OpenCARE โครงการที่กล้าคิดและกล้าทำ เพื่อการแลกเปลี่ยนสารสนเทศเพื่อรับมือภัยพิบัติ


ทุกประเทศในโลกมักจะเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ภาครัฐและภาคประชาชนไม่ได้เตรียมการรับมือบ่อยทีเดียวครับ และเมื่อถึงเวลาเกิดขึ้นแต่ละทีนั้น เรามักจะไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันเอาหลังจากการเกิดเหตุการณ์แล้ว ซึ่งผลลัพธ์ก็มักจะไม่ทันการณ์เสียทุกทีเช่นกัน

เรื่องระบบสารสนเทศเพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่ "จะเกิดขึ้น" และ "เกิดขึ้นแล้ว" นั้น เป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดทีเดียว เพราะสารสนเทศเป็นหัวใจให้คนทำงานร่วมกันได้ครับ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาแต่ละครั้งนั้น เราต้องการให้คนทำงานร่วมกันได้อย่างพร้อมเพรียงประสานกันได้ดีที่สุดเท่าที่เป็นได้ทีเดียว เพราะในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น ทุกวินาทีมีค่าครับ

โดยปกติในโลก เมื่อเกิดภัยพิบัติเกิดขึ้น เราจะเกิดภัยพิบัติซ้ำสองครั้งครับ ครั้งแรกเป็นภัยจากธรรมชาติ ครั้งที่สองที่ซ้อนมาจะเป็นภัยพิบัติของระบบสารสนเทศที่ไม่พร้อมรับมือ เรียกว่าอะไรที่ซ่อนๆ ไว้ในระบบสารสนเทศมาแดงเอาก็ตอนที่จำเป็นต้องใช้นั่นละครับ

ผมเองสนใจในปัญหาเรื่องระบบสารสนเทศเพื่อรับมือภัยพิบัติอยู่ไม่น้อยทีเดียวครับ อาจจะเป็นเพราะเป็นพวกที่ผ่าน "post-911 era" มาก็ได้ อีกทั้งได้มาเห็นเหตุการณ์ Tsunami ในประเทศไทยอีก

ตอน Tsunami ผมเห็นเว็บไซต์ขึ้นมาเป็นดอกเห็ดเพื่อเผยแพร่ข้อมูล ซึ่งแต่ละเว็บก็พังกันไปเป็นแถบๆ เมื่อผู้ใช้เข้าใช้มากมหาศาลเกินความคาดหมาย

ผมเองก็พยายามทำงานตอนนั้นครับ ไม่ได้ไปเก็บศพแต่ก็พยายามทำในวิชาชีพของตัวเองโดยผมพยายามทำ SearchTsunamiThailand.com ซึ่งจะเป็น full-text search engine สำหรับเว็บที่เสนอข้อมูล tsunami ในประเทศไทย เพราะผมคิดว่าการเพิ่มเว็บขึ้นมาอีกแห่งนั้นไม่มีประโยชน์เพราะเว็บเยอะแล้ว แต่เว็บที่รวมข้อมูลมาให้ค้นหาแบบ full-text ที่ cross sites ได้ที่มี usability ดีๆ นั้นน่าจะมีประโยชน์กว่า

แต่ความพยายามของผมตอนนั้นล้มเหลวไม่เป็นท่าครับ ด้วยติดขัดปัญหาทางเทคนิคหลายต่อหลายประการที่ต้องแก้ให้เสร็จภายในเวลาที่จำกัด นี่คือสาเหตุที่ไม่มีใครเคยได้ยินชื่อ SearchTsunamiThailand.com เลย

ประสบการณ์ที่ผมได้รับจากคราวนั้นคือ

1. การพยายามทำอะไรขึ้นมาในเวลาฉุกละหุกนั้น "ไม่มีประโยชน์"

2. วิธีรับมือกับเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงคือพยายามอย่าให้มันเป็นเหตุการณ์คาดไม่ถึง แต่พยายามคาดมันให้ถึง "ล่วงหน้า" และ "เตรียมให้พร้อม"

เป็นประสบการณ์ที่สอนตัวเองดีมากครับ

วันนี้ผมได้รับอีเมลจากคุณตฤณ ตัณฑเศรษฐี ผู้ริเริ่มโครงการ OpenCARE ซึ่งเป็นโครงการที่ออกแบบระบบสารสนเทศเพื่อเตรียมการรับมือกับเหตุการณ์ภัยพิบัติ โดยคุณตฤณแนะนำให้ไปอ่าน "เรื่องเทคนิคของ OpenCARE "

ผมเองได้เสนอตัวกับคุณตฤณว่าจะขอช่วยคุณตฤณในโครงการนี้ โดยผมจะดูส่วนพื้นฐานที่ทำให้นักพัฒนาโปรแกรมในภาษา Ruby และ Python สามารถทำงานร่วมกับสถาปัตยกรรมของโครงการ OpenCARE ได้โดยง่าย

โครงการอย่าง OpenCARE เป็นเหมือน "ประกันชีวิต" หรือ "ประกันภัย" ครับ ไม่มีใครอยากให้เกิด ไม่มีใครอยากให้ต้องใช้

แต่ถึงเวลาต้องใช้ขึ้นมาแล้ว ถ้าไม่ได้ "เตรียม" ไว้แล้ว มันก็สายเกินไป

เตรียมไว้ "เกิน" ดีกว่าเตรียมไว้ "ขาด" เสมอ แต่ให้ดีต้องเตรียมไว้ให้ "พอดี"

อย่างไรก็ตาม จากสถาปัตยกรรมของ OpenCARE นั้น OpenCARE เป็นได้มากกว่าระบบแลกเปลี่ยนสารสนเทศเพื่อเหตุการณ์ฉุกเฉินครับ

ในเหตุการณ์ปกติเราก็ต้องการระบบเช่นนี้เช่นเดียวกัน เพราะในความเป็นจริงแล้ว ทุกวันเราต้องยุ่งเกี่ยวกับระบบสารสนเทศฉุกเฉิน "เล็กบ้างใหญ่บ้าง" เสมอ ระบบและเปลี่ยนสารสนเทศอย่าง OpenCARE จะช่วยลดปัญหารายวันที่เราต้องเจอกับการจัดการการไหลเวียนที่ไม่คล่องตัวของสารสนเทศได้มากทีเดียว

ผมขอเชิญชวนทุกท่านที่สนใจอ่านรายละเอียดโครงการ OpenCARE และเข้าร่วมโครงการนะครับ
หมายเลขบันทึก: 59741เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2006 22:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ดีจังเลยครับ
  • วางแผนไว้
  • ช่วงนี้ใช้ Skype ไม่เสียเงินครับ
  • ขอบคุณมากครับผม

ขอบคุณ อ.ธวัชชัยมากเลยนะครับ  แหมเขียนซะเข้าใจง่ายเลยทีเดียว

บน Gotoknow มีป้าย OpenCARE อีกอันหนึ่ง ซึ่งเล่าเรื่องระบบข้อมูลภัยพิบัติ แต่คงไม่ใช่ป้ายที่มีบันทึกบ่อยนัก ซึ่งก็ดีแล้วที่ไม่เกิดภัยพิบัติบ่อยๆ

สำหรับการพัฒนาด้วยภาษา Python มีข้อเสนอ: Python interface to OpenCARE ซึ่งเป็นระบบที่มีความสามารถสูงเทียบเท่ากับตัวต้นแบบปัจจุบันที่ใช้ Java/Geronimo แต่ใช้ภาษา Python พัฒนาทั้งหมด ผมไม่ได้เสนอระบบนี้เป็นต้นแบบตัวที่สองเนื่องจากยังไม่แน่ใจว่าชุมชน Pythomnic นี้ จะมีกำลังภายในเท่ากับชุมชน Java/Geronimo ซึ่งแข็งแรงมาก

ในระบบ OpenCARE นั้น เราไม่ได้สนใจความแตกต่าง (ของภาษาที่ใช้พัฒนา หรือว่าอะไรดีกว่าอะไร) หากแต่อะไรก็ได้ที่ทำให้เกิดการประสานข้อมูลการจัดการภัยพิบัติจากทุกภาคส่วน ให้ผู้ประสบภัยได้รับความช่วยเหลือที่ตรงตามความต้องการ ทันเวลา ไม่มากไป ไม่น้อยไป มีการสูญเสียให้น้อยที่สุด และร่วมมือกระจายกำลังกันออกช่วยผู้ประสบภัย ไม่ต้องไปกระจุกกันหน้ากล้องทีวี

ในส่วนของภาษา Ruby นั้น ไม่แน่ใจครับ ตัว Ruby อาจจะยังใหม่อยู่มาก

สำหรับ Rails หรือ MVC framework ทั้งหลาย ก็ไม่ค่อยเข้ากับ OpenCARE เนื่องจาก OpenCARE ไม่ได้ใช้ เว็บเป็น interface หลัก อย่างไรก็ตาม แนะนำบล๊อกนี้ครับ ไม่รู้เอามะพร้าวห้าวมาขายสวนหรือเปล่า ผมว่าเค้าเขียนน่าสนใจดีครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท