ชีวิตที่พอเพียง 2621. ชีวิตในท่ามกลางสมมติ


ผู้แต่งหนังสือ ชี้ให้เห็นว่า สมมติสร้างสมมติ สร้างกันต่อไปเรื่อยๆ จนมนุษย์รุ่นต่อๆ มาหาความจริงที่เป็นต้นตอไม่พบ ชีวิตจึงจมอยู่กับสมมติ กลายเป็นผู้รับใช้สมมติ ขาดอิสรภาพ โดยไม่ต้องมีคนมาล่ามโซ่ หรือบีบบังคับ ตัวเองต่างหากที่เอาสิ่งสมมติมาบีบคั้นตัวเอง หรือเอาสมมติมาเป็นเครื่องมือบีบคั้น หรือแสวงประโยชน์จากคนอื่น หรือจากส่วนรวม หรือในทางตรงกันข้าม อาศัยสมมตินั้นเอง ทำประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างเสียสละ หรืออย่างมีศรัทธา


หนังสือ Sapiens : A Brief History of Humankind บอกเราว่า สำหรับมนุษย์ สิ่งต่างๆ ในโลกนี้มี ๒ จำพวกเท่านั้น คือสิ่งที่มีอยู่จริง (objective reality) กับสิ่งสมมติ (imagined reality) และเราอยู่กับสิ่งสมมติที่เรา ช่วยกันสร้างขึ้นเองมากขึ้นเรื่อยๆ โดยบางเรื่องเราหลงงคิดว่ามันเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง หลงยึดมั่นถือมั่น และส่วนใหญ่เราหลงให้มันบังคับบัญชาเรา

ทั้งหมดนั้น เกิดจากปฏิวัติใหญ่ครั้งที่ ๑ ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ - The Cognitive Revolution ที่เกิดขึ้นเมื่อเจ็ดหมื่นปีมาแล้ว ที่ทำให้ “มนุษย์ฉลาด” (Homo sapiens) มีจินตนาการ คือสร้างสิ่งสมมติขึ้นในใจตนได้ และสื่อสารสิ่งสมมติแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้ เป็นคนละ cognitive revolution เกี่ยวกับ artificial intelligence ที่เพิ่งเกิดเมื่อห้าสิบปีที่ผ่านมา

ในช่วงเจ็ดหมื่นปีก่อน มีมนุษย์เกิดขึ้นหลายเผ่าพันธุ์ แต่เฉพาะมนุษย์ฉลาดเท่านั้นที่มีความสามารถสร้าง และสืบทอดสิ่งสมมติได้ สิ่งเหล่านี้ได้แก่ ศิลปะ ศาสนา การค้า และชนชั้นทางสังคม

สิ่งสมมติเหล่านี้ ช่วยให้ “มนุษย์ฉลาด” สร้างกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ มีสมาชิกจำนวนมากได้ และเกิดปฏิสัมพันธ์เช่นการค้าทางไกล ได้ ในขณะที่มนุษย์เผ่าพันธุ์อื่นทำไม่ได้ มนุษย์เผ่าพันธ์อื่นจึงสู้ “มนุษย์ฉลาด” ไม่ได้ และค่อยๆ สูญพันธุ์ไปในที่สุด แต่ในช่วงหลังๆ นี้ มีหลักฐานว่า มีการผสมข้ามพันธุ์ และยังมียีนของมนุษย์พันธุ์อื่น (เช่น H. neanderthal) อยู่ในจีโนมของ “มนุษย์ฉลาด” ด้วย

ยิ่งนับวันเราก็ยิ่งมีชีวิตอยู่กับ “ความจริงสมมติ” (imagined reality) มากขึ้นเรื่อยๆ

“ความจริงแท้” ของมนุษย์เป็นเรื่องง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องลงแรงมาก คือการดำรงชีวิตอยู่ เราต้องการปัจจัยสี่เท่านั้นเพื่อการดำรงชีวิต การทำมาหากินจึงไม่ต้องมากมาย แต่หนีไม่พ้นที่ cognitive revolution ของประวัติศาสตร์มนุษยชาติจะนำไปสู่ agricultural revolution เมื่อประมาณหนึ่งหมื่นปีก่อน ทำให้มีผลผลิตเหลือกินเหลือใช้ ความมั่งคั่งถูกสร้างขึ้น ความจริงสมมติในเรื่องเทพเจ้า เจ้าแผ่นดิน เจ้าลัทธิ เจ้าของสินทรัพย์ ชนชั้น ถูกสร้างขึ้น

สมัยเด็ก ผมเคยจินตนาการว่าหากผมเกิดมาเมื่อสามร้อยปีก่อน ผมย่อมเป็นไพร่ เมื่อเป็นหนุ่มคงจะ โดนเกณฑ์ไปรบ ฟันดาบได้เพียงสองเพลงก็คงถูกฆ่าตาย เพราะผมเป็นคนไม่มีความสามารถด้านทักษะใน การเคลื่อนไหวร่างกาย เล่นกีฬาไม่เป็น แต่นี่โชคดี มาเกิดในสมัยนี้ แม้จะเกิดเป็นลูกชาวบ้าน แต่ก็ยังมีโอกาส ได้รับการศึกษา ได้รับการเรียนรู้ตามแนวที่ผมถนัด ได้มีฐานะทางสังคม และมีโอกาสทำประโยชน์แก่บ้านเมือง

ที่สำคัญ ได้มีโอกาสรับใช้สิ่งสมมติต่างๆ มากมาย ที่เราตกลงกันว่าเป็นสิ่งที่ดี มีคุณค่า หนังสือเล่มนี้อธิบายสิ่งสมมติ ที่ร่วมกับมนุษย์สร้างสิ่งสมมติที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ จน “มนุษย์ฉลาด” ชักจะกลายเป็นผู้รับใช้สิ่งสมมติเหล่านั้น

สิ่งสมมติที่มนุษย์สร้างขึ้นหลายอย่างทำให้ชีวิตของมนุษย์มีความสะดวกสบายขึ้นมากมาย แต่มองให้ลึกๆ ชีวิตของมนุษย์กลับมีความสุขน้อยลงที่พวกนักวิชาการ คนไม่มีความมั่งคั่ง ไม่มียศศักดิ์ ชอบยกตัวอย่างคือเมื่อคนมีสิ่งเหล่านั้นมาก ต่อมามีลดลง ก็เกิดความทุกข์เศร้าโศก บางคนถึงกับปลิดชีวิตตนเอง เท่ากับมีความทุกข์เพราะสิ่งสมมติ

ผู้แต่งหนังสือ ชี้ให้เห็นว่า สมมติสร้างสมมติ สร้างกันต่อไปเรื่อยๆ จนมนุษย์รุ่นต่อๆ มาหาความจริงที่เป็นต้นตอไม่พบ ชีวิตจึงจมอยู่กับสมมติ กลายเป็นผู้รับใช้สมมติ ขาดอิสรภาพ โดยไม่ต้องมีคนมาล่ามโซ่ หรือบีบบังคับ ตัวเองต่างหากที่เอาสิ่งสมมติมาบีบคั้นตัวเอง หรือเอาสมมติมาเป็นเครื่องมือบีบคั้น หรือแสวงประโยชน์จากคนอื่น หรือจากส่วนรวม หรือในทางตรงกันข้าม อาศัยสมมตินั้นเอง ทำประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างเสียสละ หรืออย่างมีศรัทธา

ศรัทธา เป็นสมมติอีกอย่างที่มาจาก cognitive revolution เป็นพลังที่ทำให้ “มนุษย์ฉลาด” ทำกิจกรรม ขนาดใหญ่ ร่วมกันได้

cognitive revolution ในทางชีววิทยาที่สมอง ทำให้ “มนุษย์ฉลาด” มีจิตสำนึก ใช้สร้างสิ่งสมมติ และใช้มัน ทั้งในทางบวก และทางลบ อย่างซับซ้อน เพราะบางครั้ง “มนุษย์ฉลาด” เพียงคนเดียว หรือกลุ่มเดียว ใช้มันเพื่อตนเอง แต่อ้างสิ่งสมมติอย่างอื่น ที่คนจำนวนมากเชื่อ หรือมีศรัทธา ชวนกันทำสิ่งที่เลวร้ายสุดขีดได้

สมมติบางอย่าง เช่นวรรณะของคน ผสานกับความเชื่อและยอมรับ ทำให้มีการแบ่งแยกชนชั้น เช่นในรัฐโบราณในตะวันออกกลาง เมื่อหลายพันปีก่อน ระบุชัดเจนว่า คนมี ๓ กลุ่ม คือคนชั้นสูง คนชั้นธรรมดา และทาส อียิปต์ กรีซ และโรมัน ก็ยึดถือเช่นนี้ ต่อมาในบางสังคมสลายไป แต่ในบางสังคมยังดำรงอยู่ อย่างเหนียวแน่น เช่นวรรณะในอินเดีย

สมมติเรื่องวรรณะของคน เป็นประโยชน์ในการจัดระเบียบสังคม ต่อมาเมื่อมีเครื่องมืออื่นที่ดีกว่า และเครื่องมือเก่ามีข้อด้อย สมมตินั้นย่อมค่อยๆ จางหายไป หรือกลายเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ในอีกยุคหนึ่ง ดังกรณีการเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ

หนังสือ Sapiens : A Brief History of Humankind เป็นหนังสือที่ประเทืองปัญญาสุดๆ ขอแนะนำให้อ่าน



วิจารณ์ พานิช

๑๕ ก.พ. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 603700เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2016 10:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มีนาคม 2016 06:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แม้จะเกิดเป็นลูกชาวบ้าน แต่ก็ยังมีโอกาส ได้รับการศึกษา ได้รับการเรียนรู้ตามแนวที่ผมถนัด ได้มีฐานะทางสังคม และมีโอกาสทำประโยชน์แก่บ้านเมือง.....

..ได้เห็นความงามในหัวใจอาจารย์..

ที่สำคัญ ได้มีโอกาสรับใช้สิ่งสมมติต่างๆ มากมาย ที่เราตกลงกันว่าเป็นสิ่งที่ดี มีคุณค่า.....

..

สิ่งดีมีค่า จะตามเราไปเป็นความจริงของจิตที่เป็นกุศล

..

อ่านแล้ว..รักเคารพอาจารย์ขึ้นมาจับใจเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท