อาจารย์ป๋วย บุคคลผู้ถึงด้วย ความจริง ความงาม ความดี


ในปี ๒๕๕๙ แห่ง ๑๐๐ ปีชาตกาลของ "อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์" อดึตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ข้าพเจ้าในฐานะอดีตพนักงานของสถาบันแห่งนี้ ขอร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยและองค์กรภาคีต่างๆ น้อมรำลึกถึงท่าน ด้วยการนำบทปาฐกถาพิเศษ ของคุณประทีป สนธิสุวรรณ (นักเรียนทุนรุ่นแรกของธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย) ที่ได้กล่าวไว้เนื่องในวันครบรอบวันเกิด ๖๕ ปี ของอาจารย์ป๋วย ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๔ มาบันทึกไว้ในวาระนี้ ด้วยความเคารพรักอย่างยิ่ง ซึ่งข้าพเจ้ามีความเห็นว่า สาระส่วนใหญ่ในปาฐกถาพิเศษนี้ แม้กาลเวลาจะผ่านล่วงเลยมาเกือบ ๓๕ ปีแล้ว แต่แนวนโยบายการเงินการคลังของท่าน และคุณธรรมในการปฏิบัติงาน ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้บังเกิดผลดีกับบ้านเมืองในปัจจุบันในหลายๆเรื่อง..

แนวนโยบายการเงินการคลังของดร.ป๋วย

" ทุกครั้งที่นึกถึงอาจารย์ป๋วย ผมเองก็อดสลดใจไม่ได้ว่าทำไมหนอ คนที่ตั้งหน้ารับใช้บ้านเมือง อุทิศร่างกาย จิตใจ ใช้สมอง สติปัญญาอันปราดเปรื่อง ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต หาคนเทียบยากอย่างอาจารย์ป๋วย จึงต้องประสบชะตากรรมบั้นปลายชีวิตอย่างน่าหดหู่ใจ ถูกคนป้ายสี โจมตี เข้าใจผิดสารพัด และในที่สุด ร่างกายประสบโรคภัยไข้เจ็บ

ในขณะเดียวกัน ผมจะปลอบใจตนเอง โดยนึกถึงผลงานของท่าน ซึ่งถึงจะมีผู้พยายามบิดเบือนสารพัด แต่กาลเวลา ได้เป็นเครื่องพิสูจน์อาจารย์ป๋วยแล้วว่า ได้ก่อประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะในฐานะเสรีไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ที่เก่งที่สุดคนหนึ่งในหลังสงครามโลก นักเศรษฐศาสตร์ที่ช่วยให้ประเทศพัฒนามาโดยมีเสถียรภาพในช่วงปี ๒๔๙๒-๒๕๑๕ คือ ๒๓ ปีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในบ้านเมืองเรา

ผมพูดอย่างนี้ เสมือนว่า อาจารย์ป๋วย เป็นผู้วิเศษ ความจริงแล้ว อาจารย์ป๋วยไม่ใช่ผู้วิเศษ แต่เป็นผู้ที่หายาก แนวนโยบายการเงินการคลังของอาจารย์ป๋วย มิใช่มีลักษณะวิเศษ แต่หาข้อเปรียบเทียบได้ยาก แนวนโยบายการเงินการคลังของอาจารย์ป๋วย ไม่ใช่แหวกแนว สลับซับซ้อนอะไรมาก แต่เป็นนโยบายที่เหมาะสมกับประเทศไทยเรา เพราะอาจารย์ป๋วยเข้าใจระบบเศรษฐกิจไทยเราอย่างลึกซึ้ง และมีความสามารถที่จะให้เหตุผล ชักชวนผู้ปกครองบ้านเมืองและเพื่อนร่วมงาน เห็นความจำเป็นในการดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยใช้หลักวิชาการ และที่สำคัญคือ ผู้ปกครองบ้านเมืองอย่าง จอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม ให้โอกาสคนอย่างอาจารย์ป๋วยที่จะได้ทำงานตามกำลังความสามารถ เมื่อโอกาสมี บุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในระบบเศรษฐกิจและปัญหาเศรษฐกิจบ้านเมืองแบบไทยๆเราอย่างอาจารย์ป๋วย สามารถวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจของบ้านเมืองได้

พูดอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่า ใครๆก็ทำได้ เพราะเพียงแต่ความสามารถที่จะชักจูงรัฐบาล และเพื่อนร่วมงาน ให้เห็นดีเห็นงาม ในสิ่งที่จะทำ และให้ความร่วมมือช่วยกันทำ พอจะมองเห็นว่า นักเศรษฐศาสตร์ หรือนักปกครอง มีกี่คนในประวัติศาสตร์ไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่มีคุณสมบัติเช่นนี้

จอห์น เมนาร์ด เคนส์ ปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่ง กล่าวไว้ว่า "การเรียนเศรษฐศาสตร์ ดูไปก็ไม่น่าต้องใช้สติปัญญาวิเศษพิศดารอะไร แต่จะหานักเศรษฐศาสตร์ที่ดีหรือแม้แต่จะพอใช้งานได้ เหมือนงมเข็มในท้องทะเล เป็นวิชาที่ง่าย แต่น้อยคนนักที่ซาบซึ้งดี."

หากเป็นเช่นนี้แล้ว จะหาคนที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ดี และสามารถใช้วิชาการเป็นประโยชน์ แก่บ้านเมืองมหาศาล เป็นทั้งผู้ควบคุมนโยบายการคลังคือ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (พ.ศ.๒๕๐๑-๒๕๐๓) ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง (พ.ศ.๒๕๐๓-๒๕๐๕) และผู้ควบคุมนโยบายการเงินของประเทศคือ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (พ.ศ.๒๕๐๕-๒๕๑๓) และผู้เป็นกำลังสำคัญของการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศฉบับแรกด้วย

นโยบายเป็นเครื่องมือ

ความจริงนโยบายการเงินการคลัง เป็นเครื่องมือเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ในการพัฒนาประเทศ และแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ดังนั้นเราน่าจะลองวิเคราะห์แนวคิดของอาจารย์ป๋วยที่ระบุไว้ในการประชุมนานาชาติ เมื่อปี ๒๕๐๖ คือ " ส่งเสริมให้ประชาชนอยู่ดี กินดีพอสมควร และให้สังคมและชุมชนนั้น มีคุณภาพและสวัสดิภาพสูงขึ้น " และได้ระบุหน้าที่ของรัฐบาลไว้อย่างชัดเจน ๗ ข้อ คือ

๑. การรักษาความสงบเรียบร้อย และเสถียรภาพ

๒.การบริหารที่มีสมรรถภาพ และเห็นอกเห็นใจราษฏรในด้านต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง

๓.บริการขั้นพื้นฐานประเภทต่างๆ ซึ่งรวมทั้งการสนเทศการค้าอันทะมัดทะแมง การส่งเสริมการเกษตรด้วยสมรรถภาพ และการอบรมด้านการอุตสาหกรรม

๔.นโยบายอันเหมาะสม เพื่อสร้างสรรและดำรงไว้ซึ่งโอกาสการประกอบอาชีพ

๕.เฉลี่ยรายได้และทรัพย์สินให้ทั่วถึงกัน ด้วยวิธีการคลังและสังคมสงเคราะห์

๖.มุ่งงานพัฒนาโดยเน้นให้ได้ประโยชน์แก่หมู่ชนที่ยากไร้

๗.ลงทุนในการสร้างสรรทรัพยากรมนุษย์ ด้วยวิธีโภชนาการและการศึกษา

นโยบายการคลังและนโยบายการเงิน เข้ามามีส่วนที่จะให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตโดยมีเสถียรภาพ กล่าวคือ ถ้าเศรษฐกิจขยายตัวเร็วเกินไป จะเกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม ขยายตัวเร็วเกินไป เกิดปัญหาขาดแคลนเงินทุน ขาดดุลการชำระเงิน ฯลฯ ขยายตัวช้าเกินไป ไม่สามารถทำให้ประชาชนมีกินมีใช้ได้ในเวลาอันสมควร

นโยบายการคลังและการเงินเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมปริมาณเงิน ให้เหมาะสมกับความต้องการของกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ ปริมาณเงินมากเกินไปทำให้เงินเฟ้อ ปริมาณเงินน้อยเกินไปเกิดปัญหาเงินตึงตัว เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ทั้งเงินฝีดและเงินเฟ้อเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเกิดความไม่แน่นอน ขาดเสถียรภาพ

นโยบายการคลังนั้น นอกจากจะช่วยให้รัฐบาลมีรายได้มาใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาประเทศ ยังช่วยเรื่องการกระจายรายได้ให้มีความเป็นธรรมยิ่งขึ้นในสังคม ในลักษณะที่ว่า " คนมีน้อยรัฐควรช่วยมาก" อย่างที่อาจารย์ป๋วยเคยพูดถึงคำกล่าวนี้ของประธานาธิบดี รามอน แมกไซไซ

สรุปแล้ว อาจารย์ป๋วย ใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลัง เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างและรักษาเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจ ความจริงหลักการที่อาจารย์ป๋วยใช้ ท่านเรียกว่าทฤษฏีบอลลูน หรือทฤษฏีลูกโป่ง บางครั้งเรียกว่าทฤษฏีสูบเข้าสูบออก โดยถือว่าในระบบเศรษฐกิจนั้นจะมีปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงอยู่ ๓ ตัว คือ

๑.ปั๊มการคลัง สูบเข้าสูบออกเป็นรายได้-รายจ่าย

๒.ปั๊มการเงินระหว่างประเทศ มีการชำระเงินเข้าประเทศ และเงินไหลออกนอกประเทศ ซึ่งมีผลสุทธิคือดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ

๓.ปั๊มการเงินภายในประเทศ คือการขยายเครดิตของระบบธนาคาร ถ้าขยายเข้าระบบมาก ลูกโป่งจะโต เงินจะเฟ้อ ลูกโป่งจะลอย

ทั้งสามด้านคือ ด้านการคลัง ด้านการเงินระหว่างประเทศ ด้านการเงินภายในประเทศ ต้องใช้มาตรการการคลังและด้านการเงินให้เหมาะสม เพื่อให้ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจมีอยู่อย่างเหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อหรือเงินฝืดขึ้น หากในขณะใดมีปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศมากระทบ ทำให้เสียเสถียรภาพไป จะต้องใช้มาตรการคือ เครื่องมือในปั๊มแต่ละตัวให้ถูกต้อง แก้ไขสถานการณ์กลับไปอยู่ในภาวะเสถียรภาพพอสมควร

แนวความคิดดังกล่าว มีผลให้อาจารย์ป๋วย ประสบความสำเร็จในการรักษาเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๐๐-๒๕๑๕ กล่าวคือ อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ย ซึ่งได้แก่ ค่าครองชีพ เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ ๒-๓ ต่อปี อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ ๘ โดยเฉลี่ย เรียกได้ว่าเศรษฐกิจขยายตัวโดยมีเสถียรภาพพอสมควร ในขณะเดียวกันอาจารย์ป๋วยใช้นโยบายดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำเพื่อให้เกิดการลงทุนและการขยายกิจการอุตสาหกรรม รวมทั้งเพื่อให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและการส่งออกค่อนข้างต่ำ ทำให้แข่งขันสินค้าในตลาดโลกและประเทศคู่แข่งขันได้ เศรษฐกิจไทยจึงเรียกได้ว่าเป็นเศรษฐกิจที่มีการส่งออกเป็นตัวผลักดันให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอัตราที่สูงพอสมควร...

ทั้งหมดนี้ ต้องอาศัยศิลปะในการดำเนินนโยบายอย่างมาก รวมทั้งคุณธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ ถือสุจริตธรรมเป็นที่ตั้ง และได้แสวงหาวิธีไม่ให้ภาคการเมืองเข้ามาแทรกแซงการปฏิบัติงานของข้าราชการในทางมิชอบ เช่น ในบางกรณีของโครงการขนาดใหญ่ อาจารย์ป๋วยได้เลือกการกู้เงินจากธนาคารโลก ซึ่งมีวิธีควบคุมการเบิกจ่ายเงินที่ได้มาตรฐานและโปร่งใส เป็นต้น พร้อมทั้งทำตนเป็นแบบอย่าง และได้ชักชวนให้ผู้ร่วมงานและข้าราชการปฏิบัติตาม เพื่อเกิดขวัญและกำลังใจในการทำงานอย่่างมั่นคงและยั่งยืน...."

โปรดอ่านเพิ่มเติมที่บันทึกนี้..คลิ๊กที่ :

https://www.gotoknow.org/posts/590994

และที่บันทึกนี้..คลิ๊กที่ :

https://www.gotoknow.org/posts/548070


...........................................................................................................................................

ภาพจาก :๑.ธนาคารแห่งประเทศไทย

๒.หนังสือสมุดภาพอาจารย์ป๋วย (๒๕๓๑)


หมายเลขบันทึก: 599848เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2016 17:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มกราคม 2016 15:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณบันทึกดีๆ ถึงคนดีๆครับ พี่ใหญ่

I don't know much about him as an economist but I beleive Thailand need more like him as a role model - one truely "the Thai of the 20th Century".

อ่านตั้งแ่ตอนแรกๆแลชอบใจ ความจริง ความงาม ความดี

สมัยก่อนที่ท่านกลับมา

ทางมูลนิธิโกมล คีมทองเคยเชิญมาพูด

ประทับใจศิลปะการทำงานของท่าน "ในบางกรณีของโครงการขนาดใหญ่ อาจารย์ป๋วยได้เลือกการกู้เงินจากธนาคารโลก...ซึ่งมีวิธีควบคุมการเบิกจ่ายเงินที่ได้มาตรฐานและโปร่งใส เป็นต้น พร้อมทั้งทำตนเป็นแบบอย่าง และได้ชักชวนให้ผู้ร่วมงานและข้าราชการปฏิบัติตาม เพื่อเกิดขวัญและกำลังใจในการทำงานอย่่างมั่นคงและยั่งยืน....".ขอบคุณมากๆครับ

ดีใจที่หลานได้รับรู้เรื่องราวหนหลังจากบุคคลวงในเช่นคุณป้าใหญ่ เรื่องดีงามเป็นรากฐานสำคัญของประเทศเราวันนี้นะคะ

ขอบพระคุณความจริง ความดี ความงามจากทั้งคุณป้าใหญ่และคุณลุงนะคะ

ขอบพระคุณพี่ใหญ่มาก ๆ นะครับ ที่เขียนเรื่องราวดี ๆ และมีคุณค่ามาก ๆ ...ท่านอาจารย์ป๋วยท่านเป็นต้นแบบความดีงาม และทรงคุณค่าของเมืองไทยมากครับ

  • โอ๋-อโณ
  • ขจิต ฝอยทอง
  • sr
  • Wasawat Deemarn
  • วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--
  • หยั่งราก ฝากใบ
  • ธิ
  • คนใต้โดยภรรยา
  • ทิมดาบ
  • พ.แจ่มจำรัส
  • วินัย เจริญเฉลิมศักดิ์ (น.ม.)
  • สวัสดีค่ะ ขอบคุณมากสำหรับกำลังใจมอบแก่บันทึกรำลึกถึงคนดีอย่างท่านอาจารย์ป๋วยค่ะ
  • น้องพ.แจ่มจำรัส...ประเทศไทยยังต้องการคนดีที่เป็นแบบอย่างเช่นนี้อีกมากค่ะ
  • น้องsr...ท่านทำให้ดู อยู่ให้เห็น สร้างแรงบันดาลใจดีๆให้ปรากฏในแผ่นดินไทยค่ะ
  • น้องดร.ขจิต...ยินดีมากที่มาเล่าว่าได้เคยสัมผัสตัวตนของท่านมาแล้วค่ะ
  • หลานทพญ.ธิรัมภา....มีความสุขอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนเผยแพร่ชีวิตและงานของท่านอาจารย์ป๋วยค่ะ
  • น้องหมออนามัยทิมดาบ...ดีใจมากค่ะที่มาร่วมรำลึกถึงอาจารย์ป๋วย ผู้เปรียบประดุจบิดาที่น่าเดินตามรอยในการทำคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองเช่นนี้
  • ..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/599848
    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท