Time of Memory


งานใดๆถ้าผู้กระทำได้ทุ่มเททั้งกายและใจ งานนั้นย่อมประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะดนตรี กายทำให้เกิดเสียงดนตรี ใจทำให้เสียงดนตรีนั้นไพเราะ

บันทึกความทรงจำแห่งวันเวลา Time of Memory ประวัติการก่อตั้งวง การประกวดครั้งแรก การเป็นครูวงโยฯ เพลงประจำวงโยฯ บันทึกตำนานแห่ง‪#‎ครอบครัววงโยธวาฑิตเทพศิรินทร์‬ ‪#‎debsirinbandfamily‬ ‪#‎เทพศิรินทร์เค้าไม่ทิ้งกัน‬ :

......................................................................................................................................................

...My ...Dream... My..... Friend ...and... My.. Family... เพื่อน...ครอบครัว......

......................................................................................................................................................

ผมเห็นว่ามีข้อความหนึ่งลงมาในไลน์ของพวกรุ่นพี่ๆและน้องๆอ่านแล้วประทับใจจึงขอนำมาลงให้พวกเรา

!!!งานเลี้ยงรุ่นหรือพบปะเพื่อนๆเพื่ออะไร/สำคัญฉะไหน!!!
เพื่อนสมัยเรียนร่วมกันเมื่อจบ แยกย้ายกันไปสร้างเนื้อสร้างตัว สร้างชื่อเสียง บางคนมียศสูงขึ้น หลายคนล้มเหลวยังย่ำอยู่กับที่ บางคนชีวิตเหมือนวันเก่าๆ !!!

ในงานเลี้ยงรุ่นที่จัดขึ้นบางงาน พิธีกรบนเวที เอาแต่ยกย่องชมเชยเพื่อนที่ได้เป็นใหญ่เป็นโต ร่ำรวย มีหน้ามีตา ละเลยเพื่อนที่ยังเดินไปไม่ถึงฝัน จะเป็นงานเลี้ยงรุ่นที่เพื่อนมาร่วมน้อยลงไปเรื่อยๆ ... แต่หากกลุ่มไหน ให้เกียรติเพื่อน
เสมอกัน เพื่อนผู้ประสบความสำเร็จมีวุฒิภาวะพอ ที่จะรู้ว่าต้องถอดหมวกแห่งความยิ่งใหญ่ ทิ้งไปก่อนเข้างาน มาในฐานะ "เพื่อน"
ที่เสมอๆ กัน !!!

งานเลี้ยงเพื่อนรุ่นนั้นยิ่งนานยิ่งมีเสน่ห์ เพื่อนที่จะเข้าร่วมยิ่งมากขึ้นถอดกรอบที่ตัวเองตีไว้ เปิดใจรับเพื่อน โดยไม่นึกถึงประโยชน์ตัวเองได้มากเท่าไร ยิ่งเป็นเสมือนแม่เหล็กจูงใจเรียกเพื่อนได้มาก

อ่านแล้วโดนใจ เลยส่งมาแบ่งปันกัน...

มีใครบ้าง ที่ทำงานแล้วเกิน 30 ปี แล้ว แต่ยังโทรคุยหรือนัดทานข้าวกับเพื่อนสมัยเป็นนักเรียนอยู่เรื่อย ๆ …… ไม่ค่อยมีเลยเหรอ

งั้นถามใหม่ … มีใครเคยไปร่วมงานเลี้ยงรุ่นประจำปี หรืองานคืนสู่เหย้าของโรงเรียนเก่าบ้าง ถามแบบนี้ ค่อยมีคนยกมือขึ้นนิดหน่อย……..

ขอถามอีกข้อ …ใครที่ไม่เคยพลาดงานเลี้ยงรุ่นเลย แม้แต่ปีเดียว น่าจะมอบรางวัลเพื่อนแห่งชีวิตให้จริง ๆ ครับ เพราะถ้าคุณไม่เคยขาดงานเลี้ยงรุ่นเลย แสดงว่าคุณให้คุณค่าและความหมายของความเป็นเพื่อนได้สมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อนที่ทำหน้าที่เตรียมงานรุ่น คอยประสานงาน คอยโทรตามให้เพื่อนไปร่วมงานรุ่น โดยหาสารพัดกลยุทธ์การตลาดมาเพื่อการปลุกเร้า เชิญชวนให้เพื่อนไปงานรุ่นกันให้ได้ ให้ครบ

ถามว่า พวกที่เตรียมการต่างๆเพื่อการเลี้ยงรุ่น คนเหล่านั้นได้อะไรตอบแทน นอกจากเหนื่อย เปลือง โดนเพื่อนบ่น – - ไม่ไปหรอกงานรุ่นอะไรนั่นน่ะ มันเรื่องของเด็ก ๆ เราโตแล้ว หน้าที่การงานก็มากมาย มีเรื่องที่สำคัญกว่าตั้ง
มากมายก่ายกองต้องทำ มาชวนอะไร ไร้สาระ ว่างมากหรือไง นั่น เป็นไง ว่าไปโน่น น่าเสียดายนะครับ เพราะคุณกำลังสูญเสียช่วงที่ดีที่สุดของชีวิตไปอีกครั้งด้วยน้ำมือของคุณเอง ผมเอง เสียดายมาจนถึงเดี๋ยวนี้ หลังจากที่เสียเวลาแห่งความเยาว์วัยไปแล้ว ตามกฎของธรรมชาติ

นั่นเพราะ เวลาแห่งการเลี้ยงรุ่น ทำให้เราได้นึกถึงอดีตร่วมกัน ไม่รู้ว่ามันเป็นเวทย์มนตร์ หรืออะไรสักอย่างที่ ทุกเรื่องราวจะพรั่งพรูออกมาเหมือนก๊อกของวันเวลาแตกทะลายลง เรื่องที่เคยสุข ก็ยิ่งสุขกว่าเมื่อมานึกย้อน ส่วนเรื่องทุกข์ เรื่องเศร้า เรื่องลอกการบ้านเพื่อนแล้วโดนดุ โดนตี โดนทำโทษ พอถึงวันเลี้ยงรุ่น เรื่องเหล่านี้กลายเป็นเรื่องขำฮากลิ้ง เก็บมาอำได้ไม่รู้จบ ทั้งที่ตอนนั้น กว่าจะผ่านมาได้แทบปางตาย เพราะเหตุนี้หรือเปล่า โลกเราจึงมีงานเลี้ยงรุ่น เพราะเพื่อนคือสิ่งมีชีวิตที่แสนมหัศจรรย์ และจะปั้นแต่งก็แสนยาก

ทุกคนในงานเลี้ยงรุ่น มีหมวกเดียวกัน..."เพื่อน"เท่านั้น

มาร์ชวงโยธวาธิตเทพศิรินทร์

เรานักดนตรีวงโยธวาทิตเทพศิรินทร์
เรานั้นมีชื่อเสียงระบิลระบือในทั่วทุกแดน
ทั่วทุกแดนต่างหวั่นเกรงในนามของเรา
เพราะว่าเราคือเทพศิรินทร์

*
Glo..ry glory Debsirin...dra...
Glo..ry glory Debsirin...dra...
Glo..ry glory Debsirin...dra...
It's the best school in the land

สีเขียวและเหลืองจะเปล่งประกายแห่งความสง่า
เรานั้นจงมาร่วมกันบรรเลงบทเพลงด้วยใจ
รวมน้ำใจของพวกเราให้เป็นหนึ่ง
เพราะว่าเราคือเทพศิรินทร์

ซ้ำ*

ความสามัคคีจะเป็นไฟแห่งความหวังเรา
เราจงก้าวไปด้วยกำลังใจและแรงศรัทธา
จงเสียสละด้วยจิตใจและวิญญา
เพราะว่าเราคือเทพศิรินทร์

ซ้ำ*

และเมื่อ..ถึงวัน..ที่เราต้องจาก จากกันไปสู่เส้นทางสายใหม่
เราจะรวมใจรวมพลังสร้างสรรค์ผลงาน
ขอให้สัญญาจะจากไปไม่มีลืมเลือน
จดจำไว้....เรา...เทพศิรินทร์

Glo..ry glory Debsirin...dra...
Glo..ry glory Debsirin...dra...
Glo..ry glory Debsirin...dra...
It's the best.. school.. in.. the.. land...

สารจากอาจารย์เดชา....

ทำไมครูถึงบอกว่ามีลูกศิษย์ที่ดี....
......เพราะว่าวัฒนธรรมของเทพศิรินทร์ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์มาแล้ว ตั้งแต่เริ่มมา ถ้าเราติดตามกันมาตลอดจะเห็นว่า ชาวโรงเรียนเทพศิรินทร์นั้นเกิดจากความรักความปรารถนาดี และพวกเราชาวเทพศิรินทร์ไม่ว่าจะรุ่นไหนก็ตามเราก็ยังคงยึดถือปฏิบัติตนเป็นเอกลักษณ์จนเป็นวัฒนธรรมของพวกเราไปแล้ว...ในเรื่องของความรักความกตัญญู...ถ้าไม่มีความรัก ความกตัญญญูก็ไม่มีอย่างที่เราเห็น จนทุกวันนี้...ไม่มีพวกเรามานั่งอยู่จนทุกวันนี้.....อะไรทำให้พวกเรามา พวกเราอาจจะคิดว่าเป็นเพราะอาจารย์เดชาเกษียณ แต่ครูมองอีกภาพนึงว่าเป็นเพราะความรักเป็นเพราะกระแสจิต (ใจ)ของพวกเรานั้นเองที่ดินพวกเรามาหากันในทุกวันนี้....


......อยากจะให้พวกเรารักกันอย่างนี้นานที่สุดเท่าที่ใครก็ตามจะไปก่อนกัน....(ฮาๆๆๆ) ขอให้รักกันอย่างนี้แล้วก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ที่ครูเคยบอกว่าครูอยากเห็นภาพของแต่ละคนอยากเห็นภาพของครอบครัว มีลูกเด็กเล็กแดงมา ...แต่เมื่อกี๊ตอนครูเข้ามา.... มีคนมาบอกว่าวันนี้ผมขอวันนึง...ครูก็ถาม..ทำไม...เพราะผมรู้ว่าวันนี้อะไรจะเกิดขึ้น....(ฮาๆๆ) ก็เรียกว่าตั้งเป้าเตรียมตัวมากันเลย....


.....ก็ดีใจและขอบคุณคณะทีมงานที่เตรียมงานกันมาเป็นปี แล้วก็ปิดสนิทไม่บอกไม่อะไร ว่าจะทำอะไรก็จะนัดกันยังไง ใครจะมาบ้างประสานงานรุ่นไหนต่างๆ ก็เริ่มเตรียมตัวกันมา...ก็แอบดูในไลน์ของวงโยฯก็ทราบอะไรบางอย่างเป็นระยะๆ แต่ก็ไม่ได้ไปซักถามทีมงานว่าทำอะไร...มาขอข้อความก็เขียนให้เราอยู่กันมาอย่างนี้ตั้งเท่าไหร่...บางคนก็ 37 ปีเท่าครูเพราะเราเดินเข้าโรงเรียนเทพศิรินทร์พร้อมกันในปีนั้น .....


...... ครูเข้ามาปีนั้นมาถึงครูก็รับวงโยปีนั้นแล้วก็ห้ำหั่นกันมาตลอด...(ฮาๆๆ)..เพราะฉนั้นรุ่น 1 จะเป็นรุ่นที่ ผ่านฝนผ่านร้อนผ่านหนาว...คือเธอก็ลองของเพราะเธอไม่เคยเล่นมาก่อน .....ครูก็ลองของเพราะครูก็ไม่เคยสอนมาก่อน.....(ฮาๆๆ) ..วงโยฯนี่ไม่รู้เลยบอดสนิท ครูเล่นดนตรีกลางคืนครูเล่นดนตรีแต่ประเภทเป็น backup ให้เขาร้องเล่นเป็นวงเล่นอะไรอย่างนั้น มาถึงวงโยฯ ก็ด้วยหน้าที่ก็ด้วยสัญชาติญาณก็ต้องทำ ก็อยากจะลองมันท้าทายดี กว่าจะก่อมาเป็นวง กว่าจะสะสมนักดนตรีมา ทำอย่างไรถึงจะเป็นวงได้ รุ่น 1 ก็รับมาแล้วลองหมด ลองหมดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นวิธีการของ... ไม้กลอง (ฮาๆๆๆ) ไม่ว่าจะเป็นการรุนแรงด้วยอะไรหลายๆอย่างที่รู้กันนะ....แต่ตอนนี้มันทำไม่ได้แล้ว...ยอมรับผิด....แต่ถ้ารู้ว่ามันขโมยบุหรี่ตั้งแต่ตอนนั้นนะ....(ฮาๆๆ)...ไม้กลองอาจจะต้องเพิ่มไซด์นิดนึง...(ฮาๆๆ)

....ครูทำงานกลางคืนพอกลางวันครูก็หลับช่วงกลางวันเป็นช่วงว่าง...มันรู้ดีเลยหละ...ก็...อภัย...เราอยู่กันอย่างนี้ เรารักกันมา เราอดทนกันมา คิดดูแล้วกันว่า อะไรทำให้เราเป็นอย่างนี้ได้ อะไรทำให้เรารักกัน อะไรทำให้เป็นวงได้ วงโยฯมันประกอบด้วยคนหลายๆคนเข้ามาหลายครอบครัวหลายรูปแบบเข้ามาอยู่ด้วยกัน มาเล่นในวงดนตรีก็ยังหลายเครื่องแตกต่างกันไป เหมือนกับคุยกันคนละภาษา ฟลุตคุยกับทรัมเปตว่าจะเป่ากันยังไงนี่คุยกันคนละภาษา แต่ครูต้องเรียนรู้ทุกภาษาเลย ครูเป่าทรอมโบนไม่เป็น ยูโฟเนียมครูก็เป่าไม่เป็น ทรัมเปตครูก็เป่าไม่เป็น ครูเป็นคน woodwind เป็น Sax คลาริเน็ตเป่าได้ ฟลุตพอรู้ แต่มาเจอเครื่อง Brass นี่ก็ยังแปลกใจว่าครูสอนให้มันเป็นวงได้อย่างไร.... ถามกันชิง...เป่ากันแก้มโป่งเลย...แต่มันก็เป็นวิธีที่ผิดเป็นเทคนิคที่ผิด ก็ลองผิดลองถูกเรียนรู้กันพร้อมพร้อมกันไป สร้างสมประสบการณ์จนกระทั่งเป็นวง ดีใจมากตอนที่เล่นเพลงแรกได้เพลง Marine march ดีใจ เล่นได้ฟังได้แล้วมันก็เป็นพลัง..เอาล่ะ step ต่อไปที่นี้จะต้องดีขึ้น จะต้องยากขึ้นและต้องดี มันจะน้อยหน้าไปไม่ได้ ก็ทำก็สร้างวงฯมา ใช้วิธีการอย่างที่ครูเคยเขียนบอกไว้ในหนังสือว่า อะไรที่จะทำให้คนจำนวนมากนี้รวมกันอยู่ด้วยกันได้และสร้างผลงานได้ มาลงคำตอบที่ระเบียบวินัย ....

......."ระเบียบวินัย" เป็นอย่างเดียวที่ต้องทำและต้องทำให้คนกลุ่มนี้เดินต่อไปได้ ก็เลยวิธีใช้ระเบียบวินัยเข้ามาใช้กับพวกเรา อย่างที่สองก็คือเรื่องของ "การปกครองแบบครอบครัว" หรือพี่กับน้อง ครูให้ "รุ่นให้รุ่นน้องยกมือไหว้รุ่นพี่" เห็นเป็นภาพนักเรียนเด็กไหว้นักเรียนผู้ใหญ่ ถ้าน้องไหว้พี่แล้วพี่ไม่สอนน้องให้มันรู้ไป น้องยกมือไหว้ทีพี่ก็อ่อนระทวยพอเห็นน้องยกมือไหว้ มันก็เกิดวัฒนธรรมอย่างนี้อยู่กันมาปกครองกันมาแล้วพวกเรานี่ก็เป็นคนสร้างวัฒนธรรมของวงขึ้นมาเองในอีกหลายๆอย่าง สร้างขึ้นมาเองครูไม่ได้เป็นคนสร้าง...

.....การเรียกแถวการทำอะไรพร้อมๆกันเกิดขึ้นได้ยังไงไม่ใช่ครู กินข้าวรอกัน เป็นห่วงเป็นใยกัน คนนี้ยังไม่มาคนนั้นยังไม่มาถามไถ่กัน นี่คือวัฒนธรรม เวลาเราสนุกสนานสนุกด้วยกันประเพณีรับน้องใหม่ พวกเราเป็นคนสร้าง อะไรนะประเพณีล้างแค้นหรือ...ก็สนุกกันไป น้องก็ยอมรับ รุนแรงมากอะไรบ้างแต่สุดท้ายก็มาโอบอ้อมอารีกันมีพิธีจุดเทียนพวกนี้ เราสร้างขึ้นเอง ครูไม่ได้เป็นคนสร้าง ครูไปทำงานครูมีอีกอาชีพหนึ่งก็คือเป็นนักดนตรี ก็ทำงาน ใจก็เป็นห่วง เวลามีงานตอนเช้าแล้วพวกเราจะต้องมานอนโรงเรียน...มันต้องมีวีรกรรมอะไรแน่แน่...(ฮาๆๆๆ)...รู้..แต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร....แต่ที่รู้เพราะเวลาครูกลับปั๊บ...หลับสนิท...ก็ดีใจ...นั่นก็คือ เราอยู่กันได้...
......ถ้าพี่ไม่ดูแลน้องน้องไม่ฟังพี่ ต่างคนต่างใช้ชีวิตตัวเองเตลิดเปิดเปิงกันไป แล้วมันจะอยู่กันได้อย่างไร คน 50 - 60 คนนอนด้วยกัน แล้วมันกลายเป็นวัฒนธรรม สืบต่อกันมาจนรุ่นสุดท้ายนี่พี่ก็ยังดูแลน้องปกครองกันอยู่แบบนี้ สร้างกันขึ้นมา เรามาคุยกันด้วยภาษาดนตรีมีอะไรบางอย่าง..มีคำพูด..มีสายตา...มีอะไรบางอย่างที่ถ่ายทอดกันจนเป็นหัวใจเดียวกัน... พูดภาษาเดียวกันเข้าใจง่าย...พี่เตือนน้องไม่ต้องพูดกันมาก...หลายๆคนคงเห็นบางทีแค่สายตาครูมองมันเหมือนคำพูดที่พรั่งพรูออกมา...แต่ไม่ได้พูด....แต่พวกเราก็รู้และอ่อนระทวยไป....เพราะถ้าไม่อ่อนก็จะมีไม้กลอง....แต่ก็ไม่ต้องรอจนถึงขนาดนั้น...แล้วก็เป็นวิธีการที่สอนให้พวกเราสอน ดูแลกันเอง จบชีวิตการเรียนไป 6 ปีเราอยู่ 6 ปีแต่ครูอยู่ 37 ปีที่เทพศิรินทร์ ใครบอกว่า 6 ปีรักเทพศิรินทร์มากมายเหลือเกิน แล้วคนที่เค้าอยู่ 37 ปีเค้ารักขนาดไหน...(...เสียงปรบมือ....)

เหมือนใจหายที่ว่าก่อนที่เห็นคนอื่นเขาก็เกษียน เขาก็บอกว่าอีก 5 ปี ครูถึงจะเกษียณแล้วเหลืออีก 5 ปี เราก็คิดว่าเราเหลืออีกตั้ง 4 ปี 3 ปี นับถอยหลังไปเรื่อยๆ ก็เฉยๆ พอมาปีจริงของเรานี่มันชักเริ่มรู้สึก เริ่มเดินเหม่อลอยเริ่มเดินมาอยู่หน้าเสาธงมองตึกโน้นตึกนี้ พอเข้าเดือนกันยายนมันก็เริ่มหวิวๆ คำว่าเกษียนคืออะไร ต้องตื่นเช้ามาโรงเรียนแล้วตอนนี้ต้องตื่นเช้ามาทำอะไร ก็พยายามศึกษาวิธีการปรับตัว ต้องปรับหลายอย่าง วิถีชีวิตมันเปลี่ยน ต้องดูแลอาหารการกินต้องควบคุม ต้องทำงานเพื่อให้มีกำลังก็เพราะว่าคนอายุมากอะไรมันก็มาก ร่างกายมันก็ตามไป เริ่มลุกเร็วเร็วไม่ได้แล้ว จะขยับตัวลูกนั่งทีก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เริ่มส่องกระจกเริ่มสะท้อนชีวิตตัวเองแล้ว นั่นก็คือวัยของครู.....แต่ความเป็นห่วง..ความรัก..ความผูกพันธ์ มันยังคงอยู่ ยังแน่นอยู่ ครูบอกกับพวกเราว่า จะไม่ทิ้งเทพศิรินทร์....
.....ครูจะกลับมาดูแลกลับมาเยี่ยมเยียน....อันไหนที่ครูสร้างมากับมือก็ทิ้งไม่ได้.. และก็ฝากไว้ให้ดูแล...และทำไมพวกเราจึงมาเจอกันอย่างนี้ เพราะมันเป็นเพราะอะไรก็ลองไปคิดดู หลายคนฟังนั่งคุยกัน ก็ชื่นชม ชื่นชมพวกเราว่า...เห็นภาพต่างๆตั้งแต่เด็กภาพนี้ก็ยังเห็นอยู่ มาเล่นกันมาแหย่กัน มาอะไร.. ...อายุเท่าไหร่แล้วตอนนี้ (ฮาๆๆ) มาแต่ละคนนี่ย้อนไปวัยเดิมหมดเลย
...แต่ไม่มีบุหรี่ให้มาขอ (ฮาๆๆ)......ก็มีเรื่องเล่ามีภาพประวัติศาสตร์ ที่มานั่งดูแล้วก็ นั่งนึกถึงรุ่นโน้นรุ่นนี้ แต่ละคนเป็นหัวโจกบ้างรักดีบ้าง มีเรื่องอะไรก็ว่ากันไป ...ครูอยากจะฝากพวกเราว่า "อย่าทิ้งน้อง" "เทพศิรินทร์เค้าไม่ทิ้งกัน".. จะด้วยวิธีการและด้วยอะไรก็ตาม.. ขอฝากพวกเราว่า ให้ช่วยกันดูแลน้องให้ถามไถ่กัน แล้วครูก็ยังเหมือนเดิมว่า อยากจะเห็นพวกเรามาพบปะกันปีครั้ง 2 ปีครั้ง.........ด้วยวิธีการอื่นๆบ้างก็ได้ ไม่อยากให้เราห่างไกลกัน เชื่อเถอะว่ามันเป็นภาพแห่งความสุขลองดูสิ มาเจอกันวันนี้มันมีหลายเรื่องราวที่เราได้มาคุยกัน ใครมีประสบการณ์อะไรมาเล่ามันก็มีความสุขกันอย่างหนึ่ง ขอฝากตรงนี้ว่า ขอให้เราได้มีโอกาสเจอกันแล้ว ไม่ต้องกระบวนการมากมาย ไม่ต้องมีเรื่องที่ทำให้คนต้องกังวล ถ้าจะมาด้วยความกังวลแล้วมันเหมือนไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ...

"อยากให้เรารักกันอย่างนี้ตลอดไป".... ขอบคุณทีมงานทั้งหลายที่จัดงานวันนี้...ก็ขอพูดแค่นี้....สวัสดี.....ครูเดชา แสงทอง

Speech in Time of Memories
งาน Time of Memory
ครอบครัววงโยธวาฑิตเทพศิรินทร์
วันที่ 17 ตุลาคม 2558
ณ อาคารศรีจุลทรัพย์
ถอดสารโดย ว่าที่ร.ต.โสตถิทัศน์ เอี่ยมลำเนา ยทศ#8 DSA#105

.........................................................................................

สารจากครูเดชา.........Time of Memory...........................

ครูดีใจที่พวกเรายังเจอกันอยู่กันคงทนกันอยู่ในความเป็นพี่เป็นน้อง ความเป็นเพื่อน ตอนสมัยที่อยู่วงนี้ก็ไม่รู้ว่ายังไงก็ตาม ทุกคนก็เข้ามาวิธีกระบวนการใดก็ตาม ก็อยู่มาด้วยวิธีการหลายอย่าง ครูคิดว่าการฝึกคนสักกลุ่มหนึ่ง วงโยฯอย่างน้อยก็สาม สี่สิบ ห้าสิบคนในแต่ละรุ่นก็ถือว่าเป็นคนกลุ่มใหญ่ มากกว่าทีมฟุตบอล 1 ทีม มากกว่าทีมอื่นๆ เพราะฉะนั้นการที่คนจะอยู่กันได้

อีกเยอะในกลุ่มเดียวกันทำกิจกรรมร่วมกันระเบียบวินัยมันไม่มาก่อน มันยาก มันเอาไม่อยู่ มันจะทำให้เราเป็นไปไม่ได้ หากยังจำได้นี่กว่าเราจะได้ฝึกได้จับเครื่องฯ จะเป็นเครื่องเป่าหรืออะไรก็ตามเราโดนอะไรกันมาพอสมควร เราโดนในเรื่องแถว โดนด่าเรื่องอะไรต่างๆนี่กว่าที่เราจะได้มาจับเครื่อง ซึ่งหลายคนก็ไม่รู้เหตุผลแล้วก็เดินออกไป มาแต่ละรุ่นหนึ่งห้าสิบหกสิบคนสุดท้ายก็เหลือ 20 คนก็ถือว่าประสบความสำเร็จพระครูตั้งเป้าไว้แค่สิบคน(ฮา.....) แต่เราก็อยู่กันได้ก็เป็นแบบนี้บางคนก็ออกไปซึ่งในยุคแรกๆก็คือไม่ทราบเหตุผล อาจจะไม่รักจริงก็แยกออกไป ที่อยู่กันได้ก็คือมีจุดหนึ่งคือในชีวิตจิตใจมีเรื่องของดนตรี ยิ่งที่อยู่ร่วมกันได้อย่างเพื่อน
ฝูงกันต้องยอมรับว่าความมีวินัยส่วนหนึ่ง และความเป็นพี่เป็นน้องกัน มีทั้งเสียงหัวเราะและน้ำตาอยู่ในที่เดียวกันในห้องเดียวกัน
..............................
ในห้องโยธวาทิต 162 นี้มันมีหลากหลายเรื่องราวอยู่ในนั้น มีการแลกเปลี่ยนความรู้สึก มีทั้งคนเรียนเก่งคนเรียนไม่เก่งคนดีคนเก มีอะไรกับมันมากคงจำกันได้ แต่พอมาอยู่ในห้องนี้มันกลายเป็นอีกคนหนึ่ง หนึ่งในวัฒนธรรมที่เห็นก็คือ เป็นน้องที่ยกมือไหว้พี่ พี่เคยแกล้งน้องอย่างไรก็ตามเพราะยกมือไหว้พี่เค้าก็อ่อนระทวยยอมให้ทุกอย่าง ยอมสอนยอมให้ทุกอย่าง แล้ววัฒนธรรมนี้เราก็รับกันมา แล้วเราก็มาถ่ายทอดสืบต่อกันไม่ว่าจะเป็นรุ่นน้องที่โดนรุ่นพี่ยำ พอก้าวมาสู่รุ่นพี่ปั๊ปก็สืบทอดเจตนารมณ์(ฮา.....)

เมื่ออาทิตย์ก่อนครูได้ไปรื้อรูปภาพเก่าๆดู นานแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ในภาพที่ส่งให้ดูกัน พวกเรากำลังแกล้งน้องกันอยู่ จริงๆมีรูปมากกว่านั้นแต่นั่นคือความสนุกสนานแล้วพี่น้องก็รักกัน อยู่กันอย่างครอบครัวแบบนี้มันอยู่กันมาได้อย่างไร ไม่เหมือนโรงเรียนอื่น กินนอนกิจกรรมอะไรต่างๆอย่างที่บอก มันก็อยู่กันได้นี่แหละ ที่บอกว่าพี่น้องดูแลกันได้ ซึ่งในยุคนั้นในยุคของพวกเราครูยังทำงานกลางคืน แล้วก็มีงานตอนเช้าอยู่บ่อยๆ แล้วพวกเราก็อยู่กันได้พี่น้องดูแลกันเอง มีอะไรบ้างกุ๊กกิ๊กนิดหน่อย พวกเรารู้ดีกันอยู่แล้วไม่ใช่เรื่องเสียหาย เรารับผิดชอบกันได้ ครูกลับมาเที่ยงคืนตีหนึ่งนอนกันเงียบแต่ไม่ใช่หรอก(ฮา.......) ทุกคนยอมรับกติกา


เราก็อยู่กันแบบนี้ ก็อยู่กันมา มีวัฒนธรรมอีกหลายอย่างที่เราสร้างกันไว้ เค้าบอกว่าเด็กกลุ่มกิจกรรมในโรงเรียนเทพศิรินทร์กลุ่มแบบอย่างที่พูดถึงทุกวันนี้ ก็คือให้ไปดูวงโยฯ กิจกรรมที่มีระเบียบวินัยทุกวันนี้ครูอาจารย์ในโรงเรียน ยอมรับว่ากิจกรรมให้ไปดูวงโยฯ ทำไมเค้าต้องกินข้าวพร้อมกันทำไมเขาต้องเรียกแถว ทำไมเขาต้องฝึกเขาต้องอบรม ทำไมเขาต้องพูดจากันก่อนที่จะทำอะไรต่างๆ แล้วพวกเราก็ยอมรับตรงนี้ก็สืบต่อกันมา เดี๋ยวนี้ก็ยังทำอยู่ ถามว่าทำไมพวกเรากันยังเจอกันแบบนี้อยู่ ทำไมพวกเรายังมานั่งกันอยู่ตรงนี้ ทำไมเรายังมาเจอกันมองหน้าเพื่อนกันอยู่ตรงนี้ 30 ปีแล้ว อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเราเป็นแบบนี้อยู่ คำตอบคือการใช้ชีวิตร่วมกันมันสอนเรา มันให้เรา หลังจากนั้นแล้วมันทำให้เรานึกถึงกันในทุกรุ่น

ฉนั้นสิ่งที่ผ่านมาครูด้วยซ้ำจะต้องขอบใจพวกเราว่าเพราะพวกเรานี่แหละ บางทีครูก็ต้องใช้ความรุนแรงเช่นเขี่ยหัวด้วยไม้กลองเนี่ย ก็ด้วยวิธีการฝึกแบบโบราณแต่เดี๋ยวนี้ทำกันไม่ได้แล้วเดี๋ยวนี้วิธีการมันเปลี่ยนไปแล้ว จะรับก็รับกันได้แต่มันก็ไม่ออก มันก็ยังอยู่ ก็ดีใจว่ามันผ่านมาได้ขนาดนี้และ ผ่านมาถึง 30 ปีแล้วหลายภาพความทรงจำมันยังอยู่

ครูเดินเข้าห้อง 162 ห้อง 162 นี่คือบ้านครูพวกเราจะคิดว่ามันเป็นบ้านหรือเปล่าไม่รู้ ครูคิดว่าเป็นบ้านครู ครูนอนอยู่ที่นี่ 10 กว่าปี นอนอยู่ที่นั่นจริงๆ ทำงานมาก็กลับมานอนหลับกลับจากทำงานมาก็เที่ยงคืน ตีหนึ่ง ยาวหน่อยก็ตีสอง ก็มาคนนอนอยู่ห้องนี้แหละนอนอยู่คนเดียวหลายคนก็ไม่รู้หรอกเพราะตื่นเช้ามาเห็นอาจารย์นั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานก็ไม่มีอะไร ครูคิดว่ามันเป็นบ้านของครูและพวกเราก็คงคิดว่าเป็นบ้านของพวกเรา ก็ดีใจในวันนี้ที่พวกเรากลับมากันพร้อมหน้า มากันเพราะว่าหนึ่งคิดถึงครูและสองวัชรายุจะไปหาสาว(ทำงาน)ที่รัสเซีย(ฮา......)
..........

ครูยินดีด้วยกับพวกเราหลายๆคนที่ได้ยินได้ฟัง ถามสารทุกข์สุกดิบ การทำงานด้วย ก็ดีใจเราก็เติบโตกันมาได้ประสบความสำเร็จในชีวิต ครูถือว่าทุกคนประสบความสำเร็จจะมากจะน้อยก็แตกต่างกันไปแล้วแต่วิถีชีวิต ขอให้เราเจอกันแบบนี้ถึงเกษียณหลายคนไม่ได้ทำงานราชการก็ไม่มีคำว่าเกษียณ ก็เจอกันแบบนี้จนกว่าจะตายกันไปข้างหนึ่ง(ปรบมือ......)
...... เราก็ดูแลกันต่อไป ตอนนี้จากบุคคลก็เริ่มเป็นครอบครัวครอบครัวเริ่มรู้จักกัน ก็จะขยายวงกว้างขึ้น ในที่สุดก็ขอขอบใจทุกๆคนที่นึกถึงครูและเราคงไม่ลืมกัน ไม่ว่าครูห่างเทพศิรินทร์ไปแต่มันก็ห่างเฉพาะตัว อยู่เทพศิรินทร์ 37 ปีมันอยู่ในใจ ครูยังนึกไม่ออกเลยว่าวันสุดท้ายที่ครูจะเดินออกจากเทพศิรินทร์ในฐานะของคนเกษียณหรือคนที่ไม่ต้องกลับมาทำงานแล้วเนี่ย ในชีวิตความรู้สึกตรงนั้นมันไม่ลืมเลย จากคนที่ไม่เคยรู้จักเทพศิรินทร์กลายเป็นถามว่ารักไหมมันยิ่งกว่ารักไปแล้วมันข้ามตรงนั้น ไปแล้วมันข้ามคืนความรู้สึกนั้นไปมันกลายเป็นความผูกพัน ครูต้องกลับมาครูทิ้งวงไม่ได้ ก็ต้องมาดู ถามว่าครูจะทำอะไรหลังจากนั้นก็จะพักผ่อนอย่าทำ

อะไรที่ตัวเองอยากจะทำ อยากจะไปไหนก็ไป แต่สิ่งหนึ่งที่ครูอยากจะทำก็คือรู้จักมาดูแลที่วงจะมาสอนจะมาอะไรให้ ในทุกช่วงเวลาที่สามารถทำได้โดยไม่เรียกร้องอะไรจากโรงเรียนเลยแม้แต่บาทเดียว ตอนนี้เครื่องWoodwindที่โรงเรียนไม่มีคนสอนเลยมีแต่เครื่องฺBlassทั้งนั้น ที่มาสองคนก็เป็นครูBlassที่จะมาบรรจุใหม่ย้ายมาอีกคนก็เป็นครูBlass Woodwindไม่มีเลย ครูจะหาเวลาเท่าที่ทำได้ก็คือมาให้ความรู้กับเด็กมาสร้าง และจะได้มองเห็นความเจริญเติบโตของวงโยธวาทิตของโรงเรียนเราต่อไป ก็ขอขอบใจทุกคน ที่ทำให้มีวันนี้ได้และขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จ โชคดีทุกคน ขอขอบคุณ _

เรื่องเล่าคำสอนท่านอาจารย์เดชา แสงทอง

วันมุฑิตาจิต ยทศ.รุ่น 8-10 วันที่ 18 กรกฏาคม 2558.....

ถอดความเรื่องเล่าและเรียบเรียง(เก็บทุกคำ)

โดย ว่าที่ร้อยตรีโสตถิทัศน์ เอี่ยมลำเนา ยทศ.รุ่น8 FL/Pic.

......................................................................................................................................................
ประวัติวงโยธวาทิตเทพศิรินทร์ ในการประกวดครั้งแรก
......................................................................................................................................................
ประมาณปี พ.ศ. 2522 ท่านเจ้าคุณอุดมฯ รองเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทร์ในขณะนั้น ท่านได้ให้การ สนับสนุนเงินเป็นหลักล้านบาท เพื่อเป็นทุนจัดซื้อเครื่องดนตรีสำหรับวงโยฯ ของโรงเรียนเพิ่มเติม เพื่อให้มีเครื่องดนตรีครบวง ให้นักเรียนในขณะนั้นได้เริ่มจัดตั้งเป็นวงโยฯ ได้ครบสมบูรณ์ในระดับหนึ่งได้โดยมี อ.เดชา แสงทอง เป็นผู้รับผิดชอบทำวงฯ ในลักษณะที่เป็นกิจกรรมพิเศษหลังเลิกเรียน ทั้งครูและนักเรียนไม่มีค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น เหมือนกับกิจกรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะทีมฟุตบอล รร. หรือ ชุมนุมเชียร์ฯ เป็นต้น

ในช่วงนั้น พ.ศ.2522-2524 มีนักเรียนดุริยางค์ 2-3 รุ่น คือรุ่น 98 -100 (มีรุ่น 96 2 คนคือ พี่ปกรณ์และพี่แก่)ทั้งอาจารย์เดชา และพี่ๆ น้องๆ เราทุกคนต่างได้เสียสละทุ่มเทสร้างวงโยฯให้มีคุณภาพทั้งการบรรเลงและการเดินขบวนให้ทัดเทียมกับวงอื่นๆจตุรมิตร เพราะวงโยฯของโรงเรียน อื่นเขาเริ่มมาก่อนเราแล้ววัตุประสงค์อีกประการคือเพื่อที่จะให้ รร.ของเราได้ มีวงโยฯใช้ในงานที่จำเป็นในโอกาสต่างๆด้วย ทั้งในกิจกรรมของโรงเรียนและกิจกรรมภายนอกดังเกียรติประวัติในภายหลังที่วงโยฯของโรงเรียนเราได้มีโอกาสบรรเลงถวาย เพื่อรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินี รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ อยู่เนืองๆในหลายๆ โอกาส เนื่องจากการได้รับความไว้วางใจจากทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ให้เราเล่นถวายเพลงรับ-ส่ง เสด็จพระราชดำเนินแทนในหลายคราวเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 2-3 ปี วงโยฯ ของโรงเรียนเราก็มีคุณภาพและมาตราฐานมากขึ้น และฝีมือของวงทัดเทียมไม่แพ้อีก 3 วงที่เหลือในจตุรมิตรเลย

จนประมาณปี พ.ศ. 2524 - 2525 ธนาคารทหารไทยได้จัดประกวดวงโยธวาทิตขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยในปีนั้น รร.เทพศิรินทร์ได้จัดส่งวงฯ เข้าแข่งขันประกวดด้วยเป็นครั้งแรก แต่ผลกลับปรากฏว่า โรงเรียนเทพศิรินทร์ ได้รับรางวัลที่ 1 ของ กทม. (ชนะสวนกุหลาบ)

***ได้เป็นตัวแทนของ กทม เข้าชิงแชมป์ในระดับประเทศไทยต่อไป***


เราภูมิใจมากที่วงโยฯของพวกเราชนะวงโยฯ อย่าง สวนกุหลาบ ไม่ใช่เพราะเราห่ำหั่นกันมาในทุกด้านหรอก แต่เป็นเพราะเราตั้งวงมาช้ากว่าเขา และประสบการณ์ของอาจารย์และนักเรียนร่วมวงก็สู้สวนกุหลาบเขาไม่ได้อีกทั้งมาตราฐานของอุปกรณ์ดนตรีของวงเราก็ด้อยกว่าเขา โดยรวมแล้ว เราด้อยกว่าเขาเกือบทุกอย่าง แต่ด้วยความที่พวกเราได้ทุ่มเท พยายามสู้ด้วยควาสามารถเท่าที่มีอยู่อย่างเต็มที่ เราจึงได้เป็นตัวแทนของ กทม เข้าไปชิงแชมป์ระดับประเทศไทย

"ตอนนั้นวงสวนกุหลาบมาดักตีวงเรา (จำชื่อและเครื่องเล่นได้ว่าใคร) หลังเราเดินกำชัยชนะ ออกจากสนาม พี่เองโดนตบเข้าไปเต็มหน้า (คนเดียว) ขณะที่เดินเป่าทรัมเปตอยู่ พอเดินถึงรถและเก็บเครื่องเรียบร้อยพี่แจ้งดรัมเมเยอร์ในขณะนั้น เลยจะมีการไปเอาคืน แต่ถูกผู้หลักผู้ใหญ่ห้ามไว้ว่า อย่าไปสนใจ วงขี้แพ้ชวนตี" พี่หมูกล่าวอย่างตื่นเต้น

ผลการแข่งขันในการชิงแชมป์ประเทศไทยครั้งที่ 1 คือ เราแพ้ให้กับ ร.ร.ขอนแก่นวิทยา และได้รางวัลที่ 2 ของประเทศไทยมาครองในการประกวดครั้งที่ 1ณ ขณะนั้นถือว่า วงโยฯของเทพศิรินทร์เรา ได้เดินมาไกลมาก ครูและนักเรียนทุกคนในขณะนั้นภูมิใจในศักดิ์ศรีของวงโยธวาทิตเทพศิรินทร์เป็นอย่างมากพวกเราต่างเดินยืดอกอย่างสง่าผ่าเผย ในดินแดนสวนกุหลาบ เมื่อครั้งที่เราต้องไปซ้อมวงสำหรับฟุตบอลจตุรมิตรกัน

ต่อจากนั้น ในปีถัดมา วงโยฯ ของเทพศิรินทร์ ได้มุ่งมั่นที่จะเข้าแข่งอีก และในคราวนี้วงเทพศิรินทร์ ก็หวังว่าจะเอาตำแหน่งที่ 1 ประเทศไทย มาครองให้ได้ผลการแข่งขันระดับ กทม. เราก็สมหวังได้เป็นทีมที่ 1 ของกรุงเทพมหานครอีกและเป็นที่ 1 กทม 2 ปีซ้อน
พวกเราจึงทุ่มเทกันมากที่จะคว้าที่ 1 ของประเทศไทยมาครองให้ได้เป็นเกียรติประวัติของวงให้ได้

วงโยฯทั้งหมดเราไปเก็บตัวกันที่ จ.ระยองเกือบ 2 เดือน มี อ.บุญเลิศ และอ.ท่านอื่นๆ ไปเป็นพ่อครัวทำอาหารให้เราทานกันทุกมื้อหลายๆฝ่ายต่างระดมสรรพกำลังต่างๆ มาช่วยกันเต็มที่ เช่น อ.ผู้ฝึกสอนจากกรมตำรวจ 2 ท่าน คือ
1.อ.กมล คุมการบรรเลง
2.ด.ต.ประพันธ์ คุมการแปรขบวน
ทุกฝ่ายต่างช่วยกันหาเพลง และคิดท่าแปรขบวนต่างๆ โดยมีพี่บุญเกื้อเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงอีกคนนึง ในการแข่งขันระดับประเทศครั้งที่ 2 นี้ เรามีความมั่นใจมากกว่าคราวที่แล้วมากนที่สุด เราก็ได้ที่ 2 ของประเทศไทย 2 ปีซ้อน โดยแพ้ให้กับทีม ร.ร.มงฟอร์ดวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ไปเพราะสาเหตุมาจากคุณภาพของเสียงที่แตกต่างกันเนื่องจากเครื่องดนตรีที่เขาใช้คุณภาพดีกว่าและมาจาก
ยี่ห้อเดียวกันหมด ในขณะที่เรา มีข้อดีเพราะมีประสบการณ์และได้รับการสนับสนุนอีก ในช่วงระยะหลังๆนี้ เราได้ไปคว้ารางวัลมาจาก ต่างประเทศ 2-3 รางวัล โดยล่าสุด กันยา 56 เทพศิรินทร์เราได้ไปคว้ารางวัลอันดับที่ 2 ประเภทเครื่องประกอบจังหวะ จากประเทศญี่ปุ่นมาได้

นี่คืออีกหนึ่งของความภาคภูมิใจ ในความเป็นลูกแม่รำเพย ที่จะติดตัวไปจนวันตายครับ


ขอขอบพระคุณ
อ.เดชา แสงทอง
สมาชิกวงโยธวาทิตทุกรุ่นทุกท่าน
ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและสนับสนุนทุกฝ่าย

พวกเราขอชื่นชม และแสดงความยินดี ที่ทุกท่านได้เสียสละอย่างเหนื่อยยากเพื่อนำพาความ
ภาคภูมิใจมาสู่พวกเรา...ชาวลูกแม่รำเพยทุกคน

ขอปรบมือให้...ด้วยจิตคารวะ

ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก พี่หมู DSA 99 (ยทศ.รุ่น 2)

บุญเลิศ สันทัดอนุวัตร เรียบเรียง
ท.ศ. รุ่น 29-32 (104)
มิ.ย. 2557
......................................................................................................................................................
ประวัติวงโยธวาทิตเทพศิรินทร์ ในการประกวดครั้งแรก
......................................................................................................................................................

สารจากครูพี่พืช...ยทศ.#5

.........เมื่อวันพุธที่ผ่านมาน้องโสดฝากบอกให้พี่ช่วยแชร์ความรู้สึกที่คล้ายๆกับอ.เดชาของเรา งั้นแนะนำตัวก่อนนะครับ ชื่อ นายวัชรกร เผื่อนโชติ ปัจจุบันเป็นครู คศ.3 (ชำนาญการพิเศษ) รร.เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า สมุทรปราการ ตอนอยู่ที่วงโยเรียกกันว่า พืช รุ่น 5 ปี2525 -2530 เป็นรุ่นที่ไม่ได้ประกวดอะไรเลย แต่ก็มีเหตุการณ์ที่น่าประทับใจและน่าจดจำมาจนทุกวันนี้คือ ช่วงตอนที่อยู่มปลายน่าจะมอห้า ปี 2529 มีครูรรฺสตรีประเทืองวิทย์(หญิงล้วน) มาคุยกับอาจารย์ และฝากให้ช่วยฝึกเด็กรรนี้ให้ทันงานกีฬาสี พวกรุ่นพี่ก็รับอาสากันสอนน้องๆผู้หญิงทั้งนั้นเลยนี่ สอนทุกวัน.....

จนมีอยู่วันนึงบนกระดานดำห้องดนตรีเขียนว่า ที่รับไม่ใช่น้อง ที่เป็นน้องไม่ได้รับ ลงท้ายว่า คนปลูกต้นรำเพย พวกพี่อึ้งกันเลย นั้นแหละจำมาจนถึงทุกวันนี้เลย อยากฝากรุ่นปัจจุบันที่เป็นรุ่นพี่ ช่วยกันสอนน้องกันหน่อย ถึงจะมีทีมงานมาสอนแต่เราก็ควรจดจำและเก็บมาถ่ายทอดกันเองบ้าง เพราะใช้เงินทั้งนั้น อาจารย์ทำคนเดียวไม่ไหวหรอกน้อง เพราะพี่ก็เป็นครูสอนดนตรีเหมือนกัน เมื่อน้องโตขึ้นน้องจะรู้เองว่า คนสร้าง หรือคนปลูกต้นรำเพยของเราท่านเหนื่อยแค่ไหน......

................................................................................

คำสำคัญ (Tags): #ครูเดชาแสงทอง
หมายเลขบันทึก: 596745เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2015 11:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ตุลาคม 2015 22:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท