การผลิตและตลาดของผลเม่าในสกลนคร


กรรณิการ์ สมบุญ, ศิริพร สารคล่อง, สุดารัตน์ สกุลคู และ สุเธียร นามวงศ์
สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรสกลนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน สกลนคร

การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพทั่วไปทางด้านการผลิต และการตลาดของผลเม่า โดยศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนของผู้ปลูกสวนเม่า รูปแบบการจัดการวัตถุดิบของผู้ประกอบการในจังหวัดสกลนคร โดยวิธีการวิเคราะห์เชิงพรรณนา โดยสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง จากผู้ปลูกสวนเม่าที่มีอายุประมาณ 5 ปี จำนวน 10 ราย ในเขตอำเภอภูพาน อำเภอกุดบาก อำเภอสว่างแดนดิน อำเภอนิคมน้ำอูน อำเภอวาริชภูมิ พบว่า สวนเม่าให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 160 กิโลกรัม/ ปี  ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 1,700 บาท จากการสำรวจพบว่า ต้นเม่าในระยะ 2 ปีแรก มีศัตรูพืชคือ หนอนเจาะลำต้น ผลเม่าร่วง ผลเม่าสุกไม่พร้อมกันในช่อผลร่วงก่อนสุกแก่ ผู้ปลูกสวนเม่าที่ไม่ได้เลือกพันธุ์ดีจะพบปัญหาดังกล่าวทำให้จัดการผลผลิตทำได้ยาก ไม่สามารถขายผลผลิตได้ราคาตามที่ต้องการ และสามารถแบ่งสวนเม่าออกเป็น 2 กลุ่ม คือ สวนที่มีอายุมากกว่า 5 ปี เป็นสวนที่ใช้พันธุ์คละ ที่ยังไม่มีการจำแนกพันธุ์ชัดเจน และสวนที่มีอายุระหว่าง 3-5 ปี จะมีการคัดเลือกพันธุ์ ที่ใช้ปลูกซึ่งเป็นพันธุ์ดี

ระบบการตลาดของผลเม่าจะมีพ่อค้าคนกลางที่จะรวบรวมผลผลิตในราคาถูกในลักษณะซื้อเหมาต้นแล้วส่งให้กับโรงงานแปรรูปในราคา 25-30 บาท/กิโลกรัม บางโรงงานจะรับซื้อจากเกษตรกรโดยตรงหน้าโรงงาน หรือผูกพันกันไว้ นอกจากนี้พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากการประกวดผลเม่าพันธุ์ดีในงานเทศกาลหมากเม่าสกลนคร มีผู้ขายกิ่งพันธุ์เม่าพันธุ์ดี ซึ่งสามารถทำรายได้จากกิ่งพันธุ์ได้ถึง 200,000 บาท/ปี หรือ 10,000-30,000 บาท/ต้น

จากการสำรวจพบว่า แนวโน้มของการผลิตวัตถุดิบผลเม่า จะมีการคัดเลือกพันธุ์ในการปลูกและจำหน่าย รวมถึงมีผู้ประกอบการสนใจ ปลูกสร้างสวนเม่าเพิ่มขึ้น จึงควรมีการศึกษาวางแผนการจัดการวัตถุดิบ ที่จะมีจำนวนมากในอนาคต เพื่อให้เกิดสมดุลด้านวัตถุดิบและการแปรรูปต่อไป


1-3 พฤศจิกายน 2549
ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี

The 1st Conference Science, Technology , Education and Local Wisdom for Sustainable Development

1-3 November 2006
Udonthani Rajabhat University




หมายเลขบันทึก: 58946เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2006 22:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท