ไฉน
นาย ประกาศิต ปอ ประกอบผล

ไตรสิกขา


ไตรสิกขา เป็นขบวนการพัฒนาบุคคลให้ลุถึงเป้าหมายที่วางไว้ทั้งด้านโลกิยะและโลกุตระอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นการย่ออริยมรรคมีองค์แปดลงในไตรสิกขา ได้แก่

1. ศีล เป็นขบวนการของระเบียบปฏิบัติเพื่อพัฒนาให้เกิดสิ่งเหล่านี้

1.1 การพูดที่ถูกต้อง ได้แก่

1) การพูดคำสัตย์ เป็นประโยชน์ เกิดความรักสามัคคี ด้วยวาจาที่ไพเราะนุ่มนวลชวนฟัง การยึดประโยชน์เป็นหลัก คำจริงแต่ไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ควรพูด โดยให้นิ่งเฉย หรือใช้กุศโลบาย (เลี่ยงบาลี) ของสถานที่ เวลาเข้ามาช่วย เช่น หากมีคนถามว่า เมื่อครู่นี้เห็นคนใส่เสื้อสี่...ผ่านมาทางนี้หรือไม่ พิจารณาดูแล้วเห็นความแน่ชัดว่าหากบอกไปตามตรงจะเกิดอันตรายกับผู้นั้น ให้ขยับที่ยืนแล้วตอบว่า ตั้งแต่ยืนอยู่ตรงนี้ไม่เห็นคนมีลักษณะดังที่ว่ามาผ่านมาเลย

2) ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไร้ประโยชน์ เกิดความแตกแยก บางครั้งคำเท็จแต่เป็นประโยชน์ก็ให้พิจารณาให้ดีแล้วจึงพูด (โกหกสีขาว) กรณีแพทย์บอกผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคที่เป็น หรือโดยการพูดแบบอมความ คือกล่าวไม่หมดความ เพื่อการรักษากำลังใจ ให้ผู้ป่วยมีกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อสู้กับโรคร้าย เป็นต้น

1.2 การกระทำที่ถูกต้อง ได้แก่

1) ไม่เบียดเบียนสิ่งมีชีวิตไม่ว่ากรณีใดๆ เพราะทุกชีวิตล้วนรักสุข เกลียดทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น

2) ไม่ลักขโมยทรัพย์สมบัติของผู้อื่น ด้วยว่าทุกคนรักและหวงแหนทรัพย์สมบัติที่ตนมีด้วยกันทุกคน บางครั้งนั้นคือสมบัติชิ้นสุดท้ายที่เหลืออยู่หรือที่จะช่วยชีวิตของเขาก็ได้

3) ไม่ประพฤติผิดทางเพศ ผิดประเพณี ไม่พรากผู้เยาว์หรือผู้เฒ่า ไม่ล่อลวงทางเพศ

1.3 การประกอบอาชีพที่ถูกต้อง ได้แก่ การประกอบอาชีพที่ไม่ผิดต่อกฎหมาย ไม่ผิดต่อศีลธรรมและจารีตประเพณีอันดีงามของสังคม ถึงพร้อมด้วยความขยันในการทำงานที่สุจริตด้วยความรอบคอบ รู้จักเก็บเงินที่เกิดขึ้นจากการทำงานนั้น รู้จักเลือกคบคนที่ดี รู้จักการใช้จ่ายให้เป็นไปตามความเหมาะสม ไม่ใช้จ่ายมือเติบฟุ่มเฟือย ควรรู้จักแบ่งเงินที่ได้มาให้เป็นสัดส่วน เช่น ค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ลงทุน เก็บไว้ยามฉุกเฉิน ใช้จ่ายทั่วไป และทำบุญเป็นต้น

2. สมาธิ เป็นขบวนการฝึกอบรมจิต หรือจิตสำนึกเพื่อให้เกิดสิ่งเหล่านี้

2.1 ความเพียรที่ถูกต้อง ได้แก่ เพียรลดละอกุศลบาปความชั่วที่มีอยู่ในตัวตน เพียรระวังไม่ให้อกุศลบาปความชั่วในตัวตนที่ละได้แล้วเกิดขึ้นอีก เพียรฝึกฝนเจริญกุศลบุญความดีที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และเพียรรักษากุศลบุญความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้คงอยู่และมีความเจริญเพิ่มพูนยิ่งๆ ขึ้นไป

2.2 การระลึกที่ถูกต้อง คือการมีสติ กำหนดรู้สภาวะปัจจุบัน 4 ประการ ได้แก่ การระลึกรู้ดูกาย เห็นกายในกายอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง กำหนดระลึกรู้ดูเวทนาที่เกิดกับกาย กำหนดระลึกรู้ดูจิต กำหนดระลึกรู้ดูธรรมที่เกิดขึ้นในจิต

2.3 การมีจิตสงบสำนึกที่ถูกต้องเป็นขบวนการกำหนดจิตให้นิ่งอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงสิ่งเดียวนานๆ เพื่อให้จิตมีพลัง มีการพัฒนา มีความสามารถ เพื่อความสมดุลทั้งจิตและกาย เป็นขบวนการเกื้อหนุนให้สิ่งที่รับเข้ามาในชีวิตดำเนินไปด้วยประสิทธิภาพสูงสุด

3. ปัญญา เป็นขบวนการทางความรู้ วิธีการอบรมศึกษาเพื่อให้เกิดสิ่งเหล่านี้

3.1 ความเห็นที่ถูกต้อง ซึ่งจะยังผลให้เกิดทัศนะความเชื่อค่านิยมที่ถูกต้องหรือองค์ธรรมอื่นๆ ตามมาเช่น เชื่อว่า ทำดีได้ความดี ทำชั่วได้ความชั่ว กรรมและผลของกรรมมีจริง บิดามารดามีคุณจริง เป็นต้น

3.2 ความดำริคิดที่ถูกต้องได้แก่ ความดำริคิดที่ปราศจากความโลภ ปราศจากกาม ปราศจากความเห็นแก่ตัว ความดำริคิดที่ปราศจากโทสะ ปราศจากการจองเวร ปราศจากการพยาบาทเบียดเบียนกัน ความดำริคิดที่ปราศจากความหลง ปราศจากความลังเล ปราศจากความไม่รู้

หลักไตรสิกขาที่กล่าวมานี้ เป็นส่วนช่วยพัฒนาบุคคลให้เกิดความสามารถ นำพาชีวิตให้เจริญงอกงามเข้าถึงอิสรภาพ และสันติสุขที่แท้จริงในปัจจุบันและอนาคตได้

หมายเลขบันทึก: 590649เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2015 16:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2015 10:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท