แรงบันดาลใจ แห่งวิชาชีพครู


แรงบันดาล แห่งวิชาชีพครู

“ยังสอนเด็กอยู่หรือเปล่า” “เป็นครู ก็ต้องสอนจนฟันหักหมดปากหรือจนไม่มีเสียงสอนอีกแล้ว”

ครูสมบูรณ์ ลักษณนุกิจ ครูผู้มีจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูอย่างสูงส่ง เป็นข้าราชการบำนาญ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านควนขี้แรด ในวัยเกือบ ๗๐ ปี ยังแข็งแรงเหมือนเดิมไม่ต่างจากตอนที่ผมพบท่านเมื่อ๑๖ ปีก่อนหน้านี้
หลังจากเสร็จภารกิจการเป็นวิทยากรที่โรงเรียนวัดชะแล้วันนี้ ผมได้มีโอกาสเยี่ยมคารวะครูท่านนี้ที่ผมมีความเคารพนับถือมากที่บ้านป่าขาด อำเภอสิงหนคร

ผมรู้จักกับครูสมบูรณ์ตั้งแต่สมัยที่ผมเพิ่งจบเป็นบัณฑิตใหม่ ๆ เรานั่งรถตู้กลับมาจากกรุงเทพด้วยกันตอนไปสัมมนาเรื่องการศึกษาอะไรสักอย่างผมจำไม่ได้ โดยมีครูเอก(ผ.อ.เอกจิตรา จันทร์จิตจริงใจ ขณะนั้นเป็นครูใหญ่โรงเรียนวัดเกษมรัตน์ ปัจจุบันคือ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแค) ครูเอกคนนี้มีบทบาทสำคัญมาก ผมรู้จักเธอก่อนที่รู้จักครูสมบูรณ์ เหมือนเป็นสะพานให้ได้เจอกับครูสมบูรณ์ กับพี่อาณัติ (ถ้าจำไม่ผิด ล่าสุดทราบว่าเป็นผู้บริหารโรงเรียนบ้านทุ่งงาย ปัจจุบันไม่ทราบดำรงตำแหน่งอยู่ที่ไหน) มีพี่หวอด (วันชัย พุทธทอง หรอยนิบ่าวนี้ พี่ชายที่รักมากๆๆ ที่คอยตั้งคำถาม ??? ให้ความคิด ตอนนี้เป็นผู้สื่อข่าวอิสระ ใช่ไหมหนอ????แต่ที่แน่ใจคือเป็นพ่อลูกอ่อน) และครูเอียด(คนนี้เป็นเสมือนแม่อีกคน ที่จากผมไปสู่สัมปรายภพแล้ว) แต่ระหว่างทางได้พูดคุยกันอย่างออกรสออกชาติถึงเรื่องราวการศึกษาไทย และในระหว่างที่ผมกำลังเตรียมสอบบรรจุเข้ารับราชการ ผมก็ได้อาศัยบ้านพักครูโรงเรียนบ้านควนชี้แรดเป็นที่อ่านหนังสือ และยังได้เป็นครูอาสาสมัครสอนนักเรียนที่นั่น จนทำให้ผมเพิ่มความสนิทและศรัทธาในตัวท่าน

ระหว่างที่ผมอยู่ควนขี้แรด ชาวบ้านเล่าว่าเมื่อก่อนเรื่องลักเล็กขโมยน้อยเกิดขึ้นเสมอ ๆ กระทั่งครูสมบูรณ์ย้ายเข้าไปเป็นครูใหญ่ที่นั่น ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมแก่เด็ก ๆ และขยายผลไปยังครอบครัว ส่งผลให้เรื่องดังกล่าวปลาสนาการไปสิ้น โรงเรียนกับชุมชนเป็นหนึ่งเดียวกัน กระทั่งพระใบฎีกาอ๊อด อริยนนฺโท อดีตเจ้าสำนักสงฆ์ควนขี้แรดยังเคยบ่นน้อยใจกับผมว่า “เวลาโรงเรียนขอความช่วยเหลือชุมชน ชุมชนไปกันเยอะ แต่เวลาอาตมาขอความร่วมมือชุมชนไม่เห็นจะเยอะเท่า เลยต้องไปพึ่งครูใหญ่ให้ช่วยบอกชาวบ้าน”
โรงเรียนบ้านควนขี้แรดเป็นโรงเรียนที่กันดารมากแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา แต่เป็นโรงเรียนที่ได้รับรางวัลพระราชทาน รางวัลส่งเสริมประชาธิปไตย และรางวัลอะไรต่าง ๆ เยอะมาก ที่นี่มีการเรียนรู้ที่น่าสนใจ มีร้านตัดผมของโรงเรียนโดยครูใหญ่และนักเรียนเป็นช่าง มีบ่อเลี้ยงปลา มีแปลงเกษตร เพื่ออาหารกลางวัน (เพื่ออาหารกลางวันจริงๆ เพราะได้นำมาประกอบอาหารเลี้ยงเด็ก) เด็ก ป.๑ ที่นี่อ่านหนังสือพิมพ์ได้รู้เรื่อง จนศึกษานิเทศก์ยังต้องมาสังเกตการสอน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กไม่แพ้ใครใน สปอ.จะนะ ที่นี่ยังมีคณะมโนราห์ จำได้ว่าเจ้าแบงค์เป้าปี่ได้ไพเราะ มีบ้านพักให้นักเรียนพักในช่วงฤดูฝนเด็กบางคนเดินทางไปกลับไม่สะดวก นอกจากนั้นครูสมบูรณ์ยังอุปการะเด็ก ๓ คน (ในช่วงที่ผมอยู่) ที่มีปัญหาครอบครัว ตอนนี้คนหนึ่งเป็นครู อีกคนหนึ่งเป็นนายสิบเสนารักษ์

ครูสมบูรณ์มุ่งมั่นที่จะพัฒนาโรงเรียนกันดารให้มีคุณภาพเท่าเทียมกับโรงเรียนในเมือง ท่านเคยเล่าให้ผมฟังว่า ครอบครัวของท่านมีฐานะลำบาก อยู่ในชนบทต้องทำงานหาเงินตั้งแต่เด็ก ท่านยึดอาชีพช่างตัดผมเป็นอาชีพที่ส่งตัวเองเรียน ท่านต้องเรียนศึกษาผู้ใหญ่ แล้วมาเรียน ว.ค.ภาคค่ำ จนจบ ปกศ.สูง เอกภาษาอังกฤษ และสอบบรรจุเป็นข้าราชการครูได้ที่จังหวัดกาญจนบุรี จากนั้นก็ลาศึกษาต่อปริญญาตรีเอกภาษาอังกฤษที่ ว.ค.สงขลา เมื่อกลับไปรับราชการครบตามเงื่อนไขก็ลาศึกษาต่ออีกครั้งที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาหลักสูตรและการสอนประถมศึกษา สำเร็จเป็นมหาบัณฑิตรั้วจามจุรี กลับมาที่กาญจนบุรีทางโรงเรียนก็แต่งตั้งให้เป็นครูใหญ่ หลังจากนั้นท่านก็ย้ายกลับมาอยู่สงขลาอันเป็นบ้านเกิด โดยระบุโรงเรียนที่ขอย้ายเป็นโรงเรียนกันดาร ซึ่งก็คือโรงเรียนบ้านควนขี้แรดนั่นเอง ผมเคยถามท่านว่า ในรุ่นครู คนจบปริญญาโทมีน้อยมาก ทำไมไม่ไปสอนระดับมหาวิทยาลัย ท่านบอกว่า “ได้ดีอย่าหนีประถม” “ครูใช้ทรัพยากรของการประถมไปเรียนมาจนสำเร็จถึงขั้นนี้ครูควรตอบแทนประถม” ท่านอยู่ที่นี่จนเกษียณอายุราชการ ได้สร้างลูกศิษย์ลูกหาหลายต่อหลายรุ่น ขัดเกลาคนในชุมชน จนเมื่อท่านเกษียณอายุราชการทุกคนที่ควรขี้แรดยังกล่าวถึงและยกย่องท่าน

หลังเกษียณอายุราชการ ท่านกลับมาใช้ชีวิตเรียบง่ายบนที่ดินประมาณ ๔ ไร่ ซึ่งเป็นมรดกที่แม่ยกให้ ทำเกษตรแบบพอเพียง และยังคงเป็นครูอยู่จนทุกวันนี้
ผมจอดรถที่หน้าบ้านท่าน เห็นครูสมบูรณ์กำลังจัดการกับใบตาลโตนดเตรียมอุปกรณ์สำหรับการสอนในสัปดาห์หน้า ท่านสอนให้ชาวบ้านนำใบตาลโตนดที่มีอยู่ดาษดื่นบริเวณคาบสมุทรสทิงพระมาทำเป็นหมวกในทุกวันศุกร์ สำหรับวันจันทร์-พฤหัสบดี ท่านจะไปสอนเด็กที่มีความบกพร่องด้านการอ่านการเขียนภาษาไทยที่โรงเรียนวัดป่าขาดซึ่งอยู่ในละแวกนั้นพร้อมกับเดินไปหยิบสื่อการสอนมาให้ผมดู เห็นแล้วทึ่งจริง ๆ ท่านเขียนด้วยลายมือซึ่งครูสมัยนี้ไม่ค่อยนิยมบรรจงเขียน(โดยเฉพาะผม) ท่านบอกว่า “ครูเป็นครูโบราณครูก็ต้องสอนแบบโบราณ แต่ครูรับรองได้ว่าเด็กที่ผ่านมือครูไปทุกคนต้องอ่านออกเขียนได้” ซึ่งผมเชื่อเพราะผมเคยประจักษ์ “ นี่แหละครู” เรามีเวลาได้แลกเปลี่ยนกันเรื่องการสอนเด็กประถมครู่หนึ่ง

“ครูทำนาด้วยนะ ไปเดี๋ยวจะพาไปดู” ท่านนำผมเดินไปในสวน ในไร่ ท่านบอกว่านี่คือนาอินทรีย์ นี่ถือแปลงถั่วเขียว ท่านหว่านเมล็ดในวันพืชมงคล อีกไม่นานก็น่าจะเก็บผลผลิตได้ มีถั่วฟักยาวพันธุ์พื้นบ้านที่ชาวบ้านนำไม้มาให้ทำค้างถั่ว ชาวบ้านนำขี้แพะขี้ไก่มาให้ ท่านเลี้ยงวัวไว้ ๒ ตัว ท่านชี้ให้ผมดู “นี่วัวครู วัวจับฉลาก” ผมเป็นงง วัวจับฉลาก ท่านขยายความต่อว่า “งบประมาณหลวงเขาให้มา หมู่บ้านก็จับฉลาก ครูโชคดีจับได้ ครูเลี้ยงไว้ไม่ได้จะขายอะไรหรอกนะ แต่ต้องการได้ขี้มันมาทำปุ๋ย และให้กินหญ้าในสวน ไม่ต้องตัดหญ้า”
ก่อนกลับท่านเด็ดลูกฟักข้าวให้ผม บอกว่าฝากให้แม่ทำแกงส้มกินนะอร่อยมาก แต่ต้องแกงกับปลามัน ๆ พร้อมกับหยิบหมวกที่ท่านทำเองให้ผมเป็นของที่ระลึก และไม่ลืมหยิบฝาชีครอบกับข้าวแล้วบอกว่า “นี่ฝากแม่นะ” แม่เอียดได้รับแล้ว ยิ้มไม่ยอมหุบ แถมยังตัดพ้อว่าทำไมไม่พาแม่ไปด้วย

เรื่องราวของครูสมบูรณ์ อดีตข้าราชการครู ตำแหน่งผู้อำนวยการระดับ ๘ ที่เสมอต้นเสมอปลาย เป็นครูด้วยจิตวิญญาณ เป็นผู้ให้ เป็นแรงบันดาลใจของผมต่อวิชาชีพครู และการใช้ชีวิต

หมายเลขบันทึก: 591225เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2015 09:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2015 09:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท