู่ในเขตบ้านโคกสูง และบ้านนกเหาะ ซึ่งอยู่ใกล้ สอ.โคกสูง ไม่เกิน ๒ ก.ม.
– บริการเฉพาะผู้ป่วยเก่า
– ผู้ป่วยไม่มีภาวะแทรกซ้อน
– ผู้ป่วยควบคุมโรคได้ดี
– ผู้ป่วยต้องไปตรวจสุขภาพที่รพ.ปีละ ๑ ครั้ง
– และผู้ป่วยสมัครใจที่จะรับบริการที่สถานีอนามัย
ทีมรพ.(ประกอบด้วย แพทย์ และพยาบาล) ลงพื้นที่ไปช่วยจัดระบบบริการ โดยกำหนดวันบริการเป็นวันอังคาร โดยมีขั้นตอนดังนี้
– ผู้ป่วยรับการเจาะเลือดตรวจ ระดับน้ำตาล โดยลูกจ้างสอ. (เสร็จแล้วจะกลับบ้านก่อนก็ได้)
– ตรวจรักษาโดยเจ้าหน้าที่สอ. (ระยะเริ่มแรกจะมีแพทย์นั่งเป็นที่ปรึกษา แต่ไม่ตรวจ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจแก่เจ้าหน้าที่ และผู้รับบริการ)
– รับยาโดยผู้ตรวจรักษา ซึ่งทำให้สามารถอธิบายการใช้ยาและพูดคุยเรื่องการควบคุมโรคกับผู้ป่วยได้ด้วย ระยะเตรียมการนี้ใช้เวลา ๒ เดือน
การจัดบริการในปัจจุบัน หลังได้ดำเนินการมาได้กว่า ๑ ปี
– ให้บริการทุกวันอังคาร
– เจาะเลือดโดยลูกจ้างสอ.(ที่รพ.จ้างให้)
– ตรวจรักษาโดย จนท. สอ.(กำลังปรับให้พยาบาลที่ปฏิบัติในสอ.ตรวจ)
– ระบบการนัด จะนัดเป็นหมู่บ้านตามความสะดวกของผู้ป่วย
– การส่งต่อกลับกรณี ควบคุมโรคไม่ดี (ระดับน้ำตาลสูง หรือต่ำเกินไป)
– ตรวจสุขภาพประจำปีที่รพ.
– ใช้แบบบันทึกแบบเดียวกันกับคลินิกในรพ. และจัดทำสมุดประจำตัว
ผลการดำเนินการ(๑) ผู้ป่วยที่รับบริการ มีความสุขในการบริการที่ใกล้บ้าน รู้สึกใกล้ชิดกับผู้ให้บริการ บอกความต้องการ
“ มันใกล้บ้าน ถีบจักรยานมาก็ถึง อยากได้อะไรก็บอก เพราะเป็นหมอบ้านเราเอง “
ผู้ป่วยที่ส่งกลับไปรับบริการที่รพ. มีน้อยเพียง ๒-๓ ราย การคัดกรองผู้ป่วยในชุมชน ทำโดยไม่ต้องลงพื้นที่(ผู้ป่วยบอกญาติไปตรวจเอง) เจ้าหน้าที่สอ.ผู้ให้บริการ ได้ใกล้ชิดกับชุมชน สามารถเปิดบริการที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน เจ้าหน้าที่สอ. มีความต้องการพัฒนาระบบบริการ เช่น การพัฒนาระบบการให้ความรู้ การศึกษาวิถีชีวิตผู้ป่วยเบาหวานในเผ่าโส้ ในชุมชน สิ่งที่ได้ทำต่อ มีพื้นที่สอ.อื่นๆ มีความสนใจที่จะเปิดบริการผู้ป่วยเบาหวานในพื้นที่ เช่น สอ.มหาชัย สอ.กุตาไก้ (ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยล้มเหลวมาแล้ว) แต่ต้องพูดคุยกับผู้ป่วย และผู้จัดระบบ สิ่งที่ได้เรียนรู้ การจัดระบบบริการจำเป็นต้องมีการเตรียม
– ผู้รับบริการ
– เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ และผู้ให้การสนับสนุน
– ระบบที่เอื้อต่อการส่งต่อ การสนับสนุนสิ่งของ และวิชาการ รวมทั้งการเสริมกำลังใจ
ความสม่ำเสมอในการสนับสนุน รูปแบบการจัดบริการ ต้องหลากหลาย ไม่ตายตัว ยืดหยุ่นต่อบริบทของชุมชน และสถานบริการ

เรียนรู้การทำงานในชุมชนจากเครื่องมือวิจัยเชิงคุณภาพ ในการทำงานภายใต้กรอบนโยบาย ทำให้เกิดภาพลวงตาในความสำเร็จในงานว่า สามารถดำเนินการพัฒนาหรือแก้ปัญหาในชุมชนได้ตามเป้าหมาย กิจกรรมการสร้างสุขภาพของชมรมสร้างสุขภาพของบ้านหลักศิลา ตำบลพระกลางทุ่ง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ซึ่งทีมได้เข้าไปเรียนรู้โดยตั้งคำถามในการเข้าไปเรียนรู้ในเริ่มแรก ว่าปัจจัยใดที่ทำให้ชมรมสร้างสุขภาพ บ้านหลักศิลา จึงประสบความสำเร็จ เริ่มต้นทีมได้ชักชวนเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เพื่อให้เป็นสมาชิกทีมเข้าไปเรียนรู้ และได้ช่วยกันพัฒนาทักษะในการวิจัยเชิงคุณภาพให้แก่สมาชิกทีม และได้ร่วมกันวางแผนจัดเก็บข้อมูล โดยวางกรอบของการจัดเก็บข้อมูล สร้างแนวคำถาม กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะเป็นแหล่งข้อมูล (Key informant) และเลือกวิธีการในการจัดเก็บข้อมูล ในการเริ่มต้น เราได้ทดลองใช้แนวคำถามระหว่างสมาชิกในทีม หรือ กลุ่มเป้าหมายแล้วนำมาปรับเปลี่ยน ระหว่างนั้นได้มีการเรียนรู้การตรวจสอบข้อมูลระหว่างกัน ( Triangulation ) ทำให้เกิดการตั้งคำถามภายในทีมว่า สิ่งที่แหล่งข้อมูลบอกเป็นภาพที่จริงของชุมชนหรือเปล่า เช่น แหล่งข้อมูลบอกว่า ภายในชุมชนมีการจัดกิจกรรมการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง และมีผู้เข้าร่วมหลากหลาย แต่จากการทำแผนภูมิของความสัมพันธ์ของสมาชิกกลุ่มต่างๆในชุมชนพบว่า สมาชิกมักจะซ้ำๆกัน และแกนนำส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มผู้นำ เมื่อตรวจสอบจากการเข้าไปสังเกตในชุมชนของทีมพบว่า ยังมีสมาชิกชุมชนส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการหรือกิจกรรมภายในชุมชน เช่น ผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เมื่อเราถามแหล่งข้อมูลที่ได้จัดเตรียมมาว่า กิจกรรมสุขภาพมีรูปแบบใดบ้าง พฤติกรรมบริโภคเป็นอย่างไร สิ่งที่ได้จากแหล่งข้อมูลบอกว่า ในชุมชนมีกิจกรรมสร้างสุขภาพ เช่น ปลูกผักโดยไม่ใช้สารเคมี และเน้นใช้แรงงานคน เมื่อเข้าไปสังเกตและสอบถามจากบุคคลอื่นในชุมชนพบว่า ยังมีการใช้สารเคมีในการปลูกผัก และส่วนใหญ่ก็จะใช้เครื่องจักรกลในการจัดทำ นอกจากนี้ตามที่ทีมไปสังเกตพบว่า ยังมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมของชมรมสร้างสุขภาพของชุมชน แต่มีกิจกรรมการสร้างสุขภาพของตนเอง เช่น คุณป้าอายุ 60 กว่าปีวิ่งออกกำลังกายรอบสระหน้าโรงเรียน คุณลุงอายุเกือบเจ็ดสิบปี ถีบจักรยานออกกำลังกายทุกเช้า และในชุมชนยังมีกลุ่มคนเหล่านี้อยู่เป็นจำนวนมาก ทีมจึงได้ตั้งคำถามว่า “ ทำไมจึงมีคำตอบอยู่ 2 ฟาก เช่นนี้ “ จากการวิเคราะห์เบื้องต้น ทีมสรุปว่าเกิดจากมุมมองของคนภายในชุมชนที่แตกต่างกัน หรืออาจเป็นเพราะความต้องการรักษาสถานภาพของกลุ่มผู้นำที่ต้องการรักษาภาพของชุมชนที่ประสบความสำเร็จ
ต่อมาจากการสรุปและวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น ขั้นตอนต่อไปคือ การนำเสนอข้อมูลแก่ชุมชน เพื่อการตรวจสอบ และวิพากษ์ข้อมูลที่ทีมไปจัดเก็บข้อมูลเพื่อนำไปสู่การมองภาพร่วมกันในการวิเคราะห์ปัญหาชุมชนร่วมกัน บรรยากาศในการนำเสนอข้อมูลพบว่า วันนั้นมีทหารพัฒนาเข้ามาร่วมประชุมด้วย และบรรยากาศการแสดงความคิดเห็นของสมาชิกในชุมชนเป็นไปอย่างเงียบเหงา ทำให้ทีมต้องตรวจสอบข้อมูลพบว่า หมู่บ้านแห่งนี้เคยเป็นหมู่บ้านชายแดนที่ได้รับการพัฒนาจากหน่วยทหารพัฒนาและเคยประกวดหมู่บ้านและได้รางวัลมาแล้ว ในปีนี้หมู่บ้านกำลังจะถูกคัดเลือกให้เข้าร่วมประกวดอีกครั้ง เท่าที่สอบถามสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมและสรุปได้ว่า ตอนนี้ทางทีมทหารยังไม่ต้องการให้โชว์ข้อมูลด้านลบของชุมชนออกมาเพราะกลัวว่า เมื่อถูกประเมินคะแนนจะต่ำ ทีมต้องกลับมาทบทวนว่า ข้อมูลอีกครั้งและปรับวิธีการนำเสนอข้อมูลให้แก่ชุมชน และผู้เกี่ยวข้องได้อย่างไร สมาชิกในทีมบางคนบอกว่า “ รอให้ทหารกลับไปก่อน แล้วค่อยเข้าไปประชุมชาวบ้าน อีกครั้ง “ แต่เมื่อทบทวนกับสมาชิกในทีม ได้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า “ เราต้องถือโอกาสที่ทหารเข้ามา เข้าไปให้ข้อมูลแก่ทหาร เพราะทหารมีศักยภาพพร้อมบารมีและเคยร่วมกับชาวบ้านพัฒนามาก่อน เพื่อให้มีการดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้าน ไม่เช่นนั้นเมื่อเราออกจากพื้นที่ไปแล้ว ผู้ที่เป็นภาระก็จะเป็นชาวบ้านที่ต้องหันซ้ายหันขวา ตามผู้ที่เข้ามาในหมู่บ้าน “ จากความคิดดังกล่าว ภายในทีมจึงได้วางแผนไปเสนอข้อมูลให้แก่ทีมทหารพัฒนา เพื่อจะได้รับมุมมองร่วมกัน และสรุปเป็นประเด็นเพื่อเสนอแก่ชุมชนต่อไป
สิ่งที่ได้เรียนรู้ของทีมจากพื้นที่บ้านหลักศิลา คือ ข้อมูลที่ได้รับจากชุมชน จำเป็นต้องมีการตรวจสอบ การใช้เครื่องมือในการวิจัยเชิงคุณภาพเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถใช้ได้ดี เช่น การสนทนากลุ่ม และนำประเด็นที่น่าสนใจในกลุ่มไปเป็นแนวคำถามในการสัมภาษณ์เชิงลึก นอกจากนี้การใช้ทักษะการสังเกตเพื่อตรวจสอบข้อมูลเป็นระยะๆ และข้อมูลที่ได้มาจำเป็นต้องได้รับการนำเสนอให้แก่ชุมชนรับทราบเพื่อตรวจสอบและวิพากษ์ ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชุมชน เพื่อให้เกิดการร่วมมือกันค้นหาศักยภาพและแหล่งประโยชน์เพื่อนำมาพัฒนาชุมชนต่อไป
สิ่งที่ได้เรียนรู้ในรอบปีที่ผ่านมา เครือข่ายของทีมปลาปาก เป็นการเข้าไปเรียนรู้ร่วมกับทีมสหวิชาชีพ โดยใช้ประสบการณ์ที่ได้เข้าไปเรียนรู้กับทีมอื่นๆร่วมทั้งการจัดประสบการณ์ที่ทาง สวสช.ได้จัดขึ้น ทำให้เกิดโอกาสการเรียนรู้กับทีมอื่นโดยไม่ได้มองเพียงในกรอบในที่ทำงาน ได้พบสิ่งดีๆที่เกิดขึ้น พบศักยภาพในชุมชน ในตัวเจ้าหน้าที่ สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ การปล่อยวางตัวตน การยอมรับในความผิดพลาดและใช้ความผิดพลาดเป็นโอกาสในการเรียนรู้ในการจัดการปัญหา ทั้งหมดนี้เป็นความรู้ที่ได้เรียนรู้ในรอบปีที่ผ่านมา
การวางแผนต่อไป ได้ร่วมกับเครือข่ายสถานีอนามัยโคกสว่าง **** ได้วางแผนเข้าไปเรียนรู้พฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวาน ในเขตบ้านศรีธน ตำบลโคกสว่าง อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างทีมโรงพยาบาลปลาปากกับทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขภายในพื้นที่อำเภอปลาปาก คาดว่า จะเกิดการเรียนรู้ระหว่างชุมชนและเจ้าหน้าที่เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่ การเรียนรู้ศักยภาพตนเองของชุมชน ไปสู่การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานในชุมชนต่อไป

* พยาบาล โรงพยาบาลปลาปาก อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม
** ประกอบด้วย นางมารดี วิทยดำรงชัย นายปัญญา ไตรปกรณ์กุศล และ นายสงกรานต์ นักบุญ
*** ประกอบด้วย ทีมโรงพยาบาลปลาปาก แพทย์หญิงชื่นฤดี ราชบัญดิษฐ์ นายสุพัฒน์ สมจิตรสกุล นางมติกา สุนา และทีม สถานีอนามัยโคกสูง นายจิระชาย ประสบธัญญา นางจารุวรรณ วงค์ศรีชา และนายทวี ดีละ
**** ประกอบด้วย นายสุพัฒน์ สมจิตรสกุล นายธวัชชัย แสงจันทร์ และ เจ้าหน้าสาธารณสุข อำเภอปลาปาก
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 6043เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2005 12:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท