​เรียนเปลี่ยนตัวตน


การศึกษาที่แท้ การเรียนรู้ที่แท้ ต้องไปให้ถึงการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงในความหมายนี้

เรียนเปลี่ยนตัวตน

หนังสือ เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ช่วยให้ผมได้กล่าวอธิบายความหมายของการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงในหลากหลายบริบท และในโอกาสหนึ่ง คำว่า “เปลี่ยนตัวตน” ก็แว้บเข้ามา

เพราะเราไม่มีคำในภาษาไทย ที่จะบอกการเปลี่ยนแปลงในระดับลึก ในลักษณะที่เราพูดว่า “เปลี่ยนไปเป็นคนละคน” เป็นคนใหม่ ที่พฤติกรรม ความคิด ความเชื่อ แตกต่างไปโดยสิ้นเชิง เราจึงต้องอธิบายความหมายของคำว่า Transformative Learning ยาว ซึ่งในตอนนี้ ผมขอเสนอคำว่า “เรียนรู้เพื่อเปลี่ยนตัวตน”

ตัวอย่างในธรรมชาติที่เข้าใจง่ายที่สุดคือ การรวมตัวของก๊าซสองชนิด เกิดเป็นของเหลวชนิดหนึ่งคือ น้ำ (H2O) ก๊าซสองชนิดนั้นคือ ไฮโดรเจน (H) กับ อ็อกซิเจน (O) เป็น transformation (เปลี่ยนตัวตน) จากก๊าซเป็นของเหลว

แต่การ “เปลี่ยนตัวตน” (transformation) ของมนุษย์ รูปร่างภายนอกไม่เปลี่ยน เปลี่ยนที่คุณสมบัติภายใน ที่ความเชื่อ ความคิด คุณค่า และพฤติกรรม มองภายนอกเหมือนเดิม แต่คุณสมบัติภายในเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

ผมมีความเชื่อว่า คนที่ฝึกทักษะการเรียนรู้ได้ในระดับสูง จะสามารถเรียนรู้เปลี่ยนตัวตนได้เป็นระยะๆ สิ่งสำคัญที่สุด สำหรับการเรียนรู้ของมนุษย์ในยุคนี้คือ ฝึกทักษะการเรียนรู้ ให้เกิด mastery learning (เรียนแล้วรู้จริง) และ transformative learning (เรียนแล้วเปลี่ยนตัวตน)

โลกที่(เกือบจะ)หยุดนิ่ง แบบที่ผมเคยอยู่สมัยเด็กๆ กับโลกที่เปลี่ยนเร็วพลิกผันในปัจจุบัน จะอยู่ร่วมกันได้ดี มีปกติสุขนั้น มนุษย์ต้องมี “ตัวตน” ที่แตกต่างกัน

ในโลก(สังคม)แบบเดิม “ตัวตน” ของมนุษย์สมาทาน กระบวนทัศน์หยุดนิ่ง (Fixed Mindset) ได้ โดยมีอันตรายหรือข้อจำกัดน้อย

แต่ในโลก(สังคม)แบบปัจจุบัน “ตัวตน” ของมนุษย์ต้องสมาทานกระบวนทัศน์พัฒนา (Growth Mindset) จึงจะอยู่รอดและอยู่ดี และในกระบวนการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงนั้นเอง ที่จะต้องเปลี่ยนในระดับ “เปลี่ยนตัวตน” (Transformation)

“ตัวตน” ที่ก๊าซเปลี่ยนเป็นของเหลว เป็นการเปลี่ยนคุณสมบัติทางกายภาพ (physical) แต่ “ตัวตน” ของมนุษย์ที่เปลี่ยนในกระบวนการ “เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” (Transformative Learning) นั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับจิตวิญญาณ (spiritual) ซึ่งเป็นคุณสมบัติพิเศษที่มนุษย์เท่านั้น ที่จะเข้าถึงได้

การศึกษาที่แท้ การเรียนรู้ที่แท้ ต้องไปให้ถึงการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงในความหมายนี้

วิจารณ์ พานิช

๒๗ ธ.ค. ๕๘

หมายเลขบันทึก: 598872เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2015 08:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ธันวาคม 2015 08:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การเปลี่ยนแปลงตนเองเป็นเรื่องยากมากๆ แม้จะรู้ว่าต้องเปลี่ยนแปลง ก็ยังยาก งานครูจึงยากยกกำลัง ที่ต้องเปลี่ยนแปลงตนเองและกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดที่จะเปลี่ยนแปลง ถ้าผู้เรียนเริ่มคิดที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง ครูก็พร้อมเสมอที่จะสนับสนุนและส่งเสริม เป็นคุณอำนวยที่ลงมือช่วยเต็มกำลัง อบอุ่นใจที่ผู้ใหญ่ของประเทศเช่นอาจารย์หมอวิจารณ์ใส่ใจกับเรื่องการศึกษาเพื่อพัฒนาคน ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท