บันทึกเรื่องเด็กตัว G ในอำเภออุ้มผาง


จันทราภา จินดาทอง บันทึกเพื่อหารือร่วมกับปลัดกระทรวงมหาดไทยในวันที่ 14 มกราคม 2559 เพื่อการจัดการสิทธิของเด็กนักเรียนไร้รัฐไร้สัญชาติ นำร่อง 4 อำเภอชายแดนตาก เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559

-------------------------------------------------------------------------------------

ในฐานะนักสังคมสงเคราะห์ ฝ่ายประกันสุขภาพ โรงพยาบาลอุ้มผาง ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลข้อมูลเด็กตัว G (เด็กนักเรียนที่ไม่มีเลขประจำตัว ๑๓ หลักและเข้าศึกษาในโรงเรียน) ของโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษา จำนวน 13โรง เพื่อผลักดันเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข

รายชื่อนักเรียนจำนวน 1,227 คน ถูกส่งมาเพื่อตรวจสอบ หลังพลิกดูผ่านๆ รู้สึกเอะใจว่าทำไมเด็กบางคนมีนามสกุลคุ้น ๆ มาสะดุดตรงเด็กหญิงคนหนึ่งที่นามสกุลของเธอเหมือนบุคลากรคนหนึ่งของโรงพยาบาลอุ้มผาง แล้วเธอก็คือ บุตรสาวของคนในโรงพยาบาลจริง ๆ ด้วย เด็กหญิงคนนี้เป็นบุคคลสัญชาติไทย บิดาและมารดาเป็นบุคคลสัญชาติไทย ทำไมเธอจึงกลายเป็นเด็กติด G พอสอบถามคุณพ่อของเธอจึงได้ทราบว่า โรงเรียนที่ชื่อของเธอเป็นนักเรียนตัว G เป็นโรงเรียนที่เธอเข้าเรียนในระดับอนุบาลและยังไม่ทันจะนำเอกสารยืนยันความเป็นบุคคลสัญชาติไทยไปมอบให้กับคุณครู เธอก็ย้ายโรงเรียน แต่ชื่อของเธอก็ยังค้างอยู่ที่โรงเรียนเดิม

หลังทราบข้อมูลของเด็กหญิง ทำให้ผู้เขียนเริ่มมองหาเด็กที่ระบุว่ามีนามสกุล และเช็คกับระบบทะเบียนผู้ป่วยของโรงพยาบาลอุ้มผาง (Hospital OS) จึงได้ทราบว่า เด็กที่มีนามสกุลทุกคนมีเลขประจำตัว ๑๓ หลัก และเป็นบุคคลสัญชาติไทย เมื่อตรวจสอบเบื้องต้นเรียบร้อย ได้จัดส่งรายชื่อเด็กตัว G ของแต่ละโรงเรียนให้คุณครูที่รับผิดชอบตรวจสอบในสามข้อ คือ เป็นเด็กที่มีที่อยู่อาศัยถาวรในประเทศไทยหรือไม่ เป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติ ไม่มีประเทศต้นทางหรือไม่ และ เป็นบุคคลที่ไม่มีเลขประจำตัว 13 หลักหรือไม่

จากการส่งข้อมูลกลับมาของคุณครู พบว่า ในกลุ่มของเด็กตัว G ที่กระทรวงสาธารณสุขส่งมาให้ตรวจสอบมีสถานะภาพที่หลากหลายพอสมควร กลุ่มแรก เป็นเด็กตัว G แท้ มีคุณสมบัติครบทั้งสามประการ แต่มีบางคนที่โรงเรียนไม่แน่ใจว่าเด็กมีเลขประจำตัว 13 หลัก เพราะบางคนมีบิดามารดาเป็นบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน กลุ่มที่สอง เป็นบุคคลสัญชาติไทยดังที่กล่าวมาแล้ว กลุ่มที่สาม ได้รับการสำรวจตามแบบ 89 เป็นบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนเรียบร้อยแล้ว บางคนส่งเอกสารมาบางคนยังไม่ส่ง กลุ่มที่สี่ เป็นกลุ่มเด็กที่เรียนจบ ย้ายโรงเรียน และไม่มีชื่อตามตารางที่กระทรวงสาธารณสุขส่งมา

ข้อเสนอแนะเพื่อดูแลสถานะและสิทธิของเด็กนักเรียนตัว G ประการที่หนึ่ง ตรวจสอบความชัดเจนของกลุ่มนักเรียนตัว G ทั้งหมดทุกโรงเรียน ประการที่สอง ในส่วนของเด็กที่เป็นตัว G แท้ ต้องให้สำนักทะเบียนอำเภอหรือท้องถิ่น ดำเนินการสำรวจและบันทึกชื่อเพื่อขจัดความไร้รัฐ และมีชื่อในทะเบียนประวัติบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน ทร.38 ก (บัตรเลข 0) ประการที่สาม ประสานกับหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการศึกษาทั้งหมด เช่น ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ศูนย์เด็กเล็ก/เตรียมอนุบาล โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เป็นต้น เพราะยังมีเด็กจำนวนมากที่อยู่ในระบบการศึกษาของหน่วยงานดังกล่าว เพื่อให้สำรวจและขจัดความไร้รัฐของเด็กในความดูแลของตน

ทั้งนี้เมื่อผนวกกับการดำเนินงานป้องกันความไร้รัฐของเด็กตั้งแต่แรกคลอด ดังตัวอย่างของการติดเขตปลอดเด็กไร้รัฐในโรงพยาบาลที่โครงการสี่หมอชายแดนตากดำเนินการผ่านมา ให้ขยายออกไปทั่วทุกพื้นที่ ในอนาคตอันใกล้ เรื่องราวของเด็กตัว G ในสถานศึกษาคงจะหมดไปแน่นอน

หมายเลขบันทึก: 599392เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2016 12:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มกราคม 2016 12:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท