Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

จากกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง มาสู่กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล


ในยุคนี้ การแทรกแซงของรัฐในทางเศรษฐกิจทำให้รัฐเข้าเกี่ยวข้องกับเอกชนมากขึ้น ความร่วมมือระหว่างรัฐในทางเศรษฐกิจจึงนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างรัฐในการแทรกแซงกิจการทางเศรษฐกิจของเอกชน กฎหมายระหว่างประเทศที่เกิดจากความสัมพันธ์นี้ของรัฐจึงเป็นกฎเกณฑ์ที่มุ่งบังคับต่อเอกชน และเชื่อมโยงกับกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลมากขึ้น จนบางครั้งแยกได้ลำบากระหว่างกฎหมายระหว่างประเทศทั้งสองแผนก จนกล่าวกันว่า เส้นแบ่งระหว่างกฎหมายระหว่างประเทศทั้งสองแผนกนี้จางหายไปหมดแล้ว

          กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง ก็คือกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายทั้งปวงที่ใช้บังคับแก่บุคคลในสังคมระหว่างประเทศนั่นเอง กล่าวคือ รัฐ องค์การระหว่างประเทศ หรือปัจเจกชน (David Ruzié, Droit international public, Paris, Dalloz, 1982, p.1.)

          กฎเกณฑ์แห่งกฎหมายนี้จึงเป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กฎเกณฑ์นี้เป็นกฎเกณฑ์อาจเพื่อกำหนดพฤติกรรมหนึ่ง (normes prescriptives) หรือห้ามพฤติกรรมหนึ่ง (normes prohibitives) หรืออนุญาตให้มีพฤติกรรมหนึ่ง (normes permissives) กฎหมายระหว่างประเทศนี้ จึงเป็นกฎหมายระหว่างประเทศโดยแท้เป็นกฎเกณฑ์ที่จัดระบบสังคมอย่างไม่ต้องสงสัยและเป็นกฎเกณฑ์ที่ทำหน้าที่ขจัดสภาพอนาธิปไตยในประชาคมระหว่างประเทศ และเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของประชาคมระหว่างรัฐ          

            กฎหมายระหว่างประเทศจึงไม่ใช่สิ่งเดียวกับอัธยาศัยไมตรีระหว่างประเทศหรือศีลธรรมระหว่างประเทศ หรือหลักกฎหมายธรรมชาติ          

              กฎหมายระหว่างประเทศเป็นกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายโดยแท้ แต่กฎหมายระหว่างประเทศมีแนวโน้มที่หลากหลาย กล่าวคือ กฎเกณฑ์แห่งกฎหมายนี้อาจจะมีลักษณะเป็นกฎหมายที่ใช้โดยศาล กล่าวคือ มีแบบพิธีทางกฎหมายที่เคร่งครัด หรืออาจจะเป็นกฎหมายที่ใช้โดยองค์กรทางการเมือง กล่าวคือ ไม่มีแบบพิธีทางกฎหมายที่เคร่งครัดนัก จึงยืดหยุ่นมากกว่า          

                ในอดีต กฎหมายระหว่างประเทศมีข้อกำหนดแต่ในเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการทูต ความสัมพันธ์ทางการค้า และการสงคราม แต่ในยุคปัจจุบัน กฎหมายระหว่างประเทศให้ความสำคัญแก่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในทุกแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ ทางการคลัง ทางการพัฒนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี          

            ในอดีต กฏหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองนี้ถูกเรียกว่า "กฎหมายนานาชาติ" (ที่เรียกว่า "Law of Nations" ในภาษาอังกฤษ หรือ "Droit des gens" ในภาษาฝรั่งเศส)          

               ในยุคนี้ การแทรกแซงของรัฐในทางเศรษฐกิจทำให้รัฐเข้าเกี่ยวข้องกับเอกชนมากขึ้น ความร่วมมือระหว่างรัฐในทางเศรษฐกิจจึงนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างรัฐในการแทรกแซงกิจการทางเศรษฐกิจของเอกชน กฎหมายระหว่างประเทศที่เกิดจากความสัมพันธ์นี้ของรัฐจึงเป็นกฎเกณฑ์ที่มุ่งบังคับต่อเอกชน และเชื่อมโยงกับกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลมากขึ้น จนบางครั้งแยกได้ลำบากระหว่างกฎหมายระหว่างประเทศทั้งสองแผนก จนกล่าวกันว่า เส้นแบ่งระหว่างกฎหมายระหว่างประเทศทั้งสองแผนกนี้จางหายไปหมดแล้ว

-------------------------------------------------------------------------

จากกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง มาสู่กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

วันพุธที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙

-------------------------------------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 60073เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2006 22:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ช่วยแสดงความคิดเห็นด้วยค่ะ ถ้าองค์การประเทศ เข้าช่วยเหลือพันธมิตร โดยอ้างหลักมนุษยชน ถือว่าเป็นการแทรกแซงโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในความคิด Archanwell

ก็คงได้ค่ะ ถ้าพันธมิตรถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

อยากทราบว่าตามกฎหมายแล้วการถ้อยทีถ้อยปะติบัติคืออะไรค่ะ

ใช้อย่างไร

ใช้ตอนไหน

ใช้เพราะเหตุผลใด

คืออะไร ?  คำว่า "การถ้อยทีถ้อยปะติบัต" เป็นศัพท์สมัยเก่าที่แปลมาจากภาษาตะวันตก เป็นภาษาทางนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ น่าจะมาจากคำในภาษาอังกฤษว่า reciprocity ถ้าแปลแบบสมัยใหม่ ก็คือ "หลักต่างตอบแทน" ขอให้สังเกตว่า คำว่า "ปะติบัติ" ก็เป็นการสะกดคำแบบเก่า ในปัจจุบันใช้คำว่า "ปฏิบัติ"

ใช้อย่างไร ? ก็ตอบว่า ใช้ได้ทั้งที่มีความตกลงระหว่างกัน และไม่มีความตกลงระหว่างกัน ซึ่งหลักนี้ใช้มากในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐอีกด้วย มิใช่แต่เพียงความสัมพันธ์ระหว่างเอกชน

ใช้ตอนไหน ? ก็ใช้ได้ทุกตอนที่เรามองเห็นว่า ฝ่ายตรงข้ามอาจมีสถานการณ์อันเป็นประโยชน์ต่อกันได้ในอนาคต การเจรจาให้มีการกระทำเพื่อผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างกันก็ใช้ได้

ใช้เพราะเหตุผลใด ? ก็ตอบได้ว่า ถ้าเราอยากมีความสัมพันธ์อันดีกับฝ่ายที่มีผลประโยชน์ไม่ต้องตรงกับเราทุกอย่าง การถ้อยทีถ้อยปฏิบัติ ก็จะทำให้การอยู่ร่วมกันเป็นไปได้ และความสัมพันธ์ระหว่างกันอาจจะพัฒนาอย่างแนบแน่นมากขึ้น

อาทิ แม้มีผู้ร้ายที่หนีคดีจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย บ่อยครั้งที่รัฐบาลไทยก็ส่งผู้ร้ายนั้นคืนแก่ประเทศต้นทาง จะเห็นว่า ในวินาทีที่มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ประเทศไทยอาจไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องอย่างใดกับการกระทำครั้งนี้ แต่ในอนาคต ก็อาจมีผู้ร้ายที่หนีจากประเทศไทย ไปยังประเทศดังกล่าวก็ได้ ซึ่งในวินาทีข้างหน้านั้น ประเทศดังกล่าวก็จะต้องคำนึงถึงหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ของประเทศไทย

ในทางปฏิบัติการได้สัญชาติ จะทำได้ง่ายหรือไม่

ถ้าเป็นหญิงต่างด้าวแต่แต่งงานอยู่กินกับชายไทยเป็นเวลาสิบกว่าปี จนมีทายาทถึงสามคนอายุตั้งแต่สิบห้าปีไล่ลงมาตามสาย

จะขอสัญชาติไทยต้องทำเช่นไร ครับ ขอบพระคุณอย่างยิ่ง

ตอบในประการแรก ในข้อเท็จจริง การได้สัญชาติโดยการสมรส ไม่ง่าย และช้ามากค่ะ

ฟังข้อเท็จจริงว่า "เป็นหญิงต่างด้าวแต่แต่งงานอยู่กินกับชายไทยเป็นเวลาสิบกว่าปี จนมีทายาทถึงสามคนอายุตั้งแต่สิบห้าปีไล่ลงมาตามสาย" ก็ดูเหมือนมีจุดเกาะเกี่ยวหนักแน่นกับประเทศไทยมากค่ะ

โปรดดูมาตรา ๙ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๕

พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ค่ะ ไม่ใช่ ๒๕๐๕

เมื่อกี้ พิมพ์ผิด

ขอให้อาจารย์ช่วยคิดหัวข้อที่น่าศึกษา เกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองให้หน่อยได้ไหมครับ

พอดีอาจารย์เขาให้ทำรายงานแต่ยังนึกหัวข้อไม่ออกเลยครับ ขอหลายหัวข้อหน่อยนะครับ กลัวซ้ำกับของคนอื่น

ขอบคุณล่วงหน้าครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท