ความสัมพันธ์ระหว่างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)กับตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (MAI)


วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นธุรกิจที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะมีความเหมาะสมและมีความคล่องตัวในการปรับสภาพให้เข้ากับสถานการณ์ทั่วไปของประเทศ อีกทั้งยังเป็นวิสาหกิจที่ใช้เงินทุนในจำนวนที่ต่ำกว่าวิสาหกิจขนาดใหญ่ และยังช่วยรองรับแรงงานจากภาคเกษตรกรรมเมื่อหมดฤดูกาลเพาะปลูก ช่วยกระจายการกระจุกตัวของโรงงาน กิจการวิสาหกิจในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไปสู่ภูมิภาค ก่อให้เกิดการพัฒนาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งในส่วนภูมิภาคและในประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

ในปี พ.ศ. 2553 SMEs มีการจ้างงานสูงถึงร้อยละ 77.9 และมีผลผลิตมวลรวมร้อยละ 37.1 ของการจ้างงานและผลผลิตมวลรวมทั้งประเทศ และยังมีความสำคัญในด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยมีสัดส่วนการส่งออกและนำเข้า คิดเป็นร้อยละ 28.4 และ 30.4 ของมูลค่าการส่งออกและนำเข้า มีส่วนช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตขึ้นได้ การที่ SMEs จะสามารถพัฒนาขึ้นได้ต้องอาศัยปัจจัยจากความแตกต่างของผลิตภัณฑ์หรือบริการ ความต้องการของตลาด ความสามารถในการบริหาร และที่สำคัญมากที่สุดก็คือ ”ทุน” ที่ทำให้ธุรกิจสามารถพัฒนาสินค้าหรือบริการ เพื่อสร้างรายได้และสร้างผลกำไรในอนาคต SMEs จึงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและมีแนวโน้มที่บริษัทเหล่านี้จะเพิ่มจำนวนขึ้น ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (MAI) ควรให้ความช่วยเหลือ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน

เนื่องจากธุรกิจ SMEsที่ประสงค์จะเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนใน MAI เพื่อระดมทุนสำหรับประกอบกิจการนั้น จำเป็นต้องมีคุณสมบัติด้านศักยภาพของบริษัท เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน โดยต้องเป็นบริษัทที่มีประวัติการดำเนินงานมาพอสมควรและมีผลกำไรชัดเจน พร้อมทั้งกระจายการถือหุ้นให้สาธารณชน มีบรรษัทภิบาลที่ดี การบริหารจัดการโปร่งใส มาตรฐานที่เชื่อถือและตรวจสอบได้ ไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ภายในบริษัท มีฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานหรือผลประกอบการที่ดี ภายใต้การจัดการของผู้บริหารส่วนใหญ่กลุ่มเดียวกันอย่างน้อย 1 ปี ผลประกอบการด้านอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ ได้แก่ ค่า ROA ค่า ROE และอัตรากำไรสุทธิ

ส่วนผลประกอบการด้านบัญชีทางการเงินที่สำคัญ คือ สินทรัพย์รวม หนี้สินรวม ส่วนของผู้ถือหุ้น มูลค่าหุ้นที่เรียกชำระแล้ว รายได้รวม กำไรสุทธิ และกำไรต่อหุ้น ผู้รับผิดชอบการบริหารงานของบริษัท คือ ผู้บริหาร ผู้จัดการหรือบุคคล ซึ่งรับผิดชอบ โดยพฤติการณ์ หรือได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อกำหนดนโยบาย วิสัยทัศน์ กลยุทธ์ เป้าหมาย และทิศทางการดำเนินงาน ติดตาม ดูแล ให้การบริหารงานเป็นไปตามนโยบายที่กำหนด

หลังจากที่บริษัทหรือธุรกิจ SMEs สามารถจดทะเบียนและระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (MAI)ได้แล้ว ยังต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์การควบคุมของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ-ตลาดหลักทรัพย์ หากบริษัทฯ มีฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามที่กำหนด เช่น ส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่าศูนย์ ทรัพย์สินลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เป็นต้น บริษัทดังกล่าวอาจถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์ได้ บางครั้ง บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประสงค์จะขอเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์โดยสมัครใจ โดยมีสาเหตุมาจาก “บริษัทมีผลประกอบการดี มีสภาพคล่องทางการเงินที่เพียงพอ และไม่มีภาระหนี้สินเงินกู้ระยะยาว มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเพียงพอสำหรับการลงทุนและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนได้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องระดมทุนจากประชาชนผ่านตลาดหลักทรัพย์และสามารถลดภาระค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่าย รวมทั้งไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลทางธุรกิจและฐานะทางการเงินซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน”

หมายเลขบันทึก: 600705เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2016 17:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2016 17:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท