เกมตาไว : กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน


ทุกครั้งที่ครูเข้าห้อง จะได้ยินเสียงเรียกร้อง "เล่นเกมอีกค่ะ/ครับ" ก่อนที่จะกล่าวทำความเคารพครูเสียอีก เสียงเรียกร้องนี้อาจจะคิดว่าเป็นปัญหาหรือโอกาสของครูก็ได้ แต่เผอิญว่าครูเป็นคนที่รักในการคิดและสร้างสรรค์พวกเกมและสื่ออยู่ก่อนแล้ว เสียงเรียกร้องนั้นจึงไม่สูญเปล่า แต่ครูต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้นอีก

แหล่งเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สพฐ.

          เกมตาไวเป็นเกมที่ผู้สอนประยุกต์มาจากกิจกรรมการแข่งขันเปิดสารานุกรมเยาวชนไทย  โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนอ่านหนังสือ  

         ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากเสียงเรียกร้องของเขาและเธอแห่งห้อง ม. ๒/๒ นกเรียนโครงการส่งเสริมความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์ ทุกครั้งที่ครูเข้าห้อง จะได้ยินเสียงเรียกร้อง "เล่นเกมอีกค่ะ/ครับ" ก่อนที่จะกล่าวทำความเคารพครูเสียอีก   เสียงเรียกร้องนี้อาจจะคิดว่าเป็นปัญหาหรือโอกาสของครูก็ได้    แต่เผอิญว่าครูเป็นคนที่รักในการคิดและสร้างสรรค์พวกเกมและสื่ออยู่ก่อนแล้ว   เสียงเรียกร้องนั้นจึงไม่สูญเปล่า   แต่ครูต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้นอีก  เพราะเมื่อครูคิดได้ หรือคิดวิธีการออก  และลองนำไปใช้ประสบผลสำเร็จ  ครูก็จะวุ่น(บ้า+หมกมุ่น) อยู่กับกิจกรรมนี้อย่างน้อยช่วงหนึ่งล่ะ    แต่เพื่อความสุขของเธอและครูเอง  ก็ต้องทำสินะ

        วิธีการเล่น

          ๑. นักเรียนเข้ากลุ่มกับเพื่อน ๆ กลุ่มละ 4-5 คน 
          ๒. อ่านสำรวจเนื้อหาเรื่องที่ครูกำหนดให้อย่างภายในเวลา  ๒๐ นาที   สำหรับครั้งนี้ครูให้อ่านเรื่องโคลงสุภาษิตโสฬสไตรยางค์  โคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ   และสุภาษิตอิสปปกรณำ  
          ๓.เมื่ออ่านจบครูแจกกระดาษสำหรับเขียนคำตอบ ซึ่งมีลักษณะดังนี้

เกมตาไว

 ชื่อกลุ่ม..............................ห้อง........ เลขที่........   ..... .......   ..........  

ข้อ ๑. หนังสือเรื่อง....................................หน้าที่........บรรทัดที่.......... 

 

 ชื่อกลุ่ม..............................ห้อง........ เลขที่........   ..... .......   ..........  

ข้อ ๒. หนังสือเรื่อง....................................หน้าที่........บรรทัดที่.......... 

         ๔. ให้นักเรียนเขียนชื่อกลุ่ม   ห้อง  และเลขที่สมาชิกทุกคน ในแต่ละข้อ
         ๕. เมื่อนักเรียนได้อ่านสำรวจเนื้อหา เขียนชื่อกลุ่ม ห้อง และเลขที่เรียบร้อยแล้ว ครูอ่านข้อความ หรือคำสำคัญที่ต้องการให้นักเรียนหา  นักกเรียนในแต่ละกลุ่มช่วยกันหาข้อความดังกล่าว เมื่อเจอ ให้กรอกข้อมูล เรื่อง  หน้า และบรรทัด  เสร็จแล้วตัวแทนกลุ่มรีบวิ่งมาส่งครู

          กติกา
            ๑. กลุ่มที่มาส่งก่อนและถูกต้องจะได้ ๒ คะแนนในแต่ละข้อ
                 กลุ่มที่ส่งอันดับ ๒ และถูกต้องจะได้ ๑ คะแนน  
                 กลุ่มต่อจากนั้นทุกกลุ่มจะได้ 0.5 คะแนน
            ๒. เมื่อครบจำนวนข้อที่ครูกำหนด  รวมคะแนนที่ได้แจ้งผลให้นักเรียนทราบ

            ผลของการนำไปใช้

            ๑. นักเรียนทุกกลุ่มมุ่งมั่นตั้งใจอ่านหนังสือ  และเมื่อถึงเวลาเล่นเกม  ทุกคนมีอารมณ์ร่วมในการเล่น  ตั้งใจช่วยเหลือค้นหาคำตอบ
            ๒.  ความสามารถในการค้นหาข้อความหรือคำมีความแตกต่างกันระยะเวลาในการส่งคำตอบระหว่างกลุ่มแรกกับกลุ่มสุดท้ายห่างกันถึง ๕ นาที
           ๓. บรรยากาศในการเรียนรู้สนุกตื่นเต้น  จะได้ยินเสียงร้องว่า  "ครู หัวใจจะวายหมดแล้ว"  ทั้งนี้ทุกกลุ่มต่างต้องการทำเวลาให้ดีที่สุด  ต้องการส่งก่อนเพราะคะแนนมาก
           ๔. จุดด้อย คือนักเรียนมีจำนวนมากห้องเรียนแคบ  ขณะวิ่งส่งคะแนน  มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น  นักเรียนคนหนึ่งถูกศอกเพื่อนโดยไม่ตั้งใจปากบวมเจ่อ   คนที่สองนิ้วซ้น  ส่วนครูเองเกือบโดนลูกหลงจากนักเรียน

            ข้อเสนอแนะในการนำไปใช้ครั้งต่อไป

            ให้นักเรียนส่งตัวแทนเป็นกรรมการประมาณ 4-5 คน     ยืนสังเกตประจำกลุ่มผู้เล่น หรือยืนสังเกตหน้าชั้น  กลุ่มใดเสร็จก่อนให้ชูกระดาษคำตอบขึ้น กรรมการนับเป็นกลุ่มที่ ๑  และนับกลุ่มที่สองตามลำดับของการชูกระดาษคำตอบ       

 

 แหล่งเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สพฐ.

หมายเลขบันทึก: 59188เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2006 13:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กรกฎาคม 2012 15:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
  • กิจกรรม น่าสนในนะคะ เด็กๆ มักชอบกิจกรรมกลุ่ม มากกว่าครูบรรยายอย่างเดียวนะคะ
  • ขอแนะนำนะคะ กลุ่มใหนเสร็จก่อนให้ยกมือดีมั้ยค่ะ จะได้ลดอุบัติเหตุ เป็นได้มากเด็กปกติใส่ถุงเท้า จะลื่นง่ายค่ะ

 

ขอบคุณค่ะ

ต้องเปลี่ยนให้ยกมือพร้อมชูกระดาษคำตอบขึ้น แล้วให้กรรมการที่มาจากตัวแทนนักเรียนขานลำดับที่พร้อมเก็บกระดาษคำตอบมาค่ะ

       หลังจากได้ประสบการณ์จากการนำเกมไปใช้กับห้อง ม.๒/๒  ได้คำแนะนำเพิ่มเติม  และนึกย้อนไปถึงกิจกรรมแข่งขันเปิดสารานุกรม ก็นึกได้ว่า  ต้องมีกรรมการมาช่วยคอยดูแลว่ากลุ่มใดเสร็จก่อน  และเป็นผู้ไปเก็บ  จากกลุ่มรวบรวมมาให้ครู  

 

     เมื่อถึงเวลาของวันนี้ คาบที่ ๕  ผู้สอนได้ให้นักเรียนจำนวน ๓ คน เป็นผู้ช่วย    คอยดูแล  โดยเฉพาะลำดับที่ ๑ - ๓ ซึ่งมีผลต่อคะแนน

 

      ก็ยังพบปัญหาว่า  นักเรียนดูไม่ทัน  นักเรียนทั้ง ๓ คนไม่ได้เห็นไปในทางเดียวกัน  ส่วนครูเอง เห็นครอบคลุมแต่จำไม่ได้    จึงมีเสียงทักท้วงจากบางกลุ่มมาว่า  กรรมการไม่มองกลุ่มเขาเพราะเขาอยู่ใกล้เกิน   กรรมการมองเห็นแต่กลุ่มไกล     จึงให้กรรมการถอยออกมามองจากไกล ๆ  การเก็บและเรียงลำดับคำตอบจึงดีขึ้น

 

        เมื่อสิ้นคาบเรียน นักเรียนก็บอกว่าพรุ่งนี้ต่ออีกนะคะ/ครับครู

 

        คาบที่ ๖  ผู้สอนลองนำไปใช้กับห้อง ม.๒/๘ ซึ่งมีความรับผิดชอบและความสามารถทางการเรียนแตกต่างกัน ซึ่งมีนักเรียนนั่งเบียดกันในห้องจำนวน ๕๐  คน  ครูค่อนข้างหวั่นใจ

 

        เมื่อผู้สอนแจ้งกิจกรรมมีนักเรียนคนหนึ่งแกล้งพูดมาว่า "ไม่เล่นครับ" หลังจากที่นักเรียนรับฟังคำชี้แจง   อ่านคำอธิบายวิธีเล่นเล่น  เขียนชื่อกลุ่ม เลขที่  และอ่านสำรวจเนื้อหาทั้ง ๓ เรื่อง  ครูสังเกตว่านักเรียนหลายกลุ่มใช้เทคนิคเขียนบรรทัดไว้ล่วงหน้า  ในแต่ละกลุ่มจะมี ๑-๒ คนที่ตั้งหน้าตั้งตาอ่านกันจริง ๆ  จัง ๆ ส่วนคนอื่นก็จะเล่นบ้าง อ่านบ้าง

 

         ครั้งนี้ผู้สอนให้นักเรียนมาเป็นกรรมการช่วย ๒ คน  เขาเป็นนักกีฬาที่เก่งตั้งใจฝึกซ้อมมาก  ยกเว้นเรื่องเรียนที่เขาดูจะไม่ค่อยจะใส่ใจ   และเพื่อกันหลงกันลืมหรือพลั้งเผลอของกรรมการและผู้สอน  ผู้สอนจึงได้เขียนแผนผังกลุ่มบนกระดานดำ  และเขียนชื่อแต่ละกลุ่มกำกับไว้  เมื่อเขาชูกระดาษคำตอบครูก็เขียนเลขลำดับไว้บนผังของกระดาน   ครูสังเกตว่าห้องนี้ตั้งชื่อกลุ่มได้น่าสนใจกว่าห้อง ม.๒/๒  เพราะห้อง๒/๒ตั้งชื่อกลุ่มว่า กลุ่ม 1   (อารบิค)  อีกกลุ่มหนึ่งชื่อกลุ่ม ๑  (เลขไทย)  ในขณะที่ห้องม.๒/๘ ตั้งชื่อ  กลุ่ม boy& girl   เบนโนรา   หมูน้อยหมูอ้วน   ดาวกระจาย  ซารางเอโย ฯลฯ

 

        บรรยากาศระหว่างการเล่นของห้องนี้ตื่นเต้นและดังกว่าห้อง ม. ๒/๒  ครูอ่านไม่ทันจบประโยค  เสียงฮือฮา  ก็กระหึ่ม  ขณะที่ส่งก็มีเสียงกรี๊ด ๆ ของกลุ่มสาว ๆ และตะโกนเรียกให้เก็บกระดาษของกลุ่มหนุ่ม ๆ  ไม่มีนักเรียนคนไหนนั่งเฉยกันเลย  ทุกคนลุ้นกันเต็มที่  

 

        เมื่อหมดเวลา  ได้ยินเสียงพูดกันในกลุ่มว่า  "คืนนี้ต้องไปอ่านล่วงหน้าแล้วล่ะ" 

   

         เมื่อเห็นนักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข  ครูมีความสุขยิ่งกว่า   แม้ว่าเป็นความสุขที่ไม่ยั่งยืนก็ตาม

 

ตัวอย่างการเตรียมโจทย์

 โจทย์ เกมตาไว
ข้อความ เรื่อง หน้า บรรทัด
 ๑..อิสปยกนิทานเรื่องหมาจิ้งจอกกับฝูงเหลือบมาเป็นอุทาหรณ์ประกอบคำชี้แจงในสภาว่า โคลงสุภาษิตอิศปปรณำ 114 14-15
๒.คำว่าปกรณำ แปลว่าคัมภีร์ ตำรา หนังสือ  โคลงสุภาษิตอิศปปรณำ 114 19
๓. คำปด คำเท็จ เป็นคำแผลงมากจากคำสันสกฤตว่า มฤษา โคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ 113 12

 

 

ตัวอย่างแบบบันทึกคะแนน


แบบบันทึกผลการเล่นเกมตาไว  ห้อง  .....................

  
ข้อที่ /กลุ่ม ทราย ฟ้าสาง เพนกวิน หมีพู
       
       
       
       
       
รวมคะแนน        
 

สนใจและติดตามวิธีการสอนของอาจารย์มาตลอด เก่งมากเลยค่ะ นึกๆแล้วน่าภูมิใจแทนเด็ก ๆ ที่ได้เรียนกับอาจารย์ภาทิพ เพราะขนาดตัวเองเป็นครูยังชอบวิธีการสอนที่นำรูปแบบต่าง ๆ แปลก ๆ หลากหลายวิธีการมานำเสนอให้เด็ก ๆ ได้ทั้งความรู้ เพลืดเพลิน สนุกสนาน ทำอย่างไรจึงจะได้คนเก่ง ๆ หัวคิดริเริ่มดี ๆ อย่างนี้อีกล่ะคะ ยังไง ๆ ละก็ขอลอกเลียนแบบอาจารย์บ้างได้ไหมคะ

ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

     ขอบคุณค่ะที่ติดตามและร่วมแสดงความคิดเห็น  หากบอกชื่อโรงเรียนเพื่อเป็นข้อมูลมาด้วยก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่งค่ะ

     ทุกสิ่งที่นำเสนอผ่านอินเตอร์เน็ต เป้าหมายคือการเผยแพร่ค่ะ

เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ เด็กๆคงสนุกนะคะ จะนำไปปรับใช้กับวิชาสังคมที่สอนอยู่ค่ะ ขอบคุณที่เผยแพร่สิ่งดีๆต่อครูท่านอื่นค่ะ ...

รร.ศส.จ. เชียงราย

ขอให้ประสบผลสำเร็จในการนำไปใช้นะคะ

ได้ผลอย่างไรเล่าสู่กันฟังบ้างนะคะ

เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจมากครับ

ผมจะลองนำไปใช่กีบเด็กบ้างครับ

ขอบคุณมากครับ

นิสิต มศว ประสานมิตร เอกประถมศึกษา

สวัสดีค่ะ สุเมธ บุตรดา ด้วยความยินดีค่ะ อาจจะนำไปประยุกต์ใช้ตามสภาพของเด็กก็ได้ค่ะ

ดีค่ะอาจารย์หนูกำลังหารูปของโคลงสุภาษิตนฤทุมนาการอยู่น่ะค่ะอาจารย์พอจะหาได้ไมค่ะถ้าหาได้เอาลงให้หน่อยนะค่ะขอบคุณค่ะ

หนูอยู่สมุทรปราการ โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุทรปราการนะค่ะ

สวัสดีค่ะ ไม่มีหรอกค่ะ แต่หนูสามารถหาภาพอะไรก็ได้ที่มีเหตุการณ์สอดคล้องกับ

โคลงบททนั้นๆ เช่นถ้าหนูได้โคลง บท เพราะได้กรุณาต่อคนที่ถึงอับจน หนูก็หาภาพที่มีการช่วยเหลือกันเช่น แบ่งปันผ้าห่มกันหนาว การมอบของช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย สึนามิ หรือถ้าได้บท เพราะขอโทษบรรดาที่ได้ผิด ก็หาภาพการขอขมา เป็นต้น

     ดิฉัน เปิดเจอ เกมตาไว กิจกรรมส่งเสริมการอ่านของอาจารย์ภาทิพ  เมื่อลองศึกษาการจัดกิจกรรมแล้วรู้สึกสนุกและน่าสนใจมาก  ดิฉันจึงอยากจะลองเอามาใช้เป็นหนึ่งในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยขึ้นมา อยากทดลองดูว่าถ้าใช้เกมตาไวแล้ว นักเรียนจะรู้สึกอย่างไรและได้อะไรกับการเล่นเกมนี้ ขออนุญาตเอาแนวการจัดกิจกรรมเกมตาไวไปใช้นะคะ  

ขอบคุณค่ะ

ด้วยความยินดีค่ะ  ได้ผลอย่างไรแจ้งให้ทราบกันบ้างนะคะ

ขอบคุณที่แวะมาอ่านค่ะ

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท