ช่วยกันเปิดประตูใจ เอาอคติออกไป แล้วสหกรณ์จะเจริญ


ผู้นำสหกรณ์หลายคน หลงลืมไปว่า สหกรณ์นอกจากเป็นองค์กรปกครองตนเองและมีอิสระ ตามหลักการสหกรณ์ที่ 4 แล้ว สหกรณ์ยังเป็นองค์กรที่เปิด ตามหลักการสหกรณ์ที่ 1 ด้วย และยังเป็นองค์กรที่ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้การศึกษากับคนสหกรณ์เพื่อเพิ่มพูนปัญญา ตามหลักการสหกรณ์ที่ 5 อีกด้วย ปัจจุบันที่รู้สึกอึดอัดและหนักใจเมื่อได้ยินได้ฟัง ว่าสหกรณ์ที่ทำธุรกิจสำเร็จพึ่งตนเองได้แล้ว หลายสหกรณ์จิตวิญญาณสหกรณ์เริ่มหายไป และมีหลายสหกรณ์ไม่สามารถทำความเข้าใจกันได้ระหว่าง เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ส่งเสริมสหกรณ์ กับบุคลากรของสหกรณ์ ไม่ว่าจะด้วยความอคติเพราะรักสหกรณ์ หรือหลงว่าสหกรณ์ปกครองตนเองได้แล้ว และมีอิสระจากภาครัฐ จึงปฏิเสธการส่งเสริมของเจ้าหน้าที่ฯ ทั้ง ๆ ที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐจำนวนมากก็เป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ ตลอดถึงผ่านร้อนผ่านหนาวเข้าใจระบบสหกรณ์เป็นอย่างดี มีบ้างก็คนรุ่นใหม่ที่อาจจะมีความรู้น้อย อยู่ระหว่างแสวงหาประสบการณ์ และมีบางสหกรณ์ที่ผู้นำคิดว่า ตนเท่านั้นที่เก่ง หากใครมาให้ความรู้ที่แตกต่าง จากแนวคิดของท่านแล้ว ก็จะปิดกั้นเสีย ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีวัฒนธรรมทางความคิดที่คับแคบ ก็จะทำให้วัฒนธรรมสหกรณ์คับแคบไปด้วย เพราะสำคัญตนว่า "ไก่ไม่ขันตะวันไม่ขึ้น" โดยหลงสำคัญผิดว่าสหกรณ์นี้ถ้าไม่มีฉันแล้วอยู่ไม่ได้ ที่อยู่ได้ก็เพราะฉัน สมาชิกต้องฟังฉันซึ่งเป็นผู้นำ อาจจะด้วยความอคติเพราะความหลง ติดในอำนาจที่มี หรือเปล่าก็ไม่ทราบได้ เพราะถ้าคิดเช่นนี้แล้ว อาจจะเกิดความผิดพลาดเสียหายขึ้นได้ สักวันหนึ่ง การครอบงำทางความคิดและปฏิบัติที่เกิดขึ้นถือเป็นการอยุติธรรมแก่บรรดาสมาชิก สหกรณ์เป็นองค์กรอิสระ เป็นองค์กรที่เปิดกว้าง หมายถึง คนสหกรณ์จะต้องเป็นคนที่ เปิดประตูใจ ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างที่หลากหลายของคนหลายฝ่าย ตั้งแต่สมาชิกที่มีความแตกต่างหลากหลายทั้ง ฐานะ วัยวุฒิ คุณวุฒิ การคิด ความรู้ก็ย่อมแตกต่างกัน รวมไปถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ก็เช่นกัน เราจึงควรให้เกียรติและเคารพกันและกันในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่ากัน ทุกฝ่ายต้องกำจัดความอคติใด ๆ ที่เป็นสิ่งกีดขวาง วิธีการสหกรณ์ที่ถูกต้องและแท้จริงออกไป เพื่อสร้างความสมดุล ระหว่างความรู้กับคุณธรรม ให้เกิดกับสมาชิกเสมอเหมือนกัน ผู้นำไม่ควรมีอคติลำเอียงและครอบงำสมาชิก ด้วยความคิดเห็นของตนโดยการนำวิธีการที่บิดเบือน ไม่เป็นไปตามหลักการสหกรณ์มาใช้ไม่ว่ากรณีใด ๆ การปฏิบัติตามหลักการสหกรณ์ที่ 5 ว่าด้วยการศึกษาอบรมฯ จะต้องกระทำด้วยความบริสุทธิใจ และเพิ่มองค์ความรู้ที่จะนำไปสู่ปัญญาให้กับบรรดาสมาชิก ด้วยวิธีการสหกรณ์ที่ถูกต้องเป็นไปตามหลักการสหกรณ์สากลที่ชาวโลกยอมรับ ไม่ปกปิด ครอบงำด้วยประการทั้งปวง ต้องเปิดใจยอมรับและให้โอกาส กับทุกฝ่ายที่จะเข้ามาให้ความรู้ โดยระลึกอยู่เสมอว่า ทุกฝ่ายจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับสหกรณ์และการดำเนินการสหกรณ์ที่เหมือนกัน ซึ่งสิ่งที่อยากเห็นและอยากให้เกิดขึ้นในขบวนการสหกรณ์ทุกระดับ คือการหันหน้าเข้าหากันอย่างเป็นมิตรของชาวสหกรณ์ และร่วมมือกันส่งเสริมให้การศึกษาให้ความรู้แก่สมาชิกสหกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อที่สร้างความสมดุลย์ระหว่างคุณภาพและคุณธรรม ให้กับสมาชิกทุกคน

หมายเลขบันทึก: 592944เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2015 23:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กรกฎาคม 2015 23:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท