เห็น (ตัวเลข) เหมือนกัน แต่ตีความต่างกัน (3) - รู้เท่าทันย่อมไม่ตกเป็นเหยื่อ


การตีความที่แตกต่าง บนข้อมูลตัวเดียวกัน เป็นธรรมชาติ ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การยืนยันการตีความของตัวเอง เป็นสิ่งที่ผู้มีปัญญาและใฝ่เรียนรู้ไม่พึงกระทำ

การตีความที่แตกต่างมี 2 แบบ

แบบแรกเกิดจากการมีความเชื่อ ความคาดหวัง และค่านิยมที่แตกต่างกัน

พ่อแม่ที่เห็นคะแนนสอบของลูกๆ มักตีความต่างกับลูก

พ่อแม่บางคน อยากเห็นคะแนนสูงๆ เมื่อเห็นคะแนนต่ำก็ไม่พอใจ

แต่ลูกๆอาจไม่ให้ความสำคัญกับคะแนนสูงๆ เพราะเห็นเพื่อนที่ได้คะแนนสูงก็ไม่เห็นมีอะไรดีกว่าตัวเอง (อาจด้วยเข้าข้างตัวเอง หรืออาจเป็นเรื่องจริงตามประสาคนคะแนนดี ไม่ค่อยช่วยคนอื่น)

แถมมีตัวอย่างของคนที่ไม่ได้คะแนนสูงแต่ประสบความสำเร็จในชีวิตให้เห็นเป็นระยะๆ (คงไม่ต้อยกตัวอย่าง เพราะหลายคนน่าจะจำได้ดี)

พ่อแม่บางคนอยากเห็นแค่คะแนนดีขึ้นกว่าเดิม แม้ตัวเลขจะไม่สูง ก็พอใจ แต่ลูกๆ ก็อาจจะไม่พอใจ เพราะมีการกดันแข่งขันกันในหมู่เพื่อนๆ หรือแม้กระทั่งแรงกดดันจากคุณครู

เวลาเห็นตัวเลขค่าใช้จ่ายเพื่อสุขภาพที่จ่ายโดยรัฐอยู่ที่ 4% GDP บางประเทศก็ตกใจ บางประเทศก็เฉยๆ บางประเทศอาจแอบดีใจแทนประเทศที่ทำได้แบบนั้น เมื่อเอามาเทียบกับประเทศตัวเอง โดยเฉพาะเมื่อเอาผลลัพธ์ที่ได้มามองคู่กัน

หลายประเทศ ประชาชนอยากให้รัฐบาลเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อสุขภาพ เช่นที่อินเดีย มีข้อเสนอให้เพิ่มขึ้นมาเป็น 2% แต่รัฐบาลคิดว่ามากไป

ถ้าพบว่าตัวเลขต่าใช้จ่ายยังอยู่ที่ 1% GDP รัฐบาลตีความว่าดีแล้ว แต่ประชาชนที่อยากให้ลงทุนเพิ่มย่อมตีความว่าไม่ดี

ความเชื่อความคิด และมาตรฐานที่แตกต่างกัน นำไปสู่การตีความ หรือให้ความหมาย ที่แตกต่างกัน

อาจเป็นเรื่องธรรมดาที่เข้าใจได้ และอาจหาข้อสรุปร่วมได้ไม่ยาก

การตีความที่ต่างกัน แบบที่สอง เป็นการตีความ เลยจากข้อเท็จจริงที่นำเสนอ อาจเพราะไม่รู้ตัวว่ากำลังใช้ข้อมูลเกินความจริง หรืออาจมีเป้าหมายบางอย่างที่อยู่เบื้องหลัง

กลับมาที่ตัวอย่างเรื่อง คะแนนสอบลูก การตีความแบบที่สอง ก็คือการที่ พ่อแม่ที่เห็นว่าน้อย ไม่ได้ตีความแค่ว่า คะแนนไม่น่าพอใจ แต่ตีความไปใหญ่โตว่า ลูกไม่รับผิดชอบ ลูกโง่ หรือไม่ก็ขี้เกียจ ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

แบบนี้ เกิดขึ้นบ่อยมาก และมักมาจากความหลงผิด แต่ก็อาจเกิดจากการมีธง หรืออคติ (เป็นไปได้ว่า พ่อแม่บางคนอาจมีอคติกับลูกโดยไม่รู้ตัว)

เมื่อเห็นตัวเลขค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของรัฐอยู่ที่ 4% บางคนอาจจะบอกว่า ถ้าปล่อยไปแบบนี้จะทำให้บ้านเมืองล่มจม ซึ่งนับเป็นการตีความเกินจากที่ข้อมูลบอกเล่า

อาจด้วยความเป็นห่วง ก็พูดให้เกินเลย เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนช่วยกันระมัดระวัง

หรืออาจด้วยมีเป้าว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ต้องเป็นความรับผิดชอบส่วนตัว ไม่ใช่ของรัฐ เมื่อเห็นตัวเลขที่สูงขึ้น ก็รีบใช้เป็นโอกาสตีความว่า จะนำไปสู่ภาระ จนรับไม่ไหว

ไม่ว่าการตีความที่แตกต่างจะมาจากเหตุผลใด สิ่งที่ควรเป็นคือการฟังการตีความที่แตกต่าง และหาจุดร่วมที่จะทำให้เกิดการตัดสินใจที่ดีเกิดขึ้น

ไม่ใช่การยืนยัน การตีความของตัวเองว่าถูกต้องสูงสุด คนที่ตีความต่าง เป็นคนไม่มีความรู้ ไม่หวังดี

การตีความที่แตกต่าง ควรนำไปสู่การหาข้อสรุปที่เกิดประโยชน์มากกว่า การตีความที่ไม่มีความแตกต่าง

แต่น่าเสียดายที่การตีความแตกต่างมักนำไปสู่ผลสองอย่างที่ไม่เกิดประโยชน์ (และยังอาจเกิดโทษ)

ผลข้อแรกคือ ความแตกแยก อย่างที่เขียนไว้ครั้งที่แล้ว https://www.gotoknow.org/dashboard/home#/posts/600...

ผลข้อที่สอง คือพลาดโอกาสที่จะเกิดการตัดสินใจอย่างรอบคอบ เมื่อต้องเผชิญกับเรื่องยากและซับซ้อน เพราะเกิดการแย่งชิงเป็นฝ่ายถูก สร้างแรงกดดันต่อผู้มีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจ (ไม่นับกรณีที่ใช้วิธีให้ผลประโยชน์ตอบแทน เพื่อให้ตัดสินใจตามแบบที่ฝ่ายตนต้องการ)

สำหรับนักวิชาการที่ทำงานส่งเสริมการสร้างและใช้ความรู้ประกอบการตัดสินใจ ก็ต้องระมัดระวัง

และอาจต้องเตรียมข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาประกอบการตีความที่อาจมีการเอาข้อมูลข้อเท็จจริง หรือวิธีคิด ที่ไม่มีในผลการวิจัย มาประกอบการตีความ

ไม่อาจยึดอยู่กับการตีความเบื้องต้นที่ตนได้สรุปไว้

การตีความที่แตกต่าง บนข้อมูลตัวเดียวกัน เป็นธรรมชาติ ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

การยืนยันการตีความของตัวเอง เป็นสิ่งที่ผู้มีปัญญาและใฝ่เรียนรู้ไม่พึงกระทำ

การเพิ่มน้ำหนักการตีความของตัวเอง ด้วยการทำให้การตีความที่แตกต่างกลายเป็น ฝ่ายผิด เป็นสิ่งที่ควรกำจัดให้หมดไป

การพยายามเข้าใจเหตุผลที่ทำให้เกิดการตีความที่แตกต่างเป็นวิธีการที่จะช่วยให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่นำเสนอได้

ที่อาจจะยากสุด และเกิดโทษแก่ส่วนรวมอย่างไม่ต้องสงสัย แถมเป็นความจริงในหลายกรณี คงเป็นการตีความที่แตกต่างโดยตั้งใจให้หาข้อสรุปไม่ได้ หรือมีเป้าหมายว่า ต้องตีความอย่างที่ตนเองต้องการเท่านั้น คนอื่นจะว่ายังไง ไม่สน ไม่อยากฟัง เพราะเป็นคนที่ไม่หวังดี ไม่รู้เรื่อง

ภายใต้ธรรมชาติของการตีความที่แตกต่าง เราต้องช่วยกันสร้างวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมที่ไม่นำไปสู่การผูกขาดความถูกต้อง

หมายเลขบันทึก: 600805เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2016 02:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2016 02:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท