“เนะ สฺยำกุกฺ”


"นี่เสียมกุก" ภาพสลักนูนต่ำบนระเบียงนครวัด ที่มา: bloggang.com

อินทภาสบาท “สฺยำ” ตอน 1)

สยามคำนี้มีที่มายาวนานตามร่องรอยได้เป็นพันปีคู่กับคำว่า "ไท" แต่ ณ ปัจจุบันก็ยังหาต้นตอที่มาของรากศัพท์คำเก่าแก่ไม่เจอ ลองตามรอยจากผู้รู้ผู้ศึกษากันดู.....

หนังสือของ “จิตร ภูมิศักดิ์” ว่าด้วย “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาวและขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” ได้สืบค้นร่องรอยของคำ “สยาม” ที่ใช้เรียกพวกคนเชื้อชาติไต ไทและไทย โดยรอบถิ่นอุษาคเนย์เรื่อยไปจนถึงเอกสารของเมืองจีนยุคจักรพรรดิ เช่น

กะฉิ่นในพม่าและยูนาน อะฉ่าง ลาชีในพม่าเรียก “ซาม”

ปะหล่องในพม่าเรียก “ชิอาม”

อัสสัม เรียก “ซาม หรือ ชาม”

ข่าหมุในยูนาน เรียก “ซ๎ยาม”

ละว้าในยูนานและพม่าเรียก “เซียม และ เชน”

มอญเรียก “เซม หรือ ซีม”

เขมรเรียก เซียม เซม หรือ ซีม”

พม่าเรียก “ชาน”

จีนเรียก “ส้าน สิ่ม เซียน เสี่ยม และ เซี้ยง”

เวียดนามเรียก “เซียม หรือ ซีม”

จามเรียก “ซ๎ยีม”

มลายูเรียก “ซีแญ”

โดยคำเรียกพวกไต ไทหรือไทยไม่ได้กินความเหมือนกันทั้งหมด มีการจัดแบ่งว่า “ส้าน หรือ ชาน” หมายถึงกลุ่มคนไต ไทหรือไทยที่อยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำโขง และ “เซียน หรือ เซียม” หมายถึงพวกคนไทยที่อยู่ในบริเวณประเทศไทยปัจจุบัน

“จิตร” ได้ตามร่องรอยสยามไปยังจารึกที่ระเบียงนครวัดเทวาสถานคติพราหมณ์ซึ่งสร้างในสมัยพระเจ้าศรีสุริยวรมันที่ 2 ช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 กับคำเรียกไพร่พลทหารสยามภาษาเขมรซึ่งถอดเป็นอักษรไทยว่า “สฺยำกุกฺ” ตามรอยจากหนังสือฝรั่งที่แสดงจารึกในวิหารเก่าแก่โปนาการ์แห่งเมืองญาตรังของกษัตริย์แห่งอาณาจักรจามปาปลายพุทธศตวรรษที่ 16 ในคำเรียกเชลยชาวสยามว่า “สฺยำ syấṃ” อาณาจักรจามปานี้มีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 7 ปกครองพื้นที่กินบริเวณยาวลงมาตามชายทะเลทางตอนกลางถึงใต้ของเวียดนาม คุมการค้าทางทะเลระหว่างจีนและอินเดียจนถึงตะวันออกกลาง

และยังตามไปเจอจารึกเก่าก่อนนครวัดของกษัตริย์ภววรมันที่ 2 แห่งอาณาจักรเจินละ กล่าวถึงชาวสยามลงมหาศักราชซึ่งตรงกับปี พ.ศ.1182 ในพิธีร่ายรำกับคำว่า “โปญฺ สฺยำ” และพบจารึกอีกแห่งสมัยก่อนนครธมปี พ.ศ.1226 ในคำเรียกทาสชาวสยามว่า “กุ สฺยำ ๑ โกน ๑”

สำหรับการเรียกสยามของเมืองจีนนั้น “จิตร” ระบุว่าใช้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัยตอนต้นยุคพ่อขุนรามคำแหงครองราชย์พุทธศตวรรษที่ 19 เขียนภาษาจีนเป็นคนละตัวกับพวกไทใหญ่ และชื่นชมล่ามจีนในกรุงสุโขทัยที่เก่งภาษาจีนเลือกเฟ้นตัวเขียนอย่างเหมาะสมและแปลความคำ “เซียน” ได้ดีว่าพระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งตรงกับความหมายของเมือง “สุข+อุทัย”

ในขณะที่ อ.ต้วน ลี เซิง เขียนอธิบายไว้ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์ไทยในสายตาชาวจีน” ต่างไปนิดหน่อยว่าทางจีนพึ่งเรียกพวกสยามว่า “เซียนหลอ” อย่างเป็นทางการครั้งแรกในปลายสมัยสุโขทัยควบต้นอยุธยาพุทธศตวรรษที่ 20 จักรพรรดิจีนหมิงถึงกับมอบตราทองเป็นอักษรจีนว่า “กษัตริย์เซียนหลอ” อาจารย์คนนี้จับประวัติศาสตร์ไทยมาโดยเฉพาะ ค้นคว้าเอกสารต้นฉบับภาษาจีนที่จดบันทึกประวัติศาสตร์การติดต่อระหว่างกันตั้งแต่ครั้งโบราณ

“จิตร” บอกว่าคำสยามในภาษาชาวจามปาปัจจุบันถ้าเขียนเป็นไทยจะเหลือเพียง “สฺยํ” ซึ่งแปลว่า ดี งาม พร ชาวสยาม ในอัสสัมแปลว่าเจ้า ประมุขชาติ ในภาษามาลายูมีคำว่า “sayam” แปลว่าสีเหลือง ซึ่งมาจากรากศัพท์สันสกฤตว่า “ศยาม” แปลออกไปทางสีดำสีคล้ำ เป็นที่นิยมของนักวิชาการหลายคน หาก”จิตร” ไม่นิยมการค้นหาที่มาของคำสยามในแบบนี้ โดยเฉพาะใครที่พยายามยึดเอาภาษาบาลีและสันสกฤตขึ้นต้นเพียงเพราะเชื่อว่าเป็นภาษาสวยศัพท์สูงและดูศักดิ์สิทธิ์ หรือใครที่พยายามแสวงหาแต่ความหมายดีๆ หรือพวกที่ค้นหาแต่ไม่เข้าใจถึงพัฒนาการความเป็นมาของสังคมนั้นและรอบๆข้าง

เชื่อว่าคำ “สยาม หรือ สาม” มาจากการเขียนภาษาบาลีเรียกขานชาวซามหรือเซียมในต่างประเทศเมืองลังกา แล้วพวกปราชญ์คนไทยที่เรียนพุทธบาลีรับเอามาใช้อีกทอดนึง และคำว่า “สามเทสะ” เป็นภาษาบาลีที่หมายถึงดินแดนชาวไทยเหนือปากน้ำปิงขึ้นไปเท่านั้น ไม่ครอบคลุมลงมาถึงรัฐละโว้ทางใต้ จนมีการก่อเกิดรัฐอยุธยาคำนี้จึงขยายตัวเคลื่อนต่ำลงใต้มาเรื่อยๆ “ซาม หรือ เซียม” อาจวิวัฒนาการจากภาษาไตแท้เก่าแก่คำหนึ่งทางตอนเหนือแถวประเทศลาวถิ่นผู้ไทโน่น คือคำว่า “ซำ หรือ ซัม” น้ำผุดน้ำซับขึ้นมาจากดิน

“จิตร” ได้สรุปเป็นสมมุติฐานชั่วคราวไว้ว่าคำสยามดั้งเดิมจะต้องมีความเป็นมาในลักษณะนี้

-เป็นคำคล้ายคลึงกับ ซาม-เซียม ในเชิงนิรุกติศาสตร์

-ต้องแปลว่าลุ่มแม่น้ำหรือน้ำเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตเกษตรกรรมของชาวไต ถ้าพงศาวดารจีนจดได้ถูกต้อง

-มาจากภาษาพื้นเมืองทางตอนเหนือของแม่น้ำโขงทั้งทางฝั่งพม่า ลาวและจีนตอนใต้.....

จันทบุรี 3 สิงหาคม 2557

หมายเลขบันทึก: 597696เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2015 09:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2015 09:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรื่องสยำกุก ผมเขียนไว้มาก ต่างจากจิตร คนละทิศเลย สนใจลองหาอ่าน "คนถางทาง ขอม สยาม เขมร" อะไรทำนองนี้แหละ

ขอบคุณมากครับ...จะตามเข้าไปอ่าน

ลายแทงที่ withwit ให้มานะ ไม่ต้องเสียเวลาอ่านหรอกครับ พิมพ์ค้นหา คนถางทางฯ ขึ้นชื่อมาเป็น ทวิช จิตสมบูรณ์ คนนี้เขาตัวตึงอยู่แล้วครับ ไม่เหมือนใครในสมัยนี้ เขามีแนวทางเป็นของตัวเอง ผมอ่านงานเขียนของเขาหลายอย่างแลัว ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และกีฬา เพราะเขาเป็นคนยุคนี้ ผมขอเรียกว่า “ชาตินิยมใหม่” นักประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคม แต่งประวัติศาสตร์ใหม่เพื่อสร้างชาติ แต่จิต ภูมิศักดิ์ และนักประวัติศาสตร์ปัจจุบัน ศึกษาประวัติศาตร์แบบไม่ยึดติดรัฐชาติ แล้วก็เริ่มแพร่หลายในยุคอินเตอร์เน็ต มันทำให้ทายาทของกลุ่มความคิดเดิมรับไม่ได้ เลยสร้างชุดความคิดใหม่ที่ผมเรียกว่า ชาตินิยมใหม่ โดยการนำชุดความคิดเดิมมาตกแต่งแล้วเล่าใหม่เพื่อจะมาต่อสู้กับความคิดแนวเสรีของ จิต ภูมิศักดิ์ และคนรุ่นใหม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท