ศาสนาพุทธที่แท้ มิใช่เพื่อ "สังคม" ๓


เรื่องที่พระภิกษุถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดตอนนี้ คือ “...กิริยามารยาทไม่สำรวม ล่วงละเมิดพระวินัยเป็นอาจิณ ชอบสะสมเงินทอง ทำตัวเหมือนฆราวาสทุกประการ...” ซึ่งที่ประชาชนวิจารณ์มาก็ถูกทุกประการ เพราะพระภิกษุส่วนหนึ่งเป็นอย่างนั้นจริงๆ และแถมเจ้ากูยังเอารูปที่ไม่ดีมาแชร์ มาโพสต์ในโลกออนไลน์เพื่ออวดกัน จึงทำให้ประชาชนอิดหนาระอาใจ จึงพาลเบื่อศาสนาพุทธไปแล้วก็หลายคน

จึงน่าฉุกใจคิดว่า ทำไมคนที่เข้ามาบวชเรียนในพระพุทธศาสนา ซึ่งถือว่าเป็นศาสนาแห่งสติและปัญญา ที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่ต้องการแก้ปัญหาชีวิตอย่างแท้จริง จึงกลายเป็นบุคคลที่ทำตัวเละเทะ น่าสะอิดสะเอียนต่อความประพฤติของผู้ที่พบเห็น ทั้งๆที่สังคมไทยให้การเคารพกราบไหว้สูงสุดต่อพระภิกษุสามเณร แม้พ่อแม่ผู้ให้กำเนิดเลี้ยงดู ปกติลูกต้องไหว้พ่อแม่ แต่เมื่อลูกบวชห่มผ้าเหลืองแล้ว ท่านยังคุกเข่ากราบไหว้ลูกทันที

ทำไม พระภิกษุสามเณรบางรูปจึง “ทรยศ” หรือ “เนรคุณ” ต่อศรัทธา และการอุปถัมภ์ของคนไทยล่ะ ถ้าถามแบบนี้ก็ต้องตอบว่า “เป็นเพราะมีคนไม่ดี เข้ามาบวชอาศัยผ้าเหลืองหากินเลี้ยงชีวิตตัวเองมากขึ้น” แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาผมตะหนักว่า ผู้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ครั้งแรกมักมีเจตนาดี ตั้งใจบวชเรียน และฝึกปฏิบัติตัวเองจริงๆ

แต่เพราะเหตุใด จึงกลายเป็นพระภิกษุสามเณรที่มีความประพฤติเหลวไหล ไร้ยางอาย ไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ล่ะ

จากการวิเคราะห์หาสาเหตุของผม ทำให้เชื่อว่า เพราะสาเหตุใหญ่ๆ ๓ ประการ คือ
...
ประการที่ ๑ ยุคนี้บวชง่ายเกินไป ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร บางทีท่องขานนาคก็ยังไม่ได้ อุปัชฌาย์ก็บวชให้เพราะเกรงใจ พ่อแม่ หรือผู้ปกครองของนาคนั้นๆ แถมเมื่อบวชเข้ามาแล้ว “...ไม่มีใครอบรมสั่งสอน กำกับ ติดตาม กวดขัน เอาใจใส่ดูแลความประพฤติให้ดี...” การบวชจึงเหมือนกับการมาพักผ่อน แค่เปลี่ยนสถานที่เท่านั้น ชั่วระยะหนึ่ง แต่ฝ่ายพระก็อ้างว่า ส่วนมากคนสมัยนี้ เขาอยากบวชระยะสั้น ๗ วัน ๑๕ วัน จึงไม่ได้ทันสอนอะไรให้

ที่จริงก็คือ ข้ออ้าง ข้อแก้ตัว ของฝ่ายพระ (อุปัชฌาย์เป็ด – อาจารย์เป็ด) เพราะถ้าจะอบรมกันจริง เหมือนเข้าคอร์สอบรมของสำนักปฏิบัติธรรมที่มีประสิทธิภาพต่างๆ แค่ ๓ วันก็ได้ผลแล้ว หรือจะเอาแบบเคร่งครัดที่สุด แบบสำนักของท่านโกเอนก้า ๑๐ วัน ก็เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและจิตใจได้อย่างมากมาย

เมื่อทั้งอุปัชฌาย์ หรืออาจารย์วัด รวมเจ้าคณะต่างๆ ปล่อยปละละเลย ไม่เอาใจใส่กวดขัน ดังนั้น พระภิกษุสามเณรผู้บวชใหม่ก็ทำตามความเคยชินของตัวเองในสมัยที่เป็นชาวบ้าน เพราะท่านเองก็ไม่รู้ว่าที่ทำไปนั้น ผิดหรือถูกเหมือนกัน เนื่องจากไม่มีใครทักท้วง ท่านจึงทำตัวผิดพระธรรมวินัย เป็นอาจิณ ทำให้ผู้พบเห็นหมดความเลื่อมใสศรัทธา ทั้งต่อพระภิกษุ และพระพุทธศาสนาไปด้วย

เหมือนในสังคมไทยทุกวันนี้ ไม่มีใครกล้าบอกเด็กๆ ว่าอะไรถูกอะไรผิด เพราะถือว่า “อย่าเอาไม้ไปรันขี้ และ ธุระไม่ใช่” แต่เวลาเด็กทำผิดพลาดขึ้นมา กลับด่าว่าเด็กเป็นคนไม่ดี เลว ชั่ว

ก็ขอย้อนว่า...แล้วใครสร้างเด็กขึ้นมาแบบนี้ล่ะ ไม่ใช่ผู้ใหญ่แบบพวกเราหรือ ?

สรุป : ประการที่ ๑ ถือเป็นความผิดของอุปัชฌาย์ เจ้าอาวาส อาจารย์วัด และจ้าคณะทุกระดับ ที่ไม่รับผิดชอบเอาใจใส่ อบรม และกวดขันพระภิกษุสามเณร ผู้เข้ามาบวชให้ดีพอ

ประการที่ ๒ บรรพบุรุษของสังคมไทยในอดีต ไม่ได้ตั้งใจให้วัด และพระแค่ออกบวชไป “พระนิพพาน” อย่างเดียว แต่มีจุดประสงค์ต้องการให้ “พระ” เป็นครู เป็นหมอ เป็นที่พึ่ง เป็นผู้นำของชุมชน ถ้าพูดแบบวิชาการสมัยใหม่ คือ ต้องการให้พระภิกษุเป็น “สถาบัน” ทางสังคม (Social institute) ช่วยเหลือคนทุกระดับ ทุกรูปแบบ เนื่องจากบรรพบุรุษของเราเห็นว่า “สังคม” มีคนหลายระดับ ผู้คนมีสติปัญญาไม่เท่ากัน ถ้าได้พระมาเป็นผู้นำในการทำกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน ก็ยังดีกว่าให้คนในสังคมอยู่กันแบบไม่มีทิศทาง หรือได้คนที่ไม่ดี มุ่งแต่ประโยชน์ หลอกลวงหาเงินทองมาเป็นผู้นำ

แม้ว่าพระภิกษุส่วนใหญ่ จะทำกิจนอกเหนือจากการบวชเรียน หรือฝึกปฏิบัติ ที่เราเรียกว่า “กิจของสงฆ์” ทำให้ย่อหย่อนไม่ทำตามพระธรรมวินัยไปบ้างก็ตาม “สังคม” ก็ไม่ว่าอะไร เพราะเชื่อว่าท่านทำด้วยเมตตา และยังสอนให้คนตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม เชื่อในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด และกฎแห่งกรรม (เรียกทันสมัยว่า สอนตามความแตกต่างระหว่างบุคคล เช่น ตามจริต ตามอัธยาศัย ตามบุคคล ตามวาสนา ตากวิบากกรรม) ก็ยังดีกว่าไปนับถือภูตผีปีศาจ หรือสิ่งอื่นๆ เป็นที่พึ่งอีก

ขนาดหลวงปู่มั่น ที่ผู้คน (รวมทั้งพวกดราม่าดัดจริต) นับถือว่าเป็นพระอริยะ ยังให้พระอาจารย์เนียมไปสอนการเพาะปลูกให้ชาวบ้าน รักษาโรคให้ชาวบ้าน ระหว่างไปจำพรรษาอยู่กับชาวเขาทางภาคเหนือ หรือทางภาคอีสาน ท่านบอกว่า ถ้าชาวบ้านยังท้องไม่อิ่ม ยังสอนศีลธรรมไม่ได้หรอก

พระภิกษุเมืองไทยในอดีตจึงมีหลายรูปแบบ ทั้ง พระบวชเรียน พระสอนหนังสือ พระพัฒนา พระก่อสร้าง พระหมอดู พระหมอยา พระเกจิของขลัง พระเวทย์มนต์คาถาอาคม พระปกครอง พระศิลปิน (ตัวอย่าง ขรัวอินโข่ง) พระสอนวิชาสู้รบศึกสงคราม(วัดพุทไธสวรรค์) เป็นต้น ซึ่งพระภิกษุแบบนี้ ถ้าเอาพระธรรมวินัยมาตัดสิน ก็อาบัติทุกองค์นั่นแหละ

เมื่อพระภิกษุไปทำกิจเหล่านี้ ตามความต้องการของสังคม จึงทำให้ต้องย่อหย่อนพระธรรมวินัย และไม่มุ่งไปนิพพาน มุ่งแต่จะอนุเคราะห์ สงเคราะห์ ประชาชนด้วยความเมตตา ห่วงใย พระภิกษุหลายองค์จึงตั้งใจบำเพ็ญ เสียสละอุทิศตน ปรารถนาเป็น “พระโพธิสัตว์” เพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้เขาพ้นเคราะห์ภัย และมี “หลัก” หรือมี “สติปัญญา” ในการดำเนินชีวิตระดับหนึ่งก่อน ยังไม่ไปนิพพานโดยตรงและโดยเร็ว เช่น หลวงปู่ทวด สมเด็จโต แม้พระมหากษัตริย์ไทยในอดีต และปัจจุบัน ต่างก็ปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ ที่ชัดที่สุด ก็คือ พระเจ้ากรุงธนบุรี รัชกาลที่ ๑,๓,๕ และองค์ปัจจุบัน (แถมมีคนแถวๆ วัดอ้อน้อย ก็ยังอ้างประกาศตนเป็นเหมือนกัน)

แต่ในยุคนี้ กิจเหล่านี้ส่วนใหญ่ทางราชการได้ทำเองจนเกือบหมดสิ้น แต่ยังเหลือพระทางหมอดู หมอยา พระพัฒนา พระเกจิของขลังอยู่บ้าง เพราะชุมชนบางชุมชนต้องการอยู่ ซึ่งก็ทำให้ผู้คนในเมืองที่รู้หนังสือมากขึ้น รู้สึกไม่ค่อยพอใจที่พระภิกษุไม่บวชเรียนทำตามพระธรรมวินัย ซึ่งเขาไม่ต้องการพระแบบเดิม เพราะเขาได้รับบริการที่ดีจากทางราชการแล้ว เขาต้องการพระภิกษุที่ดีไว้กราบไหว้เป็นที่พึงที่เหนี่ยวทางจิตใจเท่านั้น เขาจึงผิดหวังที่พระภิกษุไทยส่วนหนึ่ง ไม่ทำตัวให้เขากราบไหว้ได้สนิทใจ เขาจึงไม่เลื่อมใส หมดศรัทธาพระทั่วไปลง แต่พวกเขาก็ยังมีเจตนาดีรักพุทธศาสนา จึงเรียกร้องให้มีการชำระ หรือสังคายนาความประพฤติพระเสียใหม่ให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย

ถ้าคิดแง่ดี เขามีกุศลจิตจริง อยากเห็นสิ่งๆดีเกิดขึ้นในเมืองไทย

แต่ถ้าคิดในแง่ “พุทธ” เขา “ไร้สติปัญญา ใจไม่กว้างพอ” ต่อคนทุกระดับใน “สังคม” เมืองไทย

...

ประการที่ ๓ สาเหตุที่พระภิกษุสามเณรไม่ดี มาจากความต้องการของ “คน” เช่น ตามหลักจิตวิทยาของ Maslow กล่าวว่า มนุษย์ทุกคนต้องการความอยู่รอดปลอดภัย มีชีวิตที่ดี มีชีวิตที่มั่นคง มีความรักและได้รับความรัก และต้องการการยอมรับจากสังคมด้วยกันทั้งนั้น

ดังนั้น อะไรก็ได้ที่ทำให้มนุษย์อยู่รอดปลอดภัย มีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย ไม่เจ็บป่วย มีฐานะมั่นคง เจริญด้วยทรัพย์สินเงินทอง เกียรติยศชื่อเสียง เขาจะดิ้นรนแสวงหามาให้ได้ แต่ถ้าไม่ได้ เขาก็จะหวังทางลัด หาสิ่งที่จะบันดาลให้ตัวเองได้มา ซึ่งสมัยนี้เราเรียกว่าสิ่งนั้นว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้ศักดิ์สิทธิ์ ผู้วิเศษ ฯลฯ

สรุปกันง่ายๆ ผู้คนในโลกนี้ร้อยละ ๙๗ มักหวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอให้บันดาลทุกสิ่งที่ตนเองอยากได้ สมความปรารถนา แม้กระทั่งผู้คนในเมืองไทยที่นับถือศาสนาพุทธ ศาสนาที่สอนให้เชื่อว่าไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะบันดาลให้ นอกจากการกระทำของตัวเอง หรือ ให้เชื่อเรื่องกรรม ก็เห็นวิ่งไปกราบไหว้ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูป พระเกจิ พระอรหันต์ เทพเจ้า ภูตผีปีศาจ ต้นไม้ ภูเขา จอมปลวก สัตว์เดรัจฉาน ฯลฯ ถ้ามีข่าวว่าศักดิ์สิทธิ์จริง ให้หวยได้ ให้โชคได้ ก็เห็นแห่แหนไปกราบหม

แม้กระทั่งผู้ที่อยากชำระพระศาสนา อยากปรับปรุงความประพฤติของพระเณรไทย เช่น นายสุวิทย์ ที่ตั้งตนเป็น พุทธอิสระ และผู้ที่เลื่อมใสนับถือนายสุวิทย์ ก็ไม่ใช่เพราะเชื่อว่า นายสุวิทย์ มีความศักดิ์สิทธิ์ มีพลังจิต มีญาณวิเศษ ทำนายทายทักได้แม่นยำไม่ใช่หรือ และยิ่งไปกว่านั้นที่สำนักของนายสุวิทย์ ก็มีการปลุกเสกเครื่องรางของขลัง บูชาเทพเจ้า เอาเลือดแช่น้ำมนต์ ไปทำพิธีปลุกเสกแช่ตัวในกระทะน้ำมนต์ แบบไสยศาสตร์ ที่เป็นเดียรฉานวิชา ไม่ใช่หรือ

แล้วนี่...ใช่พุทธศาสนาแท้ไหม ?

เมื่อผู้คนจำนวนมากชอบแต่เรื่องศักดิ์สิทธิ์ และผมก็เชื่อว่าไม่มีใครในโลกนี้ทำให้หมดสิ้นไปได้จากโลกนี้ ทำให้ชาวบ้านบางส่วนไปคาดคั้นจากพระภิกษุสามเณรให้ฝึกหัดเป็นผู้วิเศษ ผู้ศักดิ์สิทธิ์บ้าง จะได้เป็นที่พึ่งของชีวิต พระภิกษุสามเณรบางส่วนจึงอนุโลมตามความต้องการของชาวบ้าน เพราะอยากตอบแทนการให้ข้าวปลาอาหารที่ชาวบ้านเลี้ยงดู

เช่น ตัวผมเอง สมัยผมบวชก็ยังถูกขาวบ้านจำนวนหนึ่งมาให้ขอให้ทำนายทายทักชะตาชีวิตทุกวัน จนใจอ่อนเพราะอยากช่วยชาวบ้านบ้าง ตอบแทนคุณชาวบ้านบ้าง ต้องศึกษาเล่าเรียนตำราหมอดูมาช่วยทำนายทายทักให้ผู้คนต่างๆ ซึ่งก็เป็นที่พอใจของฝ่ายเรียกร้องเสมอ ต่อมาชาวบ้านเรียกร้องมากขึ้น ถึงขั้นให้ช่วยแก้ไขสิ่งเสียๆ ร้ายๆ ในชีวิตชาวบ้านออกไป ตอนแรกก็ทำใจไม่ได้ เพราะคิดว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์ แต่สุดท้ายก็อดใจอ่อนต้องไปดูฮวงจุ้ย ดูบ้านดูช่องให้ชาวบ้าน แถมแก้ไขให้เขาอีก ทั้งๆที่เรียนมาทางด้านจิตวิทยา พยายามอุตส่าห์แนะนำการแก้ไขปัญหาชีวิตแบบจิตวิทยา ชาวบ้านก็ไม่สนใจมากเท่ากับเชื่อว่า ผมเป็นหมอดูที่เก่ง

สุดท้ายก็เบื่อ เพราะ “คน” มีความต้องการที่ไม่รู้จักสิ้นสุด ชาวบ้านก็มารบกวนทุกวัน มีแต่เรื่องเดิมๆ นานวันจึงเกิดการเรียนรู้ว่า ชาวบ้านเขาอยากแค่ให้ชีวิตเขาสุขสบาย ร่ำรวยขึ้น มียศศักดิ์สูงขึ้น เราไปช่วยให้เขาหลงอัตตามากขึ้น ไม่ได้ช่วยให้เขาเบื่อโลก เบื่อชีวิตตามหลักศาสนาพุทธเลย แต่เพราะสงสารอดใจอ่อนช่วยเหลือชาวบ้านไม่ได้ จึงทำลงไป

นี่คือเหตุหนึ่งที่พระภิกษุสามเณรต้องหลงทางไปในทางนอกพุทธศาสนามากขึ้น เพราะเมื่อชาวบ้านนับถือ ว่าพระภิกษุองค์นี้ศักดิ์สิทธิ์ ขลัง เป็นผู้วิเศษ ก็มักถวายเอกลาภมากมาย สักการะและคำสรรเสริญเยินยอ จึงทำลายพระภิกษุสามเณรที่ดีไปในที่สุด

ขนาดคนที่คิดว่าตัวเองชนชั้นสูง ยังไปหาพระภิกษุที่เชื่อว่าเป็นผู้วิเศษ ศักดิ์สิทธิ์ ขลัง ช่วยปัดเป่าเคราะห์หามยามร้าย ให้พ้นภัยอันตรายไม่ใช่หรือ ไม่เชื่อก็ลองไปเรียนถามท่านเจ้าคุณธงชัย วัดไตรมิตร ท่านเจ้าคุณพระพรหมวชิรญาณ วัดยานนาวา ท่านเจ้าคุณหลวงพ่อเณร วัดศรีสุดา ฯลฯ ว่าเป็นจริงอย่างนี้หรือเปล่า แล้วนั่นใช่การทำตามพระธรรมวินัย หรือส่งเสริมพระที่ดีของศาสนาพุทธหรือเปล่า

และเหตุนี้ จึงทำให้พระภิกษุที่ยังไม่หนักแน่นในพุทธศาสนา หรือไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนมาทางละคลายอัตตา เมื่ออยากหาทุนทรัพย์มาสร้างวัด หรือซ่อมแซมวัดวาอารามที่ตนเองอยู่ จึงตั้งตนเป็นผู้วิเศษ ผู้ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเส้นทางสายนี้ หาเงินง่าย เนื่องจากผู้คนส่วนมากพร้อมที่จะเชื่อ เพราะอยากรวยทางลัด อยากสุขสบายง่ายๆ อยู่แล้ว และจึงมีผลให้ผู้คนส่วนหนึ่งแอบอ้าง (บวช) เป็นพระภิกษุสามเณรที่คนไทยนับถือสูง หลอกลวงหาเงินทอง บำเรอความสุขส่วนตัว พระภิกษุสามเณรปลอมเหล่านี้จึงทำลายพระพุทธศาสนาที่ดีให้หมดไป เพราะทำให้ผู้คนที่ต้องการพ้นทุกข์ขาดศรัทธา ไม่นับถือพุทธศาสนายิ่งขึ้น

แต่ทั้งหมดที่กล่าวมา ถึงแม้จะขับไล่พระภิกษุสามเณรที่ไม่ทำตามพระธรรมวินัยออกไปให้หมด อย่างเช่น พระเจ้าอโศกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ก็เป็นการยากมากอยู่ดี ที่จะทำให้มนุษย์จะหันมาเข้าใจศาสนาพุทธที่แท้ แม้คนๆนั้นจะตั้งใจดีรักษาพุทธศาสนาก็ตาม เพราะนับตั้งแต่มนุษย์โดยทั่วไปเกิดมา ก็ถูกสอนให้ “ยึดมั่นถือมั่น” ทุกสิ่งมาตลอด แต่คำสอน หรือ “หลักพุทธศาสนา” สอนให้ละอัตตา สอนให้ละคลายความยึดมั่นถือมั่น จะไปด้วยกันได้อย่างไร

ยิ่งโลกทุกวันนี้ มีแต่การส่งเสริมให้ยึดมั่นถือมั่นมากขึ้น ส่งเสริมอัตตามากขึ้น ผู้คนจึงหลงทั้งอบายมุข สิ่งเพลิดเพลิน รวมทั้งหลงยึดมั่นว่าตัวเองเป็นคนเก่ง คนดีกว่าใคร ทำให้ยิ่งนอกพุทธศาสนาไปใหญ่

จึงเป็นการยากมากที่พุทธแท้ จะเกิดขึ้นในหมู่มนุษย์ และสังคมที่มีแต่ความสุข ความสะดวกสบาย และยิ่งถ้าอยู่ในสังคมที่มีความหลงใหล ฟุ้งเฟ้อ หลงอัตตา หลงศักดิ์ศรีชนชั้น ก็ยิ่งจะถูกหลอกจากคนที่ “สร้างภาพ” ว่าพวกตัวเท่านั้นที่เป็นคนดีกว่าใคร

...

น่าสงสารประเทศในอนาคตจริงๆ ครับ เพราะ......จะมีแต่พวกขยันอยากพัฒนา แต่ "โง่" และอวดฉลาด มากขึ้น

….

ช่วยกัน “ฉุกคิด” สักนิดว่า ถ้าอยากให้พระภิกษุสามเณรทำตามพระธรรมวินัยดีขึ้น จะมีทางอื่นที่ดีกว่า การทำลายล้าง และการใส่ร้ายป้ายสีแบบทุกวันนี้ไหมครับ


หมายเลขบันทึก: 602041เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2016 10:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2016 07:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท