ขับเคลื่อน PLC เทศบาลเมืองมหาสารคาม _๔๑ : PLC เทศบาลบ้านวิทย์น้อย ร.ร. เทศบาลสามัคคีวิทยา


วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ CADL เข้าพื้นที่โรงเรียนเทศบาลสามัคคี ไปร่วมวง PLC เทศบาลบ้านวิทย์น้อย กับคณะครูระดับปฐมวัยจากทั้ง ๗ โรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองมหาสารคาม เยี่ยมชมการทำการทดลองบ้านวิทยาศาสตร์น้อย ของโรงเรียนเทศบาลสามัคคี ครั้งนี้พิเศษตรงที่ ผมได้เชิญ ผศ.ดร.อุฤทธิ์ เจริญอินทร์ นักฟิสิกส์รุ่นใหม่ไฟแรง ไปคุยกับครูและเด็กปฐมวัย เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กๆ และอยากฟังความเห็นของนักวิทยาศาสตร์ตัวจริง เกี่ยวกับกระบวนการปลูกฝังจิตวิทยาศาสตร์ที่เรากำลังขับเคลื่อน


กิจกรรมการทดลองบ้านวิทยาศาสตร์น้อยของโรงเรียนเทศบาลสามัคคี ใช้วีธีจำลองเป็นเหมือน "ฐานการเรียนรู้" ขึ้นในแต่ละห้องเรียน แล้วให้นักเรียน แล้วให้นักเรียนเวียนเข้าไปทำการทดลอง ซึ่งจัดกระบวนการแบบเต็มวัน ในวันถัดมา (๒๘ พ.ย. ๕๙) ... เสียดาย ที่ผมไม่อาจไปร่วมงานได้ ...

การเยี่ยมการทดลองที่บ้านวิทยาศาสตร์น้อย ที่โรงเรียนเทศบาลสามัคคี มีประเด็นใหม่ ที่ควรนำมาบันทึกไว้ให้นำไปพิจารณา ๒ ประเด็น ได้แก่ ๑) บทบาทของครูกัลยาณมิตรผู้มาเยี่ยม และ ๒) กิจกรรมนั้นเป็นงานประดิษฐ์หรือเป็นการทดลองบ้านวิทยาศาสตร์น้อย

บทบาทของเพื่อนครูผู้มาเยือน

บทบาทของผู้มาเยือนที่คุ้นเคยหรือเคยเห็นกันทั่วไป คือ การเข้าไปสังเกตการณ์การสอนแบบที่ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปนิเทศเพื่อนครูหรือ เหมือนที่ครูเข้าไปนิเทศนิสิตฝึกสอน ลักษณะการนิเทศแบบนี้ ครูจะจัดโต๊ะเก้าอี้เตรียมให้ผู้มาเยี่ยมเข้าไปนั่งสังเกตและประเมินด้วยเครื่องมือนิเทศต่างๆ

อีกบทบาทหนึ่ง ผู้มาเยือนเป็นเหมือนเพื่อน เป็นกัลยาณมิตรร่วมสอน หรือเข้าไปนั่งสังเกตจดบันทึกสิ่งที่เห็นเพื่อสะท้อนให้ผู้สอนได้พิจารณาว่า บรรยายกาศหรือการตอบสนองของนักเรียนเป็นอย่างไร ซึ่งจะส่งผลให้การพัฒนาการเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

บทบาทของ "ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์" หรือที่เราเรียกว่า PLC ควรจะเป็นแบบอย่างหลัง คือ ครูผู้มาเยือน เข้าไปฟัง สังเกต และเรียนรู้จากครูผู้สอนเจ้าของห้องเรียน และสะท้อน (Reflection) หรือป้อนกลับ (Feedback) ข้อสังเกตหรือสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ให้ครูผู้สอนใช้ในการปรับปรุงการสอนต่อไป

ดังนั้น ในเบื้องต้น ครูผู้มาเยือน ควรจะมีบทบาทเป็นผู้สังเกต โดยไม่ต้องมีการประเมินตัดสินใดๆ แค่เพียงสังเกต บันทึก แลกเปลี่ยนด้วยความหวังดี เอาใจช่วย เชียร์ และเมื่อสังเกตพบว่า บรรยายกาศเป็นไปอย่างไม่เป็นธรรมชาติ เกร็ง เครียด ประหม่า เป็นเวลานาน ครูผู้มาเยือนควรจะเปลี่ยนบทบาทเป็นเพื่อนร่วมสอนทันที เพื่อแลกเปลี่ยนวิธีการที่ได้ผลของตนเองบ้าง และเมื่อบรรยายกาศดีขึ้น ค่อยคืนบทบาทให้ครู กลับมาเป็นผู้สังเกตตามเดิม





งานประดิษฐ์หรือการทดลองบ้านวิทย์น้อย

กิจกรรมฐานการเรียนรู้ที่ครูเทศบาลสามัคคีพาเด็กๆ ทำ ส่วนใหญ่ก็คล้ายกับการทดลองของโรงเรียนที่ผ่านมา เช่น ลูกข่างหลากสี ความลับของสีดำ สีเต้นระบำ การละลายของน้ำตาล ฯลฯ แต่มีฐานการเรียนรู้หนึ่งที่เป็นกิจกรรมทำ "ผีเสื้อ" โดยใช้สีน้ำจากหลอดไปประทับบนกระดาษ ก่อนจะพับ และจับตัดคลี่ให้กลายเป็นเหมือนผีเสื้อกำลังบิน ซึ่งกิจกรรมนี้ไม่มีในการทดลองของบ้านวิทยาศาสตร์น้อยที่แปลมาจากต้นฉบับที่เป็นภาษาเยอรมัน

คำถามนี้ กิจกรรมงานประดิษฐ์ งานศิลปะ หรืองานคหกรรม สามารถนำมาทำเป็นกิจกรรมส่งเสริมหรือปลูกฝังจิตวิทยาศาสตร์ เหมือนการทดลองของโครงการบ้านวิทย์น้อยได้หรือไม่

คำตอบ คือ ต้องพิจารณาว่า กิจกรรมนั้น ทำให้นักเรียนได้ฝึกทักษะทางวิทยาศาสตร์ตามกระบวนการ ๖ ขั้นตอนที่เรากล่าวถึงหรือไม่ มีการ

ทำให้สงสัย

  • ชวนให้คิดหาคำตอบ
  • พาตรวจสอบคำตอบนั้น
  • ให้แบ่งเปันอธิบาย
  • ให้ระบายบันทึก
  • ให้ฝึกสรุปผล

หรือไม่? ถ้าใช่ ก็ไม่มีปัญหาอะไร สามารถสร้างกิจกรรมหรือการทดลองใหม่ๆ ได้อยู่แล้ว





ขอบคุณท่าน ผอ.พัชรี และคุณครูโรงเรียนสามัคคีฯ ทุกท่านครับ ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีเช่นเคยครับ

หมายเลขบันทึก: 599888เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2016 00:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มกราคม 2016 15:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท