"อสม. ออนไลน์" ความฉลาดใช้เครื่องมือเทคโนโลยีของ รพ.สต. หลักร้อย และทีม อสม.


“อสม. ออนไลน์”

สนับสนุนระบบโดย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน): เอไอเอส

ผู้ให้สัมภาษณ์หลัก นายlสุชาติ สนพะเนาว์ ผู้อำนวยการ รพ.สต. หลักร้อย อ.เมือง จ.นครราชสีมา

วันที่สัมภาษณ์ 29 ธันวาคม 2558

ที่มาที่ไปของการพัฒนาระบบ “อสม. ออนไลน์”

ด้วยบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ขออนุญาต เรียกสั้นๆ ว่า บริษัท เอไอเอส มีนโยบายสนับสนุนโครงการเพื่อสังคม ให้แก่หน่วยงานภาครัฐและชุมชน โดยเฉพาะพื้นที่รอบเสาส่งสัญญานโทรศัพท์ของบริษัท เอไอเอส ซึ่ง รพ.สต. หลักร้อย ตั้งอยู่ใกล้บริเวณดังกล่าวพอดี ทางเจ้าหน้าที่ของบริษัท เอไอเอส จึงได้เข้ามาสอบถามผู้อำนวยการ รพ.สต.หลักร้อย ว่ามีกิจกรรมใดที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร และเห็นว่าบริษัทสามารถให้ความช่วยเหลือได้บ้าง นายสุชาติ สนพะเนาว์ ผอ. รพ.สต. หลักร้อย จึงได้เสนอว่า การทำงานของ รพ.สต. นั้นมีทีมอาสาสมัครที่มาจากชาวบ้านมาช่วยทำงานและเป็นกลไกประสานงานที่สำคัญเชื่อมโยงระหว่าง รพ.สต. กับ ชุมชน เรียกกันว่า “อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน” หรือ เรียกกันย่อๆ ว่า “อสม.” ซึ่งในตำบลประดู่ใหญ่นั้นมี อสม. ทั้งหมดจำนวน 145 คน ทำงานดูแลครอบคลุม 7 หมู่บ้าน การสื่อสารและประสานงานนั้น ค่อนข้างลำบากแม้ว่าจะอยู่ในเขตเมืองก็ตาม เนื่องจาก ที่ตั้งของ รพ.สต. หลักร้อย ไม่มีรถโดยสารประจำทางผ่าน ชาวบ้านหรือ อสม. จำเป็นต้องนั่งรถประจำทางมาลงจุดที่ใกล้ที่สุดแล้วต่อรถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง หรือเดินทางมายังที่นี่ได้ วิธีการสื่อสารกับ อสม. ในตอนนั้นคือ ใช้การประชุมที่สำนักงาน ใช้โทรศัพท์มือถือ ใช้ไลน์บ้าง ผอ. รพ.สต. จึงเสนอให้แก่ทีมงานบริษัท เอไอเอส ที่มาสำรวจกลับไปคิดต่อว่ามีวิธีการสื่อสารใดบ้าง? ที่พอจะช่วยทำให้การสื่อสารระหว่าง รพ.สต. หลักร้อย กับ อสม. ทั้ง 145 คนนั้นสะดวก และมีต้นทุนถูกกว่าที่เป็นอยู่ โดยให้ อสม. ส่งรายงานได้ทันเวลา เดิมตั้งแต่เดินทางมาประชุมกลับไปทำงานประสานกับชุมชนกว่าจะส่งรายงานได้ใช้เวลาเป็นเดือน ประเด็นโจทย์ต่อมา คือ บทบาท อสม. ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ แก้ข่าวร้าย กระจายข่าวดีให้ทันสถานการณ์ บริการประสานงานสาธารณสุข บำบัดทุกข์ประชาชน สามารถใช้เครื่องมือสื่อสารช่วยงานด้านนี้แก่พวกเขาได้ ปกติใช้วิธีโทรศัพท์มือถือคุยปรึกษากับเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ซึ่งข้อมูลอาจจะตกหล่นเข้าใจผิดพลาดก็เคยมี เช่น การปรึกษาเรื่องยาบางตัวที่คนไข้กินแล้วมีผลกระทบ เขาจะโทรศัพท์มาปรึกษาเสมอ แต่ไม่เห็นภาพยาดังกล่าว เป็นไปได้ไหมพอจะมีวิธีให้เห็นภาพยานั้นได้ในขณะที่สื่อสารกัน ซึ่งการพูดคุยกับเจ้าหน้าบริษัท เอไอเอส ในครั้งแรกนั้น ได้ให้โจทย์ไปประมาณนี้และกลับไปช่วยกันคิดหาทางพัฒนาระบบสื่อสารที่เหมาะกับการสื่อสารระหว่าง รพ.สต. หลักร้อย กับ อสม. ทั้ง 145 คน

จากนั้นประมาณ 1 เดือนทางเจ้าหน้าที่มาคุยในครั้งแรก ได้พาผู้เชี่ยวชาญมาคุยที่ รพ.สต. หลักร้อยอีกครั้งหนึ่ง และหลังจากนั้น ทาง รพ.สต. หลักร้อย ต้องเข้าไปประชุมกับ อสม. เพื่อเก็บข้อมูลว่ามี อสม. ใช้โทรศัพท์มือถือกี่คน และในครอบครัว ลูกหลานมีใช้โทรศัพท์มือถือแบบใดบ้าง? แต่ละคุ้ม แต่ละหมู่บ้านมีกี่เครื่อง? มีค่าใช้จ่ายการใช้โทรศัพท์เดือนละเท่าไร? และค่าใช้จ่ายในการประสานงานแบบเดิม เช่น ค่าน้ำมันรถมอเตอร์ไซด์ มาประชุม มาส่งรายงาน เป็นต้น ซึ่งในที่สุดได้ข้อสรุปว่า เทคโนโลยีใหม่ที่จะมานี้ต้องไม่เป็นภาระแก่ อสม. มากเกินไป มีค่าใช้จ่ายต้องไม่เกิน 200 บาทต่อเดือน และต้องมีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ที่ทางบริษัท เอไอเอสจะนำมาให้บริการได้ ส่งข้อความแบบไลน์ได้ ส่งภาพได้ สนทนาได้ ส่งเอกสารได้ ส่งวีดิโอได้ ซึ่งนั่นหมายความว่า อสม. ต้องสามารถเชื่อมต่อสัญญานอินเตอร์เน็ตได้ด้วย ทางบริษัท เอไอเอส จึงได้เสนอโปโมชั่นพิเศษ อินเตอร์เน็ตรายเดือน 1 กิกะไบต์ จ่ายรายเดือนๆละ 199 บาท แต่ด้วยข้อจำกัด อสม. หลายคนเป็นผู้สูงอายุ ไม่เคยใช้สมาร์ทโฟน ประกอบกับสายตามีปัญหา และด้วยเจตนาที่ไม่อยากให้เป็นภาระแก่ อสม. มากเกินไป จึงสำรวจว่า อสม. คนใดมีโทรศัพท์สมาร์โฟนแล้วบ้าง ใครมีความสามารถซื้อได้ หรือในครอบครัวใดมีลูกหลานใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนอยู่แล้วบ้าง เพื่อดูว่าแม้ อสม. จะไม่สามารถมีและใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนได้ทุกคน แต่หากในแต่ละหมู่มี จำนวน อสม. ที่สามารถมีและใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนได้กระจายเพียงพอที่จะสื่อสารกับ อสม. ที่ยังไม่สามารถมีได้ การนำเทคโนโลยีก็น่าจะนำมาใช้ทดลองในพื้นที่ได้

เมื่อบริษัท เอไอเอส พัฒนาระบบเสร็จก็ได้นัดหมาย อสม. ที่มีและพอใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนมาฝึกอบรมติดตั้งและทดลองใช้ระบบ ซึ่งต้องมีตัวแทน อสม. ครบทั้ง 7 หมู่บ้าน หมู่บ้านละประมาณ 10-20 คน มาเข้าร่วมฝึกอบรม อสม. บางคนไม่ได้ซื้อโทรศัพท์ใหม่แต่นำโทรศัพท์ของลูกหลานในครอบครัวมาทดลองใช้ โดยสิ่งแรกคือการดาวน์โหลดแอพพริเคชั่นลงในโทรศัพท์ให้ได้ก่อน แล้วฝึกทดลองใช้ โดยมีวิทยากรจากบริษัท เอไอเอส มาให้ความรู้ และยังเป็นการทดลองใช้ดูว่าง่าย ใช้สะดวกหรือไม่ไปด้วยในขณะเดียวกัน

การใช้งานแอพพริเคชั่น “อสม. ออนไลน์”

แอพพริเคชั่น อสม. ออนไลน์ ได้ออกแบบเพื่อง่ายต่อความเข้าใจของ อสม. จึงมีหัวข้อแบ่งเป็นห้อง มีทั้งหมด 5 ห้อง ประกอบด้วย 1. ห้องนัดประชุม 2. ห้องแจ้งรับเงินค่าป่วยการ 3. ห้องโรคระบาด 4. ห้องข่าวสาร 5. ห้องบันทึกรายงานการประชุม ดูง่ายต่างจากไลน์ เพราะไลน์มันมีข้อความเข้ามาทั้งหมด ไม่ได้เป็นหมวดหมู่ ค้นหายาก

ห้องแรกการนัดประชุม อสม. ปกติต้องนัดล่วงหน้าเป็นเดือน อสม. ทุกคนแม้จะไม่ได้มาร่วมการประชุมครั้งล่าสุดก็สามารถรู้ได้ว่าครั้งต่อไปมีการนัดประชุมวันที่เท่าไร? สถานที่นัดประชุมที่ไหน เวลาเท่าไร นอกจากนี้ อสม. ยังสามารถตอบรับหรือปฏิเสธได้ด้วย ทำให้การเตรียมการประชุมดียิ่งขึ้น เมื่อก่อน รพ.สต. ต้องจัดเก้าอี้ 145 ตัว มาหรือไม่มาก็ต้องเตรียมไว้ก่อน ทำให้การจัดการเตรียมการประชุมล่วงหน้าเช่น เรื่องอาหารว่าง เตรียมได้พอดีจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมมากขึ้น ส่วนห้องแจ้งรับเงินค่าป่วยการนั้น เดือนหนึ่งมีเงินค่าป่วยการตอบแทนให้แก่ อสม. เดือนละ 600 บาท แม้จำนวนเงินดูว่าเพียงเล็กน้อย แต่เรื่องนี้มีปัญหามากในทางปฏิบัติบ่อย เพราะวันจ่ายเงินค่าตอบแทนไม่แน่นอน อสม. อยากรู้ว่าค่าป่วยการจะได้เมื่อไร เงินออกวันที่เท่าไร จะได้เงินวันไหน หรือแจ้งข่าวว่าวันนี้เงินยังไม่ออก ยังไม่ได้รับโอนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด เช่น กรณีเงินค่าป่วยการเดือนตุลาคม ต้องแจ้งข่าว อสม. ว่าเงินค่าป่วยการ กระทรวงฯ ยังไม่ได้โอนมายังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ก็ยังไม่ได้โอนมายัง รพ.สต. หลักร้อย อสม.จะได้รู้ข่าวพร้อมกัน ไม่ต้องกังวล เพราะเมื่อก่อนเคยมีปัญหา มีการโทรไปถาม อสม. พื้นที่อื่น บางทีคนให้ข้อมูลเป็นเท็จ เช่น โทรไปถามต่างอำเภอ ทางโน้นบอกว่าได้รับแล้ว แต่ทางนี้ยังไม่ได้ เกิดปัญหามาโวยวายร้องเรียน แต่ตอนนี้ทุกคนจะได้รับข่าวพร้อมกันหมด มีหลักฐานยืนยันพร้อมกันชัดเจนจาก รพ.สต. ตอนนี้เมื่อข่าวสารข้อมูลใดที่ไม่แน่ใจก็สามารถตรวจสอบ คุยสนทนากันได้เลยและเห็นพร้อมกันหมดทุกคน

ห้องโรคระบาด เมื่อเร็วๆ นี้ มีการแจ้งมาจากโรงพยาบาลมหาราชว่า พบคนป่วยไข้เลือดออก อยู่หมู่ 1 หมู่ 4 อสม. แม้ไม่ได้อยู่หมู่เดียวกันก็จะรู้ทั่วพร้อมกันหมด สามารถหาทางป้องกันได้เลย การแก้ปัญหาโรคระบาดต้องรู้เร็ว กรณีโรงพยาบาลมหาราชส่งข่าวมาแจ้งว่าพบคนไข้เลือดออกแอดมิต ทราบว่าอยู่หมู่ 4 รพ.สต. หลักร้อย ส่งข้อมูลจากโรงพยาบาลไปยัง อสม. ทันที ทุกคนรู้พร้อมกัน อสม. หมู่ 4 ออกไปเยี่ยมบ้านเพื่อตรวจสอบว่าคนไข้ที่แจ้งมาตามข้อมูลที่โรงพยาบาลมหาราชแนบมานั้น มีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่จริงหรือไม่ พอตรวจพบว่าจริงก็แจ้งยืนยันให้ รพ.สต. หลักร้อยทราบทันที คนไข้มาจากหมู่ 4 จริง มีเด็กอีกคนที่มีอาการไข้แต่ยังไม่พบแพทย์ จึงได้แจ้งให้พาเด็กไปพบหมอทันที การจัดการโรคระบาดต้องมี 3 ร. รู้เร็ว รักษาเร็ว รีเฟอร์ส่งต่อเร็ว เพราะกรณีเช่นนี้ ไม่ต้องพามาหาหมอที่ รพ.สต. ส่งต่อทันทีเลยเพราะเป็นกรณีเสี่ยงติดโรคระบาด รอดูอาการไม่ได้ ตอนนี้โรงพยาบาลให้ รพ.สต.หลักร้อยควบคุมโรค โดยลงพื้นที่ไปสอบสวนโรค มีทีมงานควบคุมโรคลงไป ไปทำงานร่วมกับผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. อสม. แอพพริเคชั่นตัวนี้ช่วยให้ อสม.ทำงานสะดวกขึ้น ข้อมูลครบถ้วน ไม่เหมือนการสื่อสารแบบเดิมที่ต้องจ่ายค่าโทรศัพท์มากเพราะใช้เวลาคุยนาน แบบใหม่นี้กดดูเอกสารได้เลยรู้ที่มาที่ไปชัดเจน ปัญหาโรคระบาดแต่เดิมคือ บางครั้งคนไข้มาหาหมอที่ รพ.สต.หลักร้อย เขายื่นบัตรประชาชนมีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอเสิงสาง แต่ตัวเขามาทำงานและอาศัยในเขตพื้นที่ของ รพ.สต.หลักร้อย อยู่ในเขตอำเภอเมือง ดังนั้นการควบคุมโรคเป็นพื้นที่ของ รพ.สต.หลักร้อย ไม่ใช่อำเภอเสิงสาง การแจ้งข้อมูลคนไข้ส่งต่อโรงพยาบาลมหาราชก็ทำได้ถูกต้อง การควบคุมโรคก็สามารถทำได้ถูกจุด ถูกพื้นที่ อสม. เขาจะทำหน้าที่ตรวจสอบว่าคนนี้อยู่ในพื้นที่เราจริง การทำงานประสานกันเร็ว ถูกต้องตรงจุดมากขึ้นด้วย หากเป็นแต่ก่อน อสม. ต้องขี่มอเตอร์ไซด์ตรวจสอบค้นหาวุ่นวายไปหมด ช่วยให้ อสม.ประหยัดค่าใช้จ่ายแบบนี้ไปเยอะ ซึ่งปกติแล้ว อสม. เขาไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายแบบนี้ได้ด้วย และเป็นภาระ อสม. ที่ไม่มีคนเห็น ก่อนหน้านี้ รพ.สต. หลักร้อยติดอันดับ top ten ของพื้นที่โรคระบาด ตั้งแต่มีแอพพริเคชั่นตอนนี้อยู่ลำดับที่ 27 แม้ว่าพื้นที่ล้อมรอบเราติดโรคระบาดมาก เช่น สุรนารี ป้อมประดู่ใหญ่ หนองจะบก บ้านใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่โดยรอบ เขายังใช้วิธีการทำงานแบบเดิม แต่เรามีแอพพริเคชั่นนี้มาช่วย ห้องแจ้งข่าวสาร ประกาศต่างๆ รพ.สต. หลักร้อย ได้แจ้งข้อตกลงขอให้ อสม. เช็ควันละ 2 ครั้ง 9 โมงเช้า ครั้งหนึ่ง บ่าย 3 โมง อีกครั้งหนึ่ง เพราะ อสม. ต้องทำงานอย่างอื่นด้วย มีอาชีพอย่างอื่นด้วย บางคนเป็นพนักงานในห้างเดอะมอลล์ บางคนขายของตลาดแม่กิมเฮง ทำงานอยู่ที่ไหนก็สามารถเช็คข่าวได้ ต้องเข้าใจข้อจำกัดของ อสม.ด้วย เพราะเงินค่าป่วยการตอบแทนเดือนหนึ่งเพียง 600 บาท เขามีความจำเป็นต้องทำมาหากินเพื่อครอบครัวเขาด้วย บางครั้งเขาจะมาประชุมแต่หากถูกหักเงินเพราะขาดงาน ก็ไม่คุ้ม พอมีเครื่องมือใหม่ แม้ไม่ได้มาร่วมประชุมก็รู้ข้อมูล รู้ข่าวสารเหมือนกับ อสม. คนอื่นๆ เมื่อก่อนจะรู้ข่าวคราวก็ต้องโทรศัพท์ถามกันเสียเงินไปหลายบาท ตอนนี้เมื่อ รพ.สต. หลักร้อยทราบข่าวว่ามีคนไข้โรคระบาดอยู่ที่หมู่ไหน ก็สามารถส่งข่าวสารได้เลย เช่น แจ้งว่าหมู่ 7 จะมีกิจกรรมทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย หมู่อื่นเห็นข่าว เขาก็จะไปช่วย ถ้าเป็นเมื่อก่อนไม่รู้ข่าวกันแบบนี้ พอรู้ข่าวกันแบบนี้ อสม. เขาฉลาด เขาจะไปช่วยเพื่อน พอมีกิจกรรมหมู่บ้านของเขาบ้าง เพื่อน อสม. หมู่อื่นก็จะมาช่วยเช่นกัน นี่คือข้อดีของแอพพริเคชั่นนี้ การส่งข้อมูลข่าวสารยังสามารถส่งเป็นรูปภาพ วีดิโอหรือแผนที่ส่งมาได้เช่นกัน ช่วยให้ อสม. ทำงานได้คล่องตัวโดยเฉพาะกรณีฉุกเฉิน เช่น เจอเด็กจมน้ำ สามารถแจ้งจุดเกิดเหตุ แสดงแผนที่ที่ชัดเจน รพ.สต. เรียก 169 เข้าไปช่วยในพื้นที่ได้ทัน เป็นต้น ห้องบันทึกรายงานการประชุม การประชุมแต่ละครั้งมี อสม. มาประชุมไม่ครบทุกคน คนที่ไม่มาก็สามารถเข้าไปดูไปอ่านได้ว่ามีการประชุมเรื่องอะไรไปบ้าง ต้องทำอะไรบ้าง และสามารถส่งวาระการประชุมให้รู้ล่วงหน้าได้ อสม. ตั้งคำถามมาจากบ้านได้เลย กรณีสงสัยใคร่รู้อะไร ทำให้การประชุมเร็วขึ้นกว่าเดิม จากเดิมครึ่งวัน เหลือเพียง 1 ชั่วโมง เมื่อก่อนอ่านวาระการประชุมแล้วสงสัยต้องขีดเส้นใต้วุ่นวายไปหมด บางครั้งเงินออกช้า อสม. ไม่มีแรงมาประชุม แต่ก็ต้องมาประชุม ผอ. รพ.สต. จะแจ้งว่าประชุมเพียงชั่วโมงเดียว เริ่มเก้าโมงเช้า สิบโมงปิดการประชุม เพราะรู้ข้อมูลล่วงหน้า ส่งคำถามล่วงหน้า รู้จำนวน อสม. ที่มาร่วมประชุมล่วงหน้า อสม. สามารถกลับไปทำงานของตัวเองได้เร็วขึ้น นี่คือข้อดีของแอพพริเคชั่นนี้

รพ.สต. หลักร้อย จะได้รับแอพพริเคชั่นพร้อมกับระบบแอดมิน สามารถควบคุมการใช้และอนุญาตการรับ อสม. เข้ากลุ่ม อสม. ต้องล็อคอินเข้าระบบ โดยกดใช้เลขประจำตัว อสม. ยังไม่อนุญาตให้คนนอกเข้ามาเพราะมีข้อมูลของคนไข้ด้วย เพราะหากข้อมูลคนไข้หลุดออกไปนำไปใช้ให้เกิดความเสียหายได้ จึงต้องมีแอดมินคอยดูแลอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เข้ากลุ่ม แอพพริเคชั่นส่วนแอดมินลงไว้ 2 เครื่อง คือ แท็บเล็ตของ ผอ. รพ.สต.หลักร้อย และเครื่องพีซีที่สำนักงาน รพ.สต. อีกเครื่องหนึ่ง โดยมีเลขาฯ ชมรม อสม. มานั่งดูแล ส่วนการส่งข้อมูลข่าวสารจากแอดมินทำได้ 2 กรณี 1. ผอ.รพ.สต.หลักร้อย พิมพ์ หรือส่งเอกสารออกด้วยตนเอง แม้จะอยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ ติดต่อสื่อสารงานได้ตลอดเวลา ยกเว้นช่วงแบตเตอร์รี่หมดก็สามารถโทรศัพท์แจ้งให้ เลขาฯ ชมรมหรือพนักงาน รพ.สต. ส่งข่าวแทน ผอ. เพราะ ผอ.รพ.สต. หลักร้อย ก็มีประชุมนอกพื้นที่บ่อย บางครั้งอยู่ไกลต่างจังหวัดคนละภาคก็เคยมี 9 โมงเช้า อสม. จะเปิดเข้าไปในห้องต่างๆของแอพพริเคชั่น นอกจากเปิดอ่าน ดูข้อมูลแล้ว ยังสามารถสนทนาและแชร์ข่าวสารได้ด้วย ข้อมูลส่วนหนึ่งที่สื่อสารกันนั้นเป็นข้อมูลคนไข้ในพื้นที่ ดังนั้นจำเป็นต้องจำกัดสิทธิเผยแพร่เฉพาะกลุ่ม อสม. รพ.สต. หลักร้อย เท่านั้น หรือกรณีมี อสม. ทะเลาะผ่านการสนทนา แอดมินก็สามารถลบออกได้ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ดีก็ลบออกได้ และจะมีการแจ้งเตือนหากไม่เชื่อฟังก็จะตัดออกจากกลุ่ม อสม. จากระบบอีกที

การขยายผลนำแอพพริเคชั่น อสม. ออนไลน์ ไปใช้พื้นที่อื่น

แอพพริเคชั่นนี้ ใช้เป็นครั้งแรกที่พื้นที่ รพ.สต. หลักร้อย ส่วนจังหวัดอื่น พื้นที่สามารถดาวน์โหลดไปลงเครื่องได้ แต่ยังไม่สามารถใช้งานได้ ต้องติดต่อ บริษัท เอไอเอส เพื่อขอใช้ระบบและต้องมีการฝึกอบรมให้เข้าใจระบบก่อนที่จะนำไปใช้จริง อีกทั้งทั้ง รพ.สต. ก็ต้องฝึกอบรมเรียนวิธีการใช้แอพพริเคชั่นส่วนของแอดมินระบบด้วย จึงจะสามารถใช้ทำงานได้ อย่างอื่นเหมือนกันคือ ต้องมีอินเตอร์เน็ต และเครื่องโทรศัพท์สมาร์โฟน ตอนนี้ทราบว่ามี 24 จังหวัด ที่มีการนำแอพพริเคชั่นนี้ไปใช้แล้ว เขายังติดต่อแจ้งข่าวมายัง รพ.สต.หลักร้อย เช่นที่ นครศรีธรรมราช อุทัยธานี ตอนนี้กระทรวงสาธารณสุขก็สนใจ แต่ความเห็นของ รพ.สต.หลักร้อย คิดว่าต้องให้เป็นความต้องการของ พื้นที่จริงๆ ก่อน ไม่อย่างนั้น พอเป็นนโยบายทุกพื้นที่ต้องมี ต้องทำ กลายเป็นไปบังคับเขา ต้องให้เขารู้ก่อนว่ามันตอบโจทย์ปัญหาการทำงานของเขาอย่างไรได้บ้าง ไม่ใช่ทำเพราะ กระทรวงสั่งการมา เพราะมันต้องมีค่าใช้จ่ายที่ อสม. ต้องรับภาระ อย่างน้อย ต้องจ่ายค่าอินเตอร์เน็ต ต้องมีเครื่องโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ตอนนี้ รพ.สต. ไม่ได้จ่ายให้ อสม. เขาต้องจ่ายเงินเอง มันจะต้องมีค่าใช้จ่ายเหล่านี้เกิดขึ้น หากใช้ทั่วประเทศ กระทรวงต้องสามารถสนับสนุนได้ เพราะตอนนี้เพียงค่าป่วยการ 600 บาท การรับเงินก็ยังไม่ตรงเวลาแน่นอน อีกอย่างแอดมินต้องทำหน้าที่ประจำสม่ำเสมอ ไม่อย่างนั้นก็ไม่เกิดประโยชน์เท่าใด ตอนนี้มีสื่อสารมวลชนสนใจเข้ามาสัมภาษณ์อัดรายการ เช่น ช่อง 3 ช่อง 7 และฝ่ายสื่อของบริษัท เอไอเอสเองด้วย

ความเห็น อสม. หลังการใช้แอพพริเคชั่น “อสม. ออนไลน์”

การตอบรับของสมาชิก อสม. รพ.สต. หลักร้อย ที่ใช้ระบบมาตั้งแต่ เดือนกันยายน 2558 ออกมาดีมาก ช่วยให้การทำงานสะดวกขึ้นมากในหลายๆเรื่อง เช่น ช่วงที่ประธาน อสม. ไปประชุมที่เชียงใหม่ ก็สามารถรับรู้ว่าที่นี่เขาทำอะไรกันบ้าง เข้ามาพูดคุยสนทนาผ่านระบบเหมือนยังทำงานอยู่ด้วยกัน เวลาประธานไปประชุม อสม. ระดับอำเภอ กว่าจะนำมาเล่าให้ อสม. ทั้ง 145 คนรู้เรื่อง ใช้เวลานาน ต้องรอเรียกประชุมประจำเดือน แต่ตอนนี้ถ่ายภาพประชุม ส่งเอกสารการประชุมให้ทุกคนดูพร้อมกันได้เลย ประธานได้รับเงินป่วยการเท่ากับ อสม. คนอื่น แต่เดิมเวลาไปกระจายข่าวต้อง เดินทางในพื้นที่มากกว่าคนอื่น เป็นภาระมากแต่ต้องทำเพราะเป็นหน้าที่ แอพพริเคชั่นนี้ช่วยลดตรงจุดนี้ไปได้พอสมควร

การพัฒนาระบบในระยะต่อไป

หลังจากใช้งานแอพพริเคชั่นมาระยะหนึ่ง รพ.สต. หลักร้อย และ อสม. ได้เสนอบริษัท เอไอเอสว่าควรเพิ่มห้องเยี่ยมบ้าน อีกห้องหนึ่ง จะได้ทำงานประสานกับหมอ กับเจ้าหน้าที่ ไปเยี่ยมบ้าน มีผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายอยู่ที่บ้านไหนบ้าง? ต้องเข้าไปช่วยเปลี่ยนสายยาง สายจมูก สายปัสสาวะ สายอาหาร ซึ่งต้องดูแลเขาจนเสียชีวิต ทางบริษัท เอไอเอส ได้ตอบรับว่าจะมาพัฒนาระบบให้เพิ่มเติมอีก ซึ่งตอนนี้ใช้ห้องส่งข่าวสารทำงานแทนไปก่อน นี่เป็นความต้องการของ อสม. เขาเอง ไม่ใช่เป็นความต้องการของ รพ.สต. หรือ บริษัท เอไอเอส หลังจากที่ใช้งานเขาเรียนรู้ว่าควรต้องปรับอะไร อย่างไร การทำงานเยี่ยมบ้านนั้น ต้องไปเยี่ยมกันทุกอาทิตย์ โดยไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่ เพราะมันสามารถปรึกษาสนทนา ถ่ายภาพยา หรือการใช้อุปกรณ์ที่สงสัยมาถามทาง รพ.สต.ได้ทันที หากไม่มีแอพพริเคชั่น เขาก็จะถือยาขับมอเตอร์ไซด์มาที่ รพ.สต. แล้วขับกลับเอายาไปบ้านคนไข้อีกครั้ง แต่ตอนนี้สะดวกมาก สามารถบอก อสม. ถ่ายภาพสภาพแวดล้อมบ้านของคนไข้ ห้องครัวเป็นอย่างไร ห้องน้ำเป็นอย่างไร สามารถส่งรูปถ่ายมาให้ได้ทันที การไปเยี่ยมบ้านคนป่วยตอนนี้จะไม่ดูเฉพาะคนไข้ ดูแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม มีแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคหรือไม่ ไปเยี่ยมคนไข้ครั้งเดียวก็ดูมาหลายเรื่องเลย เข้าไปดูห้องครัว ดูขวดน้ำปลา ขวดซิอิ้ว ตอนนี้เท่ากับมีข้อมูลครัวเรือนอยู่ในเครื่องในระบบมากพอสมควรแล้ว แต่ยังอยู่ในเครื่องโทรศัพท์ อสม. ยังไม่ได้ส่งมาเข้าระบบ หาก รพ. สต. ขอเมื่อไรก็สามารถส่งให้ได้ทันที ตอนนี้กำหนดให้ อสม. ถ่ายภาพบ้านพร้อมบ้านเลขที่ อสม. ที่มีเครื่องสมาร์ทโฟนจะดูแลบ้านคนละ 15 ครัวเรือน และเก็บข้อมูลภาพดังกล่าวเอาไว้ และขอให้อัพเดทปีละครั้ง ต่อไปในอนาคตจะให้ถ่ายภาพคนพิการพร้อมถือบัตรประชาชน จะได้รู้ว่าแต่ละหมู่มีคนพิการกี่คน มีสภาพเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหนบ้าง อีกทั้งคนท้อง ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ตอนนี้ยังไมได้ทำ รอให้มีเครื่องสมาร์ทโฟนครบกันก่อน และเมื่อเครื่องครบจะคุยกับบริษัท เอไอเอสให้พัฒนาระบบต่อ รู้จำนวนคนท้อง คนเป็นเบาหวาน มีผู้หญิงกี่คน ผู้ชายกี่คน มีส้วมแบบนั่งยองเท่าไหร ส้วมชักโครกเท่าไรเก็บข้อมูลเป็นภาพได้หมด ตอนนี้มีแบบเอกสารตัวเลข ซึ่งไม่แน่นอนเท่าภาพถ่าย จะมีการต่อยอดพัฒนาระบบไปอีกแน่นอน และด้วยความละเอียดของข้อมูล แอดมินจึงต้องควบคุมให้ข้อมูลอยู่เฉพาะในระบบและ อสม. ต้องระวังเผยแพร่ไปภายนอก เพราะอาจจะโดนฟ้องร้องได้ รพ.สต. ก็มีทีมงานเจ้าหน้าที่ประจำชุดเยี่ยมบ้านซึ่งแบ่งความรับผิดชอบแต่ละหมู่บ้าน โดยที่สามารถลงพื้นที่เยี่ยมบ้านแล้วกรณีใดที่ไม่สามารถตัดสินใจได้ขณะนั้น ก็สามารถส่งข้อมูลมาให้แก่ ผอ. รพ.สต.หลักร้อย ตัดสินใจ ซึ่งผ่านแอพพริเคชั่นได้อย่างทันทีไม่ว่า ผอ.รพ.สต. จะอยู่สำนักงานหรือไม่ก็ตาม หรือแจ้งให้ ผอ.รพ.สต. หลักร้อย ช่วยประสานหน่วยงานอื่นในการยืมอุปกรณ์ที่ใช้ช่วยเหลือผู้ป่วย เช่น ยืมรถเข็น เป็นต้น อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นประโยชน์จากการใช้แอพพริเคชั่นนี้ในการเยี่ยมบ้าน ชาวบ้านจะมีพฤติกรรมอย่างหนึ่งที่สังเกตเห็นคือ เมื่อรู้ว่าจะมีการเยี่ยมบ้านโซนใด เจ้าของบ้านก็จะจัดการทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องครัว เตรียมพร้อมก่อนล่วงหน้าเพราะสาเหตุว่ารู้สึกว่าอายทีม อสม. และเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ที่ไปตรวจเยี่ยมและจะมีการเก็บข้อมูลเป็นภาพถ่ายด้วย จึงเห็นว่าอย่างน้อยก็เป็นผลจากการทำงานผ่านแอพพริเคชั่นนี้เช่นกัน

รพ.สต. หลักร้อย มีแนวความคิดที่จะแยกหมวดหมู่ข้อมูลเป็นรายครัวเรือน แยกตามหมู่บ้าน โดยคิดว่าช่วงแรกจะเริ่มเก็บอย่างน้อย 20 ครัวเรือนในแต่ละหมู่ ซึ่งในอนาคตสามารถเข้าถึงข้อมูลและใช้ข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนมากขึ้นในการวางแผนการทำงานในพื้นที่ ตอนนี้มีการเริ่มเก็บกันบ้างแล้ว แต่ข้อมูลที่ว่านั้นยังอยู่ในเครื่องสมาร์ทโฟนของ อสม. และจะทยอยนำมาเข้าระบบ เพราะหากช้าไป อสม. ออกไป หรือล้มหายตายจากกันไปข้อมูลนั้นก็จะหายไปด้วยต้องเริ่มต้นใหม่อีก ตอนนี้ อสม. บางคนยืมเครื่องสมาร์ทโฟนของลูกใช้บ้าง ของลูกเขยใช้บ้าง และมีบางคนเริ่มซื้อเป็นของตนเอง รพ.สต.ไม่ได้บังคับให้ซื้อ เพียงแต่พอยืมเขาใช้ไปสักระยะและใช้แล้วเห็นว่าทำงานสะดวกขึ้น เริ่มเกรงใจเลยตัดสินใจซื้อเครื่องสมาร์ทโฟนเป็นของตนเองมากขึ้น ซึ่งมั่นใจว่าในวันข้างหน้าไม่นานมีเครื่องสมาร์ทโฟนครบทุกคนแน่นอน เพราะตอนนี้ราคากูกลงมาบ้างแล้ว แม้ว่าตอนนี้ยังมีเครื่องสมาร์ทโฟนยังไม่ครบ 100% ทุกคน แต่การทำงานถือว่าครบ 100% แล้ว

ยังมีแนวคิดว่าจะอนุญาตให้ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายก อบต. เทศบาล เข้ามาใช้ระบบ อสม. ออนไลน์ได้เช่นกัน เพราะเขาต้องทำงานร่วมกันกับ รพ.สต. และบางคนก็ทำหน้าที่หลายตำแหน่ง แต่ตอนนี้ยังไม่ได้อนุญาตเพราะยังไม่มั่นใจเรื่องการนำข้อมูลคนไข้ไปใช้ให้เกิดผลเสียหายได้ จึงขอเคลียร์ประเด็นนี้กันก่อน หัวใจสำคัญของการใช้แอพพริเคชั่น “อสม. ออนไลน์” คือ กระบวนการจัดการของ รพ.สต.หลักร้อย และการทำงานของ อสม. ทัง้ 145 คน แม้ว่าที่อื่นจะมีระบบใช้แบบเดียวกัน แต่ประสิทธิภาพย่อมไม่เท่ากันแน่นอน ขึ้นอยู่กับวิธีการจัดการด้วย ดังนั้น หากที่ใดต้องการมีระบบนี้ใช้เช่นเดียวกับที่นี่ ต้องมาเรียนรู้และมาศึกษากับคณะที่นี่ ซึ่งจะให้ ผอ.รพ.สต.หลักร้อย หรือคณะ อสม. เดินทางไปบรรยายคงไม่สะดวก ควรจะจัดทีมงานมาเรียนรู้ที่นี่จะดีกว่า

สิ่งที่ อสม. และ รพ.สต. หลักร้อย เสนอะแนะ

ตอนนี้ทางโรงพยาบาลศูนย์ มีนโยบายลดเวลาการครองเตียง มีการส่งกลับมานอนเตียงที่บ้าน แต่ข้อจำกัดคือ อุปกรณ์จำเป็นเช่นเตียง ผ้าอนามัย ถังออกซิเจน รถเข็น เครื่องดูดเสมหะ ไม้ค้ำยัน จึงอยากเสนอให้เทศบาลมีศูนย์บริการอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วย ครัวเรือนไหนมีคนไข้ติดเตียง ก็สามารถทำเรื่องมาขอยืมไปใช้ที่บ้านคนป่วยได้ หลังจากใช้เสร็จก็คืนกลับเพื่อให้บ้านอื่นได้ใช้อีกบ้าง ตอนนี้ชาวบ้านต้องไปจัดซื้อหาเองราคาแพงมาก บางครอบครัวก็ไม่มีความสามารถที่จะไปซื้อหามาใช้ได้ จึงอยากฝากผ่านการสัมภาษณ์ครั้งนี้ด้วย

อสม. เป็นกลไกที่ทำงานกับกระทรวงสาธารณสุขมายาวนาน ทำงานอย่างแข็งขันแม้ค่าตอบแทนจะน้อยนิดก็ตาม แต่ตอนนี้มีกระแสว่าจะเกิด อสม. พันธุ์ใหม่ ซึ่งจะมีการถ่ายโอนให้แก่องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบค่าป่วยการที่มากกว่าเดิม แต่หากเป็นเช่นนั้น อสม. ที่นี่คิดว่าไม่ดีเพราะ อสม. พันธุ์ใหม่นั้น ต้องทำงานภายใต้กระแสการเมืองท้องถิ่น การทำงานจะไม่เหมือนเดิม อย่างที่เคยทำอยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข การทำงานไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ใครจะมาเป็นนายกเทศบาล ก็ทำงานเหมือนเดิม แต่ตอนนี้มีการถ่ายโอนเงินท้องถิ่นเข้ามาที่ระบบสาธารณสุขมูลฐาน (สสม.) เงินก้อนนี้ถูกผันมาที่เทศบาล อบต. แล้วให้ อสม. ไปเป็นพี่เลี้ยงทำแผนไปขอใช้เงินเขา เขาจะอนุมัติหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของเขา ปัญหาเกิดขึ้นมา กระทรวงต้องเตรียมทบทวนโจทย์เหล่านี้ หาก อสม. กระทรวงสาธารณสุข ยังทำงานฟรี อสม. ต้องแบกภาระด้วยเงินส่วนตัว เขาจะทำงานไปอีกนานเท่าไร และจะเกิด อสม.พันธุ์ใหม่แน่นอน ฝากให้ไปคิดเป็นการบ้านด้วยครับ

ผู้สัมภาษณ์และเรียบเรียงบทความนี้ นายธวัช หมัดเต๊ะ

ผู้ช่วยประสานงานการสัมภาษณ์และถ่ายภาพ บันทึกเสียง น.ส. ฐิตินันท์ สุวรรณศิริ

หมายเลขบันทึก: 600597เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2016 15:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2016 16:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ถ้า AIS เปิดเผย source code ของโปรแกรม "อสม. ออนไลน์" แบบ open source license นี่จะดีมากเลยครับ เพราะถ้ามีการใช้แพร่หลายแล้วหากวันไหน AIS ไม่พัฒนาต่อนักพัฒนาคนอื่นจะได้ช่วยพัฒนากันต่อได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท