เราคือสัตว์สังคมจริงหรือ


ตอนเรียนได้อ่านงานของอริสโตเติ้ลที่บอกว่า "โดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์เป็นสัตว์สังคม" ตอนนั้น ไม่มีแนวคิดข้อโต้แย้ง พอเราอยู่ในเมืองนานๆ (สังคมเมือง) ทำให้เห็นว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม(เมือง)จริงตามที่อริสโตเติ้ลกล่าว แต่พออยู่ไปนานเข้าจนรู้สึกอิ่มตัว ประกอบกับได้รากฐานหลักพุทธศาสนา จึงมองพอเห็นว่า มนุษย์ไม่มีเป้าหมายปลายที่สังคมในที่สุดเลย มันตรงข้ามคือ ทุกคนต้องล้วนจบด้วยการจากกันไป พรัดพรากจากันจากสังคม

เข้าใจว่า แนวคิดของอริสโตเติ้ลที่ได้ศึกษาชีววิทยามาก่อน เขาจึงเห็นว่า สัตว์มักจะอยู่กันเป็นกลุ่มก้อนดั่งสัตว์ที่อยู่ป่า ในถ้ำ ในน้ำ ฯ การที่สัตว์ดำรงอยู่ในสภาพนั้น คงเพราะต้องการความปลอดภัย อำนาจ การสืบพันธุ์ การป้องกัน การหาอาหาร และแรงงาน เช่น ฝูงลิง ฝูงช้าง ฝูงม้า ฝูงแมลง โดยพฤติกรรมของสัตว์เป็นเช่นนั้น เพราะมีสัตว์ต่างๆ มากมายหลายชนิดที่อยู่รวมกัน

แต่การรวมกันเป็นการสร้างสรรค์และทำลายไปพร้อมกัน เช่นคำว่า เราร้องเรียกความสามัคคี คำนี้อาจมีความหมายในทางลบหรือบวกก็ได้ เช่น โจรสามัคคีกันปล้นธนาคาร รัฐบาลสามัคคีกันโกง หรือรวมกันทุจริต เป็นต้น แต่สัตว์มีพื้นฐานเฉพาะ เป็นไปได้ที่สัตว์ที่ต้องการรักษาเผ่าพันธุ์ ที่อยู่อาศัยและความปลอดภัยเป็นเป้าหมายที่รวมพลกัน ในขณะมนุษย์หากต้องการความปลอดภัยต้องใช้จำนวนคนมากหรือไม่

ปัจจุบันเรากลายเป็นสัตว์โลกที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่ครองโลก ทำให้เราเห็นว่า พลังในการปกป้องตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ เรารณรงค์กันทั้งโลกว่า ให้รักษาโลก ดูแลโลก แต่ความสามัคคีนี้ ก็ยังไม่เกิดผลดังกล่าว หรือนี่ไม่ใช่ธรรมชาติของมนุษย์แท้ของตน แล้วอะไรคือ หลักการการอยู่ร่วมกันในฐานะสัตว์สังคม เพื่อปกป้องประเทศชาติของตน เพื่อธุรกิจของสังคม เพื่อศาสนาของตน เพื่อจารีต ประเพณี ศีลธรรมที่ดีงามของสังคมหรือไม่

คำว่า "สังคม" มาจาก "สัง" แปลว่า ร่วมกัน "คม" แปลว่า ดำเนินไป สังคม จึงหมายถึง การดำเนินไปร่วมกัน เรียกว่า โลกาภิวัฒน์ อะไรที่มนุษย์ดำเนินไปด้วยกัน เพราะประเทศก็มีสังคมของตนเองเช่น โลกเสรีของอเมริกา โลกยุโรป โลกตะวันออก ฯ กลุ่มคนที่อยู่ในเขตต่างกัน ย่อมมีกระแสของตน ในขณะเดียวกันก็มีกระแสข้ามโซน ข้ามทวีป ที่ไหลบ่าเข้าหากันโดยสื่อ จนเหมือนทั่วโลกกลายเป็นสังคมเดียวกัน กระนั้น เราก็ไม่อาจบอกได้ว่า นั่นคือ โลกสามัคคีหรือโลกเดียว

เนื่องจากว่า แต่ละประเทศก็มีปัญหากับเพื่อนบ้านตน และมีความขัดแย้งกันด้านอื่นๆ ด้วยเสมอ ความเป็นสัตว์ ความเป็นสังคมโลก จึงดูเหมือนขัดแย้งในภาพมายาที่สื่อนำเสนอ ฉะนั้น สัตว์โลกเป็นกลุ่มสังคมเพื่อสิ่งใด เพื่อประโยชน์ใดกันแน่ มันเป็นดั่งที่อริสโตเติ้ลกล่าวจริงหรือ ผู้เขียนขออาศัยหลักคำสอนพระพุทธศาสนามาวิเคราะห์ดังนี้

หลักการหรือุดมการณ์ของพระพุทธศาสนาสอนว่า สัตว์มีอำนาจการกระทำให้เป็นไป อำนาจที่ว่านี้ มาจากอำนาจลึกในจิต หรือภาษาใหม่เรีกยว่า สัญชาตญาณ ภาษาทางศาสนาพุทธเรียกว่า "กิเลส ตัณหา" นี่คือ แรงอำนาจธรรมชาติทางชีววิทยา แต่พระพุทธองค์มิให้ยินดี ยินยอมในอำนาจต่ำเหล่านี้เสมอไป มนุษย์หากต้องการจะแสดงพฤติกรรมให้ดีงาม สวยงาม พัฒนาในแง่กายกรรม วาทกรรมและมโนกรรม ที่ดีงาม ต้องรู้จักขัดเกลาสิ่งเหล่านี้ออกไป

มองในแง่ผลของกรรม (กระทำ) ของมนุษย์ ที่แสดงออกมา ๓ ทางนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อตัวเอง สังคม และธรรมชาติเป็นที่สุด ทีนี้ในตัวเองนั้น เป็นหน่วยหนึ่งในสังคมและธรรมชาติ สังคมนั้นมีกฎหมาย มีกติกา มีหลักการให้แสดงออกตามกติกาสังคม มิได้แปลว่า ให้เราตามสังคม แต่ให้ตามหลักที่ดีงามของสังคมต่างหาก เพราะธรรมชาติด้านในหลุมดำของของแต่ละคน ที่แสดงออกมาหรือสะท้อนออกมาจนเกินเลยกฎต่างๆของสังคม ละเมิดสังคม

กรรมหรือการกระทำนี้ จึงส่งผลให้สังคมเดือดร้อน ละเมิดกฎมากมาย จนสังคมวุ่นวาย ทำไมเราอยู่ในสังคม จึงไม่รักสังคม ไม่อาศัยสังคมขัดเกลา กลับไปทำลายสังคมแล้วเราเป็นสัตว์สังคมอย่างไร ผลที่เกิดขึ้นนี้ พระพุทธศาสนาสะท้อนว่า อำนาจปัจเจกบุคคลนั้น ล้วนมีแต่สิ่งดึงดัน ดื้อด้าน หยาบกร้านต่อสังคม เพราะสังคมเป็นสิ่งใหม่หรือเป็นภาพที่ถูกสร้างขึ้นโดยไม่มีใครเป็นเจ้าของโดยตรง จึงกลายเป็นเวทีให้แต่ละคนแสดงกายกรรมที่หยาบคายออกมา

ในสังคมนั้น เรามีกฎกติกาหลายชั้น ซ้อนทับกันอยู่เช่น นิติรัฐ นิติธรรม ระเบียบ กฎต่างๆ มากมาย ในนั้น มีศาสนวิถีที่จัดการบริหารให้กลุ่มสังคมเป็นไปตามอุดมคติของสังคมหมู่มาก เพื่อขัดเกลาให้สังคมเป็นไปตามกรอบที่ดีงาม ในขณะเดียวกัน ศาสนาก็เป็นสิ่งที่จมอยู่บริบทสังคม จึงมีแบบ มีกรอบที่มีเยื่อใยต่อสังคมอยู่ สิ่งที่ศาสนาพุทธพยายามทำให้สังคมแตกต่างและแตกตื่นในตัวเองคือ พฤติกรรมที่ลุ่มลึกในตัวเอง โดยการสำรวจจิตของตน

จิตคือ องค์ย่อยของชีวิตที่อยู่ในชีวิตของแต่ละคน ที่เป็นตัวรองรับและขับเคลื่อนร่างกาย เป็นกลไกของร่างกายตามเจตจำนงของตนและสังคมดั่งที่รุสโซ่กล่าวไว้ (เจตจำนงตนและสังคม) แต่จิตกลับสูญเสียเจตจำนงเดิม(จิตวิญญาณที่บริสุทธิ์) เพราะถูกจิตใหม่ที่หล่อหลอม ย้อมหุ้มด้วยสังคม สัญชาตญาณ จนกลายเป็นคนเถื่อน คนดิบไป ทำให้สังคมล้วนแออัดไปด้วยคนเหล่านี้เพิ่มขึ้น

จิตนี้จึงต้องได้รับการขัดเกลาฝึกฝน ทนกลั้นกับแรงพลังข้างในของตน หากไม่มีหลักมนุษย์ก็จะไหลไปตามอำนาจสัญชาตญาณและอำนาจดิบของตนอย่างง่าย ในแง่หนึ่งสังคมคือ กลไกที่สร้างลักษณะนี้ให้มนุษย์ ดังนั้น ศาสนาพุทธจึงมีส่วนสร้างสรรค์ให้จิตนี้ถูกหลอมให้งดงามได้ ด้วยหลักศีลห้า(ละเว้นในกฎ ๕ ข้อนั้น) และมีธรรม ๕ ข้อ เมตตา ทาน พอเพียง สัจจะ และสติ) เป็นเครื่องคำจุนสัตว์โลกให้บริบูรณ์ในตนเองและสังคม

นอกจากนั้น พระพุทธศาสนามิได้มองเห็นแต่ผลในแง่บุคคลและสังคมเท่านั้น ยังมองให้สูงขึ้นไปอีก และสอนให้มองโลก สังคมให้เห็นความเป็นจริงของมัน ไม่ว่าตนเอง (ชีวิต) และโลกแห่งปรากฏการณ์ในแต่ละวัน ทุกคนคือ ตัวแทนตนและสังคม ที่จะสะท้อนตนเองและสังคมโลกออกมาให้ทุกคนเห็นคุณค่าและเห็นความจริงในตนเอง กล่าวคือ ชีวิตมีแค่ที่ดำรงอยู่หรือไม่ แก่นแท้ แก่นสารของชีวิตมีอะไรอีก

ถ้าทุกคนดำรงชีวิตตามธรรมชาติ ตามสังคมก็จะเห็นแค่กิน บำบัดกายใจ สืบพันธุ์ ทำงาน เสวยทรัพย์ รักษาชีวิต และประคับประคองร่างกายให้อยู่ในครรลองของความแก่ชราเท่านั้นหรือ อะไรคือแก่นแท้ของมัน นี่คือ สิ่งที่พระพุทธศาสนาพยายามให้มนุษย์ศึกษาตนเองให้เห็นอัตตาที่แท้ เนื่องจากว่า จุดหมายปลายทางชีวิตคือ ความสิ้นสุด สิ้นลมหายใจ เราต้องทิ้งร่างกาย ทิ้งทุกสิ่งบนโลก แล้วหายตัวไปอย่างไม่มีทางกลับคืน

แล้วมีใครจะเดินร่วมทางกับเราไหม มีลูกเมียสามี เพื่อนรัก อยากจะเดินตามเราไปในเวลาจะตายไหม นั่นคือ เส้นทางอันโดดเดี่ยวที่เราทุกคนตระหนักดีว่า มาคนเดียว ไปคนเดียว แม้ว่าเราจะเห็นคนตายในเหตุการณ์เดียวกันหลายๆคนก็ตาม พระพุทธศาสนามองว่า เส้นทางชีวิตหลังตาย มีเส้นทางที่ต่างกันตามกำลังกรรมของตนที่สะสมมาในครั้งมีชีวิต นี่คือ จุดที่อริสโตเติ้ลมองไม่ถึงว่า ชีวิตมนุษย์ไม่ใช่มีแค่สังคมหรือไม่ใช่สัตว์ที่ต้องการสังคมเสมอไป

หากแต่พระพุทธองค์สอนสาวกว่า ให้เธอไปหาที่สงบ สงัด เพื่อบำเพ็ญเพียรภารกิจของจิตตนให้บรรลุเถิด พุทธประสงค์คือ ต้องการให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ในความเป็นจริงคือ ชีวิตโสด เดินทางคนเดียว ไปคนเดียว ด้วยเหตุนี้เวลาเราปฏิบัติจิต จึงต้องอาศัยตัวเองกับจิตเท่านั้น มิใช่สังคม เพื่อนฝูง ด้วยเหตุชีวิตของพระจึงมีรูปแบบเดียวคือ อยู่แบบเอกบุคคล เป็นคนที่ไร้ครอบครัว ไร้คู่ พยายามให้อยู่ในที่สงัด สงบ ที่สัปปายะต่อการพิจารณาจิต

เมื่อสิ้นชีวิต เส้นทางสังคมเป็นได้แค่ร่วมงาน แต่ก็หายากที่จะมีใครตายไปด้วย สังคมที่อริสโตเติ้ลเห็นจึงเป็นสังคมเชิงชีววิทยาของสัตว์ในป่าจริง แต่ชีวิตของมนุษย์ที่บอกว่า เป็นสัคว์สังคม เขาเปรียบเอาสัตว์มาเทียบเคียง คุณสมบัติของมนุษย์มีเหนือกว่าสัตว์ และมีมาตรการในการวางแผนพัฒนาตตัวเองเหนือสัตว์อีก การที่พระองค์สอนให้ปลีกตัวเองออกจากสังคม ก็เพื่อให้เห็นตนเองอย่างแท้จริง มากกว่าอยู่ในสังคมที่จมน้ำดำมืด รังแต่จะสำลักน้ำสกปรก

อีกอย่างหากมองภาพในปัจจุบัน ผู้คนอาจเห็นคล้อยตามอริสโตเติ้ลที่มนุษย์มีแต่มารวมกลุ่ม อยู่กันแออัดในเมือง จนเกิดปัญหามากมาย นั่นคือ แรงอำนาจของความไม่เห็นจริงของสังคมสัตว์ แต่สังคมของผู้รู้ ผู้มองเห็นภัยในสังคมย่อมมีตาและไหวตัวทัน จึงอพยพ โยกย้ายถ่ายถอนชีวิตออกไปในป่า ในชนบท ในเขา ในที่สงบเงียบบนเขา บนดอย เพื่อจะรับรสธรรมชาติและความสงบทางจิตตนเองให้ลึกถึงแก่นแท้

เมื่อสังเกตดูทุกวันนี้ คนเมืองจริงไม่อยากอยู่ในสังคม ในเมืองแล้ว มีแต่อยากไปอยู่กับธรรมชาติ นอกจากคนที่ไปไหนไม่พ้น จึงต้องดิ้นรนทำสภาพแวดล้อมให้เป็นธรรมชาติเช่น ปลูกต้นไม้ในกระถาง ต้นไม้เทียมในห้อง เลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อน มีสื่อเป็นสังคม มีมือถือเป็นเพื่อน เสพสม เสพสื่อจนจิตฟุ้งไปหมด เมื่อคนในสังคมล้วนเต็มไปด้วยมายาแอบแฝง จนน่ากลัว

เมื่อสังคมที่จมอยู่ในอันตรายเช่นนี้ ไม่ต่างอะไรกับสัตว์ในป่าที่กัดกัน ฆ่ากัน ลวงกันเพื่อความอยู่รอด แล้วนี่แหละที่อริสโตเติ้ลมองเห็นว่า สัตว์สังคมจริงที่ดำเนินชีวิตเหมือนดั่งป่าธรรมชาติเดิมๆ เหมือนสมัยนั้น เมื่อเกือบสองพันกว่าปี หากมองในแง่มุมหนึ่ง ยิ่งมีสัตว์มากมายเท่าไหร่ นั่นคือ จุดเสี่ยงที่นักล่าจะหาเจอได้ง่าย และนั่นคือ สื่อนำพาความตายมาถึงสังคมเช่นนั้น แล้วเราสำนึก สำเหนียกในตนหรือสังคมกันดีละยัง


คำสำคัญ (Tags): #สังคมสัตว์
หมายเลขบันทึก: 602790เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2016 22:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 เมษายน 2016 19:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท