ฝึกสะท้อนรู้สะท้อนใจในเด็ก ; การจัดการความโกรธและเรื่องศีล5


การจัดการความโกรธ

10 โมงวันนี้ข้าพเจ้าวางแผนจัดการเรียนรู้แก่สังกะลีที่วัด โดยมีเป้าหมายอยู่สองเรื่อง คือ การจัดการอารมณ์และเรื่องศีล เพิ่มเติมกิจกรรมในตอนเย็นคือการสะท้อนรู้สะท้อนใจในเด็ก (Reflection/AAR)

หลังจากให้ดูคลิปสั้นๆ เกี่ยวกับธรรมะและการจัดการความโกรธเสร็จ ก็ให้เด็กจับคู่กันและลองสะท้อนตนเองว่า "ถ้าตนเองโกรธหรือมีมีใครมาทำให้โมโหจะจัดการความโกรธนั้นอย่างไร"

ส่วนใหญ่มีกระบวนการรู้คิดและตระหนักไปในทางการแก้ไขเชิงบวกรวบรวมคำตอบได้คือ

- สงบสติอารมณ์

- เดินหนี

- ให้อภัย

- ปลอบใจ

- คุยอย่างมีเหตุผล

- ขอโทษ

และมีการจัดการอารมณ์เชิงลบ อาทิเช่น

- เตะ

- กำกำปั้น

- ตีเพื่อน/ชกต่อย

เมื่อสังเกตความสอดคล้องของบุคลิกภาพและประสบการณ์เรื่องราว พบว่า เด็กที่ตอบเชิงลบนั้นมักใช้ความรุนแรงในการจัดการปัญหาและอารมณ์

การเริ่มต้นพูดคุยเรื่องศีลข้าพเจ้าเปิดการ์ตูนเรื่องศีลห้าให้เด็กๆ ดู

ศีลห้าคือพื้นฐาน ถ้าศีลห้านี้ฝังแน่นเข้าไปในจิตใจเด็กๆ ศีลธรรมเรื่องต่างๆ จะง่ายขึ้น ปัญหาและอุปสรรคชีวิตก็จะสามารถจัดการและผ่านไปได้

เด็กๆ ส่วนใหญ่พอที่รู้เรื่องศีลมาบ้างการดูการ์ตูนครั้งนี้คล้ายกับเป็นการทบทวนตนเอง

เมื่อเด็กๆ ดูจบข้าพเจ้าให้จับคู่พูดคุยกันและให้คิดถึงประโยชน์ของศีลแต่ละข้อว่ามีคุณมีประโยชน์อย่างไรในชีวิต

มันดีมากๆ ก่อนที่เด็กๆ จะคิดถึงประโยชน์เขาจะต้องรู้ว่า "ศีลคืออะไร ถ้าทำผิดศีลจะเกิดอะไร" กระบวนการรู้คิดจะดำเนินไปอย่างรวดเร็วและจะมาตกผลึกได้ว่า ถ้าเขารักษาศีลได้จะเกิดประโยชน์อย่างไรกับตนเอง รวบรวม key word จากคำตอบของเด็กๆ ได้ดังนี้

ศีลข้อ 1

- ได้บุญ

- ไม่บาป

- ชาวบ้านรัก

ศีลข้อ 2

- ได้บุญ

- ไม่โดนตำรวจจับ

- ชาวบ้านไม่รังเกียจ

ศีลข้อ3

- ไม่โดนแฟนด่า

- ไม่โดนแฟนตี

- ไม่เลิกกัน

ศีลข้อ 4

- เป็นนิสัย

- เป็นตัวย่างที่ดี

- ชาวบ้านเชื่อใจ

ศีลข้อ 5

- ตำรวจไม่จับ

- ไม่ขาดสติ

- เป็นตัวอย่างที่ดี

เวลาที่เด็กๆ ตอบข้าพเจ้ารู้สึกประทับใจมาก ได้เห็นกระบวนการเรียนรู้ของเขาแบบพลวัตร กว่าจะตกผลึกและตอบออกมาได้ คำถามจะเป็นเครื่องมือที่ไปกระตุ้นกระบวนการคิดหาคำตอบของเด็กๆ กลไกทางปัญญาได้เกิดขึ้นนับตั้งแต่เขาได้ดูสื่อ เร้าด้วยคำถาม การมีเพื่อนช่วยเสริมการคิดให้ดีขึ้นละเอียดขึ้นได้

กระบวนการเรียนรู้จบลงตอนสิบเอ็ดโมง

เด็กๆ แบ่งหน้าที่ในการจัดหาอาหาร การจับคู่กันนอกจากจะเป็นการช่วยเหลือกันยังเป็นสิ่งที่ช่วยก่อให้เกิดการเตือนกัน เสริมให้รู้ตัวและมีสติมากขึ้นในชีวิตกิจวัตรประจำวัน

ช่วงบ่ายพระอาจารย์ให้เด็กๆ พักผ่อนตามอัธยาศัย เล่นตามธรรมชาติที่เขาชอบแต่อยู่ในสายตาผู้ใหญ่ ประมาณสี่โมงเย็นแดดไม่ร้อน ข้าพเจ้าเห็นเด็กๆ ยกไม้ที่ประกอบกันเป็นฉากไปทางทุ่งนา ส่งเสียงดังสะท้อนถึงความสนุกสนาน พอตามไปดูภาพเบื้องหน้าที่เห็นคือ กำลังเตะฟุตบอลกลางทุ่งนา สัมผัสถึงพลังความสุขและการปลดปล่อย

ตอนเย็นเรานัดพูดคุยกันอีกครั้ง ถอดบทเรียนและสะท้อนความรู้สะท้อนใจ

วันนี้ข้าพเจ้าเริ่มด้วยการฉายภาพเด็กในอิริยบทต่างๆ และจากกิจกรรมที่ เด็กๆ ยิ้มและหัวเราะที่ได้เห็นภาพตนเองบนจอ แสงความสุขฉายชัดออกมาจากแววตาและรอยยิ้ม ในทัศนะของข้าพเจ้าเองมองว่าถ้าในช่วงวัยเด็กเขาได้สัมผัสพลังความสุขๆ บ่อยๆ กล้ามเนื้อหัวใจจะแข็งแรง กำลังใจหรือพลังในในชีวิตจะเปี่ยมไปด้วยความสร้างสรรค์และพลังของความเบิกบาน เมื่อเจอปัญหาและอุปสรรคในชีวิตจะสามารถนำพาตนเองก้าวผ่านไปได้

ข้าพเจ้าให้เด็กๆ เลือกกิจกรรมที่ตนเองประทับใจและวิเคราะห์ถึงประโยชน์ที่ได้รับ

กลุ่มที่ 1 เลือกกิจกรรมตามพระอาจารย์ไปบิณฑบาตร

- ได้ความรู้เรื่องบิณฑบาตร

- ได้บุญ

- ได้ออกกำลังกาย

กลุ่มที่ 2 เลือกกิจกรรมการเตะบอล

- ได้ทักษะการเตะบอล

- มีสุขภาพแข็งแรง

- ต้านยาเสพติด

กลุ่มที่ 3 เลือกกิจกรรมถวายอาหารแด่พระภิกษุในตอนเช้า

- ได้บุญ

- ได้แบ่งเบาภาระผู้ใหญ่

- สามารถนำไปปฏิบัติที่บ้านได้ --> จากคำตอบข้อนี้เป็นที่แลกเปลี่ยนกันสนุกมาก เด็กบางคนนึกภาพการเชื่อมโยงไม่ออก ว่าจากกิจกรรมที่ทำนำไปทำที่บ้านได้อย่างไร เจ้าของความคิดก็ได้อธิบายให้เพื่อนฟังว่า "ก็ดูแลเรื่องอาหารปรนนิบัติพ่อแม่ที่บ้าน ยกถ้วยชามสองมือ" ช่างเป็นการพูดคุยที่สนุกและชื่นใจมากๆ ที่ได้เห็นเด็กๆ ช่วยกันสะท้อนคิดแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

กลุ่มที่ 4 เลือกกิจกรรมทำความสะอาด

- ได้บุญ

- ฝีกไปทำที่บ้าน

- ได้รับคำชื่นชม

กลุ่มที่ 5 เรียนหนังสือกับแม่ครู

- ได้ความรู้

- พ่อแม่ภูมิใจ

- เป็นตัวอย่างที่ดีแก่เพื่อน

จากนั้นร่วมกันสำรวจความรู้สึกด้านบวกถึงความประทับใจ; ความสนุกสนานนี่ดูเหมือนจะมาเป็นอันดับหนึ่ง ได้บุญ และตามด้วยได้ความรู้ ร่างกายแข็งแรง ประทับใจที่ได้ถวายอาหารแด่พระอาจารย์

ท้ายสุด...ข้าพเจ้าเปิดคลิปวีดีโอ้เรื่อง...กระต่ายสามขาจะไปพระจันทร์

เป็นเรื่องราวของเด็กพิการสามคนที่เป็นเพื่อนกัน และทะเลาะกัน สุดท้ายก็เข้าใจกัน ...เด็กๆ ดูอย่างสงบ และนิ่ง

ข้าพเจ้าเพียงต้องการทิ้งท้ายให้เกิดการซึมซับและเรียนรู้หัวใจแห่งความอ่อนโยน

...

27 มีนาคม พ.ศ.2559

หมายเลขบันทึก: 604159เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2016 19:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2016 19:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ค่ะ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท