48 ปี 4 ยุค จากโรงเรียนผู้ช่วยพยาบาลสู่คณะพยาบาลศาสตร์ (4)


ยุคที่ 3

วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นราธิวาส (พ.ศ.2535 -2549 )

ปี พ.ศ.2535 วิทยาลัยพยาบาลนราธิวาสได้รับนโยบายให้เปิดสอนหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ ( ที่เน้นชุมชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ) เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ทางการพยาบาลระดับวิชาชีพ ขึ้นอีกหนึ่งหลักสูตร โดยรับผู้สำเร็จการศึกษา มัธยมศึกษาปีที่ 6 ระบบการคัดเลือกดำเนินการโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่ผู้สมัครมีภูมิลำเนา เข้ารับการศึกษาเป็นระยะเวลา 4 ปี ได้รับทุนการศึกษาจากสำนักงานปลัดกรวงสาธารณสุขในส่วนของค่าอาหาร ค่าชุดฝึกปฏิบัติงาน และค่าหอพักตลอดระยะเวลาที่เข้าศึกษา จำนวน 7 รุ่น เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วได้รับประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์ บรรจุเข้ารับราชการเป็นพยาบาลวิชาชีพ 3 ในโรงพยาบาลต้นสังกัดที่ได้รับทุน มีผู้เข้ารับการศึกษารุ่นที่ 1 จำนวน 50 คน

ปี พ.ศ. 2536 ได้มีการรวมหน่วยงานด้านการผลิตและพัฒนาบุคลากร ซึ่งได้แก่ สถานศึกษาของกองงานวิทยาลัยพยาบาล (วิทยาลัยพยาบาล 24 แห่ง) กองฝึกอบรม (วิทยาลัยพยาบาลศรีธัญญา โรงเรียนพนักงานวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ) กองควบคุมโรคติดต่อ (วิทยาลัยพยาบาลบำราศนราดูร และวิทยาลัยพยาบาลโรคทรวงอก) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (โรงเรียนพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์) เป็นหน่วยงานใหม่ คือ สถาบันพัฒนากำลังคนด้านสาธารณสุข เป็นสถาบันการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุข ในครั้งนี้วิทยาลัยพยาบาลนราธิวาส จึงเป็นสถาบันการศึกษาที่สังกัดสถาบันพัฒนากำลังคนด้านสาธารณสุข สังกัดการบริหารราชการส่วนกลาง มีบทบาทเพิ่มขยายจากเดิมคือการพัฒนาสมรรถนะบุคลากรทางสาธารณสุขที่อยู่ระหว่างประจำการ

ปี พ.ศ.2537 ได้พัฒนาปรับปรุงเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตร พยาบาลศาสตร์ (ฉบับปรับปรุง ) พ.ศ.2537 ( ป.พย. ระดับวิชาชีพ ) Diploma in Nursing Science : Dip.N.S. และใช้จัดการศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2538 - 2544

วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2537 สมเด็จพระศรีนครินทราบรม ราชชนนทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ชื่อวิทยาลัย พยาบาลใน สังกัดกระทรวงสาธารณสุขว่า วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ดังนั้นจึงเปลี่ยน ชื่อเป็นจึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น” วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นราธิวาส " ( Boromarajonani College of Nursing, Narathiwat) ” สังกัดสถาบันพัฒนากำลังคนด้านสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทาน พระบรม ราชานุญาตให้ใช้พระนามาภิไธย เปลี่ยนชื่อสถาบันพัฒนากำลังคน ด้านสาธารณสุขเป็น สถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2537 โดยตราพระราชกฤษฎีกา ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (เล่มที่ 111 ตอนพิเศษ 36 ง ลงวันที่ 1 กันยายน 2537)

วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เปลี่ยนชื่อสถาบันพัฒนากำลังคนด้านสาธารณสุขเป็นสถาบันพระบรมราชชนก ( Praboromarajchanok Institute ) ดังนั้น วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นราธิวาส จึงเป็นสถาบันที่สังกัดสถาบันพระบรมราชชนก มีเขตรับผิดชอบในการจัดการศึกษาพยาบาลตามนโยบายด้านการผลิตกำลังคนของกระทรวงสาธารณสุข รับนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี

ปี พ.ศ.2538 สถาบันพระบรมราชชนกมีนโยบายให้วิทยาลัยพยาบาล และวิทยาลัยการสาธารณสุขในแต่ละภาครวมตัวเป็นเครือข่าย วิทยาลัยสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก เขตภาคใต้ 8 วิทยาลัย รวมทั้งวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นราธิวาส ได้รวมตัวการจัดตั้งเป็นเครือข่ายการศึกษาพยาบาลและการสาธารณสุขภาคใต้ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2538 เพื่อรวมพลังความคิด พลังบุคลากรในการร่วมพัฒนาช่วยเหลือเกื้อกูลกัน พัฒนาบุคลากรและวิชาการให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น เพื่อส่งผลถึงการผลิตและพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขให้มีคุณภาพต่อไป ในระยะนี้ได้มีการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาวิชาการที่เข้มแข็ง โดยความช่วยเหลือกันของวิทยาลัยในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนกในรูปของเครือข่าย

วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2538 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดป้าย วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นราธิวาส และทรงเปิดอาคารเฉลิมพระเกียรติ 40 พรรษา ของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นราธิวาส ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นอาคารเรียนและอาคารอำนวยการ

ต่อมารัฐบาลมีนโยบายในการลดกำลังคนภาครัฐ ส่งผลกระทบต่อผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีรุ่นที่ 5 เป็นต้นมาที่ไม่มีข้อสัญญาผูกพันกับกระทรวงสาธารณสุข ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถหางานทำได้โดยอิสระ และกระทรวงสาธารณสุขไม่มีทุนสนับสนุนในการศึกษาพยาบาล นักศึกษาพยาบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายในการศึกษาด้วยตนเอง แต่กระบวนการคัดเลือกยังเป็นบทบาทของสำนักงานสาธารณสุขแต่ละจังหวัด แม้ไม่ได้รับทุน ผู้สำเร็จการศึกษาส่วนใหญ่ยังปฏิบัติงานในพื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือกเนื่องจากเป็นภูมิลำเนาเดิม

ปี พ.ศ. 2541 มีพระราชกฤษฎีการับวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นราธิวาส สังกัดสถาบัน พระบรมราชชนก สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เข้าเป็นสถาบันสมทบของคณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตามมติสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา(ฉบับกฤษฎีกา เล่มที่ 115 ตอนที่ 13 ก ลงวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2541 ) มีผลให้หลักสูตรประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์ (เทียบเท่าปริญญาตรี)ได้รับการพัฒนาเป็นหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ฉบับปรับปรุงปี 2545 โดยมีการประกันคุณภาพหลักสูตรและการจัดการศึกษาจากสถาบันที่เข้าสมทบ ผู้สำเร็จการศึกษาต้องผ่านการสอบประมวลความรู้รวบยอดจากเครือข่ายพัฒนาการศึกษาและสาธารณสุขภาคใต้ และคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลแลพะการผดุงครรภ์ของสภาการพยาบาล โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์อนุมัติปริญญาบัตรให้ผู้สำเร็จการศึกษาสำเร็จการศึกษา ตั้งแต่ปีการศึกษา 2541ซึ่งตรงกับผู้สำเร็จการศึกษาพยาบาลศาสตร์ รุ่นที่ 4 โดยมีผู้สำเร็จการศึกษาเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต เช่นเดียวกับผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตั้งแต่ปี 2541- 2547

ปี พ.ศ. 2544 ได้เพิ่มการผลิตอีก 1 หลักสูตรคือ หลักสูตรประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์ (ต่อเนื่อง 2 ปี) ระยะเวลาศึกษา 2 ปี รับนักศึกษาที่เป็นพยาบาลเทคนิคในจังหวัดชายแดนใต้ รุ่นละประมาณ 70 คน มีผู้สำเร็จการศึกษาแล้ว 7 รุ่น รวม 452 คน และปี พ.ศ. 2545 ได้เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์ (ต่อเนื่อง 2 ปี) ภาคพิเศษไม่ต้องลาศึกษาต่อ เรียนวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เมื่อสำเร็จการศึกษาได้รับวุฒิการศึกษาประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (ต่อเนื่อง 2 ปี) ผู้สำเร็จการศึกษา 1 รุ่น จำนวน 53 คน

หลักสูตรพยาบาลศาสตร์ เป็นหลักสูตรการพยาบาลที่เน้นชุมชน การพัฒนาหลักสูตรโดยคณะกรรมการที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันพระบรมราชชนก ซึ่งวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นราธิวาส ต้องมาวิเคราะห์ในการเน้นประเด็นต่างๆของโรคที่พบบ่อยในท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคที่ไม่พบที่พื้นที่อื่น แต่พบในพื้นที่นราธิวาส เช่น โรคเท้าช้าง โรคมาเลเรีย โรคเรื้อน โรคโปลิโอ โรคคอตีบ เป็นต้น ระยะแรกนักศึกษาเป็นนักศึกษาทุนกระทรวงสาธารณสุขเหมือนที่ผ่านมา ระยะนี้วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ภาคใต้ รวมตัวเป็นเครือข่ายวิทยาลัยพยาบาลและการสาธารณสุขภาคใต้(SC-NET)เพื่อพัฒนาคุณภาพวิทยาลัยในทุกๆด้านโดยเฉพาะด้านการประกันคุณภาพการศึกษา นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากทุกวิทยาลัยพยาบาลทางภาคใต้ จะต้องผ่านการสอบรวบยอดโดยข้อสอบ SC-NET

ต่อมาสถาบันพระบรมราชชนกได้ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆเพื่อยกระดับการศึกษาให้ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถรับพระราชทานปริญญาบัตรได้ ซึ่งคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ได้ทำความร่วมมือเป็นสถาบันสมทบกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผลของการเป็นสถาบันสมทบ นักศึกษาต้องสอบข้อสอบรวบยอดของสถาบันสมทบก่อนสำเร็จการศึกษาอีกหนึ่งรายการที่นอกเหนือจากข้อสอบเครือข่าย SC-NET

ในส่วนที่เกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ใน พ.ศ. 2538 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในการเปิดอาคารเฉลิมพระเกียรติ 40 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ณ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นราธิวาส และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เสด็จมามอบทรงขาเทียมให้กับผู้พิการ ณ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นราธิวาส ซึ่งจัดโดยมูลนิธิขาเทียม


หมายเลขบันทึก: 604186เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2016 08:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2016 08:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท