ทำหน้าที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ดี (๒)



เช้าวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๕๘ ผมอ่านรายงานการประชุมสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ครั้งที่ ๓๖๔ (๒/๒๕๕๘) เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๘ เพื่อจะแจ้งข้อแก้ไขกลับไป

ต่อไปนี้เป็นการสะท้อนคิด ระหว่างอ่านรายงานนี้

ในขณะที่ มช. เป็นมหาวิทยาลัยตาม พรบ. ใหม่ ปี ๒๕๕๑ เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มีจำนวนกรรมการสภาเพียง ๒๖ คน แต่ มอ. ยังใช้ พรบ. เก่า ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ยังเป็นมหาวิทยาลัยภายใต้ระบบ ราชการ มีจำนวนกรรมการสภา ๗๑ คน เพราะนอกจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ๑๑ - ๑๕ คนแล้ว อธิการบดี รองอธิการบดี และคณบดี เป็นกรรมการสภาหมด คือยังเน้นกรรมการสภามหาวิทยาลัยแบบตัวแทนบุคลากร ภายในเป็นหลัก ซึ่งถือว่าล้าหลัง แต่สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก็เป็นสภาที่เข้มแข็งมากมหาวิทยาลัย หนึ่ง โดยผมตีความว่า เพราะมีวัฒนธรรมที่ดี คือกรรมการที่เป็นตัวแทนภายในเคารพและรับฟังความเห็น ของกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ภายนอก นำไปถือปฏิบัติ โดยไม่จำเป็นต้องตราเป็นกฎหมาย

การที่ผู้บริหารและตัวแทนอาจารย์ ได้นั่งในสภา และรับฟังความเห็นของกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ด้วยตนเอง ทำให้ได้รับฟัง "ความรู้โดยตรง" จากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เกิดความเข้าใจ และที่สำคัญ ความไว้วางใจ เพราะต่างก็ได้รับข้อมูลความรู้เท่ากัน

ข้อเสนอความเห็นจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินั้น มักจะมีสาระเสนอให้ขับเคลื่อนออกไปจาก ความเคยชินเดิมๆ ไปสู่นวัตกรรมใหม่ ที่คนมหาวิทยาลัยไม่เคยชิน หรือไม่ค่อยอยากปฏิบัติ เพราะทำอย่างเดิม สบายดีแล้ว ผู้บริหารคนใดเอาไปขับเคลื่อน ก็มัก "เจ็บตัว" สูญเสียความนิยม แต่หากนำไปดำเนินการ อย่างเป็นระบบ โดยอ้างมติสภา แรงต่อต้านก็จะเบาลง

ในขณะที่ มช. มีจุดแข็งที่ความเป็นล้านนา ที่มีประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมยาวนาน มีขอบเขต กว้างขวางไปถึงดินแดนประเทศเพื่อนบ้าน มอ. มีจุดแข็งที่มีถึง ๕ วิทยาเขต กระจายไปทั่วภาคใต้ และเป็นที่ยึดถือกันว่า ต้องทำหน้าที่พัฒนาพื้นที่

ทั้งสองมหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการยกระดับความสามารถด้านภาษาอังกฤษของนักศึกษา และบัณฑิต อย่างเอาจริงเอาจังมาก และพบว่าอุปสรรคสำคัญที่สุดคือความ "เอาถ่าน" ของตัวนักศึกษาเอง คือมีนักศึกษา จำนวนหนึ่งที่ไม่มีเป้าหมายในชีวิต สนใจความสบายมากกว่าชีวิตอนาคตของตน สภาพเช่นนี้ มีต้นเหตุ มาจากครอบครัว การศึกษาระดับพื้นฐาน และกระแสสังคม เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยชั้นดีต้องแสดงเจตนารมณ์ อย่างชัดแจ้ง ว่าไม่ใช่ลักษณะของนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยชั้นดีต้องการ นั่นคือ กระบวนการคัดเลือกนักศึกษา ต้องหาวิธีคัดคนแบบนี้ออกไป ไม่ทราบว่าความคิดแบบนี้ของผมมีข้อบกพร่องหรือไม่ อยากฟังข้อคิดเห็น ของท่านผู้อ่านครับ

แนวความคิดหนึ่ง คือ มหาวิทยาลัยในท้องถิ่น ต้องช่วยนักเรียนระดับมัธยม เอาชนะความอ่อนแอ ของการศึกษาระดับพื้นฐาน โดยเข้าไปช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษา ของโรงเรียนในพื้นที่ ผมมีความเห็นว่า ต้องไม่ใช่ไปช่วยโรงเรียน/คณะครู ที่ไม่ช่วยตัวเอง ต้องไปช่วยหนุนให้เขาเดินถูกทาง (จากระบบการศึกษา ปัจจุบันที่เดินผิดทาง) และช่วยตัวเองได้ดีขึ้น

อีกแนวทางหนึ่ง คือหนุนให้นักศึกษาที่เป็นคนในพื้นที่ ไปช่วยหนุนให้นักเรียนรุ่นน้องมีการเรียนรู้ จากการปฏิบัติ และกิจกรรมเหล่านั้นเกิดประโยชน์ต่อชุมชน/ท้องถิ่น ด้วย ที่เรียกว่า service learning และเป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งของพื้นฐานสาระวิชาเป็นเป้าหมายหลัก

ในขณะที่ภาคเหนือมีวิกฤตหมอกควัน ภาคใต้ก็มีวิกฤตยางพาราราคาตก มอ. เข้าไปดำเนินการ แก้ปัญหายางพาราราคาตก ในระดับตั้ง สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา เป็นสัญญาณว่า จะมีการทำงานระยะยาว และนำมาเสนอในที่ประชุมสภา และได้รับคำแนะนำจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิว่า ยังมียุทธศาสตร์การทำงานร่วมมือกับภาคเอกชน หรือภาคอุตสาหกรรม น้อยไป ยุทธศาสตร์ที่ใช้เป็นยุทธศาสตร์ ที่ขึ้นกับภาครัฐมากเกินไป ทำให้ไม่ค่อยทันกับความเปลี่ยนแปลง

ในการประชุมครั้งนี้ มีรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบ (เมษายน - กันยายน ๒๕๕๗) เข้าสู่สภา ด้วย รายงานดังกล่าวสะท้อนความเอาใจใส่ของสภาฯ ต่อการตรวจสอบ ที่น่าชื่นชมคือ คณะกรรมการ ตรวจสอบเน้นบางส่วนงานที่ควรเข้าไปตรวจสอบ และตรวจสอบปัจจัยที่จะบรรลุเป้าหมายแผนงานหลัก เฉพาะกิจ ที่เรียกว่า Top Goals 6 ด้าน การตรวจสอบแบบเน้นผลลัพธ์ที่เป็นเป้าหมายหลักนี้น่าจะเป็น ยุทธศาสตร์หลักอย่างหนึ่งของการตรวจสอบ

คณะกรรมการตรวจสอบของมหาวิทยาลัย ต้องทำหน้าที่ทั้งตรวจสอบปัจจัยสำคัญของการบรรลุ เป้าหมายหลัก คือตรวจสอบเชิงบวก และตรวจสอบสิ่งที่ไม่ชอบมาพากล ที่จะก่อความเสียหาย และความเสื่อมเสีย คือตรวจสอบเชิงลบ

คณะกรรมการตรวจสอบ ได้เข้าไปตรวจสอบระบบบริหารความเสี่ยง (Risk Management) และให้คำแนะนำไว้ด้วย

รวมทั้งได้ตรวจสอบระบบการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย (Management Audit) ด้านต่างๆ

ท่านนายกสภาฯ (ศ. นพ. จรัส สุวรรณเวลา) ได้ขอมติสภาฯ ให้อธิการบดีกลับไปจัดทำรายงานต่อสภาฯ ว่าจะดำเนินการอะไร อย่างไรบ้าง ตามประเด็นที่คณะกรรมการตรวจสอบเสนอ ผมคิดว่าเป็นมติที่สำคัญยิ่ง น่าถือเป็นแบบอย่าง

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ทดลองให้มีสภาวิทยาเขต ทำหน้าที่ดูแลด้านหลักสูตร วิชาการ และพันธกิจสัมพันธ์ (engagement) กับพื้นที่ เพื่อแบ่งเบาภาระของสภามหาวิทยาลัย และเพื่อความใกล้ชิด ระหว่างสภาฯ ฝ่ายบริหารและปฏิบัติการ และชุมชนในพื้นที่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินผลการดำเนินงาน ของสภาวิทยาเขต



วิจารณ์ พานิช

๑๔ เม.ย. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 590520เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2015 18:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2015 18:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขออนุญาตินำไปเผยแพร่ในเครื่อข่ายของผมครับ

นับถือ

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

ผมขออนุญาตแสดงความคิดเห็นในคำถามของอาจารย์ที่ว่า "...พบว่าอุปสรรคสำคัญที่สุดคือความ "เอาถ่าน" ของตัวนักศึกษาเอง คือมีนักศึกษา จำนวนหนึ่งที่ไม่มีเป้าหมายในชีวิต สนใจความสบายมากกว่าชีวิตอนาคตของตน สภาพเช่นนี้ มีต้นเหตุ มาจากครอบครัว การศึกษาระดับพื้นฐาน และกระแสสังคม เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยชั้นดีต้องแสดงเจตนารมณ์ อย่างชัดแจ้ง ว่าไม่ใช่ลักษณะของนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยชั้นดีต้องการ นั่นคือ กระบวนการคัดเลือกนักศึกษา ต้องหาวิธีคัดคนแบบนี้ออกไป ไม่ทราบว่าความคิดแบบนี้ของผมมีข้อบกพร่องหรือไม่ อยากฟังข้อคิดเห็น ของท่านผู้อ่านครับ" นะครับ

ในความคิดเห็นของผมนะครับ มหาวิทยาลัยที่อยู่ในท้องถิ่นควรสนับสนุนให้สถานศึกษาในท้องถิ่นสามารถสร้างแรงผลักดันและแรงจูงใจให้แก่ตัวนักเรียนของตนให้เข้าได้ค้นพบอนาคตของตัวเองให้ได้ว่าเค้าต้องการเรียนอะไร เพื่ออะไรและมีความสำคัญอย่างไรครับ ผมเชื่อว่าถ้าตัวผู้เรียนมี Motivation ในการเรียนภาษาอังกฤษ (หรือเนื้อหาสาระทางวิชาการอื่นๆ) ที่ดีก็จะสามารถทำให้ตัวผู้เรียนเป็นคน "เอาถ่าน" แบบที่อาจารย์ได้แสดงความคิดเห็นไว้ครับ

อีกข้อหนึ่งที่ผมมีความคิดเห็นไม่ตรงกันกับอาจารย์ที่อาจารย์ได้ความคิดเห็นถึงการคัดนักศึกษาที่เหมือนไม่มีเป้าหมายในชีวิตออกไปครับ เพราะว่าอาจจะเป็นการไปตัดโอกาสต่างๆ ในอนาคตที่เค้าจะได้รับก็เป็นได้ครับ ในประเด็นนี้ผมมีความเห็นว่าเมื่อมหาวิทยาลัยได้รับนักศึกษามาแล้ว (ทั้งนักศึกษาที่มีเป้าหมายในชีวิตชัดเจนหรือยังไม่ชัดเจน) มหาวิทยาลัย/คณะ/วิทยาลัย/สถาบัน มีหน้าที่แสดงให้นักศึกษาได้เห็นถึงเป้าหมายของสิ่งที่ตัวนักศึกษาได้เลือกที่จะเรียนให้เกิดภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้นครับ

อีกจุดหนึ่งที่สามารถสนับสนุนความคิดของอาจารย์ถึงกระบวนการคัดเลือกนักศึกษาที่มีเป้าหมายชัดเจนหรือไม่ชัดเจนออกจากกันผมว่ากระบวนการสัมภาษณ์จะสามารถตอบโจทย์ให้แก่ตัวนักศึกษาได้เช่นกันโดยทางคณาจารย์ผู้สัมภาษณ์เพื่อรับนักศึกษาต้องบอกข้อมูลบางอย่างให้แก่ผู้ถูกสัมภาษณ์ด้วยครับ เพื่อให้ผู้ถูกสัมภาษณ์เกิดความชัดเจนว่าสิ่งที่เค้าเลือก (มหาวิทยาลัย/คณะ/วิทยาลัย/สถาบัน) จะสามารถทำให้เป้าหมายในชีวิตของตัวผู้ถูกสัมภาษณ์เป็นจริงได้หรือไม่ครับ ส่วนข้อมูลที่น่าจะบอกแก่ตัวผู้ถูกสัมภาษณ์คือคณะนี้การเรียนการสอนเป็นอย่างไร จุดเด่นคืออะไร โอกาสอาชีพในอนาคตคืออะไร ประมาณนี้ครับ

ผมหวังว่าความคิดเห็น/มุมมองในอีกแง่มุมหนึ่งของผมจะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านนะครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท