ความหมาย ลักษณะ เพลงพื้นบ้าน


เพลงพื้นบ้าน หมายถึง เพลงที่ถูกแต่งขึ้นโดยส่วนมากจะร้องต่อๆกันมา โดยไม่ทราบคนแต่งที่แท้จริง และ ใช้ร้องรำทำเพลงเพื่อความสนุกสนาน ส่วนมาก รายละเอียดของเพลงท้องถิ่นนี้ มักจะเกิดขึ้นจาก ประเพณี กิจวัตรประจำวัน อาชีพ เป็นต้น

ลักษณะเฉพาะของเพลงพื้นบ้าน

เพลงพื้นบ้านเป็นบทร้อยกรองท้องถิ่นที่จดจำสืบต่อกันมา และนำมาร้อง มาขับลำ เพื่อความบันเทิง เป็นวรรณกรรมมุขปาฐะ ที่แพร่หลายในกลุ่มชาวบ้าน มีลักษณะเฉพาะที่สรุปได้ดังนี้

๑. เพลงพื้นบ้านเป็นงานของกลุ่มชาวบ้านสืบทอดจากปากสู่ปาก อาศัยการฟังและจำ ไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร คนในกลุ่มสังคมเดียวกันมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของบทเพลง ชาวบ้านร่วมร้องด้วยกัน หรือร้องโต้ตอบ หรือเป็นลูกคู่ หรืออย่างน้อย ก็เคยฟังและรู้จักเนื้อเพลง

๒. เพลงพื้นบ้านเป็นเพลงที่ไม่มีกำเนิดแน่นอน เนื่องจากสืบทอดกันมาเป็นระยะเวลานาน จนไม่อาจหาต้นตอที่แน่ชัดได้ว่า มีมาตั้งแต่สมัยใด หรือใครเป็นผู้แต่ง

๓. เพลงพื้นบ้านส่วนใหญ่เป็นเพลงที่มีเนื้อร้องและทำนองไม่ตายตัว เนื้อร้องหรือบทเพลง สามารถขยายให้ยาวไปเรื่อยๆ หรือตัดทอนให้สั้นได้ แล้วแต่ความต้องการของผู้ร้อง หรือตามสถานการณ์ จึงพบเสมอว่า เพลงพื้นบ้านแม้ว่าเป็นชื่อเดียวกัน แต่มีเนื้อร้องแตกต่างกันไป ซึ่งอาจเกิดจากผู้ร้องในแต่ละท้องถิ่น และระยะเวลาที่สืบทอดมา เช่น เพลงกล่อมเด็กที่ชื่อว่า เพลงเจ้าขุนทอง เป็นเพลงที่แพร่หลายมาก และเป็นเพลงที่มีสำนวนหลากหลายมากเพลงหนึ่งด้วย

เพลง เจ้าขุนทอง สำนวนที่แพร่หลายมา

วัดเอ๋ยวัดโบสถ์ ตาลโตนดเจ็ดต้น
ขุนทองไปปล้น ป่านฉะนี้ไม่เห็นมา
คดข้าวใส่ห่อ ถ่อเรือไปหา
เขาก็ร่ำลือมา ว่าขุนทองตายแล้ว
เหลือแต่กระดูกแก้ว เมียรักจะไปปลง
ขุนศรีถือฉัตร ยกกระบัตรถือธง
ถือท้ายเรือหงส์ ปลงศพเจ้าขุนทอง

ส่วนทำนองเพลงพื้นบ้านนั้น ไม่มีการบันทึกโน้ตดนตรีไว้ จึงไม่มีทำนองใดที่ถูกต้องที่สุด และพบว่า เพลงพื้นบ้านแม้ชนิดเดียวกัน ก็มีลีลาการร้องทำนองแตกออกไปได้หลายทาง

๔. เพลงพื้นบ้านมีลักษณะคำประพันธ์ร้อยกรองที่จัดจังหวะคำและสัมผัสง่ายๆ ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ดังเช่นรูปแบบของเพลงพื้นบ้านภาคกลาง นิยมคำกลอนที่ลงท้ายด้วยสระเสียงเดียวกันไปเรื่อยๆ เป็นสัมผัสคล้องจองกันที่เสียงสระ ไม่ใช่รูปสระ ที่นักวิชาการเรียกว่า "กลอนหัวเดียว" แต่พ่อเพลงแม่เพลง (ผู้ร้องเพลงพื้นบ้านฝ่ายชาย-ฝ่ายหญิง) นิยมเรียกว่า กลอนไล กลอนลา กลอนลี

กลอนที่นิยมใช้กันมากในเพลงพื้นบ้านภาคกลาง ได้แก่ กลอนไล กลอนลา กลอนลี ตามชื่อที่พ่อเพลงแม่เพลงเรียก นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายกลอน เช่น กลอนลัน กลอนลัว กลอนลูด กลอนติ๊ด กลอนแชะ สุดแล้วแต่ผู้ร้องจะคิดประดิษฐ์ขึ้นมา เพลงพื้นบ้านของภาคอื่นๆ ก็มีลักษณะคำประพันธ์คล้ายกับภาคกลาง คือ มีการลงเสียงสัมผัสท้ายวรรคเช่นเดียวกับกลอนหัวเดียว โดยให้ความสำคัญกับเสียง และจังหวะการร้อง มากกว่าความเคร่งครัดในจำนวนคำและสัมผัส

๕. จำนวนคำและสัมผัสไม่กำหนดแน่นอนตายตัว กลอนเพลงพื้นบ้านเกิดจากการร้อยคำ ๖ - ๑๐ คำเข้าด้วยกันในแต่ละวรรค จำนวนคำจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจังหวะของเสียงที่ลงและผู้ร้องเป็นสำคัญ ฉะนั้นเพลงพื้นบ้านทุกประเภท จึงมีลักษณะคำประพันธ์คล้ายกัน หรืออาจใช้กลอนบทเดียวกันแต่ร้องหลายทำนอง จะพบว่า พ่อเพลงแม่เพลงในภาคกลาง ใช้กลอนชุดเดียวกัน แต่ร้องได้ทั้งเพลงเกี่ยวข้าว เพลงเรือ เพลงระบำบ้านนา หรือเพลงฉ่อย

๖. เพลงพื้นบ้านส่วนใหญ่มีความเรียบง่ายในถ้อยคำ การร้องและการแสดงออก แต่แฝงด้วยความคมคาย เลือกใช้คำ สำนวนโวหาร และความเปรียบง่ายๆ ที่ชาวบ้านใช้โดยทั่วไป ไม่มีศัพท์ยากที่ต้องแปล ถ้าเปรียบเทียบสัญลักษณ์อย่างไร ก็สามารถแปลความหมายได้โดยง่าย ส่วนความเรียบง่ายในการแสดงออกจะเห็นว่า ชาวบ้านร้องและเล่นเพลงพื้นบ้าน โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์มากมาย สิ่งที่ช่วยให้เพลงไพเราะ นอกจากขึ้นอยู่กับการใช้ถ้อยคำแล้ว ก็คือการปรบมือหรือการใช้เครื่องประกอบจังหวะง่ายๆ ได้แก่ กรับ ฉิ่ง และกลอง หรืออาจไม่ได้ใช้เครื่องดนตรีชนิดใดเลย นอกจากเสียงเอื้อนให้เกิดบรรยากาศและอารมณ์เท่านั้น บางทีก็นำอุปกรณ์ที่ใช้ทำกิจกรรมอยู่นั้น มาประกอบการร้องรำ เช่น เพลงเกี่ยวข้าว ก็ใช้รวงข้าวและเคียวซึ่งถืออยู่มาประกอบ สิ่งสำคัญสำหรับเพลงที่ร้องกันหลายๆ คน คือ การอาศัยเสียงร้องรับ ร้องกระทุ้งของลูกคู่ ซึ่งจะช่วยให้เพลงนั้น สนุกสนานครื้นเครงยิ่งขึ้น

๗. เน้นความสนุกสนานเป็นหลัก ซึ่งจะแสดงออกมาในรูปของการใช้คำสองแง่สองง่าม หรือคำที่เรียกว่า "กลอนแดง"เป็นภาษาของชาวเพลงภาคกลาง หมายถึง กลอนที่มีคำกล่าวถึงอวัยวะเพศ และพฤติกรรมทางเพศอย่างตรงไปตรงมา หรือบางครั้ง ก็ใช้คำผวนแทน คำเหล่านี้ปกติถือว่าเป็นคำหยาบ แต่เมื่อนำมาใช้ในพิธีกรรมตามความเชื่อดั้งเดิม ที่ปรากฏในกลุ่มชน ซึ่งประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม และกสิกรรม ถือว่าเป็นการช่วยเพิ่มผลผลิต ส่งผลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์



จาก โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว



หมายเลขบันทึก: 593072เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2015 10:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2015 10:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เพลงพื้นบ้านกำลังจะหายไป พร้อมกับผู้นำมาร้องที่อายุมากขึ้น มีสามน้านำมาเล่นนำมาร้อง


น้าโย่ง น้านง น้าพวง

ขอบคุณค่ะที่แวะมาเยี่ยม....ชื่นชอบเพลงพื้นบ้านค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท