จากอำเภอคุณธรรมสู่จังหวัดคุณธรรม (1) ปฐมบท


หลังจากการแลกเปลี่ยนกับทีมจังหวัดคุณธรรม ทำให้ผมนึกได้ว่าแท้ที่จริง "เมล็ดพันธ์ความดี" ไม่ใช้เป็นเพียงกิจกรรม 5 กิจกรรม แต่เป็นประเด็นการเรียนรู้ 5 ประเด็นที่รอภาคีเครือข่ายนำไปดำเนินการและนำผลจากการดำเนินการมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน


.........ในวันที่ 27-28 พ.ค. 58 ได้มีโอกาสเข้าร่วมสัมนาเชิงปฏิบัติการเวทีเชื่อมโยงการพัฒนาคุณธรรมเชิงพื้นที่ 4 จังหวัด จัดโดยศูนย์คุณธรรม(องค์กรมหาชน) ในนามของแกนนำจังหวัดคุณธรรม มีการยกร่างแผนยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนจังหวัดพิจิตรให้เป็นจังหวัดคุณธรรม ในเวทีนั้นมีการคุยถึงเป้าหมายว่าทำไมเราต้องทำ "จังหวัดคุณธรรม" สรุปได้ตรงกันว่า เพราะเราเชื่อว่า "ธรรมะสร้างสุข" และเราพร้อมจะเดินตามรอยเท้าในหลวงของเราที่มีปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" โดยช่วยกันเผยแพร่ธรรมะให้เกิดสุขทั่วแผ่นดินโดยเริ่มต้นที่พิจิตรของเรา

.........ในการคุยกันในครั้งนี้ทำให้ผมมีโอกาสทบทวนแนวคิดที่ถอดบทเรียน "เมล็ดพันธ์ความดี (Moral seeds)" จากโรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม ย้อนกลับไปตอนเริ่มต้นพัฒนาโรงพยาบาลคุณภาพให้เป็นโรงพยาบาลคุณธรรมตามแนวคิดท่านองคมนตรี ดร.นพ.เกษม วัฒนชัย นั้น ผมและทีมงานได้รับการบอกกล่าวจากพี่สุรเดช เดชคุ้มวงศ์ ว่าท่านองคมนตรีก็อยากให้ทำ อำเภอคุณธรรมด้วย โดยทำเป็น ODOP (One District One Project) เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอ ผมได้ตั้งโจทย์ในใจไว้ 2 ข้อ ข้อแรกคือ ใการทำอำเภอคุณธรรมเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพนั้น ทำอย่างไรให้ทุกภาคส่วนทั้งราชการและภาคีเครือข่ายมาร่วมกันพัฒนา อะไรคือเป้าหมายร่วมกัน ข้อสองคือ เราจะมีวิธีการอย่างไรที่จะขยายผลโครงการโดยไม่จำเป็นต้องอบรมกันมากนัก ไม่ต้องพึ่งกูรูจากภายนอกองค์กร (ถึงไปอบรมเขา เขาจะฟังหรือเปล่าก็ไม่รู้) จากนั้นผมจึงได้ไปขอความรู้ในการดำเนินการโรงเรียนคุณธรรมจากอาจารย์ปกาศิต เรี่ยมสุวรรณ แกนนำของโรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม อาจารย์ปกาศิตได้เล่าให้ฟังถึง "บางมูลนากโมเดล" ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงทำให้ผมและพี่กษมา สุนทรสุริยวงศ์(ปัจจุบันเป็นสาธารณสุขอำเภอสากเหล็ก) เห็นภาพที่จะนำบางมูลนากโมเดลมาขยายผลต่อโดยสรุปเป็น 5 กิจกรรมสำคัญ หรือที่ต่อมาเรียกว่า "เมล็ดพันธ์ความดี"

.........ทำไมเป็น 5 กิจกรรม ทั้ง ๆ ที่ในแผนยุทธศาสตร์พัฒนาโรงเรียนคุณธรรมนั้นมีรายละเอียดและสามารถถอดบทเรียนได้หนังสือเป็นเล่ม โดยศูนย์คุณธรรม ( http://www.moralcenter.com/ewt_dl_link.php?nid=688) เหตุผลสำคัญที่ผมคิดตอนนั้นคือ ถ้าเราจะทำอำเภอคุณธรรม หมายถึงว่าทุกองค์กร ทุกหน่วยงาน ทุกภาคีเครือข่าย ต้องมีเป้าหมายร่วมกัน คือ "ธรรมะสร้างสุข" (โจทย์ข้อแรก) และมีกิจกรรมสำคัญบางอย่างที่ทำร่วมกัน อันเป็นสัญญลักษณ์ว่าเราเป็นเครือข่ายเดียวกัน กิจกรรมสำคัญนี้ต้องไม่มากเกินไป (มากไปไม่มีใครทำด้วย) ต้องไม่น้อยเกินไป ทำแล้วต้องทำให้บรรลุเป้าหมาย "ธรรมะสร้างสุข" ได้จริง ผมจึงได้ตัดรายละเอียดต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นออก และเชื่อว่าภาคีเครือข่ายสามารถหากูรูมาสอนให้ไม่ยาก หรือง่ายที่สุดคือปรึกษา "อากู๋(Google)"แทนกูรูก็ได้ แต่ที่สำคัญคือการนำกิจกรรมไปสู่การปฏิบัติ และเรียนรู้จาการปฏิบัติ จนเกิดความเข้าใจได้ด้วยตนเอง(โจทย์ข้อที่สอง) มาถึงวันนี้ (คืนวันที่ 27 พ.ค. 58) หลังจากการแลกเปลี่ยนกับทีมจังหวัดคุณธรรม ทำให้ผมนึกได้ว่าแท้ที่จริง "เมล็ดพันธ์ความดี" ไม่ใช้เป็นเพียงกิจกรรม 5 กิจกรรม แต่เป็นประเด็นการเรียนรู้ 5 ประเด็นที่รอภาคีเครือข่ายนำไปดำเนินการและนำผลจากการดำเนินการมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เหมือนดังเช่นที่ผมได้ไปเรียนรู้ 5 ประเด็นนี้จากอาจารย์ปกาศิต ทำให้ผมเห็นว่าธรรมะสร้างสุขเกิดขึ้นในโรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคมได้อย่างไร โดยที่โรงพยาบาลบางมูลนากเองก็ไม่ได้ทำเหมือนกับโรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคมทำทั้งหมด แต่ทำครบทั้ง 5 ประเด็น และได้เชิญชวนเครือข่ายอำเภอบางมูลนากมาร่วมกันขับเคลื่อน อำเภอคุณธรรมด้วยประเด็น ทั้ง 5 ประเด็น

.........5 ประเด็นนี้มาได้อย่างไร ทำข้อใดข้อหนี่งได้ไหม ถ้าสนใจโปรดติดตามตอนต่อไป

หมายเลขบันทึก: 590656เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2015 23:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 สิงหาคม 2015 11:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท