ที่มาและสารัตถะสำคัญภูมิปัญญาท้องถิ่น


ที่มาและสารัตถะสำคัญภูมิปัญญาท้องถิ่น

“ภูมิปัญญา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ เพื่ออะไร?”

นับตั้งแต่มีการส่งเสริมให้มีการใช้ความรู้ของท้องถิ่นเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าประจำท้องถิ่นขึ้นจำหน่ายตามนโยบายรัฐชาติในยุคนั้น ก่อให้เกิดผลิตผลจากชาวบ้านที่รู้จักกันในนาม “OTOP” ที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์” ทำให้คนในสังคมไทยเริ่มหันมาสนใจกับคำว่า “ภูมิปัญญา” มากยิ่งขึ้น กระนั้นเองก็ไม่ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการสนใจใคร่รู้เพราะในอดีตมีการนิยามคำที่ให้ความหมายกลุ่มเดียวกันหลายคำ เช่น เมธา ปัญญา เชาว์ปัญญา ชุดความรู้ องค์ความรู้ ฯลฯ” การหลากคำเหล่านี้ล้วนเกิดมาจากความต้องการในการสรรคำมาใช้คำภาษาอังกฤษคือคำว่า “Wisdom” จนท้ายที่สุดได้พร้อมใจกันว่า Wisdom บัญญัติว่า ภูมิปัญญา

เมื่อศัพท์บัญญัติคำว่า ภูมิปัญญา เกิดมีขึ้น บรรดาเหล่านักวิชาการทั้งหลายต่างแย่งชิงพื้นที่เพราะแสดงสิทธิ์จับจองจนก่อให้เกิดการ “เติมนามสกุล” ให้กับคำนี้ อาทิ ภูมปัญญาชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาสยาม ภูมิปัญญาสากล ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ฯลฯ โดยเกิดขึ้นมาหลายอย่างอเนกอนันต์ ในทางนักภาษานั้นการบัญญัติศัพท์เพื่อใช้แทนคำเดิมที่มาจากภาษาอื่นเมื่อได้บัญญัติแล้วจะก่อให้เกิดการนำไปใช้งานและปรับปรุงศัพท์นั้นให้มีความจำเพราะในความหมายดังนั้นจึงไม่เป็นที่แปลกใจเลยถ้าเราจะพบการใช้คำว่า ภูมิปัญญา ที่มีการประสมคำเพิ่มเพื่อใช้งานอย่างหลากหลาย

“สภาพศัพท์” ของคำว่าภูมิปัญญามีลักษณะเช่นเดียวกับคำว่า “วรรณคดี” คือ ศัพท์เกิดหลังข้อมูล กล่าวคือวรรณคดีเป็นศัพท์ที่พึ่งมีการบัญญัติใช้ในรัชสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 แต่วรรณคดีเกิดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย คำว่าภูมิปัญญาก็มีสภาพศัพท์เช่นเดียวกันเพราะตัวบทที่เรียกว่าภูมิปัญญาเกิดมาพร้อมมนุษย์แต่ศัพท์เพื่อบัญญัติไม่นาน การที่กล่าวถึงสภาพศัพท์เพราะจะชี้ให้เห็นต่อไปว่าศัพท์ที่มีสภาพเช่นนี้ย่อมเกิดความคลุมเครือให้ “วงลักษณ์”ของภาษา การกำหนดขอบเขตของตัวบทที่เรียกว่า ภูมิปัญญา จึงเกิดความกังวลและมีการนำเสนอขอบเขตของภูมิปัญญาได้ อาทิ

* * * * * * * * * * *

ผลการวิจัยของ สุกัญญา สุจฉายาและคณะ (2550) เรื่อง โครงการวิจัยภาคสนามการคุ้มคลองภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย เป็นงานวิจัยเร่งด่วนที่มุ่งตีความกำหนดขอบเขตของคำว่า “ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย เพื่อเสนอกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ใช้ประกอบการร่างบทในการคุ้มครองทรัพย์สินทางภูมิปัญญาของไทย งานวิจัยนี้ได้ทบทวนขอบเขตของภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยจากงานเขียนต่าง ๆ ไว้อย่างหลากหลายและสรุปผลการกำหนดขอบเขตของภูมิปัญญาว่ามีที่สุดของปลายขอบอยู่ 9 เรื่อง คือ

* ภาษาและวรรณกรรม ได้แก่ ความสามารถในการอนุรักษ์และสร้างสรรค์ผลงานด้านภาษา

* เกษตรกรรม ได้แก่ ความสามารถในการผสมผสานองค์ความรู้ ทักษะและเทคนิคด้านการเกษตรและเทคโนโลยี

* ปรัชญา ศาสนาและประเพณี ได้แก่ ความสามารถประยุกต์ และปรับใช้หลักธรรมคำสอนทางศาสนา ปรัชญาความเชื่อและประเพณีที่มีคุณค่าให้เหมาะสมกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคม

* ศิลปกรรมและโบราณคดี ได้แก่ ความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปะสาขาต่าง ๆ

* โภชนาการ/คหกรรม ได้แก่ ความสามารถในการเลือกสรร ประดิษฐ์ และปรุงแต่งอาหารและยาได้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย

* การแพทย์แผนไทย ได้แก่ ความสามารถในการจัดการป้องกันและรักษาสุขภาพของคนในชุมชน

* อุตสาหกรรมและหัตถกรรม ได้แก่ การรู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการแปรรูปผลผลิต

* การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ความสามารถในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์พัฒนาและการใช้ประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน

* กองทุน ธุรกิจชุมชนและอาชีพ ได้แก่ ความสามรถในการสะสมและบริหารกองทุนและสวัสดิการชุมชน

งานเขียนของ กฤษฎา ศรีธรรม (2552) เรื่อง ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน ได้นำเสนอความรู้ความสามารถของชาวอีสานที่ที่เรียกว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นและได้กำหนดขอบเขตของภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสานเป็น 5 เรื่อง คือ

* คติ ความเชื่อ ได้แก่ ชุดความรู้เรื่องผี ขวัญ และศาสนา ที่ส่งเสริมให้ชาวอีสานสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข

* วรรณกรรมอีสาน ได้แก่ ความสามารถในการสร้างสรรค์ภาษาเพื่อเป็นบทสะท้อน บทเรียน บทขัดเกลาสังคมอีสานให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

* อาหารพื้นบ้าน ได้แก่ ความสามารถในการเลือกหาอาหาร การประกอบอาหาร การถนอมอาหาร การสร้างรายได้จากอาหาร การสร้างสัมพันธภาพที่ดีจากอาหาร และการบำรุงรักษาพระศาสนา

* ที่อยู่อาศัย ได้แก่ ความสามารถในการเลือกสรรสถานที่อยู่อาศัย การสร้างที่อยู่อาศัย

* ศิลปหัตถกรรมจากผ้าอีสาน ได้แก่ ความสามรถในการทอผ้า การรักษาผ้า การอบรมขัดเกลาจิตใจจากผ้า การรักษาปทัสถานของสังคม และการเพิ่มรายได้แก่ชุมชน

* * * * * * * * * * *

ขอบเขตที่กล่าวมาข้างต้นของ สุกัญญา สุจฉายาและคณะ และ กฤษฎา ศรีธรรมา เป็นการกำหนดวงขอบของภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อให้สามารถมีขอบเขตสำคัญในการเรียนรู้ ซึ่งการกล่าวถึงขอบเขตของภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้นหากตีความโดยวิเคราะห์เนื้อแท้ของศัพท์จะพบว่า “ภูมิ + ปัญญา” เป็นคำที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อแทนความหมาย Wisdom

หมายเลขบันทึก: 591253เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2015 16:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2015 16:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท