บทสัมภาษณ์ "ครูดีในดวงใจ" เมื่อหลายปีที่แล้ว


วันนี้ ระหว่างจัดเก็บไฟล์ในเครื่องโน้ตบุ้ค พบไฟล์เอกสารบทสัมภาษณ์ "ครูดีในดวงใจ" เมื่อหลายปีก่อน จำไม่ได้เสียด้วยว่า เคยได้รางวัลนี้กับเขาด้วยหรือ แต่รู้สึกว่าเป็นบทสัมภาษณ์ที่น่าจะมีประโยชน์ (เข้าข้างตัวเอง??) เลยนำมาแชร์ครับ

---------------------------------------

บทสัมภาษณ์ครูดีในดวงใจ

  • ประวัติส่วนตัว

ผมศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนประสาทปัญญา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่สอนภาษาจีนด้วย จากนั้นมาต่อประถมศึกษาปีที่ 5 จนถึงระดับมัธยมที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล สำเร็จทันตแพทยศาสตรบัณฑิตจากคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อ พ.ศ. 2532 รุ่นผมเป็นบัณฑิตรุ่นแรกที่ต้องใช้ทุน ก่อนจบปี 6 มีความมุ่งมั่นว่าจะสมัครเป็นอาจารย์ในภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เพราะมีความสนใจศาสตร์ทางด้านสรีรวิทยา แต่ก็ไม่สมหวังเพราะอาจเตรียมตัวไม่ดีพอจึงไม่ผ่านการคัดเลือก จึงไปทำงานอยู่ในโรงพยาบาลชุมชนอยู่เกือบ 3 ปีที่ อำเภอชะอวด นครศรีธรรมราช ต้องนับว่าเป็นโชคดีที่ช่วงเวลาที่ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลชะอวดนี้ ช่วยให้ผมได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับวิชาชีพอื่นๆ สอนให้ผมรู้จักชีวิตของชาวบ้านที่แท้จริง ทำให้ผมเห็นปัญหาสาธารณสุขได้แจ่มชัดมากขึ้น ประสบการณ์เหล่านี้มีผลอย่างมากต่อแนวคิดของผมเมื่อต้องมาเป็นครูสอนคนอื่นๆ ตอนที่ใกล้ครบ 3 ปีของการใช้ทุน ได้ทราบว่าที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งขณะนั้นมี รศ. ทพ. ประทีป พันธุมวนิชเป็นคณบดีมีตำแหน่งอาจารย์ว่างในภาควิชาชีววิทยาช่องปาก ผมจึงตัดสินใจขอโอนย้ายมารับราชการเป็นอาจารย์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในปีพ.ศ. 2536 ผมได้รับทุนพัฒนาอาจารย์ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในหลักสูตรชีววิทยาช่องปาก ที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัลเบอร์ต้า ประเทศแคนาดา โดยเน้นการค้นคว้าวิจัยในเรื่องที่เกี่ยวกับการบดเคี้ยวและกลไกรับความรู้สึกของฟัน ช่วงเวลาประมาณ 6 ปีที่ศึกษาอยู่ในประเทศแคนาดา ได้ช่วยเติมเต็มทัศนคติที่ดีต่อการเป็นครูและการเป็นนักวิจัย โดยอาจารย์ที่ปรึกษาคือ ศ. เจฟฟรี ออสบอร์น (Jeff Osborn) ที่เป็นทั้งเพื่อนและครูที่เป็นแบบอย่างที่ดี ทั้งยังมีคุณลักษณะของนักวิจัยที่มีความคิดและจุดยืนทางด้านวิชาการที่ชัดเจน ไม่คล้อยตามกระแส และยังเป็นตัวอย่างของนักวิพากษ์ที่มีมุมมองที่เฉียบแหลม นอกจากนี้ การได้เห็น ได้สัมผัสกับวัฒนธรรมและทัศนคติของคนแคนาดา ก็ทำให้ผมเข้าใจถึงพื้นฐานของคนที่ทำให้ประเทศของเขาสามารถพัฒนาไปไกล และมักนึกย้อนกลับมาถึงประเทศไทยของเราเสมอว่ามีอะไรที่ผมจะพอช่วยปลูกฝังให้กับนักศึกษาของเราได้บ้าง

  • เหตุผลและแรงบันดาลใจในการทำหน้าที่ “ครู”

เหตุผลที่อยากเป็นครูก็คงเพราะชอบสอน อยากทำให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาที่เรียน จำได้ว่า ในสมัยที่เป็นนักศึกษา วิชาที่อาจารย์สอนไม่เข้าใจกลับเป็นวิชาที่ผมได้คะแนนดีมาก เพราะมันกลับกลายเป็นแรงผลักดันให้เราขวนขวายอ่านตำรามากขึ้น ตำราฝรั่งก็อ่าน จนเกิดความเข้าใจในเนื้อหา แถมยังจัดติวเพื่อนๆ ได้อีกนะ ตรงนี้ละมังที่ทำให้ผมเริ่มมั่นใจว่าน่าจะมาสอนหนังสือได้ สอนเนื้อหาที่เข้าใจยากให้เข้าใจได้ แต่ตอนนี้บางครั้งก็ชักไม่แน่ใจว่าเราทำได้หรือเปล่า เพราะนักศึกษาบางคนก็สะท้อนมาว่า ไม่ค่อยเข้าใจที่ผมสอน (ยิ้ม)

พอได้มาเป็นครูเอาจริงๆ ก็พบว่า ครูไม่ใช่เพียงแค่สอนหนังสือเท่านั้น ครูในระดับมหาวิทยาลัยยังต้องค้นหาความรู้ใหม่ๆ ต้องทำวิจัย เพื่อนำความรู้มาถ่ายทอดแก่ศิษย์อย่างสม่ำเสมอ และยังต้องอบรมศิษย์ให้เป็นคนดีของครอบครัวและของสังคมอีกด้วย แม้ว่านักศึกษาทันตแพทย์จะดูเหมือนโตพอที่จะรับผิดชอบตนเองได้ แต่ในความจริงหลายคนก็ยังเป็นเด็กที่ต้องการคำชี้แนะจากครูอยู่ นอกจากนี้ยังต้องทำงานบริหารเช่นเป็นกรรมการต่างๆ แล้วแต่คณะจะเห็นว่าเหมาะสม หลายสิ่งหลายอย่างเป็นหน้าที่ที่เราไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน หลายอย่างเป็นสิ่งที่เราไม่มีความถนัด บางครั้งก็รู้สึกเหนื่อย แต่ถ้าคิดดูให้ดีแล้ว จะพบว่าหน้าที่ต่างๆ ที่กล่าวไปนี้ ล้วนมีส่วนช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของศิษย์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และยังเป็นการช่วยกันพัฒนาการเรียนการสอนทันตแพทยศาสตร์ของประเทศ เมื่อคิดได้อย่างนี้ เราก็เข้าใจมากขึ้นว่าทั้งหมดนี้คือหน้าที่ของครูทั้งสิ้น เราคงจะเลือกทำแต่ส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้

  • ความคิดเห็นต่อการเป็นอาจารย์ทันตแพทย์ / แรงบันดาลใจในการทำงาน / ต้นแบบในการทำงาน / หลักการในการทำงาน

สำหรับอาจารย์ทันตแพทย์ก็คงไม่มีอะไรแตกต่างจากครูที่กล่าวไปข้างต้น เพียงแต่เรามีบทบาทของการเป็นแพทย์เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งแน่นอนย่อมตามมาด้วยหน้าที่ของการรักษาจรรยาบรรณวิชาชีพที่ดี และต้องถ่ายทอด อบรมให้ศิษย์ของเรามีจรรยาบรรณของแพทย์ด้วย

สำหรับปรัชญาหรือต้นแบบในการเป็นครู ผมว่าครูนี่คล้ายกับพระนะ คือทั้งสองจัดว่าเป็นผู้รู้และผู้คงแก่เรียน เป็นผู้ที่คนให้ความเคารพนับถือ แต่ถ้าครูหรือพระรู้แล้วไม่ปฏิบัติ หรือปฏิบัติไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์อันใด พระสงฆ์ต้องหมั่นค้นคว้าศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรม รักษาศีลเป็นตัวอย่างแก่คนทั่วไป และนำผลการปฏิบัติธรรมมาเผยแพร่ฉันใด ครูก็มีหน้าที่ต้องหมั่นศึกษาค้นคว้า ลงมือสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น และนำมาถ่ายทอดแก่ศิษย์ฉันนั้น

จริงๆ ก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองมีหลักอะไร แต่คิดอยู่เสมอว่าการเป็นครูนั้น หน้าที่ของเราก็คือทำเพื่อศิษย์ของเราก็พอแล้ว อย่าไปเสียเวลาคิดว่า เราจะต้องได้อะไรจากการเป็นครู หรือเราจะสูญเสียอะไรจากการเป็นครู ด้วยการคิดแบบนี้ ศิษย์จึงเป็นผู้ที่ทำให้ชีวิตครูมีความหมาย อย่างไรก็ตาม ครูก็เป็นปุถุชน ที่มีครอบครัว มีสังคม มีปากท้องที่ต้องดูแล ความยากของการเป็นครูจึงอยู่ที่การสร้างสมดุลระหว่างบทบาทต่างๆ เหล่านี้ ผมเองก็ยังทำไม่ค่อยได้สักเท่าไรนัก (ยิ้ม) แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าครูทุกคนพึงระลึกเสมอถึงเกียรติแห่งความเป็นครู และต้องพยายามทำตนเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับศิษย์ ต้องไม่ขลาดที่จะอบรม ตักเตือน แนะนำศิษย์เมื่อเห็นว่าทำผิด และต้องใจกว้างพอที่จะรับฟังและให้อภัยแก่ศิษย์ เพื่อเปิดโอกาสให้ศิษย์พ้นจากความไม่รู้ หรือ อวิชชา

  • ความคาดหวังต่อนักศึกษาทันตแพทย์

ผมได้เคยเขียนความคาดหวังของครูต่อบัณฑิตทันตแพทย์เอาไว้ ตอนงานปัจฉิมโอวาทศิษย์รุ่นที่ 22 ไว้ว่า สิ่งที่จะทำให้ครูทุกคนภูมิใจ มากกว่าคำขอขมาใดๆ ก็คือการที่ได้เห็นศิษย์ทันตแพทย์มข. เป็นคนดีของสังคม และเป็นคนเก่งของวิชาชีพ สำหรับตัวครูแล้ว ไม่เคยคาดหวังให้ศิษย์เป็นคนเก่งจนเด่นจนดัง ขอเพียงเห็นศิษย์เป็นคนดีก็พอใจแล้ว เพราะเชื่อว่า ความเป็นคนดีจะทำให้ทันตแพทย์ขอนแก่น “แตกต่าง” ความเป็นคนดีนี้จะทำให้เราไม่เศร้าหมอง ไม่ทำให้ตนเอง ครอบครัว และสังคมต้องเดือดร้อน ความเป็นคนดีจะทำให้เราอยากเรียนรู้ และความเป็นคนดีจะทำให้เราปฏิบัติหน้าที่ของตนได้เต็มที่ สามารถใช้วิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมาให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุด ครูไม่ต้องการเห็นศิษย์เป็นคนเก่ง มีความรู้มากมาย แต่ไม่สามารถทำให้ความเก่งและความรู้เหล่านั้นเกิดประโยชน์เลย” ในขณะนี้ผมก็ยังคงมีความคาดหวังเหมือนที่กล่าวไว้ข้างต้น และอยากเชิญชวนให้ทุกๆ มหาวิทยาลัยมาแข่งขันกันผลิตบัณฑิตที่เป็นคนดีให้มากขึ้น กว่าการผลิตบัณฑิตที่เก่งอย่างเดียว

13 พฤษภาคม 2550

----------------------------------

คำสำคัญ (Tags): #สอนสร้างสุข
หมายเลขบันทึก: 593186เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2015 10:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 สิงหาคม 2015 10:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท