ปฐมนิเทศสานสัมพันธ์มิตรภาพไทย-ลาว : ก่อนการเรียนรู้ เพื่อการเรียนรู้


ผมย้ำในเวทีที่ผ่านมาแล้วว่า คำว่า “แลกเปลี่ยนเรียนรู้” หมายถึงเราเอาอะไรไป “แลกเปลี่ยน” เราเข้าใจและเห็นคุณค่าของสิ่งที่จะนำไปมอบให้คนอื่นแล้วแค่ไหน หรือนำไปตามมารยาท นำไปตามธรรมเนียม นำไปเพราะมีอยู่แค่นี้ แต่กลับไม่รู้เลยว่าสิ่งนั้นคืออะไร มีความหมายใด สำคัญอย่างไร และเกี่ยวโยงกับตัวเองอย่างไร



วันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๙ เป็นอีกวันที่ผมและทีมงานยังต้องทำงานกันหลังเวลาราชการ เพื่อจัดกิจกรรมปฐมนิเทศนิสิตที่กำลังจะเดินทางไปเข้าร่วมโครงการสานสัมพันธ์มิตรภาพไทย-ลาว ครั้งที่ ๑๓ ระหว่างวันที่ ๒๘-๓๑ มกราคม ๒๕๕๙ ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก


กว่าการงานจะเริ่มต้นขึ้นได้ เวลาก็ล่วงผ่านไปถึง ๑๙.oo น.เลยทีเดียว





BAR : ถามสดๆ ... สะท้อนกลับแบบสดๆ

ทีมงานเริ่มต้นด้วยการแจกบัตรคำ เพื่อประเมินผลการเรียนรู้ผ่าน “ความคาดหวัง” ในแบบ “BAR” (Before action review) โดยย้ำกับนิสิตว่าขอให้ขีดเขียนตามความจริง จะเขียนเป็นวาทกรรมสั้นๆ หรือร่ายยาวเป็นประโยคๆ หรือหากใครประสงค์จะเขียนเป็นกาพย์กลอนก็ไม่ผิด ขอให้คิดและเขียนเป็นพอ !

พอนิสิตเขียนเสร็จ-ทีมงานก็จัดเก็บและประมวลแบบ “ดิบด่วน” ให้ทุกคนได้รับรู้และรับฟังร่วมกันแบบสดๆ ร้อนๆ ตรงนั้นเลย เรียกได้ว่า “ตีเหล็กในตอนที่กำลังร้อนๆ” หรือ “ซดน้ำแกงในขณะที่ร้อนๆ” นั่นแหละ

โดยสรุปแล้ว การ BAR ในครั้งนี้ก็มองเห็นหมุดหมายการเรียนรู้ของนิสิตโดยสังเขปผ่านวาทกรรมหลักๆ คือ ไปเผยแพร่ ไปสานสัมพันธ์ ไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการไปเรียนรู้ ซึ่งสองประเด็นหลังนั้นรวบเรียกเป็นหนึ่งเดียวกันตามครรลองของการจัดการความรู้ว่า “แลกเปลี่ยนเรียนรู้” นั่นเอง






แลกเปลี่ยน + เรียนรู้

ถัดจากนั้นเป็นพิธีเปิดการปฐมนิเทศ โดย รศ.ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล (รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิตและบริการวิชาการ) ซึ่งท่านได้ให้เกียรติมาพบปะ มอบนโยบายและให้โอวาทแก่นิสิต อาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่จะเดินทางไปเข้าร่วมกิจกรรม

ภาพรวม- รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิตฯ ฝากให้ทุกคนตระหนักถึง “บทบาทและหน้าที่” ของการเป็น “ผู้แทนสถาบัน” ที่ต้องรับผิดชอบและทำหน้าที่ให้สุดกำลัง รวมถึงการฝากข้อคิดให้นิสิตได้ “เปิดใจเรียนรู้”ให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่ติดยึดอยู่กับตัวตนของตนเอง และมุ่งเน้นแต่เฉพาะการไป “เผยแพร่แต่ไม่เรียนรู้”

ประเด็นดังกล่าวนี้ ผมเข้าใจว่าท่านฝากให้นิสิตมีความชัดเจนในตัวตนของนิสิตเองว่าเป็นใคร จะไปทำอะไร อะไรคือสิ่งที่ตนเองจะเอาไปเผยแพร่ – และสิ่งนั้น นิสิตตกผลึกมากน้อยแค่ไหน




ประเด็นดังกล่าวนี้ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะผมย้ำในเวทีที่ผ่านมาแล้วว่า คำว่า “แลกเปลี่ยนเรียนรู้” หมายถึงเราเอาอะไรไป “แลกเปลี่ยน” เราเข้าใจและเห็นคุณค่าของสิ่งที่จะนำไปมอบให้คนอื่นแล้วแค่ไหน หรือนำไปตามมารยาท นำไปตามธรรมเนียม นำไปเพราะมีอยู่แค่นี้ แต่กลับไม่รู้เลยว่าสิ่งนั้นคืออะไร มีความหมายใด สำคัญอย่างไร และเกี่ยวโยงกับตัวเองอย่างไร

ส่วนคำว่า “เรียนรู้” นั้น ผมเองก็ได้ขมวดปมในเวทีก่อนอย่างหนักแน่นแล้วประมาณว่า “การเรียนรู้คือหัวใจของการใช้ชีวิตและเป็นหัวใจของการเติบโต” โดยเริ่มจากเรียนรู้ตัวเอง เพื่อนในทีมไปจนถึงเพื่อนต่างสถาบัน และเมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรมต้องตอบให้ได้ว่าได้เรียนรู้อะไร เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงสร้างสรรค์อย่างไรกับตัวเองและทีม เพราะนั่นคือ “ผลลัพธ์ของการเรียนรู้” ที่ควรต้องรู้






ไทย-ลาว : การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑

ก่อนการบรรยายพิเศษเรื่อง “ไทย-ลาวสัมพันธ์ : การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑” โดย ผศ.ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา (ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต) ทีมงานฯ ขยับออกมาหน้าเวทีอีกรอบ เพื่อทำการสะท้อนผลการเรียนรู้ในเวทีครั้งที่ผ่านมาที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๙ เพื่อตอกย้ำความรู้และเชื่อมประสานและปักหมุดความเข้าใจให้หนักแน่นมากยิ่งขึ้น จากนั้นจึงเป็นช่วงแห่งการหนุนเสริมองค์ความรู้แก่นิสิตในหัวเรื่อง “ไทย-ลาวสัมพันธ์ : การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑”

ทว่าในความเป็นจริง ผศ.ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา ก็มิได้พุ่งไปยังประเด็นดังกล่าวเสียทั้งหมด หากแต่ค่อยๆ ปูพรมเสริมสร้างความรู้ที่หลากหลายแก่นิสิตและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เป็นต้นว่าการชวนคิดชวนคุยในเรื่องอื่นๆ เช่น ...

ภาพรวมกิจกรรมหลักในโครงการสานสัมพันธ์มิตรภาพไทย-ลาว ครั้งที่ ๑๓

  • กิจกรรมบริการสังคม : บำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชน (โรงเรียน)
  • กิจกรรมทัศนศึกษา : เรียนรู้บนฐานศิลปวัฒนธรรมประจำชาติและท้องถิ่น
    (วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรวิหาร,พิพิธภัณฑ์บ้านจ่าทวี,โรงหล่อพระบูรณะไทย
  • กิจกรรมเผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรม : การแสดงดนตรี นาฏศิลป์ การขับร้อง ฯลฯ บนเวทีกลาง ณ ถนนคนเดิน



ผศ.ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา (ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต)




วลี/วาทกรรมในโครงการสานสัมพันธ์มิตรภาพไทย-ลาว ครั้งที่ ๑๓

  • เรียนรู้คู่บริการ เรียนรู้แบบมีส่วนร่วม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทีม : บำเพ็ญประโยชน์
  • เผยแพร่ แลกเปลี่ยน Show & Share : การแสดงศิลปะและวัฒนธรรม
  • เรียนรู้ ชุมชนคือคลังความรู้ ไม่มีที่ใดปราศจากความรู้และการเรียนรู้ : ทัศนศึกษา
  • เรียนรู้บนฐานวัฒนธรรม : นาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ หัตถศิลป์ คติชนวิทยา ศาสนา
  • CBL : โรงเรียน วัด พิพิธภัณฑ์ ถนนคนเดิน มหาวิทยาลัย / ตัวตนของแต่ละสถาบัน


เป้าประสงค์การพัฒนานิสิต (เรียนรู้เพื่อกลับเข้าสู่ตัวเอง)

  • การศึกษาเพื่อรับใช้สังคม : เพราะมหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
  • พหูนํ ปญฺทิโต ชีเว : ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน
  • เอกลักษณ์มหาวิทยาลัยฯ : เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน
  • อัตลักษณ์นิสิต : เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน


นักเรียนรู้ในนิยามการเป็นนิสิต “มมส”

  • เป็นนักออกแบบการเรียนรู้ (Facilitator) เช่น เป็นนักจัดการความรู้ เป็นนัก “สอนงาน สร้างทีม” : บริหารจัดการองค์กรแบบมีส่วนร่วม และการสอนงาน (Coaching)
  • เป็นนักเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เช่น ตื่นตัวและเรียนรู้ตลอดเวลา (Lifelong Learning) เป็นผู้นำโดยการเรียนรู้สั่งสม (Leader by training) เพื่อก่อให้เกิดความรู้และทักษะ
  • เป็นนักเรียนรู้ที่มีความรู้ (Knowledge) ทั้งในมิติของวิชาชีพ (Hard skill) และทักษะชีวิต (Soft skill)
  • เป็นนักเรียนรู้คู่บริการ เพื่อก่อให้เกิดหลักคิดการเป็น “ผู้ให้” และ “ผู้รับ” อย่างถูกต้อง และมุ่งการเรียนรู้แบบไม่แยกส่วน บนหลักคิด “ชุมชน ไม่ใช่ภาชนะที่ว่างเปล่า” หรือ “ไม่มีที่ใดปราศจากความรู้ และการเรียนรู้”
  • เป็นผู้นำและผู้ตามที่กล้าคิดกล้าทำและกล้ารับผิดชอบ เช่น มุ่ง “คิดและทำ” ในสิ่งที่คิดฝันเพื่อก่อให้เกิดระบบและทักษะการเรียนรู้อย่างเป็น “ทีม” ผ่านการปฏิบัติจริง (Action Learning) และการลงมือทำ (Learning by doing)
  • เป็นนักถอดบทเรียน เช่น ยึดมั่นหลักคิดในแบบ “ผิดเป็นครู” และ “ปัญญาปฏิบัติ” ผ่านการสะท้อนบทเรียน (Reflection) ถอดบทเรียน (lesson learned) บนความสำเร็จและล้มเหลว






ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑


กรณีประเด็นการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ นั้น ผศ.ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา ได้หยิบยกองค์ความรู้ของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช (3Rs + 8Cs + 2Ls) มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนิสิต โดยเฉพาะทักษะที่ดูเหมือนจะเกี่ยวโยงกับกิจกรรมในครั้งนี้เป็นพิเศษ เช่น

  • Critical Thinking & Problem Solving ทักษะด้านการคิดวิเคราะห์และการแก้ไขปัญหา
  • Creativity & Innovation ทักษะด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม
  • Collaboration, Teamwork & Leadership ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ
  • Cross-cultural Understanding ทักษะด้านความเข้าใจทางวัฒนธรรมที่แตกต่าง
  • Change ทักษะการเปลี่ยนแปลง
  • Leadership ทักษะด้านภาวะผู้นำ



ครับ-นี่เป็นส่วนหนึ่งในเวทีการปฐมนิเทศดังกล่าว แทนที่จะมาพร่ำพูด หรือสอนถึงแนวปฏิบัติที่เป็นกฎกติกา การตื่นนอน การขึ้นรถ การกินการอยู่ การฝึกซ้อม วินัยนิสิต หรือการทวนซ้ำหน้าที่ของแต่ละคนเพียงอย่างเดียว แต่ผมและทีมงานปลงใจร่วมกันในการปรับแต่งเวทีการปฐมนิเทศให้เป็นเวทีแห่งการเติมเต็ม “เครื่องมือการเรียนรู้” แก่นิสิต เสมือนการติดอาวุธทางปัญญา หรือการติดอาวุธทางความคิดให้แก่นิสิตไปในตัว เพราะอย่างน้อยเมื่อนิสิตเดินทางสู่ถนนและสภาวะของการเรียนรู้อันหลากมิติ นิสิตจะได้มีเครื่องมือปรับใช้ต่อการเรียนรู้นั้นๆ ได้อย่างเท่าทัน

ค่อยติดตามตอนต่อไป นะครับ....



ภาพ : Kamonrat Leethahan


หมายเลขบันทึก: 600578เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2016 12:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2016 12:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

คิดถึงไทย ลาว สัมพันธ์ ปีนี้ ไม่มีโอกาสได้เข้าร่วม ขอบคุณท่านพี่ ที่กรุณา ลปรร.และถอดบทเรียนอันทรงคุณค่า ทั้งเชื่อมโยงสู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างแจ่มชัด ที่ ขอนแก่น ยังขาดกระบวนการเชื่อมโยงกิจกรรมสู่การเรียนรู้ในศตวรรตที่ 21 หรือแม้แต่การถอดบทเรียนจากการเข้าร่วม คงต้องขออนุญาต"เรียน" และ "เลียน" จากท่านพี่นะครับ

ด้วยระลึกถึงครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท