ภาวะทุพพลภาพกับการดูแลผู้สูงอายุไทย



วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๘ ผมไปเป็นกรรมการสอบจากภายนอก ให้แก่วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการสอบวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่อง ภาวะทุพพลภาพในผู้สูงอายุไท : ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาวในทศวรรษหน้า ของคุณภัทรพร คงบุญ ทำให้ผมได้ความรู้มาก

คนเราทุกคน แม้จะมีสุขภาพดี ฐานะความเป็นอยู่ดี แต่ในบั้นปลายของชีวิต จะต้องมีช่วงหนึ่ง ที่ดูแลตนเองไม่ได้ คือทุพพลภาพนั่นเอง ชีวิตใครมีช่วงนี้สั้น ถือว่าโชคดี ไม่เป็นภาระแก่ลูกหลานมากเกินไป

หลักการใหญ่ที่สุดคือ ต้องยึด family care & community care เป็นตัวหลัก เสริมด้วยการสนับสนุนจาก ระบบบริการสุขภาพโดยต้องทำให้เชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกัน ส่งเสริมซึ่งกันและกัน และเรียนรู้จากกันและกัน

มิฉนั้น สังคมจะสิ้นเปลืองค่าดูแลคนแก่จนหมดเนื้อหมดตัว ดังตัวอย่าง ศาสตราจารย์ Karl Neeser ชาวสวิส บอกว่า สวิตเซอร์แลนด์มีพลเมือง ๘ ล้านคน ในจำนวนนี้ ๑ ล้านคน ไม่มีประกันการดูแลสุขภาพ เพราะไปหลงเน้นบริการจากระบบธุรกิจ ซึ่งแพงมาก

วัฒนธรรมหรือคุณค่าของความกตัญญูรู้คุณแทนคุณพ่อแม่ ดูแลยามแก่เฒ่า เป็น “ทรัพย์เชิงวัฒนธรรม” ที่มีค่ายิ่ง ที่เราจะต้องรักษาไว้ และหาทางเพิ่มพูนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น อย่าไปตามวัฒนธรรมฝรั่ง

แต่วิถีชีวิตของสังคมชนบทกับสังคมเมืองแตกต่างกัน คนในเมืองต้องพึ่งบริการดูแลคนแก่ที่ ช่วยตัวเองไม่ได้จาก care giver มากกว่า จึงต้องมีระบบดูแลคุณภาพของ care giver

วิทยานิพนธ์นี้ศึกษาทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เชิงปริมาณ ได้เอาข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่สำรวจประชากรผู้สูงอายุทั่วประเทศ ในปี ๒๕๔๕, ๒๕๕๐, และ ๒๕๕๔ มาวิเคราะห์ ผมได้ความรู้ว่า วิธีสำรวจนี้ใช้วิธีการที่เป็นมาตรฐานนานาชาติ ทำให้เปรียบเทียบกันได้ โดยสำรวจความสามารถในการทำกิจกรรม ๖ อย่าง

ผมกลับมา AAR กับตนเองที่บ้าน ว่านโยบายสำคัญระดับชาติคือนโยบายส่งเสริมการ “ออมเพื่อชีวิต ยามชรา” โดยต้องไม่ใช่แค่ออมเงิน ต้องออม หรือสั่งสมสุขภาพ ได้แก่สร้างนิสัยสุขภาพ ๕อ., ๖อ., ฯลฯ สั่งสมร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง ถือเป็น “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” หรือเป็น life skills อย่างหนึ่ง ที่อาจจะสำคัญที่สุดกว่าการเรียนรู้อื่นๆ



วิจารณ์ พานิช

๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๘


หมายเลขบันทึก: 597380เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2015 18:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2015 18:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อาจารย์คะ ขออนุญาติเผยแพร่ แนวความคิดนี้ ไว้ใน Facebook นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท