ควายคู่บุญแม่



ควายคู่บุญแม่

เมื่อปี พ.ศ.2477 พ่อกับแม่แต่งงานอยู่กินด้วยกัน พ่อต้องมาอยู่กินถิ่นฐานบ้านแม่ พร้อมจัดหาเรือนหอไม้สักทรงไทยเป็นสินสอดตามธรรมเนียม 1 หลัง เนื่องจากบรรพบุรุษของทั้งพ่อและแม่มีอาชีพเป็นเกษตรกรทำนา คุณตาพ่อของแม่จึงยกที่นาให้ 20 ไร่ พร้อมลูกควายตัวเมียอายุ 3 ปีเศษ ให้ 1 ตัวชื่อ แหง่ เข้าใจว่าเป็นลูกควายตัวเล็กๆ ร้องแหง่ๆ พ่อแม่จึงเรียกว่า แหง่ เมื่อได้ลูกควายแหง่มายังไถนาไม่ได้ พ่อต้องเช่าควายเขาไถนาอยู่ 1 ปีเมื่อมีอายุย่างเข้า 5 ปี จึงเริ่มฝึกหัดใช้งานไถนาได้

พ่อกับแม่ได้ประกอบอาชีพทำนาด้วยความขยันหมั่นเพียร ได้จ้างลูกจ้างรายปีมาช่วยทำนา เมื่อขายข้าวในฤดูน้ำหลาก ให้พ่อค้าข้าวเรือเอี้ยมจุ๊นได้แล้วจึงจ่ายค่าจ้างให้ การทำนาเจริญก้าวหน้ามาด้วยดีสุดท้ายซื้อนาเพิ่มได้อีก รวมเป็น 60 ไร่ สำหรับควายแหง่พวกเราลูกๆ ของแม่ พากันเรียกว่า แม่แหง่ เพราะเมื่อเราเกิดมาตั้งแต่พี่คนโตถึงน้องคนที่ 6 ก็เห็นแม่แหง่ช่วยพ่อแม่ทำนาเรื่อยมา แม่แหง่ทยอยมีลูกหลายตัว เมื่อลูกควายโตแล้วพ่อก็แบ่งขายไปเหลือควายไว้ใช้งาน 3 ตัว มีแม่แหง่ และควายตัวผู้อีก 2 ตัว ชื่อ ฝ้าย และ ฝาง ผมและน้องชายคนรองจากผมมีหน้าที่ต้องเลี้ยงควาย ทั้ง 3 ตัว อยู่เป็นประจำ

ลักษณะของแม่แหง่ เป็นควายที่ เชื่อง เลี้ยงง่าย มีตำหนิรอยบิ่นที่กลางเขาขวา เป็นที่สังเกตของผมเวลาปล่อยเลี้ยงควายฝูงในกลางทุ่ง ส่วน เจ้าฝ้าย กับ เจ้าฝาง เป็นควายดำตัวผู้เหมือนควายทั่วไปจำยาก แต่เมื่อเวลาต้อนแม่แหง่กลับบ้านยามสายและยามเย็น เจ้าฝ้ายกับ เจ้าฝาง จะเดินตามกลับบ้านเอง การขึ้นขี่หลังควายเมื่อตัวผมยังเล็กอายุ 6-8 ขวบ นั้นยากมากผมต้องเหยียบปุ่มกระดูกตรงกกขาหน้าด้านบนชิดลำตัว แล้วให้เพื่อนดันก้นจึงจะขึ้นขี่หลังควายได้ หรือไม่ก็นำไปเทียบกับข้างคอก หรือก้นครกตำข้าว แล้วปีนขึ้นขี่หลัง แต่สำหรับแม่แหง่มีลักษณะพิเศษโดยลูกชายของแม่ทุกคนจะไปยืนตรงหน้าแม่แหง่แล้วพูดว่า “ก้ม ๆ ๆ “พร้อมกับทำมือโบกลงประกอบ แม่แหง่จะก้มหัวลง พวกเราจะเหยียบระหว่างโคนกกเขา แล้วเกาะปลายเขา2 ข้าง ถีบกกเขากระโดดขึ้นไปบนหลังแล้วกลับตัวขี่คร่อมหลังได้สบาย เด็กคนอื่นแม่แหง่จะไม่ยอมให้ทำ จะเงยหัวเบิ่งทำ ฟืดฟาด ไม่ก้มหัวให้ แล้วทำท่าจะขวิดเอาอีกด้วย

ยุคก่อนปี พ.ศ.2500 เมื่อเขื่อนเจ้าพระยายังไม่เปิดใช้น้ำ ท้องทุ่งนา ตำบลท่าวุ้ง อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ทำนาข้าวฟางลอยได้ปีละ 1 ครั้ง ก็พออยู่พอกิน เมื่อพ้นฤดูเก็บเกี่ยว เดือน 3 ทางจันทรคติแล้ว เช้าและเย็นเราก็ปล่อยควายออกทุ่ง เด็กเลี้ยงควายว่างจากการปล่อยควายออกทุ่งแล้ว ก็จะเฝ้าดูอยู่ห่างๆ ใต้ร่มไม้ชายทุ่ง ให้ฝูงควายอยู่ในสายตาไม่ให้บุกรุกเข้าไปกินในที่ดิน ที่เขาปลูกแตงโมหรือปลูกข้าวโพด บริเวณหางคลอง ซึ่งเป็นที่น้ำไหลทรายมูลของชาวบ้านแห่งเดียวในหมู่บ้าน เด็กเลี้ยงควายจะหันมาจับกลุ่ม หากิจกรรมเล่นกันตามประสาเด็กเลี้ยงควาย ผู้ใหญ่ก็จะฟั่นเชือกควาย พอถึงฤดูหน้าไถหว่าน เดือน 7-8 ก็ต้องเลี้ยงด้วยฟางข้าวที่กองเก็บไว้เป็นกองสูงๆ หรือขี่เลี้ยงเล็มหญ้าตามหลังบ้านของเราเอง ตามชายป่าหลังบ้านนี้ บางครั้งพ่อจะหว่านปอกระเจาไว้ เมื่อปอโตแก่เต็มที่แล้ว จะตัดมาแกะลอกเอาเปลือกเส้นใยตากแห้ง เก็บเป็นมัดไว้ฟั่นเชือกใช้จูงควาย ใช้งานการเกษตร หรืองานอื่นๆในบ้าน ต่อไป

วันหนึ่งประมาณเดือน 8-9 ถึงฤดูหน้าไถหว่านข้าวงอกงามเต็มท้องทุ่งแล้ว ควายทั้ง 3 ตัว ต้องเลี้ยงด้วยฟาง และพาไปเล็มกินหญ้า แถวริมไร่ปอกระเจาหลังบ้าน ก่อนจะขี่ไปลงอาบน้ำที่ท่าควายริมแม่น้ำลพบุรี ผมขี่แม่แหง่ควายคู่บุญของแม่น้องชายรองขี่เจ้าฝ้ายและจูงเจ้าฝาง ขณะที่ไปเล็มกินหญ้าริมป่าปอกระเจา เกิดฝนตกฟ้าคะนองขึ้นมา เจ้าฝ้ายและเจ้าฝางคึกคะนองน้ำฝน สะบัดน้องชายผมตกจากหลังไล่ขวิดน้องชาย ตัวผมโดดลงจากหลังแม่แหง่วิ่งเข้าบ้านไปตะโกนบอกพ่อว่า “พ่อๆ เจ้าฝ้าย เจ้าฝาง คึกขวิดน้อง ไปช่วยด้วย” พ่อรีบวิ่งตามผมออกไปดูพบว่าแม่แหง่ยืนเอาลำตัวบังป่าปอกระเจา ที่น้องชายผมคลานเข้าไปหลบซ่อนอยู่ และสะบัดหัวแว้งไปมา กันเจ้าฝ้ายและเจ้าฝางไว้ พ่อจึงจับปลายเชือกเจ้าฝ้าย และเจ้าฝางไว้ แล้วหวดตีด้วยไม้แขนงไผ่ตัวละ 3-4 ที เพื่อให้เข็ดหลาบ ผมจูงแม่แหง่ พ่อจูงเจ้าฝ้ายเจ้าฝางพาตามกันไปลงน้ำ ที่ท่าควายโดยมีไม้เรียวที่มือพ่อถือกำกับ เสร็จแล้วจูงเข้าคอก เอาฟางกองให้กินหมดภารกิจที่ตื่นเต้นน่ากลัวในวัยเด็ก ที่ยากจะลืมเลือน

ในปีพ.ศ.2494 ผมเข้าเรียนชั้นมัธยมปีที่ 1 พ่อแม่ของผมมีลูกเป็นชายทั้งสิ้นรวม 6 คน ยังไม่มีน้องชายคนที่ 7 พ่อเปลี่ยนอาชีพเป็นพ่อค้าไม้ โดยเข้าหุ้นลงทุนกับลุงพี่ชายแม่ ซื้อไม้แพซุงจากจังหวัดสิงห์บุรี ล่องตามลำน้ำลพบุรีมาเลื่อยด้วยแรงคน เป็นไม้แปรรูปขาย ด้วยเหตุผลว่าหากทำนารายได้คงไม่เพียงพอ ที่จะส่งลูกชายทั้ง 6 คน ให้เรียนจบมีการศึกษาสูง เพื่อไม่ต้องกลับมาทำนาอีกได้ ตามคำแนะนำของครูใหญ่โรงเรียนประจำหมู่บ้าน ที่เป็นเพื่อนกันกับพ่อ พ่อจึงขายเจ้าฝ้าย เจ้าฝางไป ส่วนแม่แหง่พ่อกับแม่ไม่ขาย ได้นำไปฝากลุงเลี้ยงไว้ ที่หมู่บ้านซึ่งอยู่ห่างจากบ้านพ่อแม่ผม ประมาณ 4 กม.เศษ

วันหนึ่งในตอนเช้ามืดแม่ตื่นขึ้นมาหุงข้าวเตรียมใส่บาตรพระ แม่ได้ยินเสียงควายร้อง“แหงะ ๆ ๆ” อยู่หน้าบ้านแม่จึงปลุกพ่อให้ลงไปดู พบว่าเป็นแม่แหง่ควายคู่บุญแม่ยืนร้องอยู่หน้าบ้าน พ่อต้องจูงแม่แหง่ไปไว้ใต้ต้นมะม่วงหลังบ้าน ไปขอฟางบ้านคุณตามากอง และตักน้ำใส่ถังมาให้กิน พ่อส่งข่าวฝากคนไปบอกลุงว่าแม่แหง่หนีกลับไปบ้านวันรุ่งขึ้นพ่อได้เข้าไปตบหัวแม่แหง่เบาๆแล้วพูดว่า “แหง่เอย ฉันเลี้ยงแกไม่ได้จริงๆ ฉันเลิกอาชีพทำนาแล้วลูกๆพ่อทุกคนก็ไปเรียนหนังสือในเมืองกัน ใต้ถุนบ้านมีแต่กองไม้เต็มไปหมด ไปอยู่กับลุงเขาเถิดนะ” พอเวลาสายๆ พ่อก็จูงแม่แหง่ไปส่งฝากลุงเลี้ยงเช่นเดิม พ่อเล่าว่าตอนที่พ่อเดินจากบ้านลุงมา พ่อหันไปดู เห็นแม่แหง่เบิ่งหน้าชะแง้มองดูพ่อ จนเดินลับตามา

หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือนต่อมา ลุงส่งข่าวว่า ควายแหง่ได้ตายเสียแล้ว ตั้งแต่พ่อจูงกลับไปฝากลุงเลี้ยงไว้อีกครั้ง ควายแหง่ได้แต่ชะแง้มองตามหนทางที่พ่อเดินกลับมา ไม่ค่อยจะยอมกินหญ้า ฟาง น้ำ ประกอบกับอายุก็มากแล้ว จึงค่อยๆ ผ่ายผอมลง หมดแรง จนในที่สุดสิ้นลมหายใจไป ลุงได้แล่เนื้อหนังออก แล้วนำกะโหลกศีรษะและเขาของแม่แหง่มาคืนให้พ่อกับแม่ แม่แหง่ควายคู่บุญแม่ ที่คุณตามอบให้เมื่อแยกครัวมา “ช่างเป็นควายที่เกิดมา คู่บุญแม่เสียจริงๆ ” เมื่อสิ้นบุญพ่อแม่แล้วกะโหลกและเขาของแม่แหง่ น้องชายรองจากผม ที่แม่แหง่ช่วยปกป้องชีวิตไว้ ขอเป็นผู้ครอบครอง เก็บรักษาไว้ มาจนทุกวันนี้…/

โดย : เจ้าจุก ลูกชาวนา/ลพบุรี

ส่งคู่สร้างคู่สม วันที่ 27 สิงหาคม 2558 เวลา 17.20 น

ลงพิมพ์คู่สร้างคู่สมฉบับวันศุกร์ที่ 25 กันยายน 2558.


คำสำคัญ (Tags): #ควายคู่บุญแม่
หมายเลขบันทึก: 595647เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2015 06:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2015 09:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับ

-อ่านบันทึกและจินตนาการไปกับตัวหนังสือ

-เห็นถึงความรัก ความอบอุ่น วิถีชีวิต และเรื่องราวที่ผ่านมาอย่างชัดเจน

-สมัยผมเป็นเด็กก็ขี่ความเหมือนกันครับ

-คิดถึงเมื่อครั้งยังเยาว์

-ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท