“ขอทำบัตรประชาชนไทยให้ลูก” -- คำขอสุดท้ายของผู้ป่วยมะเร็งสัญชาติไทยจากโรงพยาบาลกระบี่ (ตอนที่ 1)


เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2558 อาจารย์แหวว (รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร) และโครงการบางกอกคลินิกฯ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้รับคำร้องจาก “เครือข่ายเฟื่องฟ้า” (เครือข่ายของท่านกัญญ์ฐญาณ์ ภู่สวาสดิ์ สมาชิกสภาปฏิรูป) ซึ่งได้รับการหารืออีกทีจากพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดกระบี่[1] ถึง “กรณีคุณศราวุฒิ ธานี” คุณพ่อสัญชาติไทยที่ป่วยเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้าย และอาจจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่ถึง 1 เดือน

พ่อศราวุฒิมีคำขอสุดท้าย คือ อยากจะเห็นลูกๆ ทั้ง 6 คนรวมถึงภรรยามีบัตรประชาชนไทยและใช้สิทธิในความเป็นคนสัญชาติไทยได้ พ่อจะได้ไปอย่างไม่ต้องมีห่วง

พ่อศราวุฒิพื้นเพเป็นคนขอนแก่น ทำงานก่อสร้าง จึงย้ายที่ทำงานและอาศัยอยู่ตามไซด์งานก่อสร้างต่างๆ ลูกๆ ทั้ง 6 คนที่ไม่มีเอกสารพิสูจน์ตนต่างเกิดนอกโรงพยาบาลตามไซด์งานก่อสร้างที่พ่อย้ายไปทำงาน และความไม่รู้ถึงกระบวนการแจ้งเกิดเด็กที่เกิดนอกโรพงยาบาลจึงเป็นเหตุให้ลูกๆ ต้องตกหล่นจากการแจ้งเกิด และกลายเป็น “คนไทยไร้รัฐ” ในที่สุด

เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับครอบครัวธานีและเพื่อให้คุณพ่อศราวุฒิหมดห่วงในช่วงสุดท้ายของชีวิตและจากไปอย่างสงบสุข การประสานงานระหว่าง “เครือข่ายเฟื่องฟ้า[2]” “โครงการบางกอกคลินิกฯ” “โครงการสี่หมอชายแดนจังหวัดตาก” “กองทุนยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม” “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์[3]” “ทีมวิชาการของท่านรมช.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์[4]” และ “อำเภอเกาะลันตา” จึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ซึ่งพอจะสรุปกระบวนการทำงานจะต้องดำเนินการได้ดังต่อไปนี้

  1. การประสานงานระหว่าง “บางกอกคลินิก-พมจ.กระบี่-กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ-กองทุนยุติธรรมจังหวัดกระบี่” เพื่อดำเนินการขอรับการสนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่ายในการตรวจดีเอ็นเอ
  2. การประสานงานระหว่าง “บางกอกคลินิก-โครงการสี่หมอ-พมจ.กระบี่-โรงพยาบาลกระบี่-โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์” เพื่อให้เกิดการเก็บเลือดของคุณรพ่อศราวุฒิ แม่นาง และลูกๆ เพื่อดำเนินการส่งตรวจดีเอ็นเอ
  3. การประสานงานระหว่าง “บางกอกคลินิก-พมจ.กระบี่-อำเภอเกาะลันตา” เพื่อให้มีการส่งหนังสือนำในการขออนุเคราะห์ตรวจดีเอ็นเอ ไปยังโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
  4. การประสานงานระหว่าง “บางกอกคลินิก-พมจ.กระบี่-อำเภอเกาะลันตา” เพื่อให้มีการดำเนินการเพิ่มชื่อและรายการบุคคลของบุตรพ่อศราวุฒิทั้ง 6 คน ในทะเบียนบ้าน ท.ร.14 ในสถานะคนสัญชาติไทย
  5. การประสานงานระหว่าง “บางกอกคลินิก-พมจ.กระบี่-อำเภอเกาะลันตา” เพื่อให้มีการสรวจและจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรตามมาตรา 38 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ให้แก่ “นางนาง (ไม่มีนามสกุล)” ภรรยาของคุณพ่อศราวุฒิ และอาจรวมถึงลูกๆ ทั้ง 6 คน ระหว่างที่รอผลตรวจดีเอ็นเอและดำเนินการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร

ครอบครัวธานี (cr.คุณสายไหม จิตมัง)


[1] คุณกิตติ อินทรกุล พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดกระบี่ เล่าถึงความเป็นมาของกรณีดังกล่าวใน facebook ว่า

“วันนี้มีคุณหมอคนนึงของโรงพยาบาลกระบี่ (นพ.ยุทธนา รามดิษฐ์) แวะเข้ามาสำนักงานฯ โดยเล่าให้ฟังว่า ได้ตรวจคนป่วยคนนึงจากเกาะลันตาเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ซึ่งมีเวลาไม่เกิน 1 เดือน และหมอถามว่ามีอะไรที่อยากทำหรืออยากบอกใครเป็นครั้งสุดท้าย ผู้ป่วยบอกว่า เขามีลูก 7 คน 6 คนยังไม่มีบัตรประชาชน สิ่งที่อยากทำตอนนี้ คือ ขอทำบัตรประชาชนให้ลูกทุกคน ใน 6 คนนี้มีลูกที่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 หนึ่งคน คุณหมอท่านกรุณาประสานนายอำเภอเกาะลันตาและปลัดอำเภอเกาะลันตาเรียบร้อยแล้ว แต่อำเภอยืนยันต้องตรวจดีเอ็นเอ จึงเป็นที่มาของคุณหมอมาขอความช่วยเหลือสำนักงานฯ

ได้ให้คำแนะนำไปว่าต้องประสานอำเภอในเรื่องการสอบพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องให้พร้อมสมบูรณ์ก่อน แล้วไปตรวจดีเอ็นเอเพื่อประกอบ แต่กังวลว่าจะไม่ทันการ กลัวผู้ป่วยเสียชีวิตก่อน

ครั้งนี้ต้องใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่สำคัญเพื่อชีวิตคนอีก 6 คนที่อยู่ข้างหลัง พรุ่งนี้คงให้นักสังคมสงเคราะห์เริ่มต้นกระบวนการทำงานกับคุณหมอ และขอขอบคุณคุณหมอมากที่ลุกขึ้นมาทำงานเพื่อผู้ป่วยที่ด้อยโอกาสจริงๆ”

[2] สำหรับกรณีคุณพ่อศราวุฒิ เครือข่ายเฟื่องฟ้า ประกอบไปด้วย คุณกิตติ อินทรกุล พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดกระบี่ และ คุณสายไหม จิตมัง (นักสังคมสงเคราะห์ปฏิบัติการจังหวัดกระบี่)

[3] โดยผ่านโครงการตรวจดีเอ็นเอพิสูจน์สัญชาติไทยในบุคคลไร้สัญชาติ เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา องค์อุปนายิกา สภากาชาดไทย

[4] โดยการประสานงานของ นพ.พนา พงศ์ชำนะภัย ซึ่งประสานโดยตรงและติดตามอย่างใกล้ชิดกับ นพ.สุรัตน์ ตันติทวีวรกุล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลกระบี่ รวมถึงแพทย์เจ้าของไข้ นพ.ยุทธนา รามดิษฐ์

หมายเลขบันทึก: 593165เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2015 15:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 สิงหาคม 2015 17:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีใจกับกระบวนการทำงานที่รวดเร็วค่ะ

ทราบจากเวชว่า ที่อุ้มผาง ก็มีเคสแบบนี้รายหนึ่ง น่าจะแจ้งทางจุฬานะคะว่า จะทำก่อนเลยไหม ไม่รอก้อนใหญ่


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท