“เจนละนายทาสของชาวสยาม”



ศิวะนาฏราช ที่มา: thaipoem.com

อินทภาสบาทสยาม ตอน5)

“จิตร” เล่าไว้ในหนังสือ “ความเป็นมาของคำสยาม” ที่ใช้เวลาปิดบทสุดท้ายยาวนานถึงเจ็ดปีในสถานที่อันจำกัดว่า พวกเจนละรู้จักคนสยามมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 และ 13 ทั้งในสถานะชาวเมืองต่างถิ่นที่มาร่วมพิธีเฉลิมฉลองในรัฐเจนละและในสถานะทาสและลูกทาส....อาณาจักรเจนละที่ว่ากันว่าสร้างโดยผู้สืบเชื้อสายมาจากผู้ปกครองของฟูนันในพุทธศตวรรษที่ 11 และเป็นเผ่าพันธุ์ต้นตระกูลเขมรวงศา

ตำนาน “Khmer” บางสำนักเล่าว่ามาจากสองคำผสมกันคือ “kambu” + “mera” โดยกัมโพกัมพุเป็นฤาษีบำเพ็ญตบะแก่กล้าจนพระศิวะยกนางอัปสรสวรรค์ชื่อเมราให้ครอบครอง อีกตำนานว่าพราหมณ์ชื่อ “kambu svayambhuva” เดินขบวนเรือมาจากอินเดียจนถึงปากแม่น้ำโขงเข้ารบพุ่งใช้ธนูเป็นอาวุธและมีชัยต่อชนเผ่าเจ้าที่เมืองแห่งนาค จึงต้องยกพระธิดาชื่อ “mera” ให้พราหมณ์หนุ่มเข้าปกครองเมืองต่อไป....แม้แต่ยอร์ช เซเดส์ก็ว่าไว้ทำนองนี้

“จิตร” เอ่ยถึงตำนานไตเล่าเรื่องเจนละศรีกัมพุผ่านเมืองโพธิสารหลวง เมืองอินทปัตถ์และเมืองนางนาคแห่งลาวใต้ในท่วงทำนองคล้ายคลึงว่าเจ้าชายจากอินเดียมาได้ธิดาเจ้าเมืองปากน้ำโขงจันทรวงศ์ และยังตามไปถึงจารึกของพวกจามและบันทึกของชาวจีนในแบบเดียวกัน โดยคิดว่าเมืองโพธิสารหลวงนั้นคือฟูนันตอนต้น และอินทปัตถ์คือฟูนันที่เจ้าชายอินเดียได้แต่งงานครองเมืองแล้ว ส่วนเมืองนางนาคก็คืออาณาจักรเจินละ

คำว่า “อินทปัตถ์” อาจสับสนกับคำว่า “อินทรปุระ” เมืองหลวงนครธม เพราะ “อินท” น่าจะหมายถึงพระจันทร์วงศาพระศิวะ ณ เขาไกรลาส ส่วน “อินทร” น่าจะหมายถึงพระอินทร์เทพสูงสุดประจำเขาพระสุเมรุเครือวานของพระอาทิตย์พี่น้องกับพระวิษณุ ในเรื่องโหรว่าด้วยการหาจุดปฏิสนธิระหว่างพระจันทร์และพระอาทิตย์ ก็มีมาแต่ครั้งโบราณถึงการคำนวณหลัก “อินทภาส บาทจันทร์” ซึ่งมาจากคำ อินท+ภาส นั่นเอง

“เจนละ” บางสำนักว่าเป็นภาษาเขมรแปลว่าที่สูง สร้างบ้านแปงเมืองอยู่แถวแม่น้ำโขงตอนกลางทั้งฝั่งลาวและอีสาน และบ้างก็แปลคำไปถึงจันทรวงศ์ซึ่งเป็นคนละค่ายกับอาทิตยวงศ์ พอตั้งตัวได้จึงตีลงใต้สู่เขมรต่ำจนจรดปากแม่น้ำโขงพร้อมกับการหมดอายุขัยของฟูนันในยุคของพระเจ้าอิศานวรมัน และย้ายเมืองหลวงจากที่ราบสูงลงที่ราบต่ำแถบกำปงธมริมโตนเลสาบในนาม “อิศานปุระ” เมืองของพระอิศวรโดยตัวแทนของพระศิวะ....เพื่อกุมเส้นทางการค้าโพ้นทะเลแข่งกับจามปาและศรีวิจาย่า

หลังจากนั้นไม่กี่สิบปีในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 เจนละก็ขัดแย้งภายในจนถูกแบ่งเป็นสองฝั่งเรียก “เจนละบก” ปกครองโดยอาทิตยวงศ์กินอาณาเขตตอนเหนือบนที่ราบสูง ในขณะที่จันทรวงศ์ยังครอบครองอาณาเขตที่ราบลุ่มจรดชายฝั่งทั้งหมดรู้กันในนาม “เจนละน้ำ” อ่อนแอลงอาจเป็นเพราะพระจันทร์ถึงอย่างไรก็ยังต้องการแสงจากพระอาทิตย์ สุดท้ายพ่ายแพ้เสียเมืองให้กับคู่แข่งกษัตริย์แห่งศรีวิจาย่าหมดสภาพในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 ....ส่วนเจ้าชายชัยวรมันที่สองผู้สร้างจักรวรรดิเขมรอันเกรียงไกรต้องไปเป็นตัวประกันคาดว่านานหลายปีที่เมืองชวา

ในเขมรนั้นมีชื่อเมืองต่างๆมักเรียกกันว่า “kampong” ซึ่งเขาหมายถึง “ท่า” เช่น “Kampong Cham” หรือ “Kampong Thom” หรือ “Kampong Chhnang” ซึ่งคล้ายกับชื่อหมู่บ้านของชาวอินโดนีเซียที่มักสร้างอยู่ติดชายน้ำชายทะเลกันเป็นส่วนมาก เรียกว่า “kampung กัมปุง” เดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างหมู่บ้านหนึ่งและอีกหมู่บ้านหนึ่งโดยเรือเป็นหลักจนถึงสมัยปัจจุบันนี้

คำว่า “มาศ” ที่แปลเขมรว่าทองในภาษาอินโดฯก็มีเรียก “emas เออม้าส” แปลว่าทองเหมือนๆกัน คำว่า “พนม” เป็นภูเขาของเขมร ภาษาอินโดฯเรียกภูเขาในคำหนึ่งว่า “gunung กุนุง” คลับคล้ายพนม คำสามคำนี้อาจไม่ใช่ภาษาสันสกฤตน่าจะเป็นคำดั้งเดิมของพวกหมู่เกาะ ถ้าแบบนั้นเป็นไปได้ว่ายืมจากทางชวาในช่วงที่เข้าไปปกครองแผ่นดินเขมร....ใครจะสืบย้อนหาที่มา

สีแดงนั้นคำของอินโดฯเขาเรียกว่า “merah เมร่าห์” ซึ่งใกล้เคียงกับคำว่า “mara มาร่า” ความโกรธเกรี้ยวเลือดสีแดงในตัวพลุ่งพล่านร้อนฉ่า ตรงกับความหมายของ “mara” ในภาษาสันสกฤตว่าการฆ่า การทำลาย และเทพแห่งความรัก หรือในบางฉากบางตอนของพระศิวะเทพผู้สวมพญางูแทนสร้อยคอ ที่กำลังกระหายศรีภรรยาเจ้าแม่กาลีผู้มีผมเป็นนางงูเล็กยั้วเยี้ยดกดำและดื่มเลือดมนุษย์เป็นของว่าง....ในภาษาไทยเรียกสั้นๆว่า "มาร"

มีชื่อที่ใช้เรียกพื้นที่ลุ่มต่ำติดชายน้ำหรือพื้นที่ชุ่มน้ำแบบเดลต้าปากแม่น้ำโขงว่า “gambut กัมบุท” ยังพบได้ในบริเวณกว้างขวางบนเกาะสุมาตราและเกาะกะลิมันตัน เมืองใหญ่หลายเมืองตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำชุ่มน้ำเช่น เมืองปาเล็มบัง บันจาร์มาซิน ปาลังการาย่าเป็นต้น การสร้างบ้านเรือนจึงต้องยกพื้นปักเสาขึ้นเหนือระดับน้ำที่ชุ่มแฉะเกือบตลอดเวลา....ถ้ารวมสองคำความว่า “gambut merah” พื้นที่ชุ่มน้ำสีแดงเข้ม

และยังมีคำว่า “ampu อัมพุ” แปลว่ายกขึ้น แบกขึ้น พอเติมพรีฟิก-ซับฟิก เช่น “mengampukan เมิงงัมพุกัน” แปลว่าถูกยกขึ้นเป็นหัวหน้าหรือตัวแทน หรือ “pengampu เพิงงัมพุ” แปลว่าคนที่ชอบช่วยคนอื่นให้ดีขึ้น คนที่ชอบเยินยอยกคนอื่น

และคำว่า “kamboja” นี้คือดอกลั่นทมในอีกชื่อของชาวบาหลีที่ใช้ดอกไม้นี้สำหรับกราบไหว้เทพเจ้าฮินดูโดยเฉพาะ เทพเจ้าเช่นพระศิวะเจ้าของแท่งบูชา “lingga ลิงก่ะ” และฐาน “yoni โยนี” มานานก่อนใครเพื่อนในหมู่เกาะอินโดนีเซียราวพุทธศตวรรษที่ 10 ร่วมสมัยกับฟูนัน

“ลิงก่ะ” ในความหมายทั่วไปว่าแหล่งกำเนิดชีวิต ต้นตอ รากเหง้า เชื้อเผ่าพันธุ์ ซึ่งแปลงมาจากความหมายของพระศิวะในอดีตกาล ในทุกวันนี้คำว่าลิงก่ะถูกใช้ไปในความหมายที่ดี เป็นต้นแบบ เป็นของแท้ดั้งเดิม แม้ในสังคมมุสลิมอินโดนีเซีย เช่นตั้งชื่อบริษัทว่า “Lingga Madu” น้ำผึ้งต้นสายพันธุ์ ไม่ได้แปลในทางไสยหรือเปลือยแบบบ้านเรา...พลอยให้นึกถึงเมือง “ตามพรลิงค์” ของนครศรีธรรมราช ที่น่าเป็นคำของศิวะว่า “ตาม” มาจาก ปฐม ธม pratama “พร” มาจาก บรม boro และ “ลิงค์” มาจาก ลึงค์ lingga รวมความว่าเมืองหลักแห่งเผ่าพันธุ์ตั้งต้นที่ยิ่งใหญ่

ถ้าให้แปลความหมายของความข้องเกี่ยวระหว่างคำในตำนานต้นกำเนิดของเขมรและคำความเชื่อในชวาก็ว่า เจ้านายอินเดียหรือฤาษีหรือพราหมณ์ต่างถิ่นคนนี้ต้องเดินทางมาแวะพักที่เมืองชวาโปรยปรายปล่อยคำหวานให้สาวเจ้าบ้านจนเคลิบเคลิ้มก่อนตีจากไปเมืองเขมรเป็นแน่ๆ....แล้วคนสยามทัสยุหนีไปซ่อนอยู่ที่ไหน

จันทบุรี 13 สิงหาคม 2557 (ลงใน oknation blog)

หมายเลขบันทึก: 599040เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2016 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มกราคม 2016 10:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท