แนวคิดการเปลี่ยนแปลงในการบริหารจัดการเพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา


แนวคิดการเปลี่ยนแปลงในการบริหารจัดการเพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา

ดร.เพชร แก้วดวงดี กศ.ม. ค.ด.(การบริหารการศึกษา)

บทนำ

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้เขียนเป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการที่มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งโดยการสอบ การย้าย การประเมินความรู้ความสามารถบนพื้นฐานการศึกษาระดับการประถมศึกษา การจัดการศึกษาในสถานศึกษาที่เป็นเขตชนบท หรือบริหารระดับพื้นที่อำเภอที่เป็นชายแดน เปลี่ยนไปถึง 5 อำเภอ จัดว่าได้ประสบการณ์ที่มีประโยชน์ และนำมาใช้ในการบริหารตามหน้าที่จนถึงปัจจุบัน สิ่งที่ยึดในอุดมการณ์โดยตลอด คือ การเปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อม ตามสถานการณ์ และทรัพยากรที่มี เพื่อให้เกิดคุณภาพต่อสถานศึกษา พยายามที่จะนำความรู้ประสบการณ์ที่ผ่านมา นำไปใช้จริง ผนวกกับความรู้ที่เรียนในระดับปริญญาการบริหารการศึกษาทั้ง 3 ปริญญา จึงขอนำเสนอผู้อ่านจากแนวคิด ประสบการณ์ที่เคยปฏิบัติจริง ทั้งเรียนรู้ และแนวคิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อการบริหารสถานศึกษาที่มีคุณภาพ ที่อาจเป็นประโยชน์ได้บ้าง

แนวคิดในการเปลี่ยนแปลง (The Concept of Change) จัดว่าเป็นสิ่งสำคัญของบุคลากรทุกตำแหน่งควรที่จะค้นหาเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ถ้าเป็นการบริหารการศึกษาก็ต้องคิดหาวิธีการที่จะให้เกิดคุณภาพที่ดีขึ้นกว่าสภาพปัจจุบัน เช่น ผู้อำนวยการสถานศึกษาเมื่อเข้าสู่ตำแหน่ง โรงเรียนแห่งหนึ่งก็ควรเริ่มด้วยวัตถุประสงค์ และภารกิจของสถานศึกษาว่าปัจจุบันอยู่ระดับใด ควรที่จะเพิ่มขึ้นระดับใด สถานศึกษาที่ไม่ผ่านการประเมินจาก สมศ.ก็ควรจะเปลี่ยนเป็นระดับผ่าน หรือผลสอบ O-Net ต่ำกว่าเกณฑ์ ก็ควรที่จะเปลี่ยนแปลงให้สูงขึ้น โดยการวิเคราะห์ สภาพปัจจุบันและปัญหา สาเหตุมาจากสิ่งใด สถานภาพต่างๆที่พบปัญหาคือสิ่งใด จึงควรจะสร้างแนวคิดให้เกิดขึ้น ส่วนสายผู้สอน ก็จะต้องประเมินผลตนเองด้วยตนเองว่าเป็นสิ่งที่มีคุณภาพระดับใด จะเปลี่ยนโดยแนวคิดอย่างไรให้มีผลที่สูงขึ้น หากสิ่งนี้เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษา จัดว่าเป็นการแก้ปัญหาตามสถานการณ์ (Situation) ตามสภาพแวดล้อม (Environment)ซึ่งแนวคิดนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลง หรือปรับปรุง ยกระดับที่จะส่งผลต่อภาพรวมของการศึกษาทั่วประเทศได้มีคุณภาพที่สูงขึ้น

จากข่าวที่เกิดขึ้นนับแต่ปี 2542 เป็นต้นมาที่มีการกำหนดแนวการจัดการศึกษาตาม พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ที่จะนำมาสู่การปฏิรูปศึกษา เป็นการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และ การพัฒนาสาระและกระบวนการเรียนรูให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแนวคิดนี้ เป็นแนวคิดที่เป็นสากล เมื่อมีผลการประเมินคุณภาพที่ผ่านมา ข่าวส่วนมาก เป็นการลดคุณภาพการศึกษาที่ต่ำลง ทั้งการประเมินภายในประเทศ ร่วมประเมินกับต่างประเทศ (PISA) หรือ การเข้าสู่อาเซียนในจำนวน 10 ประเทศ ประเทศไทยก็ยังต้อง มีการแก้ไข เปลี่ยนแปลงตนเองให้เกิดการพัฒนาคุณภาพที่สูงขึ้น ส่วนการปฏิรูปโครงสร้าง ในปี 2546 เป็นต้นมาก็ยังไม่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา ในระดับที่น่าพอใจ ผู้เขียนได้พยายามวิเคราะห์ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เมื่อเปรียบเทียบกับอดีต เมื่อ เมื่อปี 2521 ถึงปัจจุบัน แม้จะมีโครงสร้างที่เปลี่ยน แต่ถ้าหากไปสู่สถานศึกษา ห้องเรียน การจัดการเรียนการสอน ยังไม่มีการเปลี่ยน มีการจัดการเรียนการสอนที่คงเดิมมาโดยตลอด เช่น คำพูดที่มักจะกล่าวว่า Talk and Chalk หมายถึงยังมีการสอนโดยการพูด เล่าให้ฟัง มีกระดานที่เขียนด้วยชอล์ก เหมือนเดิมมาโดยตลอด แม้อดีตศิษย์เก่าโรงเรียนแห่งหนึ่ง เรียนเก่งในอดีตครูสอนด้วยชอล์กบนกระดานดำ เมื่อเรียนจบครูระดับปริญญาตรี ไปบรรจุ ก็ทำหน้าที่ครูแทนคนที่เคยสอน นี่คือสาเหตุที่ยืนยันว่า อดีตจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง และผลที่เกิดจากเวลาที่ผ่านมาก็ไม่มีคุณภาพที่สูงขึ้น ถ้าเป็นเรื่องผลการสอบ หลายระดับชั้น ก็ยังไม่สูง เช่นข่าวการสอบ O-Net มัธยมศึกษาตอนปลาย ประมาณร้อยละ 58.6 เป็นสาระภาษาไทย นอกนั้นต่ำกว่า 50 เช่น วิชาสังคมศึกษา เฉลี่ย 35.9 วิชาภาษาอังกฤษ เฉลี่ย 29.3 วิชาคณิตศาสตร์ เฉลี่ย 20.3 ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนสูงขึ้น ขณะที่สังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลงในระดับคุณภาพ แต่ผลรวมเรื่องผลสัมฤทธิ์การสอบของประเทศไทย ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก็ต่ำโดยรวมมาตลอด (ข่าวประกาศของ สทศ. เมื่อ 20 ก.พ. 2558)

ในการพัฒนาการศึกษาของประเทศที่ต้องการให้มีคุณภาพโดยการปฏิรูปการศึกษา โดย สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)ในทศวรรษที่สอง (2552-2561) โดย หลักการที่สำคัญในการปฏิรูปฯ –คือ การสร้างคุณภาพและเนื้อหาในการศึกษา – การสร้างโอกาสและการเข้าถึงการศึกษา – การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งเวลาที่ผ่านมาตามหลักการ ก็ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในการสร้างคุณภาพและเนื้อหาในการศึกษาตามที่เป็นหลักการ แม้จะมีการประกาศสู่ หน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสถานศึกษาก็ได้รับทราบตามที่ประกาศนี้ การขับเคลื่อนที่ผ่านมาประมาณ 6 ปี สิ่งที่เป็นผลต่อ เป้าหมายที่ว่า เช่น คนไทยและการศึกษาไทยมีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับสากล ตัวบ่งชี้และค่าเป้าหมาย ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาหลักจากการทดสอบ ระดับชาติ มีคะแนนเฉลี่ย มากกว่าร้อยละ 50 คน ไทยและการศึกษาไทยมีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับสากล ตัวบ่งชี้และค่าเป้าหมาย มี ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาด้านคณิตศาสตร์และ วิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย นานาชาติ แต่ผลที่ออกมา ประเทศไทยมีผลคะแนนซึ่งมองในภาพรวมของกลุ่มประเทศ รายละเอียดกลับพบว่า ผลคะแนนการสอบ PISA ของนักเรียนในทักษะทั้ง 3 ทักษะมีคะแนนรวมที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยจาก 65 ประเทศทั้ง 3 ด้าน ความวิตกกังวลในเรื่องดังกล่าวสะท้อนถึงหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาที่เร่งออกมาตรการปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะการประกาศปฏิรูปการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการในฐานะผู้กำกับดูแลต้องคิดทบทวน หลักสูตรแกนกลางขั้นพื้นฐานแลกระบวนการเรียนการสอนว่าต้องทำอย่างไร เพื่อให้คุณภาพการศึกษาของเด็กไทยดีขึ้น ไม่เพียงแต่ต้องการให้เลื่อนอันดับการสอบ PISA สูงขึ้นเท่านั้นแต่ยังต้องการให้เด็กไทยรู้จัก คิด วิเคราะห์เป็น ในเวลานี้ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ประชุมหาแนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่คาดว่าน่าจะเห็น เป็นรูปเป็นร่างเร็วๆนี้ โดยน่าจะจัดให้มีการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการที่เกิดประสิทธิภาพ วิเคราะห์สาเหตุการจะปรับเปลี่ยนเป็นตามที่กำหนดได้อย่างไร

แนวคิดที่ต้องการให้เปลี่ยนแปลงแล้วเกิดคุณภาพสถานศึกษา

ผู้เขียน เชื่อว่าหากกล้าคิด กล้าทำ และกล้าเปลี่ยน น่าจะส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา จากที่บทนำเสนอที่ผ่านมานี้ เป็นเหตุผลที่จำเป็นจะต้องยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการที่ส่งผลต่อการคุณภาพการศึกษา โดยนำกระบวนการที่เป็นการเปลี่ยนแปลงมาดำเนินการให้เป็นรูปธรรม ที่ชัดเจน โดยเกิดความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง บนพื้นฐานของความกล้าที่ถูกต้องตามหลักการเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มจากการวิเคราะห์สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละสถานศึกษาตามหลักการที่ยึดคุณภาพเป็นหลัก และตอบสนองนโยบายที่กำลังแก้ไข ปฏิรูปการศึกษาใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น (บอร์ดปฏิรูปการศึกษาใหม่ ปี 2558) ในเบื้องต้นที่ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2558 ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แถลงถึง เนื้อหาด้านการศึกษาที่จะเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้บรรจุในรัฐธรรมนูญ ว่า ที่ผ่านมากระบวนการศึกษาของชาติประสบปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึง และคุณภาพการศึกษาที่ตกต่ำลงเรื่อยๆ แม้จะมีการอุดหนุนงบประมาณปีละหลายแสนล้านบาท จึงเสนอปรับโครงสร้างเพื่อปฏิรูปการศึกษาเพื่อจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ซึ่งถือเป็นความหวังของการปฏิรูปครั้งนี้ โดยมีสาระสำคัญทั้ง 7 ประการดังนี้
1.การศึกษาคือการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ รัฐจึงต้องกำหนดให้เป็นนโยบายระดับชาติที่มีความสำคัญสูงสุด และต้องมีความเชื่อมโยงกับนโยบายการพัฒนาในทุกๆด้าน
2.รัฐต้องปรับเปลี่ยนและลดบทบาทจากศึกษามาเป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุน รวมถึงกำกับนโยบายแผนมาตรฐานและติดตามประเมินผล ให้ทุกภาคส่วนของสังคมมีส่วนร่วม
3.รัฐต้องส่งเสริมความเป็นนิติบุคคลของสถานศึกษา โดยต้องรับผิดชอบผลของการเรียนการสอน ประสิทธิภาพ คุณภาพ ของการจัดการศึกษา และเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของชุมชนนั้นๆ
4.ต้องขจัดความเหลื่อมล้ำให้โอกาสการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยรัฐต้องจัดเตรียมค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานแก่ผู้ศึกษา ตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงภาคบังคับ
5.ต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นสากล และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตามความแตกต่างของสังคมแต่ละพื้นที่ ให้ประกอบอาชีพการงานได้ตลอดชีวิต
6.ต้องส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้และสื่อสาธารณะ ทั้งด้านการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม ศาสนา วิทยาศาสตร์ และจริยธรรม
7.นโยบายการศึกษาต้องต่อเนื่อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ปราศจากการแทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์ใด รวมถึงฝ่ายการเมือง

ยังมีแนวทางการยกระดับคุณภาพทางการศึกษาของชาติและนำสู่การปฏิบัติ ด้านการศึกษา ที่คณะวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ได้แจ้งสถานการณ์และปัญหาที่พบ คุณภาพผู้เรียนและครู ผู้บริหารสถานศึกษาที่พบว่า

-สถานศึกษาขั้นพื้นฐานยังไม่ได้มาตรฐาน

-คุณภาพผลสัมฤทธิ์วิชาหลักต่ำกว่าเกณฑ์

-ครูสอนไม่ตรงตามวุฒิ ขาดแคลนครูในทุกระดับ

-การคัดเลือกบุคลากรเข้าสู่อาชีพส่วนใหญ่จะเลือกเป็นอันดับท้ายๆ

-การบริหารและจัดการศึกษา ยังไม่มีอิสระและความคล่องตัวในการบริหารเท่าที่ควร

จากการนำเสนอต่อรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้อง 7 ประการและแนวทางยกระดับคุณภาพการศึกษา ดังกล่าว ในส่วนของสถานศึกษา จะต้องทราบ มีความสามารถในการแก้ไข บริหารการเปลี่ยนแปลง หรือ Change Management ดูตามความหมายอาจจะเป็นทฤษฎีที่ตายตัวแบบสมการณ์คณิตศาสตร์ ซึ่งคำภาษาอังกฤษสั้นๆ เพียงสองคำนี้ได้กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญระดับโลก ที่ทุกหน่วยงานต่างให้ความสนใจ มีการศึกษาการบริหารการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ มีการทำวิจัยและศึกษาในทุกระดับ กระทั่งมีหลักสูตรการเรียนการสอนที่เน้นทางด้านการบริหารการเปลี่ยนแปลงถึงระดับปริญญาเอก แต่การบริหารการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาควรจะ เป็นศาสตร์และศิลป์ในการศึกษา ปัจจัยต่างๆ ขององค์กรทั้งภายในและภายนอก โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การปรับตัว ปรับรูปแบบการบริหารจัดการ สถานศึกษา การจัดการเรียนการสอน มีการตั้งเป้าหมายที่วางไว้อย่างสมบูรณ์ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ที่จะเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน หรือแม้แต่ปัจจัยต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นภายในสถานศึกษาก็ตาม

การบริหารการเปลี่ยนแปลงสถานศึกษา จะต้องมีการศึกษาปัจจัยสิ่งแวดล้อมภายในและภายนอกของสถานศึกษาอย่างเป็นระบบ อีกทั้งต้องมีการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานศึกษาที่มีผลต่ออุปสรรค คุณภาพการศึกษา กำหนดยกเลิก ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น จะส่งผลให้การขับเคลื่อนประสบผลสำเร็จได้ โดยผู้บริหาร ครู บุคลากร และผู้เกี่ยวข้อง ต้องมีความสามารถ มองเห็นภาพรวม ทิศทางซึ่งปัญหาต่างๆที่ต้องแก้ไข ต้องมีการประยุกต์ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริหารจัดการ การจัดการเรียนการสอนที่มีหลักเกณฑ์ที่เปลี่ยนแปลงและพัฒนาขึ้น ซึ่งในปัจจุบันนี้ กระบวนการสื่อ เทคโนโลยีต่างๆได้เข้าสู่ระบบการศึกษาที่สามารถนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงได้ และสภาพแวดล้อมสิ่งอำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนแปลงก็มีความสมบูรณ์มากขึ้น จึงขอเสนอแนวคิดจากประสบการณ์ที่อาจจะส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา ซึ่งผู้เขียนก็พบเห็นทั้ง การจัดการเรียนการสอนแบบเดิม และก็มีครูที่จัดการเรียนการสอนที่เปลี่ยนแปลงที่นำเสนอนี้ โดยพบว่าหากจัดการเรียนการสอน ตามแนวคิดในการเปลี่ยนแปลงนี้ ก็พบว่าผู้เรียนจะมีคุณภาพสูงขึ้น ดังนี้

แบบเดิม และข้อเสนอในการเปลี่ยนแปลงในการจัดการเรียนการสอนที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา

การจัดการเรียนการสอนแบบเดิม

การจัดการเรียนการสอนที่เปลี่ยนแปลง

-สอนโดยการพูด การเขียนที่กระดานโดยครู (Talk and Chalk) แล้วมอบหมายงาน

-มาจัดการเรียนการสอนที่สถานศึกษา โดยไม่มีการวางแผน เมื่อถึงเวลาตามตารางเรียน ก็จัดตามหนังสือเรียนของผู้เรียน

-ไม่มีกำหนดการรายวัน รายสัปดาห์ ไม่แจ้งว่าพรุ่งนี้ให้เตรียมสิ่งใดในการเรียน

-สอนโดยสาระที่ไม่เกี่ยวกับข้อสอบกลาง ที่เป็น LAS NT และ O-Net

-ยึดเอกสาร ตำราเรียน แบบฝึกหัดที่จัดซื้อมาจากที่บริษัทกำหนด หรือ ตามที่คู่มือครู นักเรียน ที่ใช้อยู่

-มีการจัดการเรียนการสอน นั่งเก้าอี้ต่อ1 คนและ 1โต๊ะเรียน ในห้องเรียนตลอดปี

-รับรู้ ทำความเข้าใจจากสิ่งที่ครูสอนเท่านั้น

-สอนโดยเล่า บอก และอ่านจากเรื่องและสาระที่มีในเอกสารที่มี

-เน้นการอ่าน มากกว่าการพูด การเขียน การนำเสนอที่เกิดความรู้ความเข้าใจ

-จัดท่องจำโดยรวมทั้งชั้น ตามที่หลักสูตรกำหนดให้ท่องจำ

-จัดประเมินโดยข้อสอบที่เป็นปรนัย มากกว่าอัตนัย

-ไม่มีการติวสอบ ที่เป็นขอสอบจากส่วนกลาง

ฯลฯ

-จัดทำแผนการจัดการเรียนการสอนที่ตรงกับสภาพปัญหา รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน ที่เกิดจากครูประจำชั้น ยึดหลักสูตรประจำสาระ (ไม่ได้คัดลอกมาจากCDบริษัทที่เสนอ จัดทำเป็นเล่มเป็นรายภาคเรียนด้วยการเขียนหรือพิมพ์ด้วยตนเอง เสนอผู้บริหาร ทุกวันศุกร์เพื่อใช้สัปดาห์ต่อไป)

-จัดการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Child Center) ทุกชั่วโมงเรียนจัดเตรียมสื่อ เอกสาร

-วิเคราะห์สภาพผู้เรียน แบ่ง 3 ระดับ เก่ง กลาง ต่ำ แล้วกำหนดกิจกรรม ให้เหมาะสมกับผู้เรียนที่มีความแตกต่าง

-แบ่งกลุ่มการเรียนที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ร่วมกัน ในการจัดการเรียน

-จัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ต้องทดลอง กลุ่มงาน โครงการ โดยมีสื่อ เทคโนโลยี วัสดุ อุปกรณ์ที่ครูเตรียมพร้อมในสาระที่ต้องปฏิบัติ เช่น วิทยาศาสตร์ งานอาชีพ นาฏศิลป์ ฯ

-ส่งเสริมความสามารถในการนำเสนอจากสาระที่เรียนรู้หน้าชั้น และการแสดงความสามารถที่ถนัด

-นำสื่อ เทคโนโลยี (Information Communication and Technology : ICT) และถ่ายเอกสารแล้วนำเอกสารที่สืบค้นทาง Internet ที่เป็นความรู้เป็น เครื่องมือในการจัดการเรียนการสอนประจำชั้นเรียนอย่างสม่ำเสมอ

-มีการประเมิน สอบถามรายบุคคลถึง ความเข้าใจจากสาระที่กำหนดในหลักสูตร เพื่อจะพัฒนาศักยภาพผู้เรียน

-ทดสอบ ประเมินผล จากการเรียนการสอนทั้งแบบปรนัยและอัตนัย เป็นระยะเมื่อจบแต่ละบทเรียน หากมีผลต่ำ จะมีการจัดเรียนซ้ำ ทบทวนสาระเดิมจนกว่าจะพัฒนาขึ้น

-มีการติวและสอบโดยสาระที่เกี่ยวกับข้อสอบกลาง ที่เป็น LAS NT และ O-Net โดยนำจากข้อสอบเดิมหลายปีที่ผ่านมา

ฯลฯ

ยังมีอีกหลายกิจกรรมที่เป็นแบบเดิม และแบบที่จัดว่าเป็นการเปลี่ยนแปลง ที่ผู้เขียนนำเสนอนี้ จากผลที่ไปสอบถาม สังเกต และนิเทศการสอนในชั้นเรียน และตรวจสอบเอกสารข้อมูลต่างๆ พบว่าแบบเดิมเป็นภารงานที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดคุณภาพต่อผู้เรียน ส่วนการจัดการเรียนการสอนที่ช่องสอง การจัดการเรียนการสอนที่เปลี่ยนแปลง ตามที่ศึกษาก็ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงมาก่อน เพราะได้รับคำตอบว่า ปฏิบัติอย่างนี้มาโดยตลอดนับตั้งแต่บรรจุเป็นครูจนถึงปัจจุบัน แต่สิ่งที่พบคือ นักเรียนที่คุณภาพต่ำ แล้วมาเรียนตามการจัดการเรียนการสอนที่เป็นการเปลี่ยนแปลงแล้ว ผู้เรียนมีคุณภาพสูงขึ้น สอบได้คะแนน ผลสัมฤทธิ์สูงขึ้น

ในส่วนแนวคิดที่เป็นภาระในการบริหารจัดการ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพสถานศึกษาโดยผู้เขียนก็เป็นผู้บริหารที่มีประสบการณ์ทั้งการบริหารการศึกษา และบริหารสถานศึกษานับจนถึงปีที่นำเสนอนี้รวม 22 ปี ก็ได้ศึกษาเอกสาร คู่มือ งานวิจัยที่เคยศึกษาในปริญญา บริหารการศึกษาทั้ง 3 ระดับ ผนวกกับ การปฏิบัติจริงในระยะเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ผู้บริหาร ขอเสนแนวคิด เปรียบเทียบระหว่าง บริหารแบบเดิม กับการบริหารที่ส่งผลต่อคุณภาพสถานศึกษา ดังนี้
แบบเดิม และข้อเสนอในการเปลี่ยนแปลงในการบริหารจัดการ ที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา

การบริหารจัดการแบบเดิม

การบริหารจัดการที่เปลี่ยนแปลง

-ยึดตามกรอบแนวคิดเดิมของตน ตามความถนัดที่เคยดำเนินการมาก่อน ย้ายมาที่ใหม่ ก็ยึดแบบเดิม

-ยึดความถนัด อุดมการณ์ของความเป็นผู้บริหารนำสู่การบริหารจัดการสถานศึกษา

-ยึดตามเอกสาร หลักฐานต่างๆที่สถานศึกษามีอยู่แล้ว มีการเปลี่ยนแปลง ชื่อ อายุ ปีการศึกษา ให้ตรงกับสภาพความเป็นจริง

-เน้นภาระงานความเป็นผู้บริหาร ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ

-มอบหมายงานตามคำสั่งให้ครูแต่ละภาระงานปฏิบัติตามระเบียบให้ถูกต้องตามที่ราชการกำหนด

-วันหยุด วันที่ไปราชการที่หน่วยงาน สำงานอื่นๆก็ไม่กลับไปที่สถานศึกษา

-ถึงจะเป็นวันปกติ การไปปฏิบัติหน้าที่ราชการ ที่สถานศึกษา ก็ไม่ขอไปก่อน ไม่ลงเวลาคนแรกของบัญชีรายชื่อของสถานศึกษา

-ปฏิบัติหน้าที่นิเทศการศึกษาเชิงกัลยาณมิตร ในแต่ละชั้นเรียน โดยใช้เวลาจำกัด

-นิเทศแบบสังเกตการณ์สอน ตามที่หน่วยงานกำหนดให้ดำเนินการ ในเวลา 1 ชั่วโมงต่อ ชั้นเรียน

-มีการใช้สื่อ เทคโนโลยีที่จำกัด เพราะพื้นฐานความรู้ไม่ถนัด มักจะมอบหน้าที่ให้ครู หรือธุรการ

-ประเมินผลการปฏิบัติราชการครู บุลากร ตามหลักการเกณฑ์ที่กำหนด ภาคเรียนละ 1 ครั้ง

-จัดทำรายงาน SAR ปีละ 1 ครั้ง

-ประเมินงาน โครงการโดยแบบสำรวจ

ฯลฯ

-เริ่มจากการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ สภาพพื้นฐาน สภาพแวดล้อม วิเคราะห์ข้อมูล และวางแผน ตาม CIPP Model

-นำทรัพยากร ทั้ง 4 M มาปรับใช้ในการบริหารสถานศึกษาที่มุ่งให้เกิดคุณภาพต่อสถานศึกษา

-มีการศึกษาเรียนรู้ แก้ปัญหาที่พบ จัดทำเป็นเอกสาร หลักฐาน แผนพัฒนา แผนปฏิบัติการ รายงานการพัฒนาคุณภาพ โดยผู้บริหารเป็นผู้กำหนดแนวทาง วิธีการที่เกิดให้การเปลี่ยนแปลสู่คุณภาพสถานศึกษา

-ปฏิบัติหน้าที่ภาวะผู้นำในการบริหาร จัดการใน 4 ภาระงาน คือ วิชาการ งานบุคลากร งานงบประมาณ และงานบริหารทั่วไป โดยทำหน้าที่เป็นผู้เชียวชาญทุกภาระงานทั้ง 4

-ปฏิบัติตนเป็นผู้บริหารเชิงบารมี (Charisma) มุ่งมั่น ทุ่มเท เสียสละแม้จะเป็นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ก็ยังถือว่าเป็นผู้บริหารสถานศึกษาที่ต้องวางแผนในวันว่าง

-พักตนเองอยู่บ้านพักของสถานศึกษาที่บริหารงานอยู่ที่ใด ก็พักที่นั่น เวลาว่างก็ทำงานที่สถานศึกษาโดยตลอด และไปลงเวลาคนแรก ทำหน้าที่พบปะนักเรียนทุกเช้าที่สถานศึกษา หากมีการประชุมที่สำนักงาน จึงเดินทางไปประชุม เสร็จแล้ว ก็กลับไปที่โรงแล้วและที่บ้านพักที่สถานศึกษา

-ทุกวันมีแผนนิเทศการศึกษาแต่ละชั้น ที่ยึดสาระการเรียนรู้ที่แตกต่าง จนครบทั้ง 8 สาระ โดยเข้าพบปะนักเรียน นำเอกสารเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้ แบบประเมินไปทดลอง สอบถาม และช่วยครูสอนเพิ่มเติมบางสาระที่ยังไม่มีคุณภาพ จากผลการสอบที่ผ่านมา

-การประชุมทุกครั้งมีสรุปผลการนิเทศประจำเดือน นำมาเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างสม่ำเสมอ

-ปฏิบัติหน้าที่เป็นครูแกนนำในการจัดการเรียนการสอนที่เป็นแบบอย่างที่ครูควรเลียนแบบ ตามที่สามารถดำเนินการได้

-ผู้บริหารที่มี 1 วิชาที่สอน ทุกชั้น 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์โดยมีแผนการจัดการเรียนการสอน มีสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ที่เตรียมไว้ล่วงหน้า 1 สัปดาห์ทำให้นักเรียนได้เตรียมพร้อมสำหรับการเรียนที่สอนโดยผู้บริหาร

-ผู้บริหารเป็นผู้นำครูในการใช้สื่อ ICT เทคโนโลยี หนึ่งนวัตกรรม หนึ่งโรงเรียน ที่มีผลต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษา

-เป็นแกนนำครูในการประเมิน มาตรฐาน 11และ 15 มาตรฐาน ตามที่ สพฐ.กำหนด ภาคเรียนละ 1 ครั้ง พบปัญหาแล้วนำไปวางแผนแก้ไขในภาคเรียนต่อไป

-ใช้ PDCA มาใช้ในการประเมินงาน โครงการตามแผนพัฒนาสถานศึกษา ปีละ 1 ครั้ง

-เป็นผู้บริหารที่ครอบคลุม ระบบข้อมูล ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของสถานศึกษาที่มีผลการสอบ รวมชื่อนักเรียนเก่ง กลาง ต่ำ และนำชื่อแจ้งให้ครูทุกคนทราบว่ามีสาระใด ต่อนักเรียนผู้ใดที่ต้องเร่งแก้ปัญหา

-ผู้บริหารเป็นผู้นำการติวสอบ สาระการ ONET NT ให้นักเรียนเรียนรู้ เข้าสู่คุณภาพการศึกษา

-ผู้บริหารดำรงตนเป็นผู้เรียนรู้สู่การยกระดับคุณภาพการศึกษา มีการศึกษาค้นคว้า นำมาเผยแพร่ต่อครูผู้สอนที่เป็นประโยชน์ต่อสถานศึกษา พร้อมอธิบาย ขยายความจากสิ่งที่เรียนรู้ต่อเพื่อนครูทุกคนต่อสถานศึกษา

-สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ใต้บังคับบัญชาตรงปณิธานที่ว่า “ผู้บริหารสถานศึกษาชั้นยอด คุณภาพสถานศึกษาดีจะเยี่ยม”

ฯลฯ

จากที่นำเสนอนี้ เป็นบางส่วนเท่านั้น โดยผู้เขียนสรุปจากการ ทบทวนจากการไปศึกษาสถานศึกษาที่จัดแบบเดิมแล้วคุณภาพต่ำ และศึกษา การบริหารที่เปลี่ยนแปลงสถานศึกษาที่มีผู้บริหารที่ส่งผลให้คุณภาพการศึกษาระดับแนวหน้า โดยการสังเกต สัมภาษณ์ สอบถามคนใกล้เคียง ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่มีผลงานระดับระดับเขต จังหวัด และระดับชาติที่เคยลงข่าวทางหนังสือพิมพ์ ทั้งแนวคิดเกี่ยวกับสายผู้สอนและผู้บริหารอาจจะมีบางรายการที่อาจจะแตกต่างๆจากผลการวิจัย หรือทฤษฎีหลักการที่เป็นเอกสาร ตำราต่างๆ เพราะเนื้อหาของบทความนี้ เป็นเฉพาะการศึกษาที่พบใน 4 จังหวัดเท่านั้นโดยเฉพาะทางจังหวัดที่ใกล้เคียงจังหวัดอุบลราชธานี

เพื่ออาจนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สำหรับผู้บริหารสถานศึกษา ผู้เขียนขออธิบายเพิ่มเติมใน แนวคิด การบริหารจัดการที่เปลี่ยนแปลง ในส่วนที่ 2 ดังต่อไปนี้

1.เริ่มจากการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ สภาพพื้นฐาน สภาพแวดล้อม วิเคราะห์ข้อมูล และวางแผน ตาม CIPP Model หมายถึง การเริ่มต้นเข้าสู่สถานศึกษา ผู้บริหารควรที่จะประเมินวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆว่ามีจุดเด่น จุดด้อยในด้านใด สิ่งที่มีความพร้อมก็นำมาเป็นจุดที่จะพัฒนาให้สูงขึ้นให้เป็นจุดเด่น ส่วนจุดด้อยก็นำมาวางแผนแก้ปัญหา โดยวิเคราะห์สภาพแวดล้อมว่าสามารถนำมาเอื้อให้ปัญหาที่พบสำเร็จได้อย่างไร แล้ววางแผนพัฒนา โดยนำแบบประเมินโครงการ CIPP Model มาเป็นนวัตกรรมในการแก้ปัญหา คือ

1.1. การประเมินด้านบริบทหรือสภาวะแวดล้อม (Context Evaluation : C) เป็นการประเมินให้ได้ข้อมูลสำคัญ เพื่อช่วยในการกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการในแผนพัฒนา ความเป็นไปได้ของโครงการ เป็นการตรวจสอบว่าโครงการที่จะทำสนองปัญหาหรือความต้องการจำเป็นที่แท้จริงหรือไม่ วัตถุประสงค์ของโครงการต้องชัดเจน เหมาะสม สอดคล้องกับนโยบายของสถานศึกษา หรือ นโยบายหน่วยเหนือหรือไม่ เป็นโครงการที่มีความเป็นไปได้ในแง่ของโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนจากสิ่งต่าง ๆ ได้หรือไม่

1. 2. การประเมินปัจจัยเบื้องต้นหรือปัจจัยป้อน(Input Evaluation : I )เป็นการประเมินเพื่อพิจารณาถึง ความเป็นไปได้ของโครงการ ความเหมาะสม และความพอเพียงของทรัพยากรที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ เช่น งบประมาณ บุคลากร วัสดุอุปกรณ์ เวลา รวมทั้งเทคโนโลยี สารสนเทศ และแผนการดำเนินงานตามโครงการ เป็นต้น

1.3. การประเมินกระบวนการ (Process Evaluation : P ) เป็นการประเมินระหว่างการดำเนินงานโครงการ เพื่อหาข้อบกพร่องของการดำเนินโครงการ ที่จะใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนา แก้ไข ปรับปรุง ให้การดำเนินการช่วงต่อไปมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นการตรวจสอบกิจกรรม เวลา ทรัพยากรที่ใช้ในโครงการ ภาวะผู้นำ การมีส่วนร่วมของครู บุคลากรในโครงการ โดยมีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานทุกขั้นตอน การประเมินกระบวนการนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการค้นหาจุดเด่น หรือจุดแข็ง (Strengths) และจุดด้อย (Weakness) ของนโยบาย/แผนงาน/โครงการ มักจะไม่สามารถศึกษาได้ ภายหลังจากสิ้นสุดโครงการแล้ว

1.4. การประเมินผลผลิต (Product Evaluation : P )เป็นการประเมินเพื่อเปรียบเทียบผลผลิตที่เกิดขึ้นกับวัตถุประสงค์ของโครงการ หรือความต้องการ/ เป้าหมายที่กำหนดไว้ รวมทั้งการพิจารณาในประเด็นของการยุบ เลิก ขยาย หรือปรับเปลี่ยนโครงการและการประเมินผล เรื่องผลกระทบ (Impact) และผลลัพธ์(Outcomes ) ของนโยบาย / แผนงาน / โครงการ โดยอาศัยข้อมูลจากการประเมินสภาวะแวดล้อม ปัจจัยเบื้องต้นและกระบวนการร่วมด้วย ซึ่งสถานศึกษาจะต้องใช้หลักการทั้ง 4 นี้ประเมินก่อนที่จะวางแผนในการยกระดับคุณภาพสถานศึกษาในโอกาสต่อไป

2.นำทรัพยากร ทั้ง 4 M มาปรับใช้ในการบริหารสถานศึกษาที่มุ่งให้เกิดคุณภาพต่อสถานศึกษา ในการนำ 4’ M คือ สิ่งที่เป็นทรัพยากรทางการบริหารที่เป็นตัวป้อน (Input) โดยความหมายของ 4’M คือ

2.1.บุคลากรหรือคน (Man) เป็นผู้ที่ปฏิบัติภารกิจและกิจกรรมต่าง ๆ ภายในสถานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอน สื่อและเทคโนโลยีทางการศึกษา

2.2.เงินหรืองบประมาณ (Money) เป็นงบประมาณที่นำมาใช้ในการดำเนินการและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของสถานศึกษา ทั้งงบสนับสนุน งบอื่นๆที่มีอยู่ที่สามารถนำมาสนับสนุนการดำเนินการโครงการ

2.3.วัสดุ อุปกรณ์หรือสิ่งของ (Materials) หมายถึง สื่อ วัสดุอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้หรือสิ่งของที่นำมาใช้ผลิตและบริการรวมถึงอาคารสถานที่ ที่เอื้อให้เกิดประสิทธิภาพต่อการบริหารจัดการสถานศึกษา

2.4 การจัดการ (Management) หมายถึง ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการ เช่น การบังคับบัญชา การกำหนดขอบข่ายงาน (Job Description) อำนาจหน้าที่ ขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน การกำหนดเวลาที่จะทำงานให้บรรลุเป้าหมาย ตามที่สถานศึกษากำหนด

3.มีการศึกษาเรียนรู้ แก้ปัญหาที่พบ จัดทำเป็นเอกสาร หลักฐาน แผนพัฒนา แผนปฏิบัติการ รายงานการพัฒนาคุณภาพ โดยผู้บริหารเป็นผู้กำหนดแนวทาง วิธีการที่เกิดให้การเปลี่ยนแปลสู่คุณภาพสถานศึกษา แนวดำเนินการที่สำคัญผู้บริหารควรได้มุ่งมั่นในภารกิจนี้ สภาพปัญหาที่พบจริงจะต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ชัดเจน จึงนำมาจัดทำเป็นแผนพัฒนา และแผนปฏิบัติการ โดยผู้บริหารควรคิดวิเคราะห์เป็นแกนหลักที่เน้นผลที่ส่งต่อคุณภาพสถานศึกษาตอบสนองนโยบายทั้งระดับสูง กระทรวงศึกษาธิการ สพฐ. หรือจุดเน้นที่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากำหนด สร้างให้เกิดความสอดคล้องและเป็นไปได้

4.ปฏิบัติหน้าที่ภาวะผู้นำในการบริหาร จัดการใน 4 ภาระงาน คือ งานวิชาการ งานบุคลากร งานงบประมาณ และงานบริหารทั่วไป โดยทำหน้าที่เป็นผู้เชียวชาญทุกภาระงานทั้ง 4 ในความเป็นภาวะผู้นำ ผู้บริหารสถานศึกษาต้องนำเทคนิควิธีการ ตลอดจนกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีทางการบริหารการศึกษาที่มีอยู่อย่างมากมาย จากนักคิดหลายๆ ท่านนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ทฤษฎีทางการศึกษาต่างๆ เป็นเสมือนเครื่องมือนำทางที่ผู้บริหารสถานศึกษาสามารถดำเนินการบริหารการศึกษาในสถานศึกษานั้นๆ ได้อย่างมั่นใจ สร้างเสริมทักษะในการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษา ตามหลักการแนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวกับภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ตาม แบนดูรา (Bandura, n.d. cited in Bass) ได้กล่าวว่า “ผู้นำแบบการเปลี่ยนแปลงเป็นผู้ทำให้ผู้ตามเกิดความภาคภูมใจในตนเอง เป็นผู้ควบคุมบังคับตัวเอง ผู้นำแบบการเปลี่ยนแปลงทำให้มาตรฐานของการปฏิบัติงานและความสามารถสูงขึ้นและเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้สร้างปฏิบัติให้ถึงมาตรฐานนั้น โดยเฉพาะ” ในส่วนที่เป็นงานวิชาการ ของสถานศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาควรเป็นผู้กำหนดกรอบ แนวทาง โครงการกิจกรรม มอบหมายให้ครูที่ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าวิชาการได้นำไปรับผิดชอบ โดยให้มีโครงการ ยกระดับคุณภาพ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา หรือโครงการที่เป็นจุดเน้นทางวิชาการที่คณะกรรมการทุกคนเห็นชอบ สามารถนำสู่การขับเคลื่อนได้

5.ปฏิบัติตนเป็นผู้บริหารเชิงบารมี (Charisma) มุ่งมั่น ทุ่มเท เสียสละ แม้จะเป็นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ก็ยังถือว่าเป็นผู้บริหารสถานศึกษาที่ต้องวางแผนในวันว่าง Charisma หรือ "ความสามารถพิเศษ" มาจากภาษา กรีก หมายถึงบุคคลที่มีพรสวรรค์ที่สามารถทำงานได้สำเร็จ อย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งยังสามารถทำนายเหตุการณ์และคาดการณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ ผู้บริหารควรเป็นผู้นำที่มีอิทธิพลเหนือผู้ตามโดยไม่ได้อาศัยตำแหน่ง อำนาจหน้าที่และประเพณีที่ยึดถือกันมา หากอยู่ที่ความสามารถพิเศษของตัวผู้นำเองซึ่งก่อให้เกิดอำนาจบารมีผู้นำที่มีความสามารถพิเศษนั้นพบในวงการศึกษาผู้นำหลายประเภทโดยเฉพาะผู้นำทางการเมืองทางศาสนาผู้นำที่นำชุมชนเคลื่อนไหวหรือต่อสู้เรียกร้องสิทธิบางประการ แต่ไม่ค่อยพบเห็นผู้นำเช่นนี้ในสถานศึกษา ซึ่งผู้บริหารเชิงบารมี(Charisma) ควรนำความสามารถพิเศษมาใช้ในการบริหารจัดการที่เกิดผลต่อคุณภาพการศึกษา โดยนำความสามารถพิเศษที่สามารถปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพนำมาพัฒนาคุณภาพการศึกษา

6.พักตนเองอยู่บ้านพักของสถานศึกษาที่บริหารงาน อยู่ที่ใด ก็พักที่นั่น เวลาว่างก็ทำงานที่สถานศึกษาโดยตลอด และไปลงเวลาคนแรก ทำหน้าที่พบปะนักเรียนทุกเช้าที่สถานศึกษา หากมีการประชุมที่สำนักงานเขตพื้นที่ จึงเดินทางไปประชุม เสร็จแล้ว ก็กลับไปที่โรงแล้วและที่บ้านพักที่สถานศึกษา ซึ่งสิ่งนี้เกิดขึ้นได้น้อยมากเพราะทุกสถานการณ์ทุกวันนี้ มีความเจริญมากแล้ว บ้านพักผู้บริหารจะอาศัยในตัวเมืองมากกว่าในสถานศึกษา แต่ถ้าเป็นสถานศึกษากรณีพิเศษ สถานศึกษาเอกชน หรือโรงเรียนที่อยู่ในชนบทเมื่ออดีต ทุกแห่งจะมีบ้านพักครู ซึ่งเป็นผลดีมากต่อสถานศึกษา ในบางแห่งขณะนี้ ผู้อำนวยการสถานศึกษาสังกัดเขตมัธยม ก็มักจะมีผู้บริหารที่มีบ้านพักในสถานศึกษา สิ่งนี้ก็สามารถปฏิบัติได้ในลักษณะนี้

7.ทุกวันมีแผนนิเทศการศึกษาแต่ละชั้น ที่ยึดสาระการเรียนรู้ที่แตกต่าง จนครบทั้ง 8 สาระ โดยเข้าพบปะนักเรียน นำเอกสารเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้ แบบประเมินไปทดลอง สอบถาม และช่วยครูสอนเพิ่มเติมบางสาระที่ยังไม่มีคุณภาพ จากผลการสอบที่ผ่านมา ความเป็นผู้บริหารที่มีพื้นฐานครูเก่งก่อนสอบผู้บริหารบางท่านจะเป็นครูดีเด่นที่มีรางวัลได้จากการจัดการเรียนการสอนและมีผลสัมฤทธิ์สูงโดยตลอด เมื่อดำรงตำแหน่งผู้บริหารก็นำสิ่งที่เป็นความรู้ ประสบการณ์นั้นๆมาทดลองใช้ในสถานศึกษา เข้าพบปะกับนักเรียนทุกชั้น ทุกวัน มีการวางแผน กำหนดการ และสื่อ นวัตกรรมนำสู่ห้องเรียนทุกชั้น ทุกวัน ก็เกิดผลและเปรียบเทียบกับการนิเทศเชิงปฏิบัติการที่เกิดผลดีมากต่อคุณภาพสถานศึกษา หรือหากวันที่ครูประจำชั้นไหน ที่ไปประชุม ไปราชการการ ความเป็นผู้บริหารก็ไปทำหน้าที่สอนแทนครูตลอดทั้งวัน จะได้ทั้งข้อมูลนักเรียน ผลการเรียนรวมชั้น หรือแนวทางแก้ปัญหาชั้นนั้นในโอกาสต่อไป

8.การประชุมทุกครั้งมีสรุปผลการนิเทศประจำเดือน นำมาเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างสม่ำเสมอ โดยหลักการแล้ว สถานศึกษาจะต้องมีการประชุมครูเดือนละครั้งเป็นอย่างน้อย ควรที่จะนำผลการนิเทศแต่ละชั้น แต่ละเดือนนำมาเสนอต่อเพื่อครูเพื่อร่วมรับทราบ มีการระดมความคิดในการแก้ปัญหา จากผลของการนิเทศแต่ละเดือนมากำหนดเป็นแนวดำเนินการในโอกาสต่อไป

9.ปฏิบัติหน้าที่เป็นครูแกนนำในการจัดการเรียนการสอนที่เป็นแบบอย่างที่ครูควรเลียนแบบ ตามที่สามารถดำเนินการได้ ความเป็นผู้บริหารที่เป็น Charisma ควรนำตนเองมาเป็นครูแกนนำในการจัดการเรียนการสอนที่ดี มีประสิทธิภาพ โดยต่อเนื่องกับข้อเสนอการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ข้อที่ 7

10.ผู้บริหารที่มี 1 วิชาที่สอน ทุกชั้น 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์โดยมีแผนการจัดการเรียนการสอน มีสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ที่เตรียมไว้ล่วงหน้า 1 สัปดาห์ทำให้นักเรียนได้เตรียมพร้อมสำหรับการเรียนที่สอนโดยผู้บริหาร เรื่องนี้โดยระเบียบทางราชการแล้วผู้บริหารต้องมี ชั่วโมงสอน สัปดาห์ละ 6 ชั่วโมง ผู้บริหารก็อาจจะนำสาระที่สำคัญที่เคยศึกษาระดับปริญญาตรีจบวิชาเอก เช่น จบเอกภาษาไทย ก็จัดสอนสาระนี้เสริมในชั้นต่างๆได้ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนที่มีความถนัด ความสามารถสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษา

11.ผู้บริหารเป็นผู้นำครูในการใช้สื่อ ICT เทคโนโลยี หนึ่งนวัตกรรม หนึ่งโรงเรียน ที่มีผลต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษา ภารกิจนี้สำคัญมาก ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าพอสมควรที่ครูทุกคนควรจะเป็นครูที่เรียนรู้และปฏิบัติตนในการใช้สื่อ ICT ได้ ส่วนผู้บริหารก็ควรจะเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญ สามารถใช้ และผลิตงานที่เป็นสื่อ ICT ลงสู่ Projector จัดทำ VTR บันทึกภาพ บันทึกเสียง จัดโปรแกรมต่างๆ Load สาระความรู้ทาง Google Internet ใช้โปรแกรม Excel Word PowerPoint นำเสนอด้วยตนเองได้ ซึ่งก็เป็นพื้นฐานที่สำคัญ ส่วนบางท่านก็สามารถสร้าง Web ด้วยตนเอง

12.เป็นแกนนำครูในการประเมิน มาตรฐาน 11 และ 15 มาตรฐาน ตามที่ สพฐ.กำหนด ภาคเรียนละ 1 ครั้ง พบปัญหาแล้วนำไปวางแผนแก้ไขในภาคเรียนต่อไป เพื่อให้ผลการประเมินตรงตามความเป็นจริง ผู้บริหารควรปฏิบัติตามคำสั่งความเป็นประธานในการประเมิน 11 มาตรฐาน ปฐมวัย และ 15 มาตรฐาน ของระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมจัดทำเป็น SAR ทั้งรายภาคเรียนและรายสัปดาห์ได้ โดยเฉพาะ มาตรฐานที่ 5 ที่เกี่ยวกับ การประเมิน จาก สมศ.จะส่งผลโดยตรง และส่วนมากจะมีปัญหาที่ไม่ผ่านประเมินใน มาตรฐานที่ 5 ผู้บริหารจึงควรตระหนักในข้อนี้

13.ใช้ PDCA มาใช้ในการประเมินงาน โครงการตามแผนพัฒนาสถานศึกษา ปีละ 1 ครั้ง สถานศึกษาที่รอรับประเมินจาก สมศ.รอบ 3 จะต้องเตรียมเอกสารผลการประเมิน ตาม PDCA

P = Plan คือ การวางแผนงานจากวัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่ได้กำหนดขึ้น

D = Do คือ การปฏิบัติตามขั้นตอนในแผนงานที่ได้เขียนไว้อย่างเป็นระบบและมีความต่อเนื่อง ควรมี ภาพดำเนินการประกอบในระดับนี้

C = Check คือ การตรวจสอบผลการดำเนินงานในแต่ล่ะขั้นตอนของแผนงานว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขแผนงานในขั้นตอนใด ควรมีคณะกรรมการตรวจสอบจากคำสั่ง เฉพาะการตรวจสอบ (Check) ควรจัดให้ดำเนินการภาคเรียนที่ 1 เพื่อนำไปปรับปรุงในภาคเรียนที่ 2

A = Action คือ การปรับปรุงแก้ไขส่วนที่มีปัญหา หรือถ้าไม่มีปัญหาใดๆ ก็ยอมรับแนวทางการปฏิบัติตามแผนงานที่ได้ผลสำเร็จ เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินการในครั้งต่อไป

การจัดทำควรมีเอกสารหลักฐานในภาคผนวกที่ชัดเจนตรงกับกิจกรรมโครงการ

14.เป็นผู้บริหารที่ครอบคลุม ระบบข้อมูล ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของสถานศึกษาที่มีผลการสอบ รวมชื่อนักเรียนเก่ง กลาง ต่ำ และนำชื่อแจ้งให้ครูทุกคนทราบว่ามีสาระใด ต่อนักเรียนผู้ใดที่ต้องเร่งแก้ปัญหา ถือว่าผลสัมฤทธิ์คือตัวบ่งชี้ที่บ่งบอกคุณภาพสถานศึกษา โดยเฉพาะข้อสอบที่เกิดจากการประเมินภายนอก ควรกำกับติดตามมีหลักฐานที่ชัดเจนเป็นระยะ (แต่ละภาคเรียน)เมื่อพบปัญหาก็สามารถแก้ไขปรับปรุงได้

15.ผู้บริหารเป็นผู้นำการติวสอบ สาระการ ONET NT ให้นักเรียนเรียนรู้ เข้าสู่คุณภาพการศึกษา การที่สำนักงานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด Pretests O-net ก็เคยกำชับให้สถานศึกษาได้มีการเตรียมติวสอบที่เป็นสาระตรงกับข้อสอบ ที่มีการ เตรียมการและข้อสอบปีที่ผ่านมา จึงส่งผลต่อคุณภาพ ความเป็นผู้บริหารก็ควรตระหนักในเรื่องนี้ โดยเป็นผู้นำในการติวสอบในแต่ละปีการศึกษา

15.ผู้บริหารดำรงตนเป็นผู้เรียนรู้สู่การยกระดับคุณภาพการศึกษา มีการศึกษาค้นคว้า นำมาเผยแพร่ต่อครูผู้สอนที่เป็นประโยชน์ต่อสถานศึกษา พร้อมอธิบาย ขยายความจากสิ่งที่เรียนรู้ต่อเพื่อนครูทุกคนต่อสถานศึกษา การได้รับรู้ รับทราบจากนโยบาย แนวทางจากการประชุมสถานที่ต่างๆระดับเขต ระดับภายนอก ก็นำสิ่งนั้นสู่เพื่อครูให้รับทราบ และมีการเตรียมการตามแนวทางยกระดับคุณภาพ

16.สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ใต้บังคับบัญชาตรงปณิธานที่ว่า “ผู้บริหารสถานศึกษาชั้นยอด คุณภาพสถานศึกษาจะเยี่ยม”ความจริงคำว่า ยอด จะคู่กับ เยี่ยม เช่น ถ้าสถานศึกษามีครูชั้นยอด จะมีเด็กเยี่ยม อาจจะเป็นแนวในการสร้างความตระหนักให้เกิดในความรู้สึก จะได้นำไปสู่ตนเองมุ่งมั่นการที่จะแสวงหาความรู้เพื่อเป็นบุคคลชั้นยอด ทั้งครูและผู้บริหาร

บทสรุป

บทความนี้ แม้จะมีการนำเสนอทั้งส่วนของครูผู้สอน 2 ช่อง แต่ผู้เขียนไม่ได้นำเสนอรายละเอียดเพิ่มเติมให้ผู้อ่าน เนื่องจากบทความนี้ เน้นที่การบริหารการศึกษา แต่ถ้าศึกษาตามนี้นำเสนอไว้ ท่านก็สามารถนำไปวิเคราะห์หรือแก้ปัญหาได้ อาจจะได้ประโยชน์บ้าง ส่วนที่สองที่เป็นแนวคิดจากการบริหารทั้ง 16 ข้อนี้ก็ยังปิดท้ายด้วยข้อเสนอเพิ่มเติมที่เป็น ฯลฯ ซึ่งยังมีอีกหลายประเด็นที่ไม่ได้นำมาเสนอ อาจจะพบได้โดยผู้อ่านที่มีประสบการณ์มากกว่าผู้เขียน จึงสามารถเพิ่มเติมได้ ส่วนที่สอง ที่นำเสนอ 16 แนวคิดนี้ อาจจะเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่มีตำรา ไม่มีเอกสารใดที่สืบค้นได้ เพราะผู้เขียน เป็นผู้ที่ดำเนินการด้วยตนเอง เป็นการนำความรู้และประสบการณ์มาเขียน อาจจะไม่ใช่ตำรา ทฤษฎีที่ผ่านการทดลองมาก่อน แต่ผู้เขียนก็ยังมีความเชื่อว่า หากนำไปทดลองใช้ตามที่นำเสนอนี้ อาจจะไม่ต้องครบทั้ง 16 ข้อเสนอ ก็น่าจะเกิดประโยชน์ได้บ้าง เพราะส่วนที่ได้มานี้ จากพื้นฐานของประสบการณ์ของผู้บริหารสถานศึกษาที่มีคุณภาพดีมาก ผ่านการประเมินโดยองค์กรภายนอก แต่ละแห่งก็มีสถานการณ์ที่แตกต่าง หากผู้อ่านในแต่ท่าน ได้นำข้อเสนอไปทดลองแล้วมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ ก็จะตรงกับบทความนี้ เพราะถ้าการบริหารจัดการในองค์กรใด พร้อมที่จะดำเนินการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการแสดงศักยภาพในการบริหารจัดการที่ส่งผลต่อคุณภาพ ผลผลิตขององค์ ที่เจริญก้าวหน้าต่อไป

หมายเลขบันทึก: 594514เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2015 20:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กันยายน 2015 20:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท