สู่แดนกัมพูชา ...รู้เขา เข้าใจมิตร


ในตอนที่แล้วเราได้นำท่านผู้อ่านเลียบชมสามจังหวัด อีสานใต้ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ วันนี้เราจะพากันผ่านช่องเขาที่เทือกเขาพนมดงแร็ก เรียกแบบเขมร หรือ พนมดงรัก เรียกแบบไทย

จากดินแดนไทยเข้าสู่ประเทศกัมพูชาทางช่องจอม จังหวัดสุรินทร์ และเมื่อไปชมไฮไลท์ปราสาทนครวัด เมืองพระนครธม ที่เสียมเรียบกันแล้วก็กลับเข้าไทยในอีกเส้นทางคือ ทางช่องสะงำ จังหวัดศรีสะเกษ

เทือกเขาพนมดงรักเมตตาเปิดช่องทางธรรมชาติให้คนสองฝั่งไปมาหาสู่กันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และนับวันช่องทางเหล่านี้จะทวีความสำคัญยิ่งขึ้นเมื่อเราต้อนรับผู้มาเยือนทั้งในภูมิภาคและจากทั่วโลกในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี

ความมีสิ่งร่วมกันของดินแดนสองฝั่งเทือกเขาพนมดงแร็กเห็นและจินตนาการตามได้จากเส้นทางราชมรรคา ของกษัตริย์ขอมจากเมืองพระนคร หรือ ยโสธรปุระ อันมีนครวัดเป็นศูนย์กลางจักรวาลในพุทธศตวรรษที่ 15 จนถึง พุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งมีพระนครธมเป็นศูนย์กลางราชอาณาจักร ผ่านช่องต่างๆแห่งเทือกเขาพนมดงแร็ก สู่ดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน

ในเส้นทางนี้เต็มไปด้วยปราสาทหินและจารึกมากมาย อีกทั้งมี บ้านมีไฟ หรือ ธรรมศาลาตลอดจน อโรคยศาลา นับร้อยแห่ง รายทาง แสดงถึงความอุทิศพระองค์และความห่วงใยพสกนิกรในอาณาจักรขอมของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยของ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่มีผู้ให้สมญาว่า มหาพุทธราชาแห่งอาณาจักร เส้นทางนั้นยาวไปถึง ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

คงต้องยอมรับกันว่าบรรพบุรุษของไทยและกัมพูชาเคยใช้ผืนแผ่นดินร่วมกัน

ความเข้าใจ ยอมรับ เคารพ ซึ่งกันและกันจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างมีความจริงใจ มีมิตรจิต-มิตรใจ เกื้อกูลให้เจริญก้าวหน้า รุ่งเรืองไปด้วยกันเมื่อเปิดเออีซี

ประวัติศาสตร์จึงมีความสำคัญยิ่ง ....เมื่อรู้ที่มา ก็ย่อมรู้ที่ที่จะมุ่งไป...

แลบรรยากาศการท่องเที่ยวเสียมเรียบ

นครวัด-นครธม แห่งเสียมเรียบนั้นโด่งดังไปทั่วโลก มีข้อมูลทั้งทางวิชาการและการท่องเที่ยวให้ค้นคว้า ผู้เขียนจึงไม่ขอนำมากล่าวมากนัก แต่อยากจะขอเน้นถึงบรรยากาศด้านการท่องเที่ยวในเมืองเสียมเรียบที่ได้ประสบมาและประเมินในใจด้วยความรู้สึกอย่างกัลยาณมิตร


ภาพนครวัด นครธม ทางเข้านครธม

เวลาเราไปท่องเที่ยวไม่ว่าจะต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ สิ่งที่เราคาดหวังว่าจะทำให้เราสนุกสนานเพลิดเพลินมาจาก การได้พบเห็นสิ่งแปลกใหม่ การเดินทางสะดวก มีที่พักปลอดภัย หลายระดับราคาให้เลือก เที่ยวเหนื่อยแล้วมีสิ่งช่วยเติมพลังคือ อาหารดี มีคุณภาพและอร่อย ไปจนถึงมีนวด มีสปาให้ได้ผ่อนคลายจริงๆ และสำหรับคนไทยขาดไม่ได้คือมีอะไรให้ซื้อกลับไปฝากคนทางบ้าน

  • ไกด์ การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์-วัฒนธรรมต่างแดนให้ได้ซาบซึ้งไกด์ หรือมัคคุเทศก์จึงสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมัคคุเทศก์เป็นคนท้องถิ่นที่มีจิตวิญญาณรักแผ่นดินรักงานที่ตนทำ และหากพูดภาษาของผู้มาเยือนได้ดีนับว่าจะทำให้เป็นประสบการณ์ที่เราจะจดจำไปอีกนาน
  • ที่พัก ผู้เขียนเคยไปเยือนเสียมเรียบราวสามสี่ปีก่อน ครั้งนี้เสียมเรียบมีโรงแรมหรูทั้งขนาดใหญ่และเล็กแบบบูทีคโฮเต็ลมากมาย นั่งรถผ่านให้ได้ทึ่งกับความอลังการ การออกแบบและการตกแต่ง ยังไม่นับโรงแรมเล็กๆ เกสเฮาส์ โฮมสเตย์ที่เขาเรียนรู้ไปจากบ้านเรา
  • ภัตตาคาร ร้านอาหาร ผู้เขียนสังเกตเห็นภัตตาคาร ร้านอาหารที่ให้บริการทัวร์มีมากมาย และคณะเราก็ได้ไปใช้บริการหลายมื้อ ทำให้ได้ทราบว่า อาหารเขมรนั้นเขาไม่ทานเผ็ดกัน อาหารจึงมีรสชาติอ่อน ออกแนวเค็มๆ หวานๆ เปรี้ยวๆ
  • โรงพยาบาล มั่นใจได้ว่าเจ็บป่วยระหว่างการท่องเที่ยวจะได้รับการรักษาที่มีมาตรฐานสากล คนไทยไปลงทุนสร้างโรงพยาบาลกรุงเทพที่เสียมเรียบ จึงไม่ต้องกังวลใดๆ นี่จึงนับว่าเป็นโอกาสที่เมื่อเปิดเออีซี การลงทุนด้านหลักๆทั้งที่พัก ภัตตาคาร และ โรงพยาบาล เรามีโอกาสร่วมมือกับกัมพูชาได้อีกมาก
  • แหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมท้องถิ่น ในเส้นทางเสียมเรียบมีหลากหลาย ตั้งแต่ ชุมชนโบราณ การทำน้ำตาลโตนด หรือตลาดสดในเมือง ตลาดของที่ระลึก เครื่องเงิน ผ้าไหม ของตกแต่งในศิลปะแบบเขมรก็มีให้เลือกชมกันอย่างเพลิดเพลิน เป็นความแตกต่างจากฝั่งอีสานใต้บ้านเรา

ขอขอบคุณการท่องเที่ยวสุรินทร์ และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ได้จัดการเดินทางให้ได้รับความสะดวกตลอดเส้นทางโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อข้ามเข้าสู่ราชอาณาจักรกัมพูชา 2 วัน 1 คืน ของคณะเรามีมัคคุเทศก์ท้องถิ่นมือฉมัง ใช้ภาษาไทยได้รื่นหู คือ Mr. Roen Chay ซึ่งเราเรียกง่ายๆว่า คุณจ๋าย ทำหน้าที่ให้ความรู้อย่างกระจ่าง ชวนให้มองในสิ่งที่ควรสนใจ แนะให้ชมในสิ่งที่นักท่องเที่ยวทั่วไปมองข้าม และตอบคำถามที่เราอยากรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ การเมือง การปกครองของกัมพูชาอย่างผู้มีภูมิ รู้จริง รู้ลึก เป็นไกด์คุณภาพสูง มีความเป็นมืออาชีพที่สร้างความประทับใจให้เราทุกคน

คุณจ๋าย ไกด์กัมพูชาของคณะเรา

ภาพนางอัปสรกับนกแก้ว ที่ปราสาทตาพรม

คุณจ๋ายอธิบายว่า สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของไพรพฤกษ์รอบวัง มีนกแก้วมากมาย จินตนาการตามแล้วช่างจรรโลงใจ ปัจจุบันหากมาเช้าๆคนยังไม่มากก็พอจะได้เห็น

ระหว่างการเที่ยวชมปราสาทต่างๆผู้เขียนได้เห็นไกด์ชาวกัมพูชาแต่งเครื่องแบบเรียบร้อยนำกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กๆแค่ 2-3 คน และมักไม่เห็นเป็นกลุ่มใหญ่

มีทั้งไกด์ภาษาอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ทำงานอย่างมั่นใจและมีมรรยาทเมื่อเจอกับไกด์และนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น ก็ต่างถ้อยที ถ้อยอาศัย ตั้งอกตั้งใจทั้งไกด์และนักท่องเที่ยว

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนรู้สึกก็คือคนไทยนั้นคงไม่ค่อยนิยมการท่องเที่ยวที่มีไกด์อธิบายอะไรๆ นักท่องเที่ยวไทยจะชอบแตกกลุ่มไปถ่ายรูปสถานที่ ถ่ายรูปกลุ่ม ถ่ายรูปตัวเอง ผู้เขียนเคยเจอนักท่องเที่ยวไทยในทริปอื่นๆ ที่พากันร้องคาราโอเกะในรถโค้ช ไม่ให้ไกด์มีโอกาสอธิบายถึงสิ่งที่ได้ไปเห็นหรือกำลังจะไปชม!

หากมองถึงเรื่องความพร้อมของกัมพูชาในด้านการท่องเที่ยวที่จะรับการเปิดเออีซี เขามีทั้งจุดแข็ง และจุดอ่อนที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว หากไทย-กัมพูชาสามารถร่วมมือกันพัฒนาแบบเติมเต็มซึ่งกันและกัน การท่องเที่ยวเชื่อมเส้นทางอีสานใต้กับเสียมเรียบก็จะยิ่งไปได้ไกล

คุณจ๋ายกล่าวอย่างถ่อมตนว่า คนเขมรไม่ค่อยยิ้มเพราะผ่านสงครามใหญ่ๆมาถึงสองครั้งและสงครามกลางเมืองหนึ่งครั้ง ชีวิตที่ทุกข์ยากยังคงประทับรอยลึก และยังต้องต่อสู้ดิ้นรนในปัจจุบันที่จะหาความรู้ใส่ตัวเลี้ยงชีพและให้ทันโลก สงครามทำให้การศึกษาล้าหลังและไม่ทั่วถึง การรักษาพยาบาลก็จำกัดเฉพาะคนรวยเท่านั้นที่จะเข้าถึง ซึ่งคนมีเงินนั้นก็มักข้ามไปศึกษาและหาหมอกันที่ฝั่งไทย ยังดีที่นานาชาติยื่นมือเข้าไปช่วยในการสร้างโรงพยาบาล โรงเรียน สถานที่ฝึกหัตถกรรมสร้างอาชีพ สร้างรายได้

ได้พบเห็นไกด์อย่างคุณจ๋าย ไทยเราคงต้องพัฒนาคุณภาพไกด์ให้มีมาตรฐานสูง มีจิตวิญญาณแห่งอาชีพ ไม่ใช่มีแต่ไกด์ที่มุ่งนำลูกทัวร์เข้าช้อปปิ้งรับคอมมิสชั่น


อาหารกลางวันที่เสียมเรียบ

เพิ่งทราบว่าคนเขมรไม่นิยมอาหารรสเผ็ด เขาเอาใจนักท่องเที่ยวไทยด้วยการนำน้ำปลาดีที่ใสแจ๋วหอมกรุ่น กระเทียม และพริกใส่ถ้วยแยกต่างหาก ใครต้องการเผ็ดก็ปรุงกันเอง ดังนั้นเมื่อว่าโดยความอุดมสมบูรณ์ ความสดของวัตถุดิบ และรสชาติอาหารแล้ว อาหารไทยยังคงเป็นแม่เหล็กดึงดูดชาวต่างชาติได้ดีกว่าแน่นอน


ขนมหวานในตลาดที่เสียมเรียบ

ที่ภัตตาคารบุฟเฟ่ท์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งซึ่งมีการแสดงรำแบบเขมร เมื่อคณะเราทานกันเสร็จและการแสดงจบลงผู้จัดการภัตตาคารได้เดินมาแนะนำตัวว่าเป็นคนไทย และอาหารที่จัดบริการทั้งหมดเขานำแม่ครัวไปจากเมืองไทย มิน่าเล่าอาหารมีรสชาติกลมกล่อมมาก


ทิวดงตาล ซึ่งปลูกกันสืบทอดยาวนานเป็นมรดกของแต่ละครอบครัว

ด้วยข้อมูลต่างๆเหล่านี้ อีสานใต้ และ เสียมเรียบ จะสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงการท่องเที่ยวรับการเปิดเออีซี สร้างเศรษฐกิจได้แน่นอน แต่ที่ควรส่งเสริมให้มากคือ วัฒนธรรมท้องถิ่นของแต่ละแห่งให้คงเอกลักษณ์ คงเสน่ห์แบบเป็นตัวของตัวเองซึ่งจะทำให้ผู้คนได้มาสัมผัสประสบการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย การส่งเสริมการท่องเที่ยวจึงต้องทำอย่างมีสติ เคารพวัฒนธรรมท้องถิ่น เคารพตนเอง และเคารพผู้คนและวิถีถิ่นที่เราไปเยือน

สิ่งที่ผู้เขียนคิดคือ ไทยเราคงต้องช่วยเกื้อกูลในสิ่งที่เขายังขาดอีกมาก เช่นเรื่องของโรงเรียน เรื่องการแพทย์ ซึ่งเป็นควรคิดแบบเกื้อกูลกันไม่ใช่แบบสงเคราะห์แก่คนที่ด้อยกว่า เพราะเพื่อนบ้านเราแม้เขาจะยังไม่ได้พัฒนาล้ำสมัยอย่างเมืองไทยแต่เขามีอะไรดีๆด้านอื่นๆที่ไม่ได้น้อยหน้าเราเลย และบางอย่างทำได้ดีเป็นระบบล้ำหน้าเราด้วยซ้ำไป

หมายเลขบันทึก: 597627เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2015 11:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2015 11:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เห็นด้วยนะคะว่าการท่องเที่ยวที่ได้ความรู้ถึงสถานที่เราไปเยือนทำให้การท่องเที่ยวสนุกขึ้น เราควรมีความรู้บ้าง

นักท้องเที่ยวไทยชอบถ่ายรูปอย่างเดียว ไม่ค่อยฟังไกด์ ทำให้ไกด์บางชาตินินทาพวกเราค่ะ

ขอบคุณที่เล่านะคะ

เป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่งดงามมากครับ

ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ อาหารของเขาด้วย

ยังไม่มีโอกาสไปเลยครับ

แต่น่าสนใจมากๆ

ขอบคุณพี่นุชมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท