เรียนรู้ผ่านโลกกว้าง ณ โรงพยาบาลกรุงเทพและโรงพยาบาลมนารมย์


เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 ฉันและเพื่อนๆนักศึกษากิจกรรมบำบัดชั้นปีที่ 3 ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานสองที่ คือ ศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ และโรงพยาบาลมนารมย์ ฝ่ายจิตเวช เป็นส่วนหนึ่งในรายวิชา กิจกรรมบำบัดจิตสังคม
ในวันนี้ฉันจะมาบอกเล่าบรรยาย ความคิดเห็น ความรู้สึก รวมถึงสิ่งที่ได้พบเจอ และความรู้ที่ได้จากการมาศึกษาดูงานในครั้งนี้ให้ผู้อ่านทุกท่านได้อ่านกันค่ะ


ฉันจะมีความรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้ง เมื่อได้รู้ว่าจะได้ไปเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในที่ที่ไม่เคยไป มีความอยากที่จะไปเจอมุมมองต่างๆทางวิชาชีพที่นอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน และเป็นโอกาสที่ดีที่ในการศึกษาดูงานครั้งนี้เป็นโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งฉันไม่ค่อยมีโอกาสได้ไปโรงพยาบาลเอกชนสักเท่าไหร่

ที่แรกที่เราไปในช่วงเช้า คือ ศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ (Bangkok Mental Health Rehabilitation and Recovery Center ; BMRC)
ศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ เป็นศูนย์บริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวช ที่เน้นบริการวินิจฉัย รักษา และบำบัดฟื้นฟูสุขภาพใจ ตามหลัก Recovery Oriented Services (ROS) ด้วยกระบวนการการรักษาและกิจกรรมหลากหลาย ที่สนับสนุนให้ผู้ป่วยตระหนักถึงคุณค่าในตัวเอง และมีส่วนร่วมในกระบวนการบำบัดที่ออกแบบให้เหมาะสมกับความต้องการ และศักยภาพของผู้ป่วยแต่ละราย โดยทีมจิตแพทย์และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพจิตมากประสบการณ์ เช่น นักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักกิจกรรมบำบัด พยาบาลจิตเวช เภสัชกร เพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวชสามารถฟื้นคืนสู่ศักยภาพเดิมให้มากที่สุด กลับคืนสู่ครอบครัว และใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่าและมีความสุข


เมื่อไปถึง เราได้ไปเข้าฟังบรรยายที่ห้องประชุมชั้น 8 ของโรงพยาบาล ในขณะที่รอลิฟต์ ก็เห็นว่าห้องพักผู้ป่วยอยู่ในชั้นที่สูงขึ้นไปอีก และเมื่อไปถึงห้องบรรยาย ก็เป็นอีกหนึ่งความประทับใจคือ ได้เห็นวิวเมืองกรุงเทพ ผ่านชั้น 8 ที่กำลังยืนอยู่ ในความชอบส่วนตัวคือ ฉันชอบมองวิวตึกต่างๆ ชอบมองการออกแบบที่ทันสมัยของแต่ละตึก และมีความคิดคือ ผู้ป่วยที่พักอยู่ห้องชั้นบนๆ คงได้เห็นวิวดีๆแบบที่ฉันเห็น
สำหรับฉัน ฉันมีความรู้สึกว่าการได้มองวิวกว้างๆ เป็นการผ่อนคลายอีกแบบหนึ่ง ได้ใช้ความคิดอยู่กับตัวเอง หยุดพักปัญหาหรืออารมณ์ที่ไม่ดีต่างๆในใจ โฟกัสไปที่การได้เจอภาพตรงหน้า หรืออีกโลกหนึ่งในมุมมองที่กว้างขึ้นที่มีผู้คนมากมายที่เอาอาจมองไม่เห็นอยู่ในฉากนั้น ทั้งในตัวตึกแต่ละตึกต่างๆ ในรถบนท้องถนน ซึ่งแต่ละคนก็มีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกันออกไป รวมทั้งฉัน :)

หลังจากที่ได้ชมวิวอยู่สักพัก เพื่อนๆก็เดินเข้ามาในห้องประชุมเพื่อฟังการบรรยายพร้อมกันแล้ว
การบรรยายครั้งนี้บรรยายโดย พี่โบว์ รุ่นพี่นักกิจกรรมบำบัด

เนื้อหาการบรรยาย
ทางโรงพยาบาลให้หลัก Recovery ซึ่งช่วยให้ผู้รับบริการมีความหวัง(Hope)เกิดขึ้น โดยจะดึงจุดเด่นของผู้รับบริการ เพื่อฟื้นคืนสู่ คุณภาพชีวิต (Quality of life) และ สุขภาะวะ(well-being)ที่ดี สำหรับ Mental health rehabilitation program จะไม่ใช้ความรุนแรงกับผู้รับบริการ

ภายในศูนย์ประกอบด้วยห้องตรวจโรคของคุณหมอ และห้องพักที่รองรับผู้ใช้บริการ 7 เตียง ซึ่งห้องพักรับรอง จะถูกออกแบบโดยเน้นให้มีความปลอดภัยสำหรับผู้รับบริการ ภายในห้องดูแล้วเหมือนห้องนอนในโรงแรมมาก เป็นเตียงคู่ มีโซฟา และโต๊ะเล็กๆอยู่ แต่ไม่มีโทรทัศน์และตู้เย็น เพื่อให้ผู้รับบริการได้ออกไปทำกิจกรรมข้างนอก ส่งเสริมด้านการมีส่วนร่วมทางสังคม (Social participation) รวมถึงเพื่อจำกัดพฤติกรรมการบริโภคของผู้รับบริการ ภายในห้องยังมีห้องน้ำ ซึ่งห้องน้ำเป็นห้องที่มีความเป็นส่วนตัวสำหรับผู้รับบริการ การออกแบบห้องน้ำจึงเน้นความปลอดภัยเป็นอย่างมาก เช่น ราวจับเป็นแบบทึบ ไม่มีรูกลวงตรงกลางที่อาจทำให้ผู้รับบริการผูกเชือกได้ มีปุ่มขอความช่วยเหลือ กระจกเงาเป็นแบบกระจกนิรภัยเมื่อทุบจะไม่แตกเป็นเศษกระจาย ฝักบัวเป็นแบบไร้สายฝังติดกับผนัง นอกจากนี้ในศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ ยังมีห้องเฝ้าระวังผู้ป่วยวิกฤต (Special Care Unit) สำหรับผู้ที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด หรือมีความเสี่ยง มีห้องกิจกรรมกลุ่มบำบัดต่างๆ และบริเวณพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งถูกออกแบบให้มีลักษณะคล้ายส่วนหย่อมเล็กๆ

สำหรับการออกแบบของ OPD ที่นี่ จะเน้น Concept ให้ผู้รับบริการรู้สึกเหมือนได้อยู่บ้านที่มีบรรยากาศอบอุ่น จากการจัดแต่งสถานที่ เช่น เก้าอี้ในห้องกลาง จะหันไปทิศทางต่างๆกันเพื่อให้ผู้รับบริการได้เลือกนั่ง และอาจเป็นการสังเกตพฤติกรรมผู้รับริการคร่าวๆได้ เช่น การนั่งแยกตัวอยู่คนเดียวในมุม หรือนั่งกับกลุ่มผู้รับบริการท่านอื่นๆ มีการตกแต่งผนังด้วยรูปภาพติดผนังหลายรูปตลอดทาง มีการเลือกใช้โทนสีที่มองแล้วสบายตา ดูผ่อนคลาย


นอกจากนี้ยังมี Recovery Room ซึ่งถูกออกแบบให้สามารถรองรับกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อการบำบัดฟื้นฟูสุขภาพใจ เช่น ห้องดนตรีบำบัด ศิลปะบำบัด ห้องโยคะ และ Mind Fulness ห้องครัว สวนพักผ่อน ห้องทำกิจกรรมกลุ่มบำบัด และสันทนาการ

กิจกรรมกลุ่ม มีดังนี้
-exercise & well-being เช่น yoga, gym, diet control, BASEM, Psychotherapy
-stress reduction เช่น yoga, mindfulness** ,muscle relaxation
-art & creativity เช่น movie game, culinary art therapy, painting
-learning new skill เช่น anger management, anxiety program, depress program, self-exteem, CBT (cognitive behavioral therapy), MI (Motivational interview)
-individual

** Group mindfulness เป็นกิจกรรมที่จัดโดยแพทย์และนักกิจกรรมบำบัด เป็นกิจกรรมที่คล้ายกับการนั่งสมาธิ แต่อาจไม่ต้องหาที่ที่สงบ ให้ผู้ทำกิจกรรมมีสติอยู่กับปัจจุบัน หากเมื่อใดที่ความคิดอยู่กับปัจจุบันก็จะทำให้เรารู้ตัวเอง ซึ่งการหยุดความคิดที่ไม่ดี หรือปัญหาต่างๆของตัวเรานั้นหยุดไม่ได้ ยิ่งคิดจะหยุดยิ่งนึกถึง ผู้บริการอาจคิดได้ แต่ต้องกลับมาที่ลมหายใจ ถึงแม้จะหาคำตอบกับสิ่งที่คิดในใจไม่ได้ ท้ายสุดแล้วต้องกลับมาอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับลมหายใจ เพื่อให้เข้าใจความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมของตนเอง

โดยในแต่ละกิจกรรมจะมีการเลือกให้เหมาะสมกับผู้รับบริการแต่ละคน ดูว่าจุดแข็งของผู้รับบริการคืออะไร ควรจะตั้งเป้าประสงค์ในการรักษาบำบัดฟื้นฟูแบบไหน

กิจกรรมบำบัดในศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ จะใช้กรอบอ้างอิงและโมเดลทางกิจกรรมบำบัด คือ PEOP และ MOHO ในการมองตัวผู้รับบริการ รวมถึงบริบทสิ่งแวดล้อม และแรงจูงใจในการทำกิจกรรมต่างๆ

การบำบัดฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัดฝ่ายจิต มีด้านต่างๆ ดังนี้
ADL training (การฝึกกิจวัตรประจำวันขั้นพื้นฐาน เช่น อาบน้ำ แปรงฟัน เป็นต้น)
Cognition & perception training (การฝึกด้านการรู้คิดและการรับรู้)
Social skill training (ฝึกทักษะทางสังคม)
Promote leisure activity (สนับสนุน หรือ หากิจกรรมยามว่างที่ผู้รับบริการชอบ)
Help to identify & implement healthy habits routine (ช่วยหาเอกลักษณ์และ ดำเนินการทางด้าน สุขภาพ นิสัย และกิจวัตรประจำวันของผู้รับบริการ)
โดยการให้การบำบัดฟื้นฟูในแต่ละแบบนั้น ขึ้นอยู่ตามความเหมาะสมและความต้องการของผู้รับบริการ อาจไม่ได้ให้การบำบัดทั้งหมดทุกกิจกรรมการฝึก

เมื่อฟังการบรรยายจบก็ได้เยี่ยมชมสถานที่จริง ของศูนย์จิตรักษ์โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้สังเกตว่าภายในบริเวณศูนย์นี้ มีกล้องวงจรปิดแค่ทางเข้าเพียงที่เดียว เนื่องจากเคารพความเป็นส่วนตัวของคนไข้ และการเยี่ยมชมสถานที่จริงครั้งนี้ มีพี่อิ๋ว ซึ่งเป็นพี่พยาบาลเป็นคนพาเยี่ยมชมห้องต่างๆ และพี่โบว์จะคอยอยู่ในห้องกิจกรรมการทำอาหาร โดยจะแบ่งกลุ่มนักศึกษาเป็นสองกลุ่ม สลับกันเยี่ยมชมห้องต่างๆจากพี่อิ๋วและห้องกิจกรรมการทำอาหารจากพี่โบว์ ซึ่งกลุ่มฉันได้เยี่ยมชมห้องต่างๆของที่นี่ โดยมีพี่อิ๋วคอยแนะนำก่อน ซึ่งก็ได้เป็นการมองเห็นภาพจริง สถานที่จริงนอกเหนือจากที่ได้ฟังการบรรยายจากพี่โบว์ จากที่ได้สังเกต ในห้องต่างๆมีพื้นที่ที่จำกัด มีการจัดสรรพื้นที่ให้มีการใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด ทั้งห้องพักรับรอง ห้องเฝ้าระวังผู้ป่วยวิกฤต สวนพักผ่อน รวมถึงห้องทำกิจกรรมทั้งหมด เมื่อได้เยี่ยมชมในส่วนของห้องต่างๆแล้ว ก็ได้ไปห้องที่จัดกิจกรรมทำอาหารโดยมีพี่โบว์คอยจัดกิจกรรมให้ทำอยู่ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ฉันและเพื่อนๆระดมความคิดกัน ดูวิธีการทำปอเปี๊ยะ แล้ววิเคราะห์กิจกรรมออกมา โดยพี่โบว์จะสมมุติ case ให้แต่ละ case มาทำกิจกรรมร่วมกัน แล้วให้เรามีการวิเคราะห์การทำกิจกรรมของผู้รับบริการแต่ละราย มีการประเมินผู้รับบริการขณะทำกิจกรรม และเมื่อผู้รับบริการรู้สึกว่าทำกิจกรรมไม่ไหว ก็สามารถให้ผู้รับบริการไปพักได้ แต่อยู่ในการดูแลของนักกิจกรรมบำบัด เมื่อรู้สึกดีขึ้นก็สามารถเข้าทำกิจกรรมต่อได้
โดยกิจกรรมการทำอาหาร จะเป็นกิจกรรมที่มีการสร้างแรงจูงใจ คือ ทำอาหารที่ผู้รับบริการในกลุ่มมีความเห็นตรงกันว่าอยากทำ หรือ ทำอาหารตามเทศกาล เช่น วันวาเลนไทน์ทำช็อกโกแลต เมื่อทำได้สำเร็จผู้รับบริการก็สามารถนำช็อกโกแลตไปมอบให้กับคนที่รักได้ ซึ่งส่งผลให้ผู้รับบริการเห็นคุณค่าของตนเองในการทำกิจกรรม

สิ่งที่ได้จากการศึกษาดูงานที่ศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ คือ ข้อคิดดีๆจากพี่โบว์ ซึ่งเป็นนักกิจกรรมบำบัดที่นี่ พี่โบว์ได้กล่าวว่า หลายคนอาจมองคนที่มารับการรักษาว่าเป็นคนไข้ แต่ที่จริงเค้ามีหลายบทบาท อาจเป็นวิศวกร เป็นคุณพ่อ หรือเป็นลูก ซึ่งเราเองอย่ามองคนเป็นโรค ถ้าเราดูโรคเราจะไม่รักษาชีวิตของเค้า บางทีโรคหาย แต่ผู้รับบริการกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิมไม่ได้ ในทางกลับกัน อาจจะดีกว่าที่ถึงแม้โรคไม่ได้หาย แต่ผู้รับบริการสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันเองได้ เราต้องดูแลผู้รับบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ (Empathy) เข้าใจในตัวผู้รับบริการ ที่ผู้รับบริการด่า ขว้างปาข้าวของ อาจเป็นเพราะโรคซึ่งเค้าควบคุมตัวเองไม่ได้ ผู้รับบริการมีความทุกข์กับโรคอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราอย่าไปใจร้อน อารมณ์เสีย ให้เกิดความทุกข์เพิ่ม

การวิเคราะห์แบบ SMART TREES ในความคิดของฉัน จากการที่ได้ศึกษาดูงาน ศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเท

S (Self) : ศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ
M (Motivation) : เพื่อให้การรักษาบำบัดฟื้นฟู สนับสนุนให้ผู้ป่วยจิตเวชสามารถฟื้นคืนสู่ศักยภาพเดิมให้มากที่สุด กลับคืนสู่ครอบครัว และใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่าและมีความสุข
A (Ability) : ความสามารถในการให้การรักษาบำบัดฟื้นฟูผู้รับบริการ ของสหวิชาชีพ เช่น ทีมจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักกิจกรรมบำบัด พยาบาลจิตเช เภสัชกร
RT (Role Transformation) : มีการพัฒนา ปรับการแผนการรักษารวมถึงการบำบัดฟื้นฟูให้มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้รับบริการมากที่สุด
TR (Therapeutic Relationship) : มีการสร้างสัมพันธภาพระหว่างทีมสหวิชาชีพกับผู้รับบริการและญาติ อย่างอบอุ่นและเป็นกันเองเสมือนคนในครอบครัว เพื่อให้ผู้รับบริการรู้สึกผ่อนคลาย ปลอดภัยและเกิดความไว้ใจ
TEnv (Therapeutic Environment) : การออกแบบห้องต่างๆที่ให้ผู้รับบริการเกิดความรู้สึกคล้ายบ้าน การเลือกใช้โทนสีและแสงสว่างที่ดูอบอุ่น การจัดสถานที่ทั้งตำแหน่งการวางเก้าอี้ การจัดออกแบบห้องรับรอง ออกแบบห้องน้ำที่มีความปลอดภัยสูง มีรูปติดผนัง สวนพักผ่อนเพื่อความผ่อนคลาย และห้องกิจกรรมต่างๆที่เอื้อต่อการจัดกิจกรรมการรักษาบำบัดฟื้นฟู เช่น ห้องทำอาหาร ห้องโยคะ ห้องกิจกรรมนันทนาการ เป็นต้น
Temp (Therapeutic Empathy) : มีการดูแลผู้รับบริการด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ มีความเข้าอกเข้าใจในตัวผู้รับบริการ มองผู้รับบริการเป็นองค์รวม
TS (Therapeutic Skill) : การใช้ทักษะต่างๆของสหวิชาชีพ ในการรักษาบำบัดฟื้นฟู วางแผนการรักษา และออกแบบกิจกรรมการรักษา รวมไปถึงการให้คำแนะนำปรึกษาปัญหาต่างๆ และจ่ายยาที่จำเป็นต่ออาการของโรคแก่ผู้รับบริการ


ช่วงบ่าย ฉันและเพื่อนๆไปศึกษาดูงานโรงพยาบาลแห่งที่สอง ซึ่งก็คือ โรงพยาบาลมนารมย์

โรงพยาบาลมนารมย์ เป็นโรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางสุขภาพจิตและจิตเวช ให้บริการด้านสุขภาพจิตทั้งในด้านการส่งเสริม ป้องกัน การรักษา และฟื้นฟูสุขภาพจิต ปัญหาจิตเวชและระบบประสาทให้แก่ผู้ป่วย ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ โดย บุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสบการณ์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตเวช ประสาทวิทยาและสาขาที่เกี่ยวข้องจากหลายสถาบันการแพทย์ในประเทศไทย

ตอนแรกที่ได้เข้ามาโรงพยาบาลแห่งนี้ มีความรู้สึกว่าลักษณะของตึกดูไม่เหมือนโรงพยาบาลเลยอย่างเห็นได้ชัด อีกความรู้สึกหนึ่งคือ รู้สึกสงบ ไม่มีผู้คนเดินพลุกพล่านไปมามากมาย มีต้นไม้ที่เขียวขจีปลูกเต็มไปหมดเกือบทุกพื้นที่ รู้สึกเย็น ร่มรื่น

เมื่อสำรวจสถานที่อย่างคร่าวๆได้ไม่นาน ก็ได้เข้าฟังการบรรยายจากพี่เน็ตซึ่งเป็นรุ่นพี่นักกิจกรรมบำบัด และพี่สันติ โดยเนื้อหาการบรรยาย เป็นการแนะนำโรงพยาบาล ซึ่งมีทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ห้องพักผู้ป่วยในออกแบบให้มีลักษณะคล้ายบ้าน บางห้องมีส่วนหย่อม เพื่อให้มีบรรยากาศที่ดี ผู้รับบริการเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย สำหรับโปรแกรมการรักษาบำบัดฟื้นฟูผู้รับบริการ จะมีโปรแกรมกลางวัน (Day program) ซึ่งโปรแกรมกลางวัน จัดขึ้นเพื่อเพิ่มทักษะในการจัดการทางด้านอารมณ์ การจัดการความเครียด การปรับตัวทางสังคม การควบคุมพฤติกรรมและการดูแลตนเอง ที่มีสาเหตุจากการเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ หรือความไม่เหมาะสมทางด้านสิ่งแวดล้อมทำให้มีผลกระทบต่อความสามารถในการดำเนินชีวิตอย่างปกติของผู้รับบริการ

โดยมีรูปแบบกิจกรรมอยู่ 2 รูปแบบคือ
1.กิจกรรมกลุ่ม เพื่อช่วยฟื้นฟูทักษะทางด้านสังคม และการจัดการอารมณ์ของผู้รับบริการ
2.กิจกรรมเดี่ยว แบ่งเป็น
-กิจกรรมบำบัด มีการนำกิจกรรมและอุปกรณ์สื่อการรักษาต่างๆ มาช่วยในการบำบัดฟื้นฟูความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ของผู้รับบริการ และเพื่อคงไว้ซึ่งสุขภาพที่ดี
-กายภาพบำบัด มีการช่วยเหลือฟื้นฟูด้านการเคลื่อนไหว การออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ และคงศักยภาพของร่างกาย
-โปรแกรมจิตวิทยา เป็นการให้คำปรึกษาญาติและผู้รับบริการ เรื่องการปรับตัว ส่งเสริมเรื่องความจำสำหรับผู้สูงอายุ


สิ่งที่พิเศษที่ได้เห็นในโรงพยาบาลแห่งนี้คือ นอกจากจะมีบุคลากรทางด้านการแพทย์มากมาย เช่น หมอ พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัดแล้ว ยังมี นักแก้ไขการพูด นักศิลปะบำบัด นักละครบำบัด นักการเล่นบำบัด และนักดนตรีบำบัดอยู่ด้วย โดยบุคลากรที่เพิ่มเข้ามานี้เป็นผู้เชี่ยวชาญที่จบเฉพาะด้านโดยตรง ถือเป็นการสร้างทางเลือกในการบำบัดฟื้นฟูใหม่ๆแก่ผู้รับบริการ


เมื่อได้เข้าฟังการบรรยายจบ พี่สันติและพี่เน็ตก็ได้พาชมสถานที่จริง ที่แรกที่ไปคือ OPD บรรยากาศก็คล้ายๆบ้าน มีหน้าต่างกระจกบานใหญ่ มีแสงสว่างเข้าพอดี มองออกไปข้างนอกเห็นสนามหญ้า บรรยากาศดี ไม่อึดอัด ให้ความรู้สึกอบอุ่น จากนั้นไปดูห้องตรวจของแพทย์ ซึ่งในห้องตรวจแพทย์ทุกๆห้อง ข้างในจะมีอีกหนึ่งประตู เพื่อใช้หนีในกรณีที่ผู้รับบริการจะเข้ามาทำร้ายร่างกาย ถือเป็นการออกแบบที่มีความรอบคอบเป็นอย่างมาก

จากนั้น ฉันและเพื่อนๆก็ได้ไปห้องที่ใช้จัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งห้องกิจกรรมบำบัดในเด็ก ที่มีของเล่นหลากหลายชนิดที่ใช้สำหรับการบำบัดเต็มไปหมด ห้องทำอาหาร ซึ่งห้องนี้จัดกิจกรรมที่ได้รับความสนใจจากผู้รับบริการเป็นอย่างมาก ห้องดนตรีบำบัด ซึ่งไม่ได้เข้าไปสำรวจข้างใน ห้องศิลปะบำบัด ที่มีอุปกรณ์การทำศิลปะเต็มไปหมด ถือเป็นห้องที่น่าสนใจและฉันประทับใจมากสุด ตั้งแต่การไล่สีของผนังห้องที่ไม่เหมือนห้องกิจกรรมอื่น หุ่นนิ้วมือประดิษฐ์ที่คิดว่าสวยที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา รวมถึงผลงานศิลปะต่างๆที่จัดแสดงอยู่ในห้อง

ตึกที่รวมห้องทำกิจกรรมของที่นี่แทบทั้งหมด สังเกตได้ว่า บรรยากาศคล้ายกับบ้าน มีที่นั่งที่สบาย มีภาพวาดสวยๆติดผนังตลอดทาง ใช้ไฟสีเหลืองนวล ดูแล้วรู้สึกอบอุ่น ในส่วนของห้องกิจกรรม มีกระจกหน้าต่างบานใหญ่ เห็นต้นไม้ สนามหญ้าข้างล่าง ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่อึดอัดจนเกินไป ได้มองธรรมชาติ ได้ใกล้ชิดธรรมชาติขณะทำกิจกรรม ถือว่าเป็นการผ่อนคลายในบรรยากาศที่ดีเลยทีเดียว

สิ่งที่ได้จากการมาศึกษาดูงานโรงพยาบาลมนารมย์ คือ ได้ข้อคิดจากพี่สันติในเรื่องที่เพื่อนถามว่า เพราะอะไรห้องกิจกรรมบำบัดเด็กถึงไม่มีเบาะนุ่มบุพื้นและผนัง หากเด็กล้มอาจเกิดการบาดเจ็บได้ พี่สันติให้คำตอบว่า บางทีเด็กควรจะได้เจอสิ่งแวดล้อมจริงๆ หากเราให้การป้องกันเด็กมากเกินไป เด็กจะไม่เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง และสิ่งที่ได้จากการมาศึกษาดูงานนอกจากนี้ คือ ได้เห็นการทำงานร่วมกัน ของสหวิชาชีพหลายๆด้านที่ไม่ใช่แค่แพทย์ เช่น นักดนตรีบำบัด นักศิลปะบำบัด นักแก้ไขการพูด นักละครบำบัด และนักการเล่นบำบัด ซึ่งฉันมองว่าหากผู้รับบริการมีทางเลือกในการบำบัดฟื้นฟูรักษาหลายๆทางโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแล้ว ก็จะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้รับบริการมากที่สุด

การวิเคราะห์แบบ SMART TREES ในความคิดของฉัน จากการที่ได้ศึกษาดูงาน โรงพยาบาลมนารมย์

S (Self) : โรงพยาบาลมนารมย์

M (Motivation) : ความต้องการบริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวชเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ความสามารถตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าวยังไม่เพียงพอ จึงส่งผลให้ตัดตั้งโรงพยาบาลแห่งนี้และจัดให้การรักษาบำบัดฟื้นฟู เพื่อให้สุขภาพจิตของประชาชนในสังคมไทยดีขึ้น และเป็นสังคมที่น่าอยู่มากขึ้น

A (Ability) : ความสามารถในการให้การรักษาบำบัดฟื้นฟูผู้รับบริการ ของสหวิชาชีพ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักกิจกรรมบำบัด นักกายภาพบำบัด พยาบาล เภสัชกร นักดนตรีบำบัด นักละครบำบัด นักศิลปะบำบัด นักแก้ไขการพูด และ นักการเล่นบำบัด

RT (Role Transformation) : มีการพัฒนา ปรับการแผนการรักษารวมถึงการบำบัดฟื้นฟูให้มีประสิทธิภาพ มีการใช้กิจกรรมทางเลือกหลายๆอย่าง ที่หลายโรงพยาบาลไม่มี เพื่อให้ผู้รับบริการพัฒนาศักยภาพในตัวเองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การดูแลรักษาสุขภาพจิตให้แข็งแรงสมบูรณ์และยั่งยืนสำหรับการใช้ชีวิตอย่างเป็นสุข

TR (Therapeutic Relationship) : มีการสร้างสัมพันธภาพระหว่างทีมสหวิชาชีพกับผู้รับบริการและญาติ อย่างอบอุ่นและเป็นกันเองเสมือนคนในครอบครัว เพื่อให้ผู้รับบริการรู้สึกผ่อนคลาย ปลอดภัยและเกิดความไว้ใจ

TEnv (Therapeutic Environment) : มีการออกแบบสถานที่ให้คล้ายกับบ้าน ทั้งตัวโรงพยาบาล ห้องพักรับรองผู้ป่วย และที่รอนั่งสำหรับผู้ดูแล มีการใช้สีทาผนังห้องที่ดูแล้วผ่อนคลาย อบอุ่น สบายตา มีกระจกหน้าต่างบานใหญ่ ให้ได้มองวิวธรรมชาติข้างนอกห้อง เพื่อลดความอึดอัด ร่มเย็นและผ่อนคลาย ในห้องตรวจทุกห้องของแพทย์มีประตูที่สามารถหนีได้ เพื่อใช้หลีกหนีขณะที่ผู้รับบริการจะเข้ามาทำร้าย มีการจัดห้องกิจกรรมต่างๆ ตามความหมาะสมของกิจกรรม เช่น ห้องกิจกรรมบำบัดและการเล่นบัดสำหรับเด็ก จะมีของเล่น ห้องทำอาหารจะมีอุปกรณ์ครบ ทั้งจาน ตู้เย็น เตาแก๊ส ห้องศิลปะ มีอุปกรณ์ทำศิลปะมากมาย เช่น สี พู่กัน กระดาษ ห้องดนตรีบำบัด มีเครื่องดนตรีที่ใช้สำหรับการบำบัด

TEmp (Therapeutic Empathy) : มีการดูแลผู้รับบริการด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ มีความเข้าอกเข้าใจในตัวผู้รับบริการ มองผู้รับบริการเป็นองค์รวม จัดหาทางเลือกที่เป็นประโยชน์แก่ผู้รับบริการครบทุกด้าน

TS (Therapeutic Skill) : การใช้ทักษะต่างๆของสหวิชาชีพ ในการรักษาบำบัดฟื้นฟู วางแผนการรักษา และออกแบบกิจกรรมการรักษา รวมไปถึงการให้คำแนะนำปรึกษาปัญหาต่างๆ และจ่ายยาที่จำเป็นต่ออาการของโรคแก่ผู้รับบริการ

โรงพยาบาลทั้งสองแห่ง ทั้งศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ และ โรงพยาบาลมนารมย์ ต่างก็มีทั้งสิ่งที่ต่างและเหมือนกัน แต่ทั้งนี้ ฉันคิดว่าทุกโรงพยาบาลล้วนให้ความสำคัญแก่ผู้รับบริการเสมอ เพื่อให้ผู้รับบริการมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ และมีความสุขมากที่สุด


สุดท้ายนี้ ต้องขอขอบพระคุณอาจารย์ทุกท่าน ทั้งอาจารย์ป๊อป อาจารย์แอน และอาจารย์เดียร์ ที่ช่วยให้เรามีโอกาสและประสบการณ์ดีๆ ที่ได้มาศึกษาดูงาน ในโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งสองที่ในวันนี้ ขอบคุณพี่โบว์ รุ่นพี่นักกิจกรรมบำบัดที่ทำงานอยู่ที่ ศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ พี่โบว์ให้ความรู้ในการทำงาน และข้อคิดต่างๆ รวมถึงช่วยให้พวกเรามีโอกาสได้มาโรงพยาบาลแห่งนี้ ซึ่งพวกเราเกือบพลาดโอกาส เนื่องจากโรงพยาบาลกรุงเทพเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ ไม่ค่อยเปิดให้เข้ามาศึกษาดูงานได้ง่าย อาจเป็นเพราะ ตระหนักถึงความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วย และอยากขอบคุณ พี่เน็ต รุ่นพี่นักกิจกรรมบำบัด และ พี่สันติ ซึ่งทำงานอยู่โรงพยาบาลมนารมณ์ ที่ได้บรรยายให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการทำงาน ให้ข้อคิด และพาเยี่ยมชมแผนกต่างๆที่มีความหลากหลายและไม่เคยได้เห็นมาก่อนหน้านี้ รวมถึงแผนกกิจกรรมบำบัด อยากขอบพระคุณอีกครั้งมา ณ โอกาสนี้ค่ะ


อ้างอิง
ศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ
http://www.bangkokhospital.com/index.php/th/center-of-excellence/brain/braincenter-2
โรงพยาบาลมนารมย์
http://www.manarom.com/

หมายเลขบันทึก: 602981เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2016 14:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มีนาคม 2016 00:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท