"ฉันอยากเป็นครู" (๑)


เสียงสะท้อนจากเด็กๆ ทั้งจากคำพูดและอาการที่แสดงออก เช่น เขาบอกกับฉันอย่างตรงไปตรงมาว่ามันไม่สนุกเลยยากเกินไป บางคนจะขอเข้าห้องน้ำบ่อยๆ เมื่อต้องเริ่มการทำงาน หรือเด็กบางคนจะแสดงออกด้วยการไม่ยอมเขียนสิ่งใดลงไปเลย หลายครั้งฉันพบกระดาษที่ว่างเปล่าเมื่อหมดเวลาลง สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ถือเป็นฝันร้ายของครูชัดๆ เลย เมื่อจบปีการศึกษานั้น ฉันเป็นเหมือนกับครูคนหนึ่งที่รู้สึกว่าตนเองได้อกหัก....ผิดพลาด และผิดหวังกับชั้นเรียนของตัวเอง

บันทึกนี้เป็นบันทึกจากใจของ คุณครูต้อง - นฤตยา ถาวรพรหม ที่เรียบเรียงขึ้นเพื่อประมวลความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง และเพื่อส่งให้อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ รับทราบว่าเหตุใดจึงอยากทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อเกี่ยวกับการออกแบบแผนการสอนที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง



"ฉันอยากเป็นครู"


คือ คำตอบแรกเมื่อฉันเรียนจบปริญญาตรี นั่นคงเป็นการกำหนดเป้าหมายให้กับชีวิตอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกได้เลยทีเดียว เมื่อกำหนดเป้าหมายได้ฉันจึงดำเนินการตามความฝันที่จะเป็นครู และเมื่อฉันได้ใช้ชีวิตในการเป็นครูจริงๆ มันกลับแตกต่างจากภาพในความฝันอย่างมากมาย ภาพในความคิดของฉันคือ ครูจะมีความสุขกับการได้สอนนักเรียน นักเรียนก็ตั้งใจเรียนหนังสือ สนใจเรียนไม่ดื้อ ไม่ซน สนุกกับการเรียนรู้ที่ครูได้เตรียมมาให้....นั่นคือห้องเรียนในฝัน…. แต่ในความเป็นจริงแล้วกว่าจะเป็นแผนการสอนที่ได้มาแต่ละครั้งต้องผ่านกระบวนการคิด การเตรียมการ การลองผิดลองถูกซ้ำไปซ้ำมา การยืนอยู่ต่อหน้าเด็กๆ ในห้องเรียนก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย คำพูดหรือคำถามที่จะพูดออกมาจากปากของครูแล้วทำให้พวกเขาเกิดการเรียนรู้อีกล่ะ หรือขณะสอนๆ อยู่มีเด็กๆ ที่ไม่สนใจการเรียน เล่นหรือทะเลาะกันครูจะทำอย่างไร หรือถ้ากิจกรรมการเรียนรู้ที่เราเตรียมมาอย่างดี แต่นักเรียนกลับไม่สนใจ ไม่อยากเรียน และไม่เข้าใจครูจะทำอย่างไร....เมื่อได้สัมผัสกับการเป็นครูแล้วฉันก็ได้รับรู้ว่า การเป็นครูนั้นน่าปวดหัวกว่าที่คิด

อย่างไรก็ตามฉันก็ยังคงยึดมั่นกับการเป็นครู และยังคงอยากเห็นห้องเรียนที่ทั้งครูและเด็กๆ จะมีความสุขกับการเรียนรู้ไปด้วยกัน โดยที่ฉันก็รู้ดีว่าเส้นทางของการเป็นครูนั้นมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบตามที่ได้จินตนาการไว้เลย


การเปลี่ยนแปลง


เมื่อปลายปี ๒๕๕๗ การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก็เกิดขึ้น เมื่อฉันย้ายหน่วยวิชาจากการเป็นครูวิชามานุษกับโลก ไปเป็นครูสอนวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย ของนักเรียนชั้น ป.๒ เสียงคัดค้านจากหลายๆ คนต่างก็บอกว่าฉันไม่เหมาะกับการเป็นครูภาษาไทย นั่นคงเป็นเพราะบุคลิกของฉันที่เพื่อนครูตัดสินว่าไม่เหมาะ แต่ฉันกลับคิดว่าการได้เป็นครูภาษาไทยอาจจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะฝึกฝนตัวฉันให้เป็นครูที่ดีได้ และทำให้ฉันได้เห็นห้องเรียนที่ใฝ่ฝันได้เร็วขึ้น

การเป็นครูภาษาไทยในช่วงแรกนั้นทำให้ฉันรู้สึกท้อแท้อยู่พอสมควร ฉันรู้สึกเหนื่อยและไม่อยากมาทำงาน หลายครั้งฉันรู้สึกว่าตนเองได้ตัดสินใจผิดพลาดอย่างที่เพื่อนๆ รอบตัวบอกจริงๆ ความรู้สึกผิดหวังนี้เกิดขึ้นในห้องเรียนของฉันเอง

ฉันรู้สึกได้ว่าเด็กๆ ไม่ได้มีความสุขกับการเรียน แม้ว่าฉันจะทำการบ้านและเตรียมตัวกับแผนการสอนมาดีแค่ไหนก็ตาม มันก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างที่คาดหวังไว้เลย ฉันพยายามงัดกลเม็ดในการจัดการชั้นเรียนต่างๆ ตั้งแต่ตนเองได้เป็นครูมาเอาเข้ามาใช้ในห้องเรียน แต่ดูเหมือนว่าห้องเรียนจะกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยเท่านั้นเอง ในบางครั้งฉันสังเกตเห็นว่า เมื่อเด็กๆ เรียนในห้องเรียนดูเหมือนจะเข้าใจในสิ่งที่ครูสอน แต่เมื่อนักเรียนต้องนำมาใช้จริงกลับไม่สามารถนำความรู้ในห้องเรียนมาใช้ได้ มันเป็นเพียงแค่ความจำระยะสั้นเท่านั้นเอง ในตอนนั้นดูเหมือนว่าสิ่งที่ฉันคิดว่าได้เตรียมการมาเป็นอย่างดีนั้นจะยังไม่เหมาะกับเขา มันอาจยากเกินไป และฉันยังไม่เข้าใจมันดีพอ

เสียงสะท้อนจากเด็กๆ ทั้งจากคำพูดและอาการที่แสดงออก เช่น เขาบอกกับฉันอย่างตรงไปตรงมาว่ามันไม่สนุกเลยยากเกินไป บางคนจะขอเข้าห้องน้ำบ่อยๆ เมื่อต้องเริ่มการทำงาน หรือเด็กบางคนจะแสดงออกด้วยการไม่ยอมเขียนสิ่งใดลงไปเลย หลายครั้งฉันพบกระดาษที่ว่างเปล่าเมื่อหมดเวลาลง สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ถือเป็นฝันร้ายของครูชัดๆ เลย เมื่อจบปีการศึกษานั้น ฉันเป็นเหมือนกับครูคนหนึ่งที่รู้สึกว่าตนเองได้อกหัก....ผิดพลาด และผิดหวังกับชั้นเรียนของตัวเอง


ปิดภาคเรียน และการเริ่มต้นใหม่


ช่วงเวลาแห่งการปิดภาคเรียนเข้ามาแทนที่ อีกไม่นานฉันจะต้องสอนเด็กนักเรียนรุ่นใหม่ในวิชาภูมิปัญญาภาษาไทยอีกเช่นเคย แต่ฉันจะทำอย่างไรหากต้องพกพาความรู้สึกเก่าๆ วิธีการเดิมๆ เข้าไปในชั้นเรียนใหม่ ความกังวลใจก็เริ่มเข้ามาแทนที่ ช่วงเวลานั้นเองฉันได้พบเพื่อนครูคนอื่นๆ ที่เข้าร่วมประชุมทีมคุณครูภูมิปัญญาภาษาไทย ในวันนั้น คุณครูใหม่ - วิมลศรี ศุษิลวรณ์ มาให้แนวทางใหม่เกี่ยวกับการเรียนการสอนวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย และได้ขยายความให้เห็นถึงความสำคัญของการเรียนภาษาที่มีต่อเด็กๆ การเรียนรู้ภาษาไทยจากสิ่งที่อยู่ใกล้ๆ ตัวนักเรียน สังเกตภูมิปัญญาของไทยจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา ที่ได้สั่งสมสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ในวันนั้นคุณครูใหม่ยกตัวอย่างให้เห็นการทำเครื่องจักสาน ที่มีลวดลายสวยงามมากมาย แต่ก่อนจะเกิดเป็นลายที่สลับซับซ้อนก่อเป็นรูปร่างข้าวของเครื่องใช้ได้นั้น ผู้ทำจะต้องฝึกฝนจากการสานลายพื้นฐานอย่างง่ายๆ ให้ได้เสียก่อนแล้วจึงค่อยๆ เริ่มพัฒนาทักษะของตนเองขึ้นเรื่อยๆ การเรียนรู้ก็เช่นกัน หากผู้เรียนได้เรียนรู้จากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมีความสัมพันธ์กับเรื่องราวในชีวิตของเขาแล้วจะทำให้นักเรียนเกิดแรงบันดาลใจที่จะอยากเรียนรู้ ผู้เรียนก็จะสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวที่ได้เรียนรู้นั้นให้มีความหมายกับตนเองได้ และจากนั้นนักเรียนของเราก็จะกลายเป็นผู้ที่ขับเคลื่อนการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง




ดังนั้นครูผู้สอนจึงมีหน้าที่ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ สร้างกิจกรรมให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยวิธีการที่หลากหลายในรูปแบบต่างๆ ที่ต่อเนื่องและเชื่มโยงกัน เพื่อให้เข้าถึงแก่นสาระของวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย นอกจากนั้นการที่นักเรียนได้ทบทวนและประมวลความรู้และประสบการที่ได้รับจากการเรียนรู้ ชื่นชมผลงานของตนเองและเพื่อนๆ เพื่อเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเองต่อไปก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน


การประชุมในครั้งนั้นช่วยปรับสายตาและความคิดของฉันได้ดีทีเดียว ทีมครูเริ่มงานใหม่อีกครั้งหนึ่งด้วยพลังใจที่มากขึ้น จากการเริ่มตรวจสอบว่าเด็กๆ ที่ขึ้นมาชั้น ป.๒ นั้นมีความรู้และทักษะใดที่ติดตัวมาบ้างเพื่อที่จะวางแผนไปสู่เป้าหมายของการเรียนรู้วิชาภูมิปัญญาภาษาไทยในระดับชั้น ป.๒ ฉันได้เรียนรู้การออกแบบกระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นขั้นตอน และเชื่อมโยงเรื่องราวการเรียนรู้เข้าด้วยกันโดยคำนึงถึงทักษะความรู้พื้นฐานที่นักเรียนมีอยู่ เพื่อให้นักเรียนเดินทางไปถึงหัวใจสำคัญในการเรียนรู้วิชาภูมิปัญญาภาษาไทย นั่นคือการเข้าถึงหัวใจของภาษาและภูมิปัญญาไทย ในตอนนี้เองที่ฉันได้พบว่าการทำแผนการสอนที่น่าสนใจนั้นไม่ได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อให้นักเรียนเข้าใจหลักการทางภาษาอย่างเดียวเท่านั้น เราสามารถสอดแทรกคุณธรรมในการดำรงชีวิต สร้างการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเรียนรู้ภาษาอย่างสนุกสนานเพลิดเพลินไปด้วยพร้อมๆ กันได้


กิจกรรมที่ทำให้รู้สึกประทับใจมากหนึ่งกิจกรรม คือ ภาพเหตุการณ์วันแรกที่ครูและนักเรียนทำความรู้จักกัน นักเรียนแต่ละคนจะบอกชื่อและลักษณะเด่นชัดของตนเอง เช่น สวัสดีค่ะหนูชื่อ....มีตาโต๊โต นักเรียนแต่ละคนก็มีลักษณะหรือนิสัยแตกต่างกันไป ครูก็เขียนลักษณะเหล่านั้นขึ้นบนกระดาน หลังจากนั้นให้เด็กๆ เลือกคำเหล่านั้นที่เพื่อนช่วยกันคิดเราเรียกกันว่า คลังคำ มาแต่งประโยคบรรยายเรื่องของตนเอง แล้วให้เด็กๆ ออกมานำเสนอหน้าห้องเรียน เด็กชอบที่จะนำเสนอเรื่องของตนเอง หลายคนที่ไม่กล้าเขียน พูดออกมาอย่างแปลกใจว่า เราสามารถเขียนเรื่องตลกแบบนั้นได้ด้วยหรือครับ? เราเขียนเสียงพูดแบบนั้นได้จริงหรือคะ? เด็กๆ เริ่มเรียนรู้แนวทางการเขียนจากเพื่อนๆ ในชั้นเรียน และนำไปฝึกการเขียนของตนเอง และรู้ว่าก่อนจะเขียนอะไรเราจะต้องมีคลังคำเพื่อนำมาใช้ในการเขียน


หลังจากนั้นคุณครูจึงให้นักเรียนดูภาพๆ หนึ่งซึ่งเป็นภาพสัตว์ในป่าหลายชนิด มีกระต่ายตัวหนึ่งนอนหลับที่พุ่มไม้ และเต่ากำลังเดินเข้าเส้นชัย เด็กๆ ตื่นเต้นมาก บางคนก็คาดเดาว่าภาพนี้อาจจะเป็นนิทานที่เขาเคยอ่านมาก็ได้ ครูจึงลองให้เขาช่วยกันคิดคลังคำที่เห็นจากภาพ นักเรียนช่วยกันคิดคลังคำอย่างสนุกสนาน แล้วนำคลังคำที่คิดได้นั้นมาแต่งเป็นนิทาน บางคนก็แต่งเป็นนิทานจากประสบการณ์เดิมจากนิทานที่เคยอ่าน และเด็กบางคนก็สร้างนิทานขึ้นใหม่จากคลังคำที่มี และออกมาเล่านิทานแลกเปลี่ยนกันหน้าห้องเรียนอย่างสนุก ครูจบห้องเรียนวันนั้นด้วยการมอบรางวัลเล่านิทานกระต่ายกับเต่าให้เด็กๆ ฟัง และถามเด็กๆ ว่านิทานเรื่องนี้สอนอะไรให้กับเรา มีเด็กตอบว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเสร็จอยู่ที่นั่น” คำพูดที่ออกจากปากเด็กๆ นั้นเป็นคำสำคัญและเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเรียนรู้ในวันนั้นเลย นักเรียนในห้องนั้นขอเขียนข้อคิดนี้เตือนใจเอาไว้ที่หน้าสมุดวิชาภูมิปัญญาภาษาไทยของตนเอง เมื่อรู้สึกว่าการเรียนมีอุปสรรคหรือพบกับความลำบากก็จะอ่านสิ่งนี้เป็นเครื่องเตือนใจ และเรามักจะได้ยินคำนี้เสมอระหว่างการทำงานของเด็กๆ


ตลอดหนึ่งภาคเรียนที่ผ่านมา สร้างความแปลกใจให้กับฉันหลายประการ เริ่มมีเสียงจากเด็กๆ ที่บอกว่าอยากเรียนวิชาภูมิปัญญาภาษาไทยมากขึ้น ไม่มีเด็กคนใดพูดถึงเรื่องการเขียนที่เมื่อยมือเลย มีนักเรียนจำนวนมากที่ชอบอ่านและฟังเสียงคำที่ไพเราะ นักเรียนชอบที่จะค้นหาคลังคำใหม่ๆ มาติดที่กระดานสะสมคลังคำเสมอ เขาเรียนรู้ที่จะถามหาความหมายและที่มาของคำต่างๆ อยู่ตลอดเวลา นักเรียนกล้าที่จะเขียนคำต่างๆ โดยข้ามความกลัวเรื่องการเขียนผิด แต่พวกเขาจะพยายามสะกดคำนั้นด้วยตนเองเสมอ เมื่อเปิดเรียนวันจันทร์ฉันมักจะพบว่ามีนักเรียนเอารายชื่อหนังสือมาแนะนำให้เพื่อนได้ลองอ่าน ครั้งหนึ่งมีเด็กหญิงคนหนึ่งซึ่งทักษะการอ่านของเขายังไม่คล่องมากนัก เขาเดินมาบอกฉันว่า “หนูอยากให้ครูแนะนำหนังสือเรื่องหนึ่งกับเพื่อนค่ะ หนูอ่านแล้วมีคำไพเราะอยู่ในนั้นเต็มไปหมดเลย หนูให้ครูยืมค่ะ” เด็กๆ เริ่มเรียนรู้ด้วยตนเอง หลายคนบอกกับเพื่อนว่า “คำที่เธอบอกเราเจอบนป้ายข้างทางเมื่อเช้านี้”

หมายเลขบันทึก: 593590เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2015 10:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 สิงหาคม 2015 10:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผมเห็นใจครูสอนภาษาไทยยุคนี้ครับ เพราะเด็กของไทยถูกสื่อดึง ทึ้ง ดูด ดัน ให้ใจหันเหไปสู่ความอิสระ ส่วนตัว แบบง่ายๆ สบายๆ สไตล์ป้อนปากครับ ผมคนหนึ่งก็คิดเสมอว่า เราคนไทย แต่ไม่ใส่ใจในโครงสร้างทางภาษาเขึยน ภาษาพูด มีแต่คำว่า "แบบว่า ก็หรือก้อ แต่ ค่อนข้าง จริงๆ ม่ายย" ฯลฯ เต็มไปหมด ดูแล้วพร่ำเพรื่อจนติดนิสัย

อีกอย่างสังคม บ้านเมือง จัดรณรงค์หรือประกวด หรือจัดงานอะไรขึ้นมา มักจะมีคำต่างชาติเข้ามาเป็นแกนประโยคไปหมด คิดคำไทย ประโยคไทยไม่ได้หรือครับ เรามักพูดว่า ภาษาร่วมสมัย แล้วภาษาไทยเกิดหลังอเมริกาหรือ หรือคุณเกิดมาพูดภาษาเลยหรือเปล่า ทำไมไม่อยากภูมิใจเชื้อชาติภาษาของตน

หรือการใช้ตัวเลขไทย มีเด็กไทย คนไทยมากแค่ไหนที่ใช้ เขึยนเลขไทยครับ พอเด็กพวกนี้ (ยุคใหม) เติบโตหรือเข้าเรียนสูงถึงอุดมศึกษา เวลาเขียนวิจัย งานนิพนธ์ เขาจะใช้ภาษาแบบไหน หรือเป็นนักข่าวพูดคำที่เพี้ยน สอเสือ (ลิ้นคับปาก) จอชาน ทอธง (th) ควบกล้ำ ร ล ไม่เป็นแล้วครับ ผมเห็นใจครูสอนภาษาไทยจริงๆ

ขอบคุณที่แบ่งปันเรื่องราวดีๆ ค่ะ สัมผัสได้ถึงความอ่อนโยน และความสุขที่เกิดขึ้นกับครู กับชั้นเรียน

การเปลี่ยนแปลง แม้เพียงเล็กน้อย ของเด็กๆ เชื่อว่าครูทุกคนเกิดความปีติขึ้นในใจของตนเอง

ดีใจที่ได้อ่านค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท