รู้จักฉันรู้จักเธอ : อีกหนึ่งกระบวนการนำเข้าสู่การเรียนรู้วิชาพัฒนานิสิต-ภาวะผู้นำ


มองแบบผิวเผินกระบวนการเช่นนี้ย่อมผูกโยงถึงทักษะการสื่อสารผ่านงานศิลปะ ฝึกการทบทวนความรู้และประสบการณ์ชีวิตเป็นสำคัญ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระบวนการดังกล่าวนี้ได้สื่อสารถึงการบ่มเพาะทักษะในบางประการแก่นิสิต เป็นต้นว่า ฝึกการฟัง ฝึกการจับประเด็น ฝึกการเล่าเรื่อง ฝึกการแบ่งปันเรื่องราวอันดีงามต่อกันและกัน

ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของการเรียนการสอนวิชาการพัฒนานิสิต และวิชาภาวะผู้นำ ยังคงเป็นช่วงกระบวนการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเรียนรู้ ซึ่งประกอบด้วยกระบวนการละลายพฤติกรรม เสริมสร้างทัศนคติการเรียนและการใช้ชีวิต ตลอดจนการชี้แจงความเป็นรายวิชาอีกครั้ง รวมถึงการปักหมุดให้นิสิตได้คุ้นชินกับหมุดหมายการเรียนรู้ของนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามผ่านแนวคิดสำคัญๆ คือ

  • การศึกษารับใช้สังคม
  • ปรัชญามหาวิทยาลัย : ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน
  • เอกลักษณ์มหาวิทยาลัย : เป็นที่พึงของสังคมและชุมชน
  • อัตลักษณ์นิสิต : เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน
  • ค่านิยมนิสิต : MSU FOR ALL (พึ่งได้)




ทั้งนี้ทั้งนั้นกระบวนการเรียนรู้ในประเด็นเชิงความคิดอันเป็นหมุดหมายดังกล่าวมิได้สื่อสารผ่านการบอกเล่าจากหน้าเวทีเพียงอย่างเดียว หากแต่เลือกที่จะสื่อสารผ่านคลิป-สื่อสร้างสรรค์ต่างๆ ผสมปนเปกันไป เพื่อก่อให้เกิดบรรยากาศของการเรียนรู้ในแบบ บันเทิง เริงปัญญา




และที่สำคัญคือในรายวิชาการพัฒนานิสิตได้นำวีดีทัศน์โครงการ “เรียนนอกห้องเรียนปรับเปลี่ยนทัศนคติสู่จิตสำนึกสาธารณะ ครั้งที่ 2” ที่จัดขึ้นเมื่อปี 2551 อันเป็นต้นกำเนิดวิชาการพัฒนานิสิตมาเปิดให้นิสิตได้ดูได้ชมกันอย่างเต็มอิ่ม ซึ่งครบอรรถรสทั้งสนุกสนานเฮฮาและได้สาระไปพร้อมๆ กัน (บันเทิงเริงปัญญา) มิหนำซ้ำยังได้เรียนรู้พื้นที่คุณภาพจาก “มหาชีวาลัยอีสาน” ของปราชญ์ชาวบ้านอย่างพ่อครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ที่หยัดยืนอย่างทรงพลังในพื้นที่อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์



รู้จักฉันรู้จักเธอ : จัดการความรู้ ถอดบทเรียนชีวิตผ่านภาพวาด

กระบวนการเรียนรู้ในรายวิชาการพัฒนานิสิตและวิชาภาวะผู้นำ ให้ความสำคัญกับการบ่มเพาะกระบวนการจัดการความรู้ในตัวตนของนิสิตเป็นอย่างมาก ถึงแม้จะไม่มีเอกสารว่าด้วยสาระดังกล่าวบรรจุไว้ในคู่มือ-ตำรา-เอกสารประกอบการสอน แต่ก็มีการเขียนกระบวนการที่เกี่ยวโยงกับการจัดการความรู้ไว้เป็นช่วงๆ เพื่อให้นิสิตได้อ่านเพิ่มเติม และเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติการจริงร่วมกันอย่างเป็นทีม ภายใต้แนวทางการ “จัดการความรักคู่กับการจัดการความรู้”

กระบวนการรู้จักฉันรู้จักเธอ เป็นอีกกระบวนการหนึ่งของการสื่อสารองค์ความรู้และ "ปูฐานทักษะ" ว่าด้วยการจัดการความรู้แก่นิสิต โดยกำหนดให้นิสิตได้ “วาดภาพ” ความทรงจำ หรือเรื่องราวที่นิสิตกำลังคิดคำนึงถึงผ่านประเด็นทั้ง 4 ประเด็น ดังนี้

  • อดีต
  • ปัจจุบัน
  • อนาคต
  • อะไรก็ได้



กิจกรรมดังกล่าวมีสถานะเป็นเสมือนการ “ถอดบทเรียนชีวิต” ผ่านภาพวาดอันเป็นเรื่องราวที่ผ่านพ้นมาในชีวิต รวมถึงการทบทนถึงปัจจุบันที่กำลังเป็นอยู่ พร้อมๆ กับการยึดโยงถึงอนาคตอันเป็นหมุดหมาย ของการใช้ชีวิตว่าพึงใจคิดฝันถึงเรื่องราวใดบ้าง

– เมื่อวาดเสร็จ ทีมกระบวนการจะให้นิสิตจับคู่กัน หรือแบ่งกลุ่มเล็กๆ เพื่อทำการ “บอกเล่า” เรื่องราวในภาพวาดสู่กันฟัง...

“เมื่อเธอพูดฉันก็ฟังอย่างเป็นมิตร
เรื่องน้อยนิดจึงดูเป็นยิ่งใหญ่
โลกสองโลกจึงนิยามความเป็นไป
ว่าเราต่างก็ใช้ ใจนิยาม



แน่นอนครับ-มองแบบผิวเผินกระบวนการเช่นนี้ย่อมผูกโยงถึงทักษะการสื่อสารผ่านงานศิลปะ ฝึกการทบทวนความรู้และประสบการณ์ชีวิตเป็นสำคัญ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระบวนการดังกล่าวนี้ได้สื่อสารถึงการบ่มเพาะทักษะในบางประการแก่นิสิต เป็นต้นว่า ฝึกการฟัง ฝึกการจับประเด็น ฝึกการเล่าเรื่อง ฝึกการแบ่งปันเรื่องราวอันดีงามต่อกันและกัน หรืออื่นๆ จิปาถะ

หรือกระทั่งการเชื่อมร้อยในมิติการละลายพฤติกรรม เสริมสร้างความสัมพันธ์ให้นิสิต (ผู้เรียน) ได้เกิดความมักคุ้นสนิทสนมกันมากขึ้น เพื่อกระตุ้นความพร้อมให้นิสิตได้เปิดใจสู่การเรียนรู้ร่วมกันในตลอดภาคเรียน หรือตลอดปีที่ยังมีสถานะแห่งการเป็นนิสิตในรั้วมหาวิทยาลัยมหาสารคาม



สำหรับผมแล้ว ผมถือว่ากระบวนการดังกล่าว คือหนึ่งในกระบวนการของการจัดการความรู้ในแบบฉบับของผม เพราะ...

  • เป็นการจัดการความรู้ผ่านสื่อสร้างสรรค์ (ภาพวาด)
  • เป็นการจัดการความรู้ผ่านการทบทวนชีวิต-ประสบการณ์ชีวิต (AAR)
  • เป็นการจัดการความรู้ผ่านกระบวนการแห่งการสนทนา (สุนทรียะแห่งการสนทนา-โสเหล่)
  • เป็นการจัดการความรู้ผ่านกระบวนการฟังแบบฝังลึก
  • เป็นการจัดการความรู้ผ่านมิติของการจัดการความรัก ที่หมายถึงการแบ่งปันเรื่องราวอันดีงาม
  • เป็นการจัดการความรู้ผ่านมิติความรักที่มุ่งสู่การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งในมิติการเรียนในชั้นเรียน และการใช้ชีวิตร่วมกันในโลกนอกชั้นเรียน
  • ฯลฯ



และที่สำคัญผมเชื่อในอานุภาพของการวาดภาพและการบอกเล่าเรื่องราวสู่กันฟังว่าสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนได้ เพราะมันคือส่วนหนึ่งในมิติหนึ่งของ “ศิลปะบำบัด” และที่สำคัญคือการวาดภาพช่วยให้สมองทั้งสามส่วนได้ทำงานไปพร้อมๆ กัน กล่าวคือ การวาดรูป หรือเขียนเรื่องราว ช่วยให้สองชั้นหน้า (การคิด) สมองชั้นกลาง (อารมณ์ความรู้สึก) และสมองชั้นในสุด (การเคลื่อนไหวของร่างกาย) ได้ทำงานไปพร้อมๆ กันอย่างสมดุล

ใช่ครับ-บางทีการเรียนรู้ก็อาจไม่จำเป็นต้องเป็นทางการและวิชาการมากจนเกินไปนัก ขณะหนึ่งก็สามารถออกแบบผ่านกิจกรรมอื่นๆ ได้อย่างไม่ต้องเขินอาย โดยเฉพาะการออกแบบที่มุ่งให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน แบ่งปันต่อกันและกัน และมุ่งให้เกิดการทบทวนกลับเข้าสู่ตัวเองเหมือนการ “เช็คอิน” กลับเข้าสู่ตัวเอง



ในตอนท้ายก่อนแยกย้ายกลับ ทีมกระบวนกรไม่ลืมที่จะให้นิสิต (ผู้เรียน) ได้สรุปการเรียนรู้ลงใน “ใบงาน” (สุ จิ ปุ ลิ) ซึ่งใบงานดังกล่าวทำหน้าที่ในสองสถานะคือ (1) ใช้บันทึกการเรียนรู้ (2) ใช้เช็คชื่อการเข้าเรียนของนิสิต ถัดจากนั้นจึงเป็นการนัดหมายการเรียนในสัปดาห์ถัดไปว่านิสิตควรต้องไปศึกษาเรียนรู้อะไรมาล่วงหน้าบ้าง – รวมถึงการเน้นย้ำให้นิสิตได้กลับไปอ่านทบทวนประเด็นการเรียนรู้ของวันนี้

นี่คืออีกหนึ่งกระบวนการนำเข้าสู่บทเรียนในแบบบันเทิงเริงปัญญาของวิชาการพัฒนานิสิตและวิชาภาวะผู้นำ ประจำภาคเรียนที่ 1/2558

ดีไม่ดี ผมไม่รู้-แต่ก็ได้ทำไปแล้ว
ดีไม่ดี ผมไม่รู้-แต่ที่แน่ๆ ผลลัพธ์ที่สะท้อนเชิงประจักษ์จากบรรยากาศในชั้นเรียนและใบงานที่ส่งกลับมา นิสิตส่วนใหญ่ก็ระบุชัด “บันเทิง-เริงปัญญา”




หมายเหตุ : ภาพโดย ทีมกระบวนกร และนิสิตจิตอาสา



หมายเลขบันทึก: 593990เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2015 16:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 สิงหาคม 2015 16:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เดิม ดิฉันมีความคิดว่า นศ.ที่เป็น 'เด็กกิจกรรม' จะสัมผัสประสบการณ์และเรียนรู้จนตกผลึกด้วยตนเอง เมื่อเรียนจบ ไปทำงาน เขาและเธอจะสามารถปรับตัวแบบ 'culture fit' ได้ดีกว่าเด็กที่เรียนอย่างเดียว ไม่สนใจกิจกกรรม วันนี้ดิฉันได้คำตอบแล้วค่ะ ขอบคุณนะคะ

เป็นการเรียนที่ "มัน" มากครับ คุณแผ่นดิน 555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท