คุณครู นักเรียน โรงเรียน ... เปลี่ยนไป


จุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการทำงานเพื่อเด็ก ครู นักเรียน และทันตบุคลากร จะได้มาเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากให้กับเด็กในอนาคต

 

ในการทำงานทันตฯ สมัยก่อน ... เวลาที่ทันตแพทย์เข้าไปในโรงเรียน คุณครูจะมอบโรงเรียนให้ทันตแพทย์ หรือทันตาภิบาล ... พอทันตแพทย์มา ทันตาภิบาลมา คุณครูจะบอกว่า ตามสบายเลยคุณหมอ ยกนักเรียนให้หมดเลย แล้วคุณหมอก็จัดการ ส่วนหนึ่งจะทำหน้าที่จัดคิวให้เด็กอ้าปาก ส่วนทันตาภิบาลก็จะถือแผ่นพับ

... เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน สมัยผมอยู่ที่โรงพยาบาลชุมชน เราจะมีแผ่นพับอยู่ชุดหนึ่ง ข้างในจะมีรูปฟัน ส่วนประกอบของฟัน และหน้าที่ของฟัน ฟันผุคืออะไร ทำไมถึงมีฟันผุ โรคเหงือกอักเสบเป็นยังไง โรคปริทันต์เป็นยังไง พลิกไปทีละหน้า แต่ละชั้น สมมติโรงเรียนมี 10 ห้องเรียน เราก็ต้องไปพูดเรื่องเดิมๆ นี้ให้ครบ อันนี้เป็นบทบาทที่ทันตแพทย์ หรือทันตาภิบาลเข้าไปในโรงเรียน ไม่ทราบว่าคุณครูได้หรือเปล่า ภาพที่เล่ามานี้ เป็นช่วงหนึ่งที่เกิดขึ้นในครั้งที่เราทำงานนั้น

... มีอีกช่วงหนึ่ง ที่ทันตแพทย์เองก็พยายามที่จะให้ครูมีส่วนร่วม ถ้าใครอยู่ยุคปี 2530 เราจะมีประวัติศาสตร์เป็นหนังสือคู่มืออยู่เล่มหนึ่ง ชื่อว่า “ครูทำได้” อันนี้คือ การเปลี่ยนจากเดิม ที่หมอฟันเข้าไปทำอะไรเองทุกอย่าง แล้วค่อยๆ มาสู่การบอกว่า การตรวจฟันเด็ก ครูทำเองได้ เพราะฉะนั้น ครูหลายคนจึงพูดว่า เอ๊ะ หมอมาไม้ไหนกันแน่ ... ทำไมทำครูได้

อันนี้ได้ยินจากปากครูจริงๆ ด้วยตัวเองเลยครับ ทำไมทำครูได้ นั่นหมายถึง เราได้มอบภาระหน้าที่ให้กับครูมาก เกินจากหน้าที่การเรียนการสอน

เพราะฉะนั้น จากประวัติศาสตร์ที่เราทำมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแปรงฟัน เรื่องอมน้ำยาฟลูออไรด์ทุก 2 สัปดาห์ เกิดจากตัวทันตแพทย์เข้าไปทำให้กับนักเรียน ให้โรงเรียน
แต่ทำแล้วเป็นอย่างไรทราบไหมครับ ทำแล้วกลับกลายเป็นว่า ในโรงเรียนกลับมีโรคฟันผุเพิ่มขึ้นๆ สักพัก เริ่มรู้สึกกันว่า หมอฟันเริ่มไม่เข้าท่าแล้วนะ เข้าไปตรวจ ไปรักษาอย่างไร ถึงทำให้เด็กมีฟันผุมากขึ้นๆ สำรวจกี่ปี ก็มากขึ้นทุกปี เช่น พบว่าในเด็ก 3 ปีมีฟันผุจำนวนหนึ่ง พอเด็ก 6 ปี ฟันผุเพิ่มขึ้น มา 80% พอฟันแท้ขึ้น อายุ 12 ปี สำรวจใหม่อีกที 60% สำรวจกี่ที สถิติเด็กฟันผุกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

จากตรงนี้ จึงทำให้ผมคิดว่า มันน่าจะมาถึงจุดหนึ่งแล้ว ที่วิธีการให้หมอเข้าไปตรวจในโรงเรียน อาจไม่ถูกต้อง หมออาจจะเก่งที่มีเด็ก หรือคนไข้เข้ามาที่คลินิก เข้ามาที่โรงพยาบาล มาอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน รักษารากฟัน อันนี้คือหน้าที่หมอฟัน แต่ถ้าเป็นงานเชิงรุกเข้าไปส่งเสริมสุขภาพ ทันตแพทย์อาจต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่หรือไม่
พอเริ่มมีโครงการ “การเรียนรู้คู่วิจัย” นี้เข้ามา โดยเริ่มมาจาก สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) มาติดต่อกรมอนามัย เราก็คิดว่า ความจริงแล้วทันตแพทย์ และทันตาภิบาลที่อยู่ในต่างจังหวัด ทำงานในลักษณะที่เป็นคนให้ เป็นคนกระทำเองมานานแล้ว น่าจะถึงโอกาสหรือยัง ที่ฝั่งทันตสาธารณสุขจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี่ยง เป็นผู้สนับสนุน เป็นผู้อำนวยความสะดวก ให้กับเจ้าของปัญหาจริงๆ ได้ลุกขึ้นมาดูแลสุขภาพของเขาเอง

เพราะคนที่ฟันผุก็คือ นักเรียน เป็นลูก เป็นหลานของชาวบ้าน เป็นลูกศิษย์ของคุณครู อย่าว่าแต่เด็กนักเรียนเลยครับ ปัญหาฟันผุของคุณครูก็มีเหมือนกัน เป็นประจำครับ หลังจากตรวจฟันของเด็กแล้ว ครูก็มักจะมาบอกว่า ตรวจฟันของครูด้วยนะ อันนี้เป็นเรื่องปกติ ฉะนั้น เมื่อมีลักษณะการทำงาน ที่มีโครงสร้างแบบนี้เข้ามา ทางกรมอนามัยก็คิดครับ คิดว่า มันน่าจะถึงยุคของการเปลี่ยนแปลง ที่จะให้เจ้าของสุขภาพได้เรียนรู้ และค้นหาปัญหาของตัวเขาเอง จากตัวเอง เพื่อให้เขาได้รู้ว่า อาการฟันผุของตัวเด็กเองมีมากน้อยขนาดไหน และสาเหตุที่ทำให้เกิดฟันผุมาจากอะไรบ้าง

ถ้าเขารู้ปัญหา รู้สาเหตุ เขาก็จะก้าวไปสู่วิธีการที่จะแก้ปัญหา และน่าจะยั่งยืนกว่ากัน อันนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่กรมอนามัย พร้อมกับคุณครู นักเรียน และทันตบุคลากรของจังหวัด ก้าวเข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน อันนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการทำงานเพื่อเด็ก ครู นักเรียน และทันตบุคลากร จะได้มาเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากให้กับเด็กในอนาคต

เรื่องราวของการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากเด็กวัยเรียน ใครที่สนใจ ดูเรื่องราวต่อยอดได้ที่ บล็อก ของคุณหมอปิยะดา ... นวัตกรรมเด็ก และคุณบี๋ ... กิน(พอ)ดี อยู่(พอ)ดี ได้นะครับ

 

หมายเลขบันทึก: 59573เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2006 11:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท