เรียนรู้จากอดีต วิธีคิดคนรุ่นใหม่ เติมเต็มใจ สู่วิสัยทัศน์นิยม


เรียนรู้จากอดีต วิธีคิดคนรุ่นใหม่ เติมเต็มใจ สู่วิสัยทัศน์นิยม

เมื่อหลายปีมาแล้วผมซื้อหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ สารคดีท่องเที่ยวเกาะพะงัน อ่านเสร็จก็เก็บเข้าตู้หนังสือ วันนี้เกิดความรู้สึกว่าจะต้องหยิบขึ้นมาอ่านอีกครั้ง อาจจะเป็นเพราะใน เฟสบ้ค มีคนนามสกุลโชติช่วงเยอะมาก ทำให้เราได้หยิบหนังสือรวมญาติตระกูลโชติช่วง ที่รวบรวมไว้โดยพ่อกว้าง โชติช่วง ขึ้นมาอ่าน อีกครั้งเพราะอาจจะมีข้อมูลอะไรบ้าง เพราะโชติช่วงที่เกาะพะงัน ที่เรารู้จักยังมีอีกหลายคนที่พ่อกว้างไม่ได้บันทึกไว้ โดยเฉพาะโชติช่วงที่บ้านมะเดื่อหวาน รายชื่อในเครือญาติ หลายท่านที่ เราไม่สามารถนึกภาพเค้าหน้าได้ เพียงแต่มีความรู้สึกผูกพันจากแววตาแห่งความเมตตาอื้ออาทร ที่ผู้ใหญ่ ในอดีตเคยมอบให้ พร้อมพร้อมกับคำพูดของท่านเหล่านั้นว่า เราไม่ใช่ใครที่ใหน เรามาจากที่เดียวกันน่ะ บางท่านก็หยิบเงินจากกระเป๋าส่งให้ 5 บาทบ้าง 10 บ้าง 20 บาทบ้าง จากนั้นก็อวยพรให้เรามีความสุข รู้สึกว่าญาติจะเยอะมากจริงๆ คิดดูว่าเรามีพ่อ เรามีแม่ จึงมีญาติ ทั้งปู่ ย่า ตา ยาย เฉพาะลูกของลุง ป้า น้า อา ที่เกิดคลานตามกันมาก็เยอะอยู่แล้ว วิถีชีวิตที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม นวัตกรรมทางสังคม การสื่อสารที่เป็นตัวชี้ชะตากรรมสังคม ทันสมัยแต่ไร้ทิศทาง คนจึงทิ้งคุณค่าของสังคมเครือญาติ ชนิดหลุดจากเบ้าไปเลย การย้ายถิ่นย้ายภูมิลำเนาเพื่อชีวิตที่ดีกว่า เป็นการทอดทิ้งสังคมเครือญาติ อย่างสิ้นเชิง หลายครั้งที่ผมได้พบกับแววตาแห่งความผิดหวังน้อยใจ เมื่อเราจำท่านไม่ได้ ลืมอย่างสนิทเพราะความห่างเหินกัน เมื่อกลับบ้านอยู่ที่บ้านพ่อแม่ ไม่ค่อยไปเยี่ยมใครที่ใหน ไปครั้งละสามวันสี่วันต้องรีบกลับ เมื่อพ่อแม่ท่านเสียชีวิตไปแล้ว ก็ไม่มีใครบอกกล่าว คงเหลือแต่ผู้อาวุโสสูงวัย ที่ช่วยตัวเองแทบไม่ได้เพียงไม่กี่ท่าน ครับนี่คือเหตุผลสำคัญที่เราจะต้องช่วยเหลือดูแล ประคับประคอง ผู้เชี่ยวชาญชีวิตแห่งชุมชนทุกท่านเอาไว้ด้วยความเข้าใจและจริงใจ ไม่ว่าจะเป็นบุตรหลาน เครือญาติ และผู้ทำหน้าที่ในองค์กรส่วนท้องถิ่น

ในวันนี้ สังคมเกษตรกรรมในชนบทหลายแห่งยังคงเก็บ คุณลักษณะวัฒนธรรมเครือญาติเอาไว้ แต่ก็เฉพาะที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน หรือเฉพาะสายเลือดที่ยังไกล้ชิดกันอยู่ การจัดทำบันทึกเครือญาติที่ได้เห็นหลายๆตระกูลจัดทำกัน เป็นสิ่งที่น่าจะได้ประโยชน์ เพราะเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ หน่วยย่อย ทางสังคมที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ต่อกัน ความร่วมมือต่างๆที่เกิดขึ้นในลักษณะเอื้ออาทรแบบเครือญาติ อาจมีผลดีหลายๆอย่าง โดยเฉพาะการสืบทอดประเพณีวิถีชีวิตและวัฒนธรรม เป็นอีกวิธีหนึ่งที่น่าจะนำมาใช้เพื่อเรียกเอาความรักความอบอุ่นคืนกลับสู่สังคมชุมชน

หนังสือสารคดีการท่องเที่ยวเกาะพะงัน เรื่องราวในเล่มได้เก็บเกี่ยวข้อมูล จากประวัติศาสตร์ โบราณคดี และข้อมูลบุคคล นำมาเรียบเรียงโดย กวี รังสิวรักษ์ มีรายละเอียดพอสมควร ในบทที่ 9 หน้า 111 เป็นเรื่องราวในยุคนิราศ ผู้เขียนได้บันทึกจากคำบอก เล่า ของบุคคลเก่าแก่ ที่ดูรายชื่อแล้วและยัง มีชีวีตอยู่ ณ ปัจจุบัน คงจะมีเพียง ท่านเดียว

“ถึงโรงเรียน เรียนอะไร ไม่ประจักษ์

หรือเรียนรัก รอบรู้ มีครูสอน

ถ้าร่างกาย ฉันไม่แก่ เหมือนแต่ก่อน

จะหยุดหย่อน อยู่สมัคร เป็นนักเรียน”

จาก ตอนหนึ่งของนิราศท้องนาง นายหีตบุตร สุขสบาย ผู้แต่ง แต่งเมื่อ ปี 2463 และเป็นปีที่ โรงเรียนบ้านใต้ เกาะพะงันเปิดทำการสอน เป็นยอดวรรณกรรม แห่งเกาะพะงัน ที่มีผู้คนบนเกาะในอดีตกล่าวถึงมากที่สุดท่านหนึ่ง

นั่งดูหนังสือรวมญาติ โชติช่วง จัดทำโดยคุณ พ่อกว้าง โชติช่วง ไม่มีการโยงถึงที่มาของทวดหีตบุตร แต่เคยได้ยินคุณย่ามี โชติช่วง ซึ่งเป็นย่าของผมเองเคยเอ่ยถึง ทวดยวง ยังจำแว่วๆอยู่ และเมื่อเห็นนิราศของทวดหีต บุตร ที่มีภรรยา ชื่อนางจันทร์ และนางยวง ก็เลยนึกถึง ทำเนียบคนตระกูลบุญช่วย ที่รวบรวม โดยนายแพทย์สถิตย์ บุญช่วย (ตำแหน่งสุดท้ายผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข) ท่านทำไว้ตอนที่มีการจัดงานรวมญาติ ตระกูลบุญช่วย ได้นำเอารายละเอียดการสืบสายเลือด ทั้งญาติ ฝ่าย ปู่ ฝ่ายย่า ฝ่ายตา ฝ่ายยาย เท่าที่สืบค้นมาได้ จากเครือญาติตระกูลบุญช่วย ทำให้ได้รู้ที่มา ของยอดกวีแห่งเกาะพะงันที่ชื่อ หีตบุตร สุขสบาย

ทวดหีตบุตร เป็นหลานของทวดช้าง ซึ่งเป็นหนุ่มที่มาจากทางภาคตะวันออก จะเป็นจันทบุรี หรือระยอง ไม่ทราบ แต่สามารถลอยคอช่วยตัวเองมีชีวิตรอดถึงเกาะพะงัน บริเวณหาดที่เจอทวดช้าง จึงเรียกว่าวกลุงช้างจนถึงปัจจุบัน เมื่อขึ้นไปอยู่บนเกาะท่านได้ทำมาหากินขยันขันแข็ง จนได้ภรรยาชื่อทวดศรีใหม เป็นต้นตระกูลสุขสบาย ท่าน มีบุตรด้วยกัน 5 คน ผมคงไม่เอ่ยชื่อไว้ในที่นี้ แต่บุตรคนที่ 4 ชื่อทวดหนูหนุ่ม สุขสบาย มีบุตร 2 คน คือทวดคงแก้ว และทวดหีตบุตร แล้วผมละเกี่ยวเนื่องอะไรกับทวดหีตบุตร เกี่ยวโดย ย่าของผมเป็นลูกสาวของทวดคงแก้ว จึงเป็นหลานสาวของทวดหีตบุตร ผมจึงเป็นเหลน เพียงเท่านี้ทำให้ผมมองเห็นเครือญาติได้ละเอียดยิบ และเห็นความสำคัญตรงที่จิตใจของเราเกิดความอบอุ่น ได้เห็นความเป็นตัวตนของตนเองเพิ่มขึ้น อีกระดับหนึ่ง นามสกุล ที่แตกแขนงออกไปหลายนามสกุล ทำให้เรารู้สึกดีๆกับผู้คนมากขึ้น รอยแปลกแยกทางสังคมที่มันอยู่ในใจ ถูกเชื่อมต่อได้สนิทแนบแน่นขึ้น รอยยิ้มที่เกิดจากความสัมพันธ์เชิงสายเลือด จะเป็นรอยยิ้มที่บ่งบอกความเป็นกันเอง และให้ความอบอุ่นมากกว่าเดิม

ขอฝากความขอบคุณแก่ น้อง ตกฤต ศรีทองกุล คนรุ่นใหม่ ที่มีความสามารถ เรียนรู้ การสืบสายเลือดระหว่างเครือญาติ ในเกาะพะงันถือว่ามากทีเดียว ยากที่จะหาได้จากคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน และเป็นลักษณะเด่นของคนในสังคมไทย อีกลักษณะหนึ่ง ที่ควรส่งเสริม วันที่ 28 กันยายนนี้เป็นวันรับตายาย ซึ่งเป็นประเพณี ของคนใต้บ้านเรา รู้จักปู่ย่าตายาย ก็จะได้อะไรเพิ่มขึ้นอีกเยอะน่ะครับ


หมายเลขบันทึก: 594962เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2015 08:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กันยายน 2015 08:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

“ถึงโรงเรียน เรียนอะไร ไม่ประจักษ์

หรือเรียนรัก รอบรู้ มีครูสอน

ถ้าร่างกาย ฉันไม่แก่ เหมือนแต่ก่อน

จะหยุดหย่อน อยู่สมัคร เป็นนักเรียน”

ถูกต้องครับ

ช่วงชีวิตที่เป็นนักเรียน คือ ช่วงเวลา

ที่คุณมะเดื่อมีความสุขที่สุด จริง ๆ จ้ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท