การเดินทางของความฝัน...ผักหวานป่า


ตอน...สู่... สุข(ภาพ)สมดุล


๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๘

♣ สะสาง ถางทิวดอกต้อยติ่งข้างทางฝั่งหนองน้ำแต่เช้า เตรียมพื้นที่เพื่อลงขี้เหล็กกับเด็กๆต่อเย็นนี้

♣ แดดเริ่มร้อน เดินเลยไปเนินผักหวานป่า เกิดอาการปวดท้องเร่าๆ ตาพร่า

♣ แต่ยังจดจ่อบันทึกภาพต้นผักหวานป่า เกิดความรู้สึกแปลกๆ เอื้อมมือไปแตะใบแก่ๆ หนาๆเบาๆ ใบหลุดร่วง

♣ สะกิดใบผักหวานป่า หลุดจากกิ่งแรก หนึ่งใบ สองใบ สามใบ... อ๊า... ชาใบผักหวานป่า! ว้าว!!!

♣ กำใบผักหวานป่าแก่ๆกลับบ้าน ล้างๆ ใส่ถาด เอ๊...ดอกมะรุมข้างๆสักช่อนะ อืมม ล้าง...ลงกระติกน้ำร้อน ปิดฝา

♣ สักพัก รินออกมา ได้ชาสีสันน่าจิบ จิบถ้วยแรกผ่านไปไม่นาน ท้องไส้หายจากอาการปั่นป่วน ตาสว่าง ศรีษะโล่ง

♣ อัศจรรย์ใจจนต้องเข้าหน้าจอ ค้นข้อมูลทันใด มีสารอะไรบ้างนะ ทำไมออกฤทธิ์ทันทีทันใดปานนี้

♣ ใจจดจ่อ มุ่งแต่จะปลูกผักหวานป่าจนเครียดกับปัญหา ไม่เคยรู้ว่ามีธาตุอะไรบ้าง!

รู้เพียงว่าแกงอร่อย... ชอบ เป็นยาเย็น ปลูกผักหวาน ได้ป่า (น่าปลื้มออก)

ปลูกครั้งเดียว(เกิดแล้ว) เก็บเกี่ยวยาว ก็...ยินดี พอใจจะปลูก

♣ วันนี้ สุขภาพที่แปรปรวน ชวนเชิญให้ศึกษา ผักหวานป่า ให้มากกว่า การปลูกผักหวานป่า จึงได้ข้อมูลมามากมาย

♣ ขออนุญาต ทยอยนำมามาแปะไว้ที่บันทึกนี้บางส่วนก่อน ด้วยความตื่นเต้น ระคนปลาบปลื้มยินดี กับผักหวานป่่าอายุ ๑ ปี




....................................................

สรรพคุณของผักหวานป่า

  1. ผักหวานป่าเป็นอาหารและยาประจำฤดูร้อน ที่ช่วยแก้อาการของธาตุไฟได้ตามหลักแพทย์แผนไทย[4]
  2. ใบและรากมีสรรพคุณแก้อาการปวดศีรษะ (ใบและราก)[1]
  3. รากมีรสเย็น สรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ สงบพิษไข้ (ราก)[1],[4] ส่วนยอดใช้ปรุงเป็นยาเขียวลดไข้ ลดความร้อน (ยอด)[4]
  4. รากเป็นยาเย็น สรรพคุณเป็นยาแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้กระสับกระส่าย (ราก)[1],[4] รากใช้ต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาเย็นแก้พิษร้อนใน (ราก)[4] ส่วนยอดมีรสหวานกรอบช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ระบายความร้อน (ยอด)[4]
  5. ยางใช้กวาดคอเด็ก แก้ลิ้นเป็นฝ้าขาว (ยาง)[8]
  6. ช่วยแก้อาการปวดท้อง (ใบและราก)[1]
  7. รากใช้ต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้อาการปวดมดลูกของสตรี (ราก)[4]
  8. รากใช้ต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้น้ำดีพิการ (ราก)[4]
  9. ช่วยแก้ดีพิการ แก้เชื่อมมัว (ราก)[1],[5]
  10. ใช้รักษาแผล (ใบและราก)[1]
  11. ช่วยแก้อาการปวดในข้อ (ใบและราก)[1]
  12. ใช้แก่นของต้นผักหวาน นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อาการปวดตามข้อหรือปานดง (แก่น)[4]
  13. ใช้ต้นผักหวานกับต้นนมสาวเป็นยาเพิ่มน้ำนมแม่หลังการคลอดบุตรได้ (ต้น)[4]

ประโยชน์ของผักหวานป่า

  1. คนไทยนิยมใช้ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอกอ่อน และผลอ่อนมารับประทานเป็นผัก โดยอาจนำมาลวกให้สุกแล้วใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริก ลาบ ใช้เป็นเครื่องเคียง หรืออาจนำไปผัดน้ำมัน หรือนำมาใช้ประกอบอาหารในเมนูต่างๆ เช่น แกงเลียง แกงส้ม แกงอ่อม แกงปลา แกงกะทิสด แกงกับไข่มดแดงหรือป่าแห้ง แกงคั่ว ต้มจืด ฯลฯ แต่ผักหวานป่าเป็นผักตามธรรมชาติที่ออกตามฤดูกาลและมีปริมาณน้อย ทำให้มีราคาแพงมากเมื่อเทียบกับผักชนิดอื่นๆ จึงถือได้ว่าผักหวานป่าเป็นที่อาหารพิเศษสำหรับใครหลายๆ คนที่นานๆ ครั้งจะได้รับประทาน[1],[3],[4] สำหรับผลแก่ยังสามารถให้นำมาลอกเนื้อทิ้ง แล้วนำเมล็ดไปต้มรับประทานเช่นเดียวกับเมล็ดขนุน โดยจะมีรสหวานมัน[2] บ้างว่าใช้ผลสุกนำมาต้มให้สุกและรับประทานแต่เนื้อข้างใน[4]
  2. นอกจากจะใช้รับประทานเป็นผักและใช้เป็นยาสมุนไพรแล้ว ผลสุกของผักหวานป่ายังสามารถนำมารับประทานเป็นผลไม้ได้อีกด้วย เพียงแต่จะไม่นิยมเท่านำมาใช้รับประทานเป็นผัก และในธรรมชาติผลสุกยังเป็นอาหารของนกและสัตว์ต่างๆ อีกด้วย[1]
  3. ผักหวานป่าเป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีน พลังงาน และวิตามินซี อีกทั้งยังมีปริมาณของเส้นใบอาหารอยู่พอสมควร จึงช่วยในการขับถ่ายได้ดียิ่งขึ้น โดยในยอดและใบสดของผักหวานป่า ต่อ 100 กรัม จะประกอบไปด้วยพลังงาน 300 กิโลจูล, น้ำ 76.6 กรัม, โปรตีน 8.2 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 10 กรัม, ใยอาหาร 3.4 กรัม, เถ้า 1.8 กรัม, แคโรทีน 1.6 มิลลิกรัม,วิตามินซี 115 มิลลิกรัม[2] ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่าคุณค่าทางโภชนาการของผักหวานป่า ต่อ 100 กรัม (เข้าใจว่าคือส่วนของใบอ่อน ยอดอ่อน ดอกอ่อน) ประกอบไปด้วยพลังงาน 39 แคลอรี่, น้ำ 87.1%, โปรตีน 0.1 กรัม, ไขมัน 0.6 กรัม, ใยอาหาร 2.1 กรัม, เถ้า 1.8 กรัม, วิตามินเอ 8,500 หน่วยสากล, วิตามินบี1 0.12 มิลลิกรัม, วิตามินบี2 1.65 มิลลิกรัม,วิตามินบี3 3.6 มิลลิกรัม, วิตามินซี 168 มิลลิกรัม, แคลเซียม 24 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 68 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 1.3 มิลลิกรัม[3]
  4. จากที่เห็นก็พอจะทราบได้ว่าผักหวานป่าเป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการและเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ เช่น เบต้าแคโรทีน วิตามินเอ วิตามินซี และสารประกอบฟีนอลิก ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าอนุมูลอิสระเป็นตัวก่อให้เกิดความเสียดุลในร่างกายและเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ อีกมายมาย เช่น มะเร็ง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ โรคข้อ โรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน ฯลฯ ดังนั้น การรับประทานผักหวานป่าจึงไม่เพียงแต่จะได้คุณค่าทางโภชนาการเท่านั้น หากแต่ยังได้รับสารอาหารที่ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย จึงช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้เป็นอย่างดี[5]
  5. อีกทั้งผักหวานป่ายังอุดมไปด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัส ที่ช่วยในการบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง ช่วยในการยืดหดของกล้ามเนื้อให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น มีเบต้าแคโรทีนสูง ช่วยในการบำรุงสายตา มีวิตามินซีสูง ช่วยป้องกันเนื้อเยื่อหรือเซลล์ไม่ให้ถูกทำลายจากมลพิษทางอากาศ ช่วยป้องกันมะเร็งผิวหนังจากรังสีแสงแดด ช่วยทำให้ผิวหนังไม่เหี่ยวย่นหรือแก่ก่อนวัย มีวิตามินบี2 ที่ช่วยป้องกันโรคปากเปื่อยหรือโรคปากนกกระจอก นอกจากนี้ผักหวานป่ายังมีเส้นใยอาหารสูง จึงช่วยในการขับถ่ายและเป็นยาระบายอ่อนๆ[8]
  6. ในปัจจุบันพบว่ามีการนำผักหวานป่ามาพัฒนาเป็นชาสำเร็จรูป ซึ่งเป็นเครื่องดื่มต้านอนุมูลอิสระ[4] โดยชาผักหวานจะประกอบไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี สารประกอบฟีนอลิก ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นในร่างกายและช่วยป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ซึ่งทางสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้ทำการศึกษาคุณสมบัติในเรื่องการต้านออกซิเดชั่นจากชาผักหวานป่า และได้พบว่าค่าความเข้มข้นที่ช่วยยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นได้ 50% ของชาผักหวานป่า มีค่าเท่ากับ 5.48% (v/v)ซึ่งดีกว่าชาดอกคำฝอยและชาใบหม่อน รวมทั้งยังได้ผ่านการตรวจวิเคราะห์ความเป็นพิษเฉียบพลันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว[6]
  7. เนื่องจากผักหวานป่าจะมีจำหน่ายมากในบางช่วงฤดูเท่านั้น จึงทำให้ไม่สามารถบริโภคได้ตลอดปี แต่ในปัจจุบันได้มีการนำยอดและใบอ่อนของผักหวานป่ามาแปรรูปทำเป็นแกงผักหวานป่าสำเร็จรูปเพื่อลดปัญหาความต้องการบริโภคในช่วงที่มีจำหน่ายน้อยและมีจำหน่ายในราคาที่สูง และจากการวิจัยของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ก็พบว่าการนำผักหวานป่ามาแปรรูปโดยวิธีการอบแห้ง จะมีการเปลี่ยนแปลงของสีและคุณค่าทางโภชนาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สรุปก็คือ วิตามินซีของยอดผักหวานป่าสดเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับผักหวานป่าที่แปรรูปโดยวิธีการอบแห้ง พบว่าวิตามินซีจะลดลงไม่เกินร้อยละ 10[5]


อ้างอิง
  1. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 243 คอลัมน์: พืช-ผัก-ผลไม้. “ผักหวานป่า : สุดยอดผักของไทยและเอเชียอาคเนย์”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:www.doctor.or.th. [28 เม.ย. 2014].
  2. นิตยสารเกษตรศาสตร์. “ผักหวานป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.ku.ac.th/e-magazine/november46/. [28 เม.ย. 2014].
  3. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร. “ผักหวานป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [28 เม.ย. 2014].
  4. เดอะแดนดอทคอม. “ผักหวานป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.the-than.com. [29 เม.ย. 2014].
  5. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). “แกงผักหวานป่าสำเร็จรูป”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th. [29 เม.ย. 2014].
  6. วารสารการบรรจุภัณฑ์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ปีที่ 15 ฉบับที่ 1 ตุลาคม-ธันวาคม 2549 หน้าที่ 40.
  7. จำรัส เซ็นนิล. “ผักหวานป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.jamrat.net. [29 เม.ย. 2014].
  8. กลุ่มงานวนวัฒนวิจัย สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้. “ผักหวานป่า”. (ณัฏฐากร เสมสันทัด, บัณฑิต โพธิ์น้อย). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:forprod.forest.go.th/forprod/ebook/ผักหวาน/ผักหวาน.pdf. [28 เม.ย. 2014].

(ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://frynn.com/)

หมายเลขบันทึก: 591196เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2015 14:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2015 20:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

มีดอกไม้มาฝากมีรักมามอบให้เป็นกำลังใจต่อกัน เจ้าค่ะ

อร่อยและมากคุณค่า น่าทานค่ะ

ต้นสวย ดอกงามนะคะผักหวานป่า

สบายดีนะคะ

^____^

ขออภัยค่ะคุณอุ้ม ดอกมะรุมอยู่ใกล้ๆเลยเก็บมาเข้ายากับผักหวานป่าค่ะ

ดอกผักหวานป่า... คงเป็นฝันอีกยาวนานหลายๆปีเลยค่ะ

ช่วงนี้ สุขภาพ....

ขาลงค่ะคุณอุ้ม :)

ชอบใจภาพและคำชุดนี้มาก ขอยืมมาอ้างอิงหน่อยนะคะ

ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท