พหุวัฒนธรรมของคนพิการ


คนพิการเป็นส่วนหนึ่งของพหุวัฒนธรรม เป็นอัตลักษณ์ความหลากหลายในอัตลักษณ์ ของวัฒนธรรม (BHIKHU PAREKH,1999) งานที่จะเป็นบทความสังเคราะห์ต่อไปนี้ เป็นงานวิจัย บทความ อันเกี่ยวเนื่องกับการใช้ แนวคิดหลังสมัยใหม่ในการอธิบาย โดยบรรยายบางส่วน ให้เห็นภาพของการใช้แนวคิดหลังสมัยใหม่

คนพิการ นั้นเป็นส่วนหนึ่งที่สังคม ได้จัดให้เป็นผู้ที่ผิดปกติ ไปจากคนทั่วไป ภาพตัวแทนของคนพิการ (representation) ที่ตายตัว ปรากฏออกมาในรูปของคนที่พึ่งตนเองไม่ได้ เป็นภาระให้กับสังคม ได้ถูกนำเสนอให้เห็นในรูปแบบภาพตัวแทน ดังที่ปรากฏในงานของ กุลภา วจนสาระ (2548) ได้ศึกษาเรื่องของภาพตัวแทนที่เกิดขึ้นในวรรณกรรม พบว่า

“อัตลักษณ์ของคนพิการถูกตอกย้ำผ่านการใช้คำพูด และภาษาที่ชี้ชัดแสดงถึงภาวะความบกพร่องต่าง ๆ ซึ่งกลายเป็นการสร้างภาพตัวแทน ของคนพิการสองประเภท คือ ภาพคนพิการที่มีชะตากรรมที่น่าสงสาร น่าเวทนา และภาพคนพิการที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ต้องมีคนดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด และอยู่ในความดูแลของผู้เชียวชาญ วรรณกรรมที่ยกมาเป็นตัวอย่างในการศึกษาแสดงให้เห็นลักษณะของการดำเนินเรื่องใน 3 ลักษณะ คือ นำเสนอความมีอำนาจเหนือหรือการครอบงำของความเป็นปกติ และการปฏิเสธไม่ยอมรับความพิการ มีลักษณะที่หวนหาความงดงามในอดีต (nostalgic) ซึ่งสวยงาม น่าตื่นเต้นกว่าสภาวะที่เป็นปัจจุบัน และมีลักษณะเชิงสัญลักษณ์ (symbolic) โดยเฉพาะการสื่อความหมายถึงชะตากรรมของการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ ที่มีความพิการสื่อให้เห็นถึงความไม่สมบูรณ์พร้อมของชีวิต”

ชุดความคิด ที่เกิดจากการร่วมสร้างของระบบสังคม(Social construct)ต่อคนพิการ นั้น อันธิกา สวัสดิ์ศรี (2552) ได้ศึกษา นำเสนอว่า

“มีชุดความคิดอยู่สองชุดที่กำหนดคือชุดความคิดทางการแพทย์ และชุดความคิดทางศาสนา ชุดความคิดทางการแพทย์เป็นชุดความคิดที่อธิบายถึงเรื่องกรรมพันธุ์ และวิชาการทางแพทย์ ซึ่งอธิบายความพิการ เช่นการเป็นโปลิโอเกิดจากเชื้อโรคบางอย่างเกิดจากความเจ็บป่วย ทุพลภาพ ได้แก่การสูญเสียอวัยวะ ส่วนความคิดชุดที่สอง นั้นเป็นชุดความคิดทางศาสนาได้แก่คำอธิบายเกี่ยวกับ กรรม เวร ความโชคร้าย โดยเฉพาะการอธิบายเรื่อง กรรม” คำว่า “คนพิการ” ก็เป็นผลผลิตจากสังคม อันเกิดจากการกีดกันไปสู่ชายขอบของสังคม หรือความเป็นอื่น ได้มีคำอธิบายเกี่ยวกับพื้นที่/สถานที่ ในลักษณะสองประการ คือสถานที่ที่ต้องการให้คนพิการอยู่ ได้แก่ โรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ สถานที่ไม่ต้องการให้คนพิการอยู่ได้แก่ สถานที่สาธารณะ สนามบิน มหาวิทยาลัย โรงแรมหรู ที่ว่าการอำเภอ ร้านค้าที่มีบันไดสูง โดยสถานที่เหล่านี้ไม่ได้มีการติดป้ายบอกไว้ หรือไม่ได้เตรียมไว้ให้กับคนพิการตั้งแต่ต้น ...กระบวนการที่ทำให้คนพิการ ถูกกีดกันไปสู่ความเป็นคนอื่น ได้แก่ การไม่มีส่วนร่วมทางการเมือง คนพิการถูกปฏิเสธ การเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ เช่นระบบขนส่งมวลชน คนพิการยังถูกจำกัดจากพื้นที่ที่คนทั่วไปในสังคม ห้าง วัด ผับ โรงภาพยนตร์ การกีดกันการจ้างงานจากตลาดแรงงานที่สำคัญ โดยการเลือกปฏิบัติ คนพิการจึงได้งานที่ได้รับค่าแรงต่ำ ทำงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะมาก ความสัมพันธ์ทางสังคมเชิงอำนาจ ถือเอาวัฒนธรรมที่ถือเอาบรรทัดฐานของความเป็นปกติและคนพิการเป็นความเป็นอื่น คนอื่น (The others) เป็นผิดปกติในสังคม ด้วยเหตุนี้ คนพิการจึงถูกสังคมสอนให้รู้ว่าควรอยู่ตรงไหน ถูกสั่งสมให้เข้าใจตรรกะและยอมรับต่อการถูกกดขี่และเอาเปรียบโดยสังคม และคิดต่อตัวเองว่าไร้ค่า เหมาะสมกับที่ที่สังคมได้จัดให้ยืนแล้ว สุดท้าย คนพิการถูกสอนให้โทษตัวเอง ละอายต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองและหาคำตอบในความพิการของตัวเองเอง สังคมลดคุณค่าคนพิการด้วยการสร้างอคติต่อคนพิการ อคติเหล่านั้นสามารถเห็นได้จากภาษา คำนิยาม คำเรียก คน/ความพิการ จากสื่อกระแสหลัก ที่ร่วมกันสร้างภาพตีตราคนพิการว่า เดียงสา หรือไม่ก็มีความพิเศษ หรือไม่ก็อ่อนแอ ต้องพึ่งพา เป็นภาระแก่สังคม ฯลฯ”


ปิยาภรณ์ เมืองคำ (2552 ) ได้ศึกษาเรื่อง กระบวนการสร้างความหมาย ความพิการในภาพยนตร์อเมริกัน ซึ่งเป็นงานศึกษาวัฒนธรรมของคนพิการที่ได้เปิดพื้นที่ทางการศึกษาตามแนวหลังสมัยใหม่ หลังโครงสร้างนิยม การวิเคราะห์สัญญะ ตามทฤษฎีสัญญวิทยา ของภาพยนตร์ ผลการศึกษาตามแนวสัญวิทยาพบว่า

“ภาพยนตร์ทั้งสิบเรื่อง มีโครงสร้างการเล่าเรื่องคล้ายกับชีวิตจริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรัก ครอบครัว ความสัมพันธ์กับคนอื่น การค้นพบตัวตน โดยมีคนพิการเป็นผู้เล่าเรื่อง ความซับซ้อนของเรื่องนั้นตามความหมายปกติตามตัวบทเป็นเรื่องเล่าตามปกติ ส่วนความหมายที่ซ่อนไว้ ก็คือ ความพิการของสังคม ไม่ว่าระบบ หรืออุดมการณ์ หรือแม้แต่เครื่องบ่งชี้สิ่งที่เป็นปกติในสังคม”


จิตติมา เจือไทย (2551) ได้ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง การสร้างอัตลักษณ์แห่งตัวตนคนพิการ เป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของสาขาพัฒนศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ซึ่งในแนวคิดหลังสมัยใหม่เพื่อเปิดเผยว่า ท่ามกลางเจตจำนงที่สร้างความหมายทางลบ คนพิการได้สร้างเทคโนโลยีแห่งตัวตนเพื่อปรับเปลี่ยนจากการถูกกระทำ ไปสู่การเป็นผู้กระทำและสร้างตัวตนของตนเองขึ้นมาอย่างไร รวมถึงกระบวนการสร้างสรรค์ความสัมพันธ์เชิงอำนาจร่วมกับผู้คนที่อยู่รอบข้างได้อย่างไร จึงทำให้สองฝ่ายสามารทำลายกรอบของวาทกรรม และการเปิดพื้นที่ให้คนพิการสามารถสร้างตัวตนของตนเองขึ้นมาในสังคมอย่างเสมอภาคและศักดิ์ศรีที่เท่าเทียม โดยใช้วิธีวิทยาแห่งการศึกษาอัตชีวประวัติ ซึ่งผลแห่งการศึกษามีดังต่อไปนี้


“การรับรู้คุณค่าความหมายที่สังคมมีต่อคนพิการไม่ว่าจะเป็น ความไร้คุณค่า ความน่าเวทนาสงสาร หรือการไร้ความสามารถ เป็นเพียงผลิตผลของอำนาจซึ่งมีรากเหง้าอยู่ที่การครอบงำเป็นสำคัญ ในแง่นี้ การสร้างสังคม ที่คำนึงถึงความหลากหลายในตัวตนของมนุษย์ เพื่อเอื้อให้กับผู้พิการ เกิดความเท่าเทียมกันในสุนทรียะการดำรงอยู่ จึงไม่อาจเกิดขึ้นด้วยการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย หรือพื้นที่ทางกายภาพแต่เพียงเท่านั้น แต่ควรเกิดขึ้นร่วมกับ การเปลี่ยนแปลงวิธีคิด และความสัมพันธ์ภายในตัวของตัวเรา ต่อสรรพสิ่งรอบกายเสียใหม่ เพราะมนุษย์ไม่อาจถูก “ตัดสินคุณค่า” ไปตามความหมายที่ถูกสร้างขึ้นจากความรู้แบบเดียวกันได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ การสร้างนิยามความหมายของสิ่งที่เรียกว่า “ความรู้” จึงไม่ควรถูกจำกัดขอบเขตให้อยู่แต่เพียงในกรอบของทฤษฎีกระแสหลัก แต่ควรที่จะครอบคลุมรวมถึงสิ่งที่เชื่อมโยง กับบริบทและประสบการณ์ของมนุษย์อย่างแนบแน่น เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับเจ้าของประสบการณ์ได้มามีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์ความรู้เกี่ยวกับตัวตนของตนเองให้เกิดขึ้นมาในสังคม จนท้ายที่สุดการรับรู้ความจริงจากมุมมองดังกล่าว ก็จะทำให้สังคมตระหนักได้ว่า หัวใจสำคัญของการสร้างความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ จะเกิดขึ้นด้วยความร่วมมือของมนุษย์ในการสร้างความหลากหลายในพื้นที่ เพื่อเอื้อให้อำนาจแห่งตัวตนของมนุษย์แต่ละคนทำงานได้อย่างเท่าเทียมกัน


จากการสังเคราะห์งานวิจัยหรือบทความทั้งสามเรื่องนี้ ในมิติด้านญาณวิทยา (Epistemology) พบว่าเป็นญาณวิทยาแบบหลังสมัยใหม่ มีความเป็นมนุษยนิยม วิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางอำนาจอันแยบยลที่ระบบสังคมได้สร้างให้กับคนพิการ และญาณวิทยาชุดนี้เองที่แสดงให้เห็นถึง การสร้างความเสมอภาคจากชุดความรู้ที่ผู้พิการสร้างเอง เป็นชุดความรู้ที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อนิยามตัวเอง


ในมิติด้าน วิธีวิทยาของ กุลภา วจนสาระ (2548) ใช้วิธีการวิเคราะห์วัฒนธรรมตามแบบของ Reymond Williams และ Ferdinand de Saussure ซึ่งใช้มโนทัศน์ของคำว่า “Representation” หมายถึง ภาพตัวแทนทางสังคมของกลุ่มต่าง ๆ นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้โดยด้วยการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับความเป็นจริง โดยมองว่ามนุษย์กำหนดหรือให้ชื่อสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อนำไปใช้อ้างอิง หรือกล่าวถึงในครั้งต่อ ๆ ไป ภาษาทำให้มนุษย์จัดระบบ สร้าง และเป็นเครื่องมือให้มนุษย์เข้าสู่ความจริงได้ พฤติกรรมมนุษย์ เป็นการสร้างความหมาย หรือ represent หรือสื่อแทนบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งเป็นวิธีวิทยาที่น่าสนใจ อันธิกา สวัสดิ์ศรี ใช้วิธีการศึกษาโดยใช้ชุดความคิด ของกลุ่ม social construct นำมาอธิบายว่าความพิการเกิดจากสังคมได้สร้างขึ้น และยังได้เปรียบเทียบกับกระบวนการทางสถาปัตยกรรมที่กีดกันผู้พิการ ส่วนงานของ ปิยาภรณ์ เมืองคำ (2552 ) เป็นใช้แนวความคิดหลังโครงสร้างนิยม คือ งานด้านการวิเคราะห์สัญญะ เพื่อหาความหมายที่สื่อโดยตรง และความหมายแฝง ซึ่งเป็นวิธีวิทยาในการศึกษาหลังสมัยใหม่อีกประการหนึ่ง โดยภาพยนตร์เป็นภาพตัวแทน เช่นเดียวกับ วรรณกรรม งานวิจัยแม้แต่วิชาการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นภาพแทนความจริง อีกประการหนึ่ง อันเนื่องมาจากภาษาเป็นภาพแทนความจริง การวิเคราะห์ สัญญะ ทำให้ทราบความหมายที่ซ่อนอยู่ หรือ มายาคติในระบบทุนนิยมบริโภค อันเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัย งานของจิตติมา เจือไทย (2551) ได้ศึกษาการสร้างอัตลักษณ์ ของคนพิการ โดยใช้วิธีการศึกษาใช้การวิเคราะห์วาทกรรม การวิเคราะห์พื้นที่แห่งความรู้ การกีดกันคนไปสู่ชายขอบ กระบวนการในการเก็บข้อมูล ใช้วิธีการในการสัมภาษณ์และการเขียนอัตชีวประวัติ เป็นการวิจัยเพื่อสร้างทฤษฏี ซึ่งมีความน่าสนใจ

มิติด้านประโยชน์ งานหลังสมัยใหม่เพิ่มพื้นที่ให้กับคนที่หลากหลาย และสิทธิต่าง ๆ ซึ่งอธิบายได้จากแนวคิดเสรีนิยม และมนุษยนิยม การเปิดพื้นที่ทางสังคม ซึ่งเป็นศีลธรรม ที่แสดงถึง ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ที่มีเป้าหมายในการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจกัน ดังนั้นคำอธิบายชุดนี้จึงเป็นทั้งจริยธรรม คุณธรรม และ เป็นมิติด้านประโยชน์ในงานแล้วอย่างสมบูรณ์

สรุป การศึกษาพหุวัฒนธรรมแนววิพากษ์ ซึ่งเน้น การวิเคราะห์ไปยัง “ผู้พิการ” ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ประการหนึ่งซึ่งยุคโมเดิร์น ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ แต่จากการศึกษาตามแนวหลังสมัยใหม่ พบว่าสังคมเป็นผู้สร้างอัตลักษณ์ความผิดปกติ ผู้พิการนั้นเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ส่วนตัว ในการสร้างอัตลักษณ์ ตัวตน สร้างวาทกรรมใหม่ นอกจากนั้นแล้ว ผู้พิการยังอยู่ภายใต้ ระบบ สังคม ระบบการศีกษาที่ผิดปกติ พิกลพิการ ซึ่งมีรากฐานแห่งความคิดแบบโมเดิร์น ที่ส่งผลกระทบตั้งแต่อาหารการกินที่กินเข้าไปที่เต็มไปด้วยสารพิษ การดำรงชีวิตที่ขัดแย้งแย่งชิงทรัพยากร ธรรมชาติเสื่อมโทรม การกดทับอัตลักษณ์ของผู้คนที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ ความรู้ อำนาจ วาทกรรม การศึกษาพหุวัฒนธรรม จะต้องใช้การเมืองในเรื่อง ความรู้ วาทกรรม การเมืองในความสัมพันธ์ทางอำนาจ เปิดเผยให้เห็นถึงอำนาจอันแยบยล รื้อถอนระบบการศึกษาที่มีอยู่ เพิ่มพื้นที่ทางประชาสังคมที่หลากหลาย



บรรณานุกรม

กุลภา วจนสาระ (2548.) ภาพตัวแทนสังคมของคนพิการในสังคมไทยกรณีศึกษาผ่านวรรณกรรมไทย สถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ

จิตติมา เจือไทย (2551) การสร้างอัตลักษณ์แห่งตัวตนคนพิการ วิทยานิพนธ์ การศึกษาดุษฎีบันฑิต (พัฒนศึกษาศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร

ปิยาภรณ์ เมืองคำ ( 2552. ) กระบวนการสร้างความหมาย ความพิการในภาพยนตร์อเมริกัน วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การสื่อสารศึกษา) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อันธิกา สวัสดิ์ศรี (2552.) “ตัวแบบความพิการทางสังคม” กับการมองภาพ “คนพิการ” ใน “สังคมไทย” ในเว็บhttp://www.prachatai.com/journal/2009/09/25851

BHIKHU PAREKH (1999.) What is multiculturalism ? http://www.india-seminar.com/1999/484/484 parekh...

หมายเลขบันทึก: 596069เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2015 07:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ตุลาคม 2015 07:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เราต้องให้ความสนใจกับความพิการ ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางจิตก็ตาม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท