เรื่องเล่าจากหน้างาน : ตอน ผู้ป่วยไม่ทาน – ทำอย่างไรดี


เรื่องเล่าจากหน้างาน : ตอน ผู้ป่วยไม่ทาน – ทำอย่างไรดี

นสค.กุลนิษฐ์ ดำรค์สกุล นักสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

ปัญหาที่ผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย ต้องพบเจอบ่อยๆ คือ ปัญหาผู้ป่วยไม่รับประทานอาหาร ผู้ป่วยบางคนไม่ยอมรับประทานอะไรเลย แม้แต่อาหารเสริมละลายน้ำก็ไม่ทาน การไม่ทานอะไรเลย หรือการรับประทานอาหารน้อยเกินไป ก่อให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ ส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลง เมื่อน้ำหนักลดลงมากๆ ร่างกายไม่มีอาหารบำรุง ภูมิคุ้มกันก็ต่ำ ไม่สามรถรักษาได้ตามแผน ต้องหยุดการรักษาแล้วกลับไปเพิ่มน้ำหนักให้ได้มากพอที่จะรักษาต่อได้ เนื่องจากการรักษามะเร็งแผนปัจจุบัน หนีไม่พ้นการให้ยาเคมีบำบัด การให้รังสีรักษา และการผ่าตัด ซึ่งต้องอาศัยภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงในระดับหนึ่ง ไม่เช่นนั้น ร่างกายจะไม่สามารถต้านทานได้ ดังนั้นการหยุดทุกอย่างแล้วกลับไปเพิ่มน้ำหนักให้มากขึ้น เท่ากับว่าการยืดระยะเวลาการรักษาออกไป เป็นการเปิดโอกาสให้เนื้อร้ายขยายตัวได้เร็วขึ้นกว่าเดิม

การไม่รับประทานอาหารของผู้ป่วย นอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพกายแล้ว ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตทั้งของตัวผู้ป่วยเองและสุขภาพจิตของผู้ดูแล อีกทั้งยังเป็นหนึ่งสาเหตุหลักของปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและผู้ดูแลอีกด้วยโดยเฉพาะผู้ดูแลที่เป็นญาติสนิทของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นภรรยา สามี พ่อแม่ ลูก พี่น้อง ฯลฯ สถานภาพของความเป็นญาติสนิท จะมีระดับความผูกพันแปรผันตามกันกับระดับความคาดหวังของผู้ดูแล เรียกว่ายิ่งมีความผูกพันใกล้ชิดกันมากเท่าไหร่ ระดับความคาดหวังยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น หนำซ้ำความคาดหวังของความสัมพันธ์ประเภทนี้ มักพ่วงเอาความรัก ความห่วงใย ความหวังดี ของผู้ดูแลที่มีต่อผู้ป่วยตามมาด้วย ยิ่งรักมาก ยิ่งหวังดีมาก เมื่อหวังดีมาก ก็จะยิ่งทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ ทำทุกสิ่งทุกอย่างที่คิดเอาเองว่าเป็นประโยชน์กับผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยหายเร็วๆ แข็งแรงไวๆ จะได้อยู่ด้วยกันไปนานๆ

และแน่นอน คนเรา ยิ่งทุ่มเทให้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งหวังผลตอบแทนมากขึ้นเท่านั้น ผู้ดูแลก็เช่นกัน ยิ่งทุ่มเทมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งคาดหวังว่าผู้ป่วยจะรับได้มากเท่านั้น แต่ผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย ไม่สามารถรับทุกสิ่งทุกอย่างได้เหมือนคนปกติ ด้วยตัวโรคทำให้ร่างกายของผู้ป่วยกลุ่มนี้ค่อยๆเสื่อมสภาพลงไปเรื่อยๆ การทำงานของอวัยวะทุกระบบจะค่อยๆลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง ระบบทางเดินอาหารก็เช่นกัน การดูดซึมและการย่อยอาหารจะทำงานได้ไม่ดีเหมือนคนปกติ ทุกครั้งที่กลืนอะไรลงคอ ผู้ป่วยจึงมักจะเกิดอาการจุกแน่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน และสารพัดอาการไม่พึงประสงค์

และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยไม่ยอมรับประทานอาหาร

อาหารที่ผู้ดูแลทำอย่างสุดฝีมือ

อาหารที่ผู้ดูแลเสาะหามาอย่างยากลำบาก

อาหารที่ผู้ดูแลเชื่อว่าจะช่วยให้ผู้ป่วยแข็งแรง และมีชีวิตอยู่กับผู้ดูแลไปได้อีกนานๆ

และเมื่อทุ่มเททำก็หวังว่าผู้ป่วยจะกิน เมื่อผู้ป่วยไม่กิน ก็ผิดหวัง เมื่อผิดหวังบ่อยครั้งเข้า ก็เสียใจ ...

อาการของคนเสียใจ มีได้หลายอย่าง นับตั้งแต่ ประชดประชัน เหน็บแนม กระฟัดกระเฟียด กระแทกกระทั้น ทำหมางเมิน มองหางตา ไม่มองหน้า ไม่พูดด้วย เมินเฉย ไม่สนใจไม่ใยดี เรื่อยไปจนถึงบ่นด่า (แต่คงไม่น่าจะถึงขั้นทุบตี)

อาการหนักที่สุดที่นักสังคมสงเคราะห์เคยเจอ คือ ผู้ดูแลร้องไห้ฟูมฟาย .. บางคนฟูมฟายเวิ่นเว้อติดต่อกันหลายวัน คือ เมื่อวานฟูมฟายใส่คนไข้ไม่พอ วันนี้ยังมาฟูมฟายใส่นักสังคมสงเคราะห์ต่ออีก บางคนฟูมฟายหนักมาก ร้องไห้คร่ำครวญไม่หยุด ญาติคนไข้บางคนกอดคอนักสังคมฯ ร้องไห้นานกว่าครึ่งชั่วโมง _ สาเหตุแค่ชงนมให้แล้วคนไข้หันหน้าหนี

นักสังคมสงเคราะห์ได้สอบถามว่าแล้วเราได้ถามคนไข้ไหมว่า ทำไมจึงหันหน้าหนี

คำตอบคือ ไม่ได้ถาม ร้องไห้เลย...

คนไข้ท่านหนึ่งเล่าว่า ภรรยาขยันทำอาหารต้านมะเร็งให้ทานทุกวัน ทานน้อยก็ไม่ได้ ต้องทานเยอะๆ ทานให้หมด ไม่เช่นนั้น คนทำจะเสียใจ ทุกมื้อจะต้องตบท้ายด้วยน้ำผักชีวจิต ทีนี้คนไข้ทานอาหารเข้าไปแล้วในปริมาณมากตามใจภรรยา พอนำน้ำชีวจิตมาตั้ง คนไข้จึงไม่ทาน คุณภรรยาก็คะยั้นคะยอให้ทาน พอทานเข้าไปมากๆเข้า คนไข้ก็จุกแน่น คุณภรรยาก็ถามว่าเป็นอะไร คนไข้ก็ตอบไปตามตรงว่า "กินไม่ลง" เท่านั้นแหละ คุณภรรยาถึงกับปล่อยโฮ

นักสังคมสงเคราะห์ ได้ถามคนไข้ว่า คุณภรรยาได้สอบถามก่อนไหมว่าทำไมเราจึงกินไม่ลง

คำตอบคือ ไม่ถาม .. ไม่ถามซักคำ .. ร้องไห้อย่างเดียว

สรุปคือ ทั้งสอง case ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น ไม่มีใครถามคนป่วยสักคำว่าทำไมจึงหันหน้าหนี ทำไมถึงกินไม่ลง

เช่นเคย นักสังคมสงเคราะห์อย่างเรา มักจะแนะนำให้ผู้ดูแลเป็นผู้ปรับตัวเข้าหาผู้ป่วยมากกว่า เนื่องจากมีความพร้อมทางร่างกายและทางจิตใจมากกว่าผู้ป่วย ดังนั้น เพื่อรักษาสัมพันธภาพระหว่างกัน และ เพื่อให้ความรักความหวังดีของผู้ดูแลไม่ต้องเสียเปล่า นักสังคมสงเคราะห์ มีคำแนะนำ สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยไม่ยอมรับประทานอาหาร ดังนี้

1. ผู้ดูแลต้องปรับการรับรู้ของตนเองใหม่

ข้อมูลจากการประชุมด้านการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายครั้งหนึ่ง ยืนยันว่า อาการเบื่ออาหารของผู้ป่วยเป็นการเริ่มต้นปิดระบบทางเดินอาหารของร่างกาย แม้ว่าผู้ป่วยจะเบื่ออาหาร ทานได้น้อย แต่ผู้ป่วยจะรู้สึกสบายตัวมากกว่า ผู้ดูแลพึงระลึกอยู่เสมอว่า อาการไม่อยากอาหาร ทานอะไรไม่ลงของผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายนี้ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะระยะท้าย คือระยะที่ผู้ป่วยใกล้จะเสียชีวิตแล้ว ทุกอวัยวะในร่างกายจะค่อยๆทำงานน้อยลงจนกระทั่งหยุดการทำงาน ร่างกายจะย่อยอาหารได้น้อยลง ดูดซึมจะทำได้เหมือนเดิม ส่งผลให้เบื่ออาหาร ยิ่งทานยิ่งจุกแน่น รู้สึกทุกข์ทรมาน ไม่สุขสบาย

2. ผู้ดูแลต้องยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง

ผู้ดูแลหลายคนจัดวางตนเองอยู่ตรงศูนย์กลางของจักรวาล ยึดความคิดความเชื่อของตนเองเป็นที่ตั้ง ต่อไปนี้ให้เริ่มต้นใหม่ ผู้ดูแลต้องยึดความต้องการของผู้ป่วยเป็นที่ตั้ง ให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ก่อนจัดอาหารให้ผู้ป่วย ให้ถามด้วยว่า ผู้ป่วยอยากทานอะไร หรือ วันนี้จะทำสิ่งนี้ให้ทาน ผู้ป่วยอยากทานไหม ถ้าไม่อยากทานผู้ป่วยต้องการจะทานอะไร เป็นต้น การยึดความอยากที่จะกินของผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางนี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะแต่เมนูอาหารเท่านั้น ยังรวมไปถึงการจัดเวลารับประทานอาหาร ชนิดของอาหาร และการจัดรสชาติอาหารด้วย

สำหรับความเข้าใจที่ว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งต้องงดอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ต้องทานอาหารมังสวิรัต ควรทานอาหารชีวจิตแทนอาหารปกติ และต้องทานแต่อาหารจืดๆ นั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด ถึงแม้ว่าจะป่วยเป็นโรคที่รักษาไม่หายและกำลังเดินทางไปสู่ความตาย ก็ไม่ได้หมายความว่ารสชาติความอร่อยจะต้องตายไปพร้อมกับร่างกายของผู้ป่วยด้วย ผู้ดูแลพึงระลึกเสมอว่า ผู้ป่วยระยะท้ายยังคงเป็นมนุษย์อยู่เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงก่อนตาย ในขณะที่กำลังจะตาย หรือ หลังจากที่ตายไปแล้ว ผู้ดูแลต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วยด้วย

3. ผู้ดูแลควรจัดอาหารตามคำแนะนำของแพทย์

คำแนะนำของแพทย์เจ้าของไข้ อาจแบ่งอาหารได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ อาหารที่แนะนำให้ทานได้ และ อาหารที่แนะนำให้งดรับประทาน ในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำระหว่างให้ยาเคมีบำบัดและฉายรังสี แพทย์จะแนะนำให้รับประทานอาหารปรุงสุก งดผักสดผลไม้สด และห้ามรับประทานอาหารหมักดอง เพราะอาหารเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อการเป็นเชื้อรา ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ นอกจากนี้แล้วแทบจะไม่มีอะไรที่แพทย์ห้ามผู้ป่วยรับประทานเลย ดังนั้น ผู้ดูแลควรเชื่อถือและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ กล่าวคือ อะไรที่หมอไม่ห้าม ก็สามารถจัดให้ผู้ป่วยรับประทานได้ทุกอย่าง

4. ผู้ดูแลต้องใช้การต่อรองแทนการต่อสู้

แม้ว่าสาเหตุหลักๆของการปฏิเสธการรับประทานอาหารของผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย จะมาจากตัวโรคและพยาธิสภาพของผู้ป่วยดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้น แต่ก็มีอีกหลายสาเหตุที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลย เช่น ผู้ป่วยท้อใจ เบื่อโลก เครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล เรียกร้องความสนใจ หรือผู้ป่วยอาจจะกำลังอารมณ์ไม่ดี และแม้แต่อาการข้างเคียงของยาบางชนิดก็สามารถทำให้ผู้ป่วยเบื่ออาหารได้ เช่น ยาต้านอาการปวด หรือยาระงับประสาท เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ยาส่วนใหญ่มักจะถูกกำหนดให้รับประทานตามมื้ออาหาร เมื่อไม่ได้รับประทานอาหาร ก็จะไม่ได้รับประทานยา แถมยังน้ำหนักลดอีกด้วย

ดังนั้น ในเมื่อมีความจำเป็นต้องให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารให้ได้ แต่กลับถูกผู้ป่วยปฏิเสธ แนะนำให้ผู้ดูแลใช้วิธีการต่อรองเวลากับผู้ป่วย เช่น บอกกับผู้ป่วยว่า จะเลื่อนเวลารับประทานอาหารออกไปอีก 15 นาทีก็ได้ เมื่อครบ 15 นาที ให้นำอาหารมาให้ผู้ป่วยรับประทานอีก หากผู้ป่วยยังปฏิเสธ ให้เลื่อนได้อีก 10 นาที และ 5 นาที ตามลำดับ ทั้งนี้ รวมแล้วไม่ควรเกิน 30 นาที

5. ผู้ดูแลต้องรู้จักให้แรงเสริมแก่ผู้ป่วย

ในเชิงพฤติกรรมศาสตร์ การให้แรงเสริม คือ การให้รางวัล พฤติกรรมใดทำแล้วได้รางวัล ก็มีแนวโน้มว่าจะมีการแสดงพฤติกรรมนั้นๆซ้ำอีก ผู้ป่วยก็เช่นกัน ผู้ดูแลควรให้แรงเสริมกับผู้ป่วยทุกครั้งที่ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้ตามเวลาและในปริมาณที่เหมาะสม สามารถให้แรงเสริมได้ทุกชนิด ตั้งแต่แรงเสริมที่ไม่ต้องใช้เงินเลย ไปจนถึงการให้แรงเสริมที่เป็นวัตถุรางวัลหรือสิ่งของมีค่า

ตัวอย่างของแรงเสริมที่ไม่ต้องใช้เงินเลย ได้แก่ การกล่าวชื่นชม การจับมือ โอบไหล่ เรื่อยไปจนถึงการกอด แม้แต่การลูบศีรษะเบาๆ ก็ถือเป็นการให้แรงเสริมที่ดีที่สุดได้ รวมไปถึงบรรยากาศอันรื่นรมย์ ก็สามารถทำให้ผู้ป่วยเจริญอาหารได้ เช่น การนั่งรับประทานอาหารในสวนหลังบ้าน การประดับแจกันดอกไม้บนโต๊ะอาหาร หรือแม้แต่การรับประทานอาหารพร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว ก็ถือเป็นการให้แรงเสริมที่ดีมากแก่ผู้ป่วยได้เช่นกัน ในส่วนของการให้แรงเสริมชนิดต่างๆ ผู้ดูแลสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามบริบทของครอบครัว และจริตความเคยชินของผู้ป่วย โดยเน้นการจัดให้เหมาะสมกับพื้นฐานครอบครัวและให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด

หมายเลขบันทึก: 599807เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2016 20:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มกราคม 2017 14:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท