KM เพื่อเกษตรธรรมชาติและอาหารปลอดสารพิษ จ. พิจิตร (๒)


KM เพื่อเกษตรธรรมชาติและอาหารปลอดสารพิษ จ. พิจิตร (๒)


2.  ลำดับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น ในการทำงานของชมรมเกษตรธรรมชาติฯ  โดยมีลำดับเหตุการณ์ที่สำคัญของกระบวนการสื่อสารการเกษตรไม่ใช้สารเคมี คือ

ระยะเวลา

(ปีพุทธศักราช) 

เหตุการณ์สำคัญ 
 2543  (1) ได้รับการสนับสนุน จากสถานทูตออสเตรเลีย ในเรื่องการทำเกษตร 
       ปลอดสารพิษครบวงจร
   (2) จัดอบรมเกษตรกรทำในพื้นที่นำร่อง 7 หมู่บ้าน
   (3) ประสานการซื้อกากน้ำตาล ให้เกษตรกรในพื้นที่นำร่อง
   (4) บุคคลากรที่มีบทบาทการทำงานเกษตรปลอดสารพิษร่วมงานเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสาน
 2544  (5) ได้รับการสนับสนุน โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรอย่างยั่งยืน จากสถานทูตออสเตรเลีย
   (6) ร่างหลักสูตร วปอ.ภาคประชาชน ที่ได้แนวคิดจากการร่วมงานเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสาน
   (7) เปิดสอน วปอ.ภาคประชาชน รุ่นที่ 1
   (8) ขยายพื้นทีเกษตรปลอดสารพิษ จำนวน 5 อำเภอ ในพิจิตร
   (9) เริ่มแลกเปลี่ยนเกษตรกรนำร่องในแต่ละพื้นที่หมุนเวียนออกรายการวิทยุ
 2545  (10) เปิดสอน วปอ.ภาคประชาชน รุ่นที่ 2 , 3,4,5
   (11) ขยายพื้นที่นำร่องเกษตรปลอดสารพิษออกไปอีกจำนวน 10  อำเภอ     
   (12) จัดตั้ง ศูนย์กระจายกากน้ำตาล เพื่อเป็นแหล่งปัจจัยสนับสนุนการ
        ผลิตเกษตรปลอดสารพิษ ได้รับสนันสนุนจาก พอช
   (13) เริ่มก่อตั้งกลุ่มระดับอำเภอเพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนเกษตรปลอด
        สารพิษ ดูงานการคัดเลือกเมล็ดพันธ์ข้าว จังหวัดสุพรรณบุรี
 2546  (14) ขยายพื้นที่การทำเกษตรปลอดสารพิษ นำร่องครบทุกอำเภอใน 
        จังหวัดพิจิตร
   (15) ขยายการก่อตั้งกลุ่มระดับอำเภอ ในการส่งเสริมการทำเกษตร 
        ปลอดสารพิษ และเป็นเจ้าของโครงการ
   (16) เปิดสอน วปอ.ภาคประชาชน รุ่น ที่ 6,7,8,9

    
ตารางแสดงเหตุการณ์สำคัญในปี 2543 – 2546


3. ตัวชี้วัดคุณภาพชีวิตเกษตรกร  ใช้ประเมินผลการทำงานในแต่ละช่วง ในการดำเนินงานของ
ชมรมเกษตรธรรมชาติและอาหารปลอดสารพิษ โดยมีรายละเอียด คือ  

หัวข้อ  เกณฑ์  ตัวชี้วัด 
 เศรษฐกิจ  พออยู่พอกิน
มีอาหารหลากหลายในพื้นที่ มีรายได้ต่อเนื่อง มีเงินออม มีที่ดินเป็นของตนเอง ขยัน อดทน อดออม มีกลุ่มออมทรัพย์  มีร้านค้าชุมชน  มีกิจกรรมหารายได้เสริม ทำเกษตรธรรมชาติลดต้นทุน  มีการประกันราคาพืชผล
  สังคม  ครอบครัวอบอุ่น    เข้าใจกัน ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ใช้เหตุผลซึ่งกันและกัน  ลดเลิกอบายมุข สุราการพนัน ปลอดยาเสพติด มีวินัย  คนแก่ไม่ถูกทอดทิ้ง
  ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งตนเอง เมื่อเจ็บไข้ ตาย ภัยพิบัติ มีการรวมกลุ่มช่วยเหลือกัน พี่งพากันเอง  มีระบบสวัสดิการในสังคม ไม่เบียดเบียด ไม่อิจฉา  ประชุมอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ไม่มีการพนัน ปลอดโจรผู้ร้าย 
   รักษาวัฒนธรรม  อนุรักษ์ประเพณีเก่าแก่ เช่น ประเพณีสงกรานต์  แต่งงาน บวช ศพ อนุรักษ์ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย  ส่งเสริมการละเล่นพื้นบ้าน  
 จิตวิญญาณ   พอใจในสิ่งที่มีอยู่ มีธรรมะมีคุณธรรม ใช้วัตถุสิ่งของที่มีอยู่ในบ้าน สอดคล้องกับภาวะการเงินในครอบครัว
 สิ่งแวดล้อม   น้ำสะอาด เพียงพอ ทำเกษตรปลอดสารพิษ
ต้นไม้เพิ่มขึ้น
สิ่งแวดล้อมสะอาด
พอเพียง ในการทำการเกษตรการดื่มและการใช้ มีกิจกรรมการอนุรักษ์แม่น้ำ  มีสาธารณูปโภคเพียงพอ มีไส้เดือน ปู ปลา หอย อาศัยอยู่ในพื้นดิน มีปริมาณต้นไม้ทั้งไม้ยืนต้นและผลไม้เพิ่มขึ้นและมีความหลากหลาย มีการจัดการขยะ 
 
 สุขภาพ  ไม่เจ็บป่วย  ปลอดเอดส์ ปลอดยาเสพติด ส่งเสริมการใช้สมุนไพร ส่งเสริมให้เกิดกลุ่มปฎิบัติธรรม
การเมือง โปร่งใส ประชาชนมีส่วนร่วม ผู้นำไม่โกงกินแะเข้าถึงประชาชน มีประชาชนเข้ามาตรวจสอบการทำงาน

                 
ตารางแสดงตัวชี้วัดการทำงานพัฒนาคุณภาพเกษตรกรชมรมเกษตรธรรมชาติและอาหารปลอดสารพิษ


4.  หลักสูตร วิทยากรกระบวนการการเปลี่ยนแปลงสู่การพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง
(วปอ.ภาคประชาชน)    เป็นหลักสูตร ที่ค้นหาและพัฒนาเกษตรกร

 (1)  ที่มาของแนวคิด  เดือน พฤศจิกายน 2543 มูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร ได้ประสานและพาเกษตรกร ที่เป็นแกนนำ ในโครงการเกษตรปลอดสารพิษ ครบวงจร  จาก 7 หมู่บ้าน และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรจังหวัดพิจิตร ทั้งหมดประมาณ 25 คน เดินทางไปร่วมงาน สรุปงาน  “ เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสานครั้งที่ 1    ” สาเหตุที่เลือกสถานที่ดูงานดังกล่าว เกิดจากผลงานในเรื่องเกษตรยั่งยืน และกระบวนการทำงานในลักษณะพหุภาคี ที่โดดเด่นในระดับประเทศ  งานดังกล่าวจัดขึ้นที่ศูนย์ค้ำคูณ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น โดย มูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตดี จังหวัดขอนแก่นเป็นผู้จัดงาน  เนื้อหาและกระบวนการในการจัดงานจะเป็นการบรรยายโดยมีวิทยากรคือ คุณโสภณ สุภาพงษ์ พ่อคำเดื่อง ภาษี พ่อมหาอยู่ สุนทรธัย และปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสานอีกประมาณ 5 คน เนื้อหาเน้น แนวคิดในเรื่องการพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง  วิธีการคือการลดรายจ่ายหรือที่เรียกว่าการอุดรูรั่ว ทำเกษตรแบบพออยู่พอกิน  การพึ่งพากันเอง โดยผ่านการสร้างกลุ่มเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และช่วยเหลือกันในด้านอื่นๆ ดังตัวอย่างคำพูดของคุณโสภณ สุภาพงศ์ที่ว่า

สิ่งแรกเลยผมคิดว่าถ้าเรามีปัญญาเห็นทุกข์เป็นเรื่องสำคัญ สิ่งที่เราเดิน ไปมันเป็นทุกข์ใช่หรือเปล่า ชนบทเมื่อก่อนมันไม่จน แต่มันถูกกระทำให้จน เราพัฒนาตั้งแต่ชาวบ้านมีที่ทำกินจนตอนนี้เราไม่มีที่ทำกิน  เราพัฒนาตั้งแต่เรา ไม่มีหนี้ จนบัดหนี้มีหนี้กันทั่วประเทศ การมีปัญญาเห็นทุกข์ผมว่าเป็นจุดเริ่ม ต้นของความเป็นไท ซึ่งจะพาไปสู่การเห็นสาเหตุแห่งทุกข์  เห็นโครงสร้างที่ทำให้เราเป็นทุกข์  ผมคิดว่าความยากจนที่เราพูดถึงมันไม่ได้จนเฉพาะสิ่งของ แต่ ถ้าจนทางความคิด คิดพึ่งคนอื่น นั่นจนทันที  คิดว่าตัวเองไม่รวยก็จนทันที เรารวยเมื่อไร ความรวยก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น เมื่อเราตื่นขึ้นมาเรารู้สึกว่าสิ่งที่เราอยากน้อยกว่าสิ่งที่เรามี  เมื่อนั้นเราก็รวย ตื่นขึ้นมาทุกเช้าเราพบว่าสิ่งที่เราอยากมันมากกว่าสิ่งที่เรามี เราก็จนเมื่อนั้น จนไปถึงวันตาย เพราะยังอยากมากกว่าสิ่งที่เรามี แต่เมื่อไหร่ที่พึ่งตนเองได้เมื่อนั้นรวย รวยไปจนวันตาย แต่ความยากจนมันสัมพันธ์กับวิธีคิดและจิตใจ 

จากการเข้าร่วมประชุมดังกล่าว ผลที่เกิดขึ้น ผู้เข้าร่วมมีความเห็นว่า ตนเองชัดเจน  ในเรื่องแนวคิดการพึ่งตนเองมากขึ้น จากเดิมที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง เทคนิคในการ ลด เลิกการใช้สารเคมี และไม่ได้พูดคุยในเรื่องแนวคิด พร้อมกันนั้น ผู้เข้าร่วมให้ความเห็นว่าตนเองเกิดกำลังใจ และมั่นใจในแนวทางที่กำลังจะเดินไป มากขึ้น ส่วนบุคลากรมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร สำนักงานเกษตรและสำนักงานสาธารณสุข นั้น ได้รับความรู้ในเรื่องกระบวนการทำงาน ของการทำแนวคิดการพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง ทั้งในเรื่องการประชุมอย่างสม่ำเสมอ การจัดทำหลักสูตรในการพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง ที่เรียกว่า “ วิทยากรกระบวนการการเปลี่ยนแปลงสู่การพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง หรือ วปอ.ภาคประชาชน ” 
(2) การคัดเลือกปราชญ์ชาวบ้านทำหน้าที่สอนและการร่างหลักสูตร ภายหลังจากการกลับ
มาจากภาคอีสาน คณะทำงานได้ร่วมกันค้นหาปราชญ์ชาวบ้าน ในจังหวัดพิจิตรเพิ่มเติม ได้ประมาณ 40 ท่าน  จึงทำการเชิญมาร่วมสัมมนา และร่างหลักสูตรการเรียนรู้ในจังหวัดพิจิตรขึ้น     ในวันที่ 16 – 19 สิงหาคม 2544 
• การค้นหารายชื่อผู้เข้าร่วมร่างหลักสูตร เริ่มต้นจากการแสวงหาผู้
เข้าร่วม โดยใช้รายชื่อเกษตรกรที่ทำเกษตรปลอดสารพิษ ตั้งแต่การทำโครงการสวัสดิการเร่งด่วน จนมาถึงการประชุมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร ตรวจดูรายชื่อและพิจารณาคุณสมบัติด้านการเป็นผู้มีบทบาทเด่นในเรื่องเกษตรปลอดสารพิษ กระจายไปในแต่ละอำเภอ  และการค้นหาอีกวิธีหนึ่ง คือ การค้นหาโดยการใช้ใบสมัครเกษตรกรที่คิดว่าตนเองทำเกษตรปลอดสารพิษแล้วประสบความสำเร็จ โดยแจกใบสมัครไปตามเครือข่ายหมออนามัย และประกาศผ่านเวทีสัมมนาหรืออบรมที่มีคุณสุรเดช เป็นวิทยากร
• เนื้อหาและกระบวนการจัดทำหลักสูตร ใช้สถานที่วัดดาน โดยมีเนื้อหา
และกระบวนการคือ การดึงบทเรียนชีวิตของผู้เข้าร่วมแต่ละคนในการต่อสู้ชีวิต และค้นหาหลักธรรมที่ใช้ในการดำเนินชีวิต การตั้งความฝันร่วมกัน และกิจกรรมที่จะทำต่อไป  และรับฟังการบรรยายธรรมะจากพระสงฆ์  ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ได้มีตัวแทนจากตำบล ท้ายน้ำเข้ามาร่วมจำนวน 4 คน
• การคัดเลือกปราชญ์ชาวบ้าน ใช้หลักเกณฑ์ การคัดเลือกคือ เกษตรกรที่
มีคุณสมบัติครู   ฟังความคิดเห็นของคนอื่น         สามารถถ่ายทอดได้ (สอน อธิบาย ชี้แนะ ทำให้ดู )   รู้จริง จิตในสาธารณะ รู้จักพอ รู้จักออม  สำเร็จในอาชีพ (ปลอดสารพิษ) มีธรรมมะ ซื่อสัตย์ สัจจะการทำการเกษตรที่พออยู่พอกิน สามารถพึ่งตนเองได้  ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย  ชอบช่วยเหลือผู้อื่น  คณะทำงานที่ทำหน้าที่ในการคัดเลือก  ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่มูลนิธิ นักวิชาการสำนักงานสาธารณสุขที่เข้ามาช่วยงานเกษตรปลอดสารพิษกับมูลนิธิ และแกนนำเกษตรกร การคัดเลือกใช้การลงไปดูพื้นที่จริง พดคุยแนวคิดกับผู้ที่มีคนเสนอมาเป็นปราชญ์ และคนในครอบครัวเขา เมื่อได้ตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ทุกคนเห็นชอบ จึงทำการยกย่องเป็น“ ปราชญ์พิจิตร ” และทำหน้าที่สอนในหลักสูตร วปอ.ภาคประชาชน
  (3) แนวคิดและวัตถุประสงค์ของหลักสูตร แนวคิดของโรงเรียนคือ  โรงเรียนแห่งนี้สอนปัญญา การอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างไม่เบียดเบียน ให้รู้จักพอ ไม่โลภ ยึดหลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
วัตถุประสงค์
1) สร้างผู้นำการเปลี่ยนสู่การพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง
2) สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ผู้มีน้ำใจ
3) เป็นแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรปลอดสารพิษ
4) ส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาเทคโนโลยีพื้นบ้าน
5) ส่งเสริมการอนุรักษ์ ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
(4)  รูปแบบการสอนและเนื้อหาการสอน
 (5) คุณสมบัติและการค้นหานักเรียน
คุณสมบัติของนักเรียน คือ  ใฝ่รู้ สมัครใจ สมัครกาย และเป็นผู้นำ ไม่จำกัดวัย คุณวุฒิ เพศ
อายุ และอาชีพ  รู้ปัญหาตนเอง  สามารถถ่ายทอดต่อได้ มีจิตใจทำเพื่อสาธารณะ  มาเรียนเป็นกลุ่ม
 การรับสมัครและค้นหาผู้เรียน วปอ. ภาคประชาชน จะผลัดเปลี่ยนผู้มาเรียนโดยไม่ซ้ำหน้า
แกนนำเกษตรกรที่เคยผ่านการอบรม วปอ.ภาคประชาชน ผู้ประสานงานแต่ละอำเภอ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จะเป็นผู้ค้นหา ชักชวน คนที่สนใจเกษตรปลอดสารพิษมาเรียน ช่องทางที่ใช้ค้นหาส่วนใหญ่ผ่านเวทีประชุมที่แกนนำเป็นเจ้าภาพจัดเวทีส่งเสริมเกษตรปลอดสารพิษ หรือทำหน้าที่เป็นวิทยากรในการอบรม แกนนำจะมีเอกสารหลักสูตรไปให้กับผู้สนใจอบรม  ผลการหานักเรียน พบว่า ในระยะเริ่มต้นของการเรียน มีนักเรียนเข้ามาเรียนต่ำกว่าที่ตั้งเป้าหมายแต่ละรุ่นไว้มาก คือ มาประมาณ 20 คน จากที่ตั้งไว้จำนวน 50 คนต่อรุ่น ต่อมารุ่นที่สอง จึงมีการ เพิ่มจำนวนบุคลากรที่ค้นหานักเรียนในแต่ละพื้นที่มากขึ้น ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขแต่ละอำเภอช่วยหาผู้เรียน ในช่วงหลังใช้นักเรียนที่ผ่านหลักสูตร วปอ.ภาคประชาชน หาผู้เรียน การเลือกใช้ระยะเวลาที่คาดว่าแต่ละพื้นที่ว่างจากภารกิจการทำมาหากินมากที่สุด  ก็เป็นสิ่งจำเป็น ที่จะมีผลให้คนเข้าเรียนมากขึ้น ในรุ่นที่ 4 เป็นต้นมา ปัญหาการหาผู้มาเรียนมาเรียนจึงมีน้อยลง 
  (6) ผู้สอน เนื้อหาหลักและหลักสูตร   เนื้อหาการเรียนเป็นเรื่องแนวคิดการพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง ทั้งแนวคิดและการปฎิบัติ  มีการเรียนจำนวน 5 วัน 4 คืน แยกไปตามรายละเอียดเนื้อหาใน แต่ละเรื่อง คือ
• แนวคิดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ใช้วิทยากรจากมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร ใช้
การสอนผ่านกระบวนการทบทวนตนเองของผู้เข้าร่วม เช่น กิจกรรมการค้นหาทุกข์ ผ่านทฤษฎีต้นไม้ การสำรวจหนี้สิน เส้นทางนำมาซึ่งหนี้สิน และทบทวนชีวิตที่ผ่านมา ผ่านกิจกรรมกราฟชีวิต  และในช่วงสุดท้ายของการอบรมมีการวางแผนชีวิตและแผนกลุ่มเครือข่าย เพื่อดำเนินการต่อ ภายหลังเสร็จสิ้นการอบรม
• การทำสวนผสมผสาน ใช้วิทยากร 2 คน ที่เป็นปราชญ์ชาวบ้าน เรื่องสวน
ผสมผสาน โดยใช้แรงงานตนเองเป็นหลัก และการทำสวนผสมผสานขนาดเล็ก  โดยมีเนื้อหาการนำเสนอคือ ประวัติชีวิตการต่อสู้ที่ผ่านมา ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน หลักในการดำรงชีวิต และเทคนิคการทำการเกษตร
• สารทดแทนสารเคมี ใช้วิทยากร 2 คน เนื้อหาการทำสารทดแทนสารเคมี
ทั้งสารฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมี มีทั้งทฤษฎีและการลงมือปฎิบัติ โดยการแบ่งการผู้เข้าร่วมออกเป็นกลุ่มย่อย และมีวิทยากรในพื้นที่ที่ไปพักมาช่วยเป็นวิทยากรย่อยในแต่ละกลุ่ม
• การทำนา มีการลงพื้นที่ดูงาน ฟังบรรยายจากเจ้าของแปลงถึงวิธีการทำ
นา ปลอดสารพิษ มีการสาธิตและทดลองปฎิบัติการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อใช้ในการเพาะปลูก ใช้
วิทยากร 2 คน
• กระบวนการกลุ่มและเครือข่าย ผ่านการเรียนรู้ในการทำงานของปราชญ์
ชาวบ้านทุกคนที่ลงพื้นที่ไปศึกษาและเรียนรู้ในเรื่องกลุ่มเครือข่าย โดยผ่านการนำเสนอกรณีศึกษาเครือข่ายโพทะเลร่วมใจพัฒนา มีวิทยากรที่ให้ความรู้จำนวน 1 คน
(7) รูปแบบและวิธีการสอน ลักษณะการเรียน คือ เข้าไปเรียนรู้จากเกษตรกร
ต้นแบบที่พึ่งตนเองได้ มีการเรียนรู้ รับประทานอาหารและนอนพักในแปลงของเกษตรกรต้นแบบ มีบรรยากาศการเรียนรู้อย่างเป็นกันเอง มีการนำพิธีกรรมเข้ามาใช้ในการสร้างความสามัคคี เช่น การผูกข้อมือ การทำบุญตักบาตรร่วมกัน เน้นการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและการดึงศักยภาพเครือข่าย  วิทยากร คือ  ชาวบ้านที่เชี่ยวชาญในเรื่องที่รู้จริง  ซึ่งเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน  จากการสังเกต  ทดลองจนได้ความรู้จริงและสร้างเวทีเพื่อเผยแพร่และสร้างคุณค่าให้กับวิทยากรมีตัวอย่างจริงประกอบการเรียนรู้  ด้านรูปธรรมที่ชัดเจน รูปแบบและวิธีการสอน
ผู้เข้าอบรม  สามารถแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เดิมกับความรู้ใหม่สร้างความสนใจ
และท้าทายให้กลับไปทดลองในที่ของตนเอง  นอกจากนี้สร้างภาวะผู้นำโดยกิจกรรมเน้นการตัดสินใจกระบวนการบางอย่างด้วยตนเองเกิดความมั่นใจ วิทยากรกลางจากมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร  มีบทบาท กระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมและดูภาพรวมของการเรียนรู้พยายามเปิดเวทีที่การมีส่วนร่วมของผู้เข้าอบรม เนื้อหาการอบรมเน้นแนวคิด การ สร้างความรู้คู่วัฒนธรรมแทรกไปในวิถีชีวิตปรกติ การพึ่งตนเอง  การกินอยู่อย่างพอเพียง  ทำทุกอย่างด้วยตนเอง  เช่น  การล้างจาน
ประเด็นที่น่าสนใจในการอบรม วปอ. คือ การที่มีคนหลายวัย หลายอาชีพทั้ง
เกษตรกร , หมอโรงพยาบาลวังทรายพูน , ครู คนรุ่นใหม่  มาร่วมเป็นวิทยากรและเข้าร่วมอบรมใน ประเด็นที่สนใจร่วมกันคือเกษตรปลอดสารพิษ ทุกคนเชื่อมกันเป็นเครือข่ายเรียนรู้จากความสัมพันธ์ทั้งที่เป็นทางการ  เช่น  การแบ่งกลุ่มและไม่เป็นทางการ  การจับกลุ่มพูดคุยกันตามความสนใจ  นอกจากนี้วิทยากรก็มีการแลกเปลี่ยนปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับความรู้ที่ค้นพบ
การสร้างความสัมพันธ์โดยการสร้างสัญลักษณ์ความเป็นพี่น้องผ่านรุ่น  และการใช้
กระบวนการเชื่อมต่อ  เช่น  การพาน้องมาส่งและฝากฝัง  สิ่งเหล่านี้คือพลังทางวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ถูกหยิบมาใช้  แม้กระทั่งพิธีจุดเทียนอุดมการณ์  ผูกเสี่ยววิธีการเหล่านี้กลุ่มในแต่ละพื้นที่จะมีความสัมพันธ์กันมากขึ้น สังเกตได้จากการกลับไปเยี่ยมปราชญ์ชาวบ้าน หลายครั้งเมื่อกลับไปบ้านแล้ว     
       หลักสูตร
วันแรก 

10.00 - 10.30 พิธีเปิดโดยนายสมพงษ์  ธูปอ้น ปราชญ์ชาวบ้านจากตำบลทับหมัน อ.ตะพานหิน
10.30 - 12.00   ดูวีซีดีทุกข์ของเกษตรกรในปัจจุบันและระดมความคิดเห็นผู้เข้าร่วม
12.00 - 13.00 รับประทานอาหาร
13.00 - 14.00 ทฤษฎีต้นไม้แห่งความทุกข์ (วิเคราะห์ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค)
14.00 - 14.30  แนวโน้มในอนาคตถ้าชุมชนไม่ร่วมมือกัน  แนวโน้มในอนาคตถ้าชุมชนร่วมมือกัน
14.30-  16.00 ครอบครัวหมู่บ้านในฝัน(วาดภาพและนำเสนอ)
16.00-  17.00 ดูวิดีโอ  แนวทางความร่วมมือของกลุ่มต่างๆในการแก้ปัญหาวิกฤติของตนเอง
17.00– 18.00 รับประทานอาหาร
18.00 - 20.00      สายธารแห่งชีวิต (ทบทวนตนเอง)

วันที่สอง   
05.00 - 08.00 โยคะเพื่อชีวิต
08.00 - 09.00 รับประทานอาหาร
09.00 – 12.00 เดินทางและเรียนรู้ฐานลุงน้ำพอง  เปียดี  ม.8 ต.ทับคล้อ (การทำอยู่ทำกิน)
13.00 - 16.00 เรียนรู้ฐานคุณบำรุง วรรณชาติ(ธุรกิจชุมชนและการทำบัญชีรายรับจ่าย ต.ทับคล้อ อ.ทับคล้อ)
16.00 – 19.00  เรียนรู้การปรับปรุงเมล็ดพันธุ์พืช  บ้านนายแสน เขียวเทียน
19.00 – 21.00   เรียนรู้การทำไร่นาสวนผสมและการจัดการน้ำ นายสมพงษ์  ธูปอ้น  ต.ทับหมัน อ.ตะพานหิน

วันที่สาม
06.00-10.00 เรียนรู้ ฐานลุงสมพงษ์ ต่อ
10.00 – 12.00  เรียนรู้การทำสารหมักชีวภาพ โดยนายณรงค์   แฉล้มวงศ์
12.00 – 16.00  เรียนรู้ฐานนายจวน  ผลเกิด  เรียนการจัดการพื้นที่การเกษตรขนาดเล็ก (6 งาน )
16.00 – 20.00  เรียนรู้การทำกลุ่ม และเครือข่าย (เครือข่ายโพทะเลร่วมใจพัฒนา)  โดยนายสมบัติ  จันทร์เชื้อ  ต.โพธิ์ไทรงาม  กิ่ง อ.บึงนาราง

วันที่สี่
05.00-08.00 เรียนรู้การทำงานกลุ่มและเครือข่ายต่อ
08.00 – 10 .00  วางแผนชีวิตกลุ่มและเครือข่าย
11.00 – 12.00  เลี้ยงเพลพระร่วมกัน  
12.00 – 14.00  พิธีประกาศเจตนารมย์มอบประกาศนียบัตรและพิธีปิด

(8) การปรับกระบวนการวปอ.ภาคประชาชนในแต่ละรุ่น จากการดำเนินงานวปอ.ภาค
ประชาชน  ผู้มาเรียนได้ให้ข้อเสนอแนะในแต่ละรุ่นไว้ คณะทำงานชมรมฯได้นำมาพัฒนาหลักสูตร โดยมีรายละเอียดการปรับคือ
• รุ่นที่ 1 พบปัญหาการคัดเลือกนักเรียน ไม่ตรงตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้
ครั้งแรก และผู้ประสานงานบางคนไม่ได้แจ้งรายละเอียดการอบรมกับผู้เข้าร่วม ทำให้ไม่ได้เตรียมตัวมาสำหรับการอบรม 5 วัน  กระบวนการเรียนรู้ตลอดหลักสูตรยังไม่เชื่อมโยงเนื้อหาตั้งแต่วันแรกจนถึงวัสุดท้าย 
• รุ่นที่ 2 มีการปรับโดยการเพิ่มคู่มือการเรียนรู้และกำหนดการ วปอ.ภาค
ประชาชน ให้กับผู้ประสานงาน  นอนพักที่บ้านปราชญ์ชาวบ้านและเพื่อนบ้านในกลุ่ม
• รุ่นที่ 3 ประสานเจ้าหน้าที่รัฐในแต่ละพื้นที่มาช่วยเป็นวิทยากรกระบวน
การในแต่ละฐานการเรียนรู้ และสรุปข้อมูลในแต่ละฐาน จัดระบบการนำเสนอในแต่ละฐาน โดยมีเนื้อหาหลัก ประกอบด้วย ประวัติการต่อสู้ก่อนจะประสบความสำเร็จเช่นปัจจุบัน หลักการดำเนินชีวิต ลักษณะและเทคนิคการทำการเกษตรในปัจจุบัน แบ่งแยกเนื้อหาแต่ละฐานการเรียนรู้ ไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน
• รุ่นที่ 4 จัดพิธีกรรมเข้าไว้ในหลักสูตร โดยกลางคืนมีพิธีผูกเสี่ยวเป็นพี่
น้องวปอ.ร่วมกัน และมีการทำบุญตักบาตรเลี้ยงเพลพระร่วมกันในวันสุดท้าย  ลดพื้นที่การดูงานลง เพื่อให้เวลาการเรียนรู้ในแต่ละฐานมีจำนวนมาก ไม่เสียเวลากับการเดินทางมากนัก และทุกฐานจัดสถานที่ให้ผู้เข้าร่วมได้ล้างจานที่ตนเองรับประทาน
• รุ่นที่ 5 มีการลดวันการประชุมลงจาก 5 วัน 4 คืน เป็น 4 วัน 3 คืน เพื่อให้
สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนในปัจจุบัน และเพิ่มบทบาทผู้เข้าร่วมโดยการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบเป็นกลุ่มในการทำหน้าที่สรุปผลในแต่ละวัน ทำหน้าที่สันทนาการและขอบคุณวิทยากร
• รุ่นที่ 6 ทำ ผังไร่นาสวนผสมให้แต่ละพื้นที่ และทำป้ายคติชีวิตของแต่ละ
คนติด ทั่วไปในสวน ใช้เทคนิคการวิเคราะห์ทุกข์ ด้วยการใช้ทฤษฎีต้นไม้  และมีการสำรวจหนี้สินในแต่ละคน แล้วมารวมกันทั้งรุ่น เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้เข้าร่วมทราบสถานการณ์ หนี้สินของตนเองและเพื่อนร่วมรุ่น
    
(9) วิธีการประเมินผลผู้เรียน วปอ.ภาคประชาชน มี 3 วิธีการ คือ
• ระหว่างการเรียน วปอ.ภาคประชาชน โดยใช้ช่วงเวลาวันสุดท้าย ของการ
เรียน ให้ผู้เรียนประเมินการเรียนรู้ในแต่ละฐาน สิ่งที่ผู้เรียนได้เรียนรู้ และการปรับปรุงในแต่ละฐาน
• ภายหลังการเรียนรู้โดยผู้ประสานในแต่ละกลุ่มและกรรมการชมรมฯลง
พื้นที่ไปดูแปลงของนักเรียน วปอ.ที่แต่ละกลุ่มส่งมาเรียน 
• เวทีประชุมกรรมการชมรม(ผู้ประสานในแต่ละอำเภอ) นำผลที่เกิดขึ้นมา
เล่าให้ฟัง
(10) ผลการดำเนินงาน วปอ.ภาคประชาชน สิ่งที่ได้จาก วปอ.ภาคประชาชนที่ได้มีการอบรม
แกนนำชุมชนจำนวน 8 รุ่น 306  คน 62 หมู่บ้าน (ประชุมสรุปงานชมรมเกษตรธรรมชาติ วันที่  5 ม.ค. 46 ณ มูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร)
• ผู้นำเปลี่ยนแปลงไปสู่การพึ่งตนเองนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้น จากการทำงาน
ในแต่ละกลุ่ม   และในตัวผู้นำเองนั้นก็ได้มีความรู้เพิ่มมากขึ้นตามสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น  ผู้นำมีประสบการณ์มากขึ้นและมีเพื่อนที่มีแนวคิดเดียวกัน มีความสามารถในการพูดในเวทีได้ดีขึ้น  มีความตื่นตัวที่มีโอกาสได้ไปเรียนรู้ข้างนอก จากการพบปะในที่ประชุมต่างๆ
• ผู้นำมีความภาคภูมิใจในตนเองเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้อื่น  มีความอด
ทนในการสอนผู้อื่นหรือแนะนำให้ผู้อื่นไปทำ เกิดเป็นความภูมิใจในการที่เราได้ทำงานเพื่อช่วยเหลือสังคมเป็นกลุ่มที่มีน้ำใจเป็นคนที่เสียสละ  รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่ามากขึ้น
• พวกเรามีการปรับเปลี่ยนเป้าหมายการดำรงชีวิตจากการวิ่งหาเงิน ไป
สู่การวิ่งหาความสุขมากขึ้น    มีชีวิตอย่างมีความสุขด้วยการไปแนะนำหรือสอนผู้อื่น   การที่เรามีน้ำใจนั้นทำให้เรามีแรงบันดาลใจ ซึ่งกระตุ้นให้เรามีความคิดที่ดีเป็นแรงขับเคลื่อนในการทำงานช่วยเหลือผู้อื่น 
• ตัวผู้นำได้เปลี่ยนบทบาทจากเกษตรกรผู้ผลิตมาเป็นนักวิจัย นัก
ทดลองค้นคว้าและพยายามทำให้มันได้ผลดียิ่งขึ้น 
•  มีการพึ่งพากันเองมากขึ้น  อย่างเช่นกรณีน้ำท่วม พวกเราไปทอดผ้า
ป่าต้นไม้คือการนำต้นไม้ไปแจกเพื่อนบ้านที่น้ำท่วมแสดงให้เห็นการพึ่งพากันเองของเกษตรกรไม่ต้องพึ่งพาหรือรอให้ทางภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ  
• เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ของผู้มีน้ำใจ ซึ่งเครือข่ายเรียนรู้ตอนนี้เกิดขึ้น
สองชั้นแล้ว  ขั้นแรกคือจาการที่เราเรียนรู้กันเองและพยายามที่จะถ่ายทอดไปสู่รุ่นเด็กรุ่นหลังที่เข้ามาเรียน  และชั้นที่สองคือกิจกรรมที่เราเชื่อมต่อกับต่างจังหวัด เช่นเชื่อมเครือข่ายที่ จ.สุพรรณบุรี  เรื่องเมล็ดพันธุ์  ไปเข้าร่วมกิจกรรมเกษตรอินทรีย์ที่ จ.ยโสธร 

           จะเห็นกิจกรรมเชิงการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติเต็มไปหมด    โปรดติดตามตอนต่อไป


 
วิจารณ์ พานิช
๑๙ ตค. ๔๘


 

หมายเลขบันทึก: 6007เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2005 15:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 15:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตอนนี้ทางภาคใต้พื้นที่ทางการเกษตรสภาพความเป็นกรด และ

ด่าง ค่อนข้างสูงมากอยากให้ทางภาครัฐรณรงค์โดยการประชา

สัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชนโดยการให้หันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพ

เพื่อปรับปรุงดินเป็นการสร้างความสมดุลย์ทางธรรมชาติ

 

เป็นประโยชน์กับนักศึกษาอย่างหนูมาก ตอนแรกก็แค่หาข้อมูลทำรายงานแต่ก็ได้ประโยชน์และได้แง่คิดเยอะจากพี่ ๆ และคุณลุงทุกท่าน เพราะหนูเองก็เป็นลูกหลานชาวนาเหมือนกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท