ครูที่แท้จริง ... ไม่ได้ทำงานเพื่อเงินเดือน


การศึกษาเพื่อความเป็นไปของชีวิต.... ?

สิริรัตน์ นาคิน*

“ เมื่อใดที่ระบบการศึกษา ขาดซึ่งรากฐานของการแสวงหา คุณค่า ความหมาย และจินตนาการของการศึกษาก็คงไม่ต่างอะไรไปจากระบบที่ตายแล้ว และรอวันล่มสลายในที่สุุด”

“วิจักขณ์ พานิช”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบการศึกษาของไทยยังสั่นคลอนกับการปฏิรูปแล้ว...ปฏิรูปอีกอย่างไม่จบสิ้น หากเรากลับมาทบทวนถึงรากฐานทางสังคมและวัฒนธรรม จะทำให้เราเข้าใจและเห็นคุณค่าในตัวเราเองอย่างลึกซึ้งมากขึ้น จากนั้นจึงค่อยกำหนดทิศทางของการพัฒนาสังคมไทยไปในทิศทางที่เราเลือกอย่างที่ไม่ต้องไปศึกษาและเปรียบเทียบกับใคร เมื่อได้ทิศทางเป็นที่ชัดเจนแล้ว การศึกษาจะทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาบุคลากรทางสังคม เพื่อให้สังคมเคลื่อนที่ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ การเรียนการสอนก็เป็นการแปลงหลักสูตรสู่รูปธรรมโดยผ่านกิจกรรมในชั้นเรียน ทั้งหลักสูตรและการเรียนการสอนจะเป็นไปด้วยดีหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับการยกระดับคุณภาพทางการศึกษา และหลักสูตรและการเรียนการสอนจะดีขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับความเข้าใจในธรรมชาติของการเรียนการสอนอีกด้วย

คำถามแรก ในฐานะนักพัฒนาหลักสูตรและการสอน มีข้อสงสัยประการหนึ่ง คือ เราเข้าใจรากเหง้าของเรา ดีแล้วหรือยัง และเราได้เห็นคุณค่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมความเป็นไทยที่เรามีมากน้อยเพียงไร” หากเราเป็นผู้กำหนดทิศทางของการพัฒนาสังคมไทยอย่างไร้อิทธิพลการครอบงำของต่างชาติแล้วจริง ๆ หรือไม่ และรากฐานของการพัฒนาบุคลากรทางสังคมนั้นได้ทำไปอย่างสอดคล้องกับคุณค่าทางสังคมที่เราอยู่อย่างไร เมื่อเราตั้งคำถามและแสวงหาคำตอบเหล่านี้ การปฏิรูประบบการศึกษาจะมีประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะเราต้องมากำหนดกรอบใหม่ มองมิติการศึกษาและพัฒนาหลักสูตรใหม่ ออกแบบการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมได้ สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาในยุคศตวรรษที่ 21 ที่เราให้ความสนใจกันอย่างแพร่หลายสิ่งต่างๆ ที่เรากำลังจะปรับปรุง เปลี่ยนแปลงพัฒนาให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นนั้นเราต้องมองให้เห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านั้น หาความหมายจากสิ่งที่เราจะทำจากนามธรรมเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดความลุ่มลึกในแนวคิดเรื่องการศึกษา นำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนได้อย่างลึกซึ้งในเนื้อหา สาระที่สอดรับกันอย่างกลมกลืน ในมิติทางการจัดการศึกษาที่เราปฏิบัติสืบทอดกันมาได้ศึกษาวิเคราะห์ วัฒนธรรมรากเหง้า คุณลักษณะของคนไทยเพื่อที่จะปฏิวัติวิถีการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน นั้นหมายถึงคุณค่าของการพัฒนาหลักสูตรจะเกิดขึ้นได้นั้นก็ต่อเมื่อผู้เรียนได้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามหลักสูตรที่เราจัดขึ้น หรือประสบผลสำเร็จจากการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนที่ตรงตามจริตของผู้เรียนอันเชื่อมโยงไปสู่การคิด การพูด การทำโดยเห็นคุณค่าอย่างแท้จริง มิใช่หลักสูตรที่สวยหรู แต่พังทุกครั้งที่นำไปใช้ หากเป็นเช่นนั้นแล้วน่าสงสารนักวิชาการ หรือแม้กระทั่งผู้ที่อยู่ในฐานะนักพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอน ซึ่งเป็นที่น่าสงสัยว่า เพราะเหตุใดกันการศึกษาไทยยังคงล้าหลั เดินตามประเทศเพื่อนบ้านหรือแม้แต่โลกที่กำลังเปลี่ยนผ่านทางการศึกษาจากยุคเดิมสู่ยุคใหม่ อะไรกันที่ทำให้เราต้องทบทวนหาเหตุและปัจจัยต่าง ๆ เหล่านั้น แล้วทำมันให้ดีขึ้นกว่าเดิม นัยของการพัฒนาหลักสูตรที่สำคัญคืออะไร คุณค่าแท้ของการพัฒนาหลักสูตรคืออะไร แล้วจะทำอย่างไรเพื่อเดินหน้าต่อไปได้อย่างตรงตามเป้าหมายการจัดการศึกษาเพื่อเปลี่ยนฐานสังคมความรู้แบบยุคเก่าให้เตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมฐานความรู้ (Knowledge based society) หากผู้เขียนขออธิบายถึงแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่สอดรับกับยุคศตวรรษที่ 21 อาจมีนัยสำคัญหลายประเด็น ด้วยกัน

ประเด็นที่น่าสนใจหนึ่งคือ การออกแบบการเรียนการสอนต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมกับการออกแบบและประเมินการเรียนรู้ตามความต้องการที่เหมาะสม เมื่อการมีส่วนร่วมเกิดขึ้นก็จะเกิดความรับผิดชอบร่วมกันในกระบวนการเรียนการสอน ผู้เรียนจะรู้สึกเป็นเจ้าของกระบวนการเรียนการสอนด้วย เรียนรู้ที่จะปรับความคิด ปรับตัวให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ การมอบหมายงาน บทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบ จึงถือเป็นการฝึกภาวะผู้นำและผู้ตาม และการดำเนินชีวิตแบบประชาธิปไตยในวิถีทางที่ควรจะเป็น ซึ่งคุณลักษณะของผู้เรียนควรประกอบด้วย การเรียนรู้ตามสภาพจริง ซึ่งผู้เรียนสามารถเป็นผู้สร้างความรู้ การเรียนรู้ก็จะมีคุณค่าและความหมายที่แท้จริงต่อชีวิต การเรียนการสอนควรสะท้อนความเป็นจริงของชีวิต ต่อมาคือการสร้างมโนธรรมสำนึก เพื่อฝึกให้ผู้เรียนสร้างความรู้หรือต่อยอดเป็นภูมิปัญญาก็อาศัยการเรียนการสอนเป็นเครื่องมือในการพัฒนาด้านพุทธิปัญญาแก่ผู้เรียน พัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนเก่ง มีความรู้ความสามารถและเสริมสร้างอุปนิสัยที่ดีงามโดยผ่านการปลูกฝังความเชื่อ ค่านิยมที่ดีงามที่ควรยึดถือ รู้ผิดชอบชั่วดี ในการคิด ตัดสินใจเลือกกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดบนพื้นฐานความถูกต้อง มีรากฐานของความดีงามอยู่ภายในจิตใจ สำนึกในคุณธรรมจริยธรรมอันเป็นพื้นฐานของมนุษย์ที่สมบูรณ์ เพียงเท่านี้ก็เข้าสู่หัวใจของการออกแบบการเรียนการสอน หรือจะสร้างและพัฒนาหลักสูตรที่หล่อหลอมให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึก ความคิด และยึดถือปฏิบัติตามอันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ถ้าเราเลือกที่จะเน้นให้คนในชาติของเราเป็นคนไทที่พัฒนาได้อย่างเต็มคน ก็ไม้ตัองเหลียวหลังแลหน้ามองการศึกษาไทยเช่นนี้

อย่างไรก็ตาม มุมมองของการสร้างหรือพัฒนาหลักสูตรนั้น สิ่งแรกที่เราทบทวนคือสภาพปัญหาที่สะท้อนให้เห็นในสังคมปัจจุบัน เราจะพบว่าผู้เรียนยังขาดคุณลักษณะหลายประการที่ควรส่งเสริม ให้ความสำคัญของการพัฒนา เพื่อเกิดการรับรู้ เข้าใจ และสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือเปิดใจกว้างยอมรับความจริงในข้อมูลหลักฐานใหม่ ๆ และให้เกียรติแก่บุคคลรอบข้างที่ร่วมด้วยช่วยกัน ควรเคารพในความไม่รู้ให้เกียรติกัน สิ่งเหล่านี้คือ การบูรณาการมโนธรรมสำนึกเข้าไปในการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้ตนเอง เข้าใจตนเอง เรียนรู้คนอื่น เข้าใจคนอื่น ก็จะทำให้เกิดการสร้างโลกทัศน์ทั้งแนวกว้างและแนวลึก ไม่ดิ่งเดี่ยวเอาความเก่งเป็นตัวตั้ง เรียนรู้ในสิ่งที่รู้และไม่รู้ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อทำให้การเรียนรู้นั้นเป็นกิจกรรมหนึ่งทางสังคม เพราะทุกคนล้วนมีบทบาทหน้าที่และปฏิสัมพันธ์การเรียนรู้ร่วมกัน ทำความเข้าใจนิสัยใจคอผู้อื่นจะช่วยให้รู้เขารู้เรา เข้าใจ ปรับตัวปรับใจให้อยู่ร่วมกันกับคนอื่นได้ การสร้างสังคมทางการเรียนรู้ นอกจากจะเรียนรู้ข้อมูลร่วมกันแล้ว เราควรเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ร่วมกัน ควรรู้จักความรัก ความเกลียด การแพ้ ชนะ และการให้อภัย และเข้าใจความเป็นไปของชีวิตมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

กล่าวโดยสรุป การศึกษาที่แท้คือ การศึกษาที่เข้าถึง ความจริงความดี ความงาม และความเป็นไปของชีวิต เมื่อได้เรียนรู้แล้วจะเข้าใจในคุณค่า ความหมายที่แท้จริงหากเข้าไปมีประสบการณ์ในการสร้างหลักสูตร และออกแบบการเรียนการสอนใดแล้วก็ตามจะเห็นถึงประสบการณ์ตรงที่นำไปสู่การคิด การเข้าใจ การเลือกตัดสินใจ และลงมือทำ สิ่งนี้จะเกิดขึ้นเมื่อการเข้าไปถึงความรู้สึกกับสิ่งที่กระทำ เมื่อความรู้สึกความเข้าใจและลงมือทำกลมกลืนไปด้วยกันแล้ว การพัฒนาหลักสูตรและการออกแบบการเรียนการสอนก็จะทำให้เราเห็นคุณค่า และความหมายของสิ่งนั้นการพัฒนาให้บรรลุไปตามวัตถุประสงค์ก็คงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ทั้งนี้แล้ว เราก็จะเข้าใจ เข้าถึง หัวใจของการพัฒนาหลักสูตร...สู่ระบบการจัดการศึกษาที่ดีในอนาค


ที่มา : เขียนโดย นางสาวสิริรัตน์ นาคิน นิสิตปริญญาเอก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

(อย่าสอนให้ผู้เรียนคัดลอกผลงาน โดยการ copy cut and paste)



หมายเลขบันทึก: 596171เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2015 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ตุลาคม 2015 16:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท